วิจัย

รอยเลื่อนฝั่งตะวันตกของไทย : มีที่ไม่น่าไว้ใจอยู่ 2-3 ที่

ในทางธรณีแปรสัณฐาน (tectonic) ประเทศไทยและเพื่อนบ้านตั้งอยู่บนแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย (Eurasian Plate) ซึ่งในปัจจุบันแผ่นเปลือกโลกอินเดียออสเตรเลีย (Indo-Australia Plate) กำลังวิ่งชนและมุดลงไปใต้แผ่นยูเรเซียบริเวณฝั่งตะวันตกของประเทศพม่า ผลจากการชนกันทำให้เกิดแรงเค้นทางธรณีแปรสัณฐาน บีบอัดแผ่นเปลือกโลกบริเวณนั้นและยกตัวสูงขึ้นกลายเป็น แนวเทือกเขาอาระกัน (Arakan-Yoma thrust range) ทางฝั่งตะวันตกของประเทศพม่า

นอกจากนี้แรงเค้นดังกล่าวยังส่งผลเข้ามาภายในแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณชายแดนรอยต่อ ระหว่างภาคตะวันตกของประเทศไทย-ภาคใต้ของประเทศพม่า ผลที่ได้คือเกิดกลุ่มรอยเลื่อนมากมายในแถบนั้น ซึ่งจากการศึกษาในรายละเอียด กรมทรัพยากรธรณีของไทยประกาศให้กลุ่มรอยเลื่อนอย่างน้อย 3 กลุ่ม ในพื้นที่ภาคตะวันตกของไทยเป็นรอยเลื่อนมีพลัง ได้แก่ รอยเลื่อนเมย-อุทัยธานี รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ นอกจากนี้ ผลจากการแปลความหมายจากภาพถ่ายดาวเทียม Nutalaya และคณะ (1985) ยังเคยรายงานการมีอยู่ของกลุ่มรอยเลื่อนบริเวณภาคใต้ของพม่า เช่น  รอยเลื่อนผาปูน รอยเลื่อนพานหลวง และรอยเลื่อนฉาน เป็นต้น

แผนที่ชายแดนภาคตะวันตกของประเทศไทย-พม่าแสดง (ก) กลุ่มรอยเลื่อนตามแนวราบ (strike-slip fault) ซึ่งนำเสนอโดย Nutalaya และคณะ (1985) และ Pailoplee และคณะ (2009a) สี่เหลี่ยมสีดำ คือ เขื่อนและโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก (ข) แผ่นดินไหวที่ตรวจวัดได้จากเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวในช่วงปี ค.ศ. 1983-2009 (วงกลมสีน้ำเงิน) ดาวสีแดง คือ เหตุการณ์แผ่นดินไหวสำคัญที่เคยสร้างภัยพิบัติในพื้นที่ (Pailoplee, 2014a)

หมายเหตุ: (1) โครงการก่อสร้างเขื่อนฮัทจี (2) เขื่อนภูมิพล (3) เขื่อนทับเสลา (4) เขื่อนวชิราลงกรณ (5) เขื่อนกระเสียว (6) เขื่อนศรีนครินทร์ (7) เขื่อนท่าทุ่งนา (8) เขื่อนแม่กลอง และ (9) โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก

ซึ่ง Pailoplee และคณะ (2009a) และ Pailoplee (2017c) สรุปว่าทั้งกลุ่มรอยเลื่อนในภาคตะวันตกของไทยและกลุ่มรอยเลื่อนบริเวณภาคใต้ของพม่า เป็นกลุ่มรอยเลื่อนที่มีลักษณะทางธรณีแปรสัณฐานและพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวคล้ายหรือเหมือนกัน และมีศักยภาพที่จะก่อให้เกิดแผ่นดินไหวในขนาดหรือระดับที่เป็นภัยพิบัติ ตัวอย่างเช่นเมื่อวันที่ 17 เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518) เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.9 (Prachaub, 1990) จาก รอยเลื่อนเมย-อุทัยธานี ของกรมทรัพยากรธรณี หรือรอยเลื่อนเมย-ตองยี (Pailoplee และคณะ, 2009a) บริเวณใกล้เขื่อนภูมิพล ทำให้จังหวัดตากได้รับความรุนแรงแผ่นดินไหวระดับ VI ตาม มาตราเมอร์คัลลีแปลง (Modified Mercalli Intensity)

ซึ่งเพื่อที่จะประเมินพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวที่มีขนาด ≥ 5.0 Mw ในพื้นที่กลุ่มรอยเลื่อนบริเวณชายแดนภาคตะวันตกของประเทศไทย-พม่า Pailoplee (2017c) ได้ทำการวิเคราะห์การกระจายตัวเชิงพื้นที่ของ ค่า b ครอบคลุมกลุ่มรอยเลื่อนดังกล่าว โดยในการทดสอบประสิทธิภาพและความสัมพันธ์ระหว่างการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของค่า b และพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวขนาด ≥ 5.0 Mw ที่เกิดตามมา Pailoplee (2017c) ได้แบ่งข้อมูลแผ่นดินไหวที่ผ่านกระบวนการปรับปรุงฐานข้อมูลแผ่นดินไหวออกเป็น 2 ชุดข้อมูล ตามช่วงเวลาการเกิดแผ่นดินไหว คือ ข้อมูลแผ่นดินไหวในช่วงปี 1) ค.ศ. 1980-2000 และ 2) ค.ศ. 1980-2005 โดยในแต่ละชุดข้อมูลแผ่นดินไหว Pailoplee (2017c) แบ่งพื้นที่ศึกษาเป็นพื้นที่ย่อยและในแต่ละพื้นที่ย่อยคัดเลือกข้อมูลแผ่นดินไหวที่อยู่ใกล้พื้นที่ย่อยมากที่สุดจำนวน 30 เหตุการณ์ มาวิเคราะห์การกระจายตัวเชิงพื้นที่ของค่า b (รูป ก-ข) ซึ่งหากพิจารณาเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด ≥ 5.0 Mw ที่เกิดขึ้นภายใน 5 ปี หลังจากช่วงเวลาของแต่ละฐานข้อมูลแผ่นดินไหวที่ใช้ในการวิเคราะห์ พบว่าจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวขนาด ≥ 5.0 Mw ดังกล่าวสัมพันธ์กับพื้นที่แสดงค่า b ต่ำ จากทั้ง 2 กรณีศึกษา ดังแสดงในรูป ก-ข

แผนที่กลุ่มรอยเลื่อนบริเวณชายแดนภาคตะวันตกของประเทศไทย-พม่าแสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของค่า b วิเคราะห์จากข้อมูลแผ่นดินไหวในช่วงปี (ก) ปี ค.ศ. 1980-2000 และ (ข) ปี ค.ศ. 1980-2005 และ (ค) ค.ศ. 1980-2015 (Pailoplee, 2017c) ดาวสีแดง คือ แผ่นดินไหวขนาด ≥ 5.0 Mw ที่เกิดขึ้นภายใน 5 ปี หลังจากช่วงเวลาของฐานข้อมูลแผ่นดินไหวที่ใช้ในการวิเคราะห์

รูป ก แสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของค่า b ซึ่งวิเคราะห์จากข้อมูลแผ่นดินไหวในช่วงปี ค.ศ. 1980-2000 ตรวจพบพื้นที่แสดงค่า b ต่ำ จำนวน 2 พื้นที่ คือ 1) ทางตะวันตกของเมืองปั่น ประเทศพม่า (b = 0.49) และ 2) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดตาก (b = 0.58) ส่วนในกรณีของชุดข้อมูลแผ่นดินไหวในช่วงปี ค.ศ. 2000-2005 พบว่าพื้นที่แสดงค่า b ต่ำ ทางตะวันตกของเมืองปั่นที่ตรวจพบจากชุดข้อมูลแผ่นดินไหวในช่วงปี ค.ศ. 1980-2000 พบค่า b ต่ำ ชัดเจนมากขึ้น (ค่า b ลดลงจาก b = 0.49 ในรูป ก จนกระทั่งค่า b = 0.43 ในรูป ข) และพบพื้นที่ขนาดเล็กที่มีค่า b ต่ำ ในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองเนย์ปิดอว์ ซึ่งในเวลาต่อมาหลังจากปี ค.ศ. 2005 พบว่าเกิดแผ่นดินไหวขนาด ≥ 5.0 Mw ในพื้นที่แสดงค่า b ต่ำ ดังกล่าว (รูป ก-ข) Pailoplee (2017c) จึงสรุปว่าการวิเคราะห์ค่า b ในพื้นที่กลุ่มรอยเลื่อนบริเวณชายแดนภาคตะวันตกของประเทศไทย-พม่า จากการเลือกใช้ข้อมูลแผ่นดินไหวที่ใกล้ที่สุด 30 เหตุการณ์ ในการวิเคราะห์พื้นที่แสดงค่า b ต่ำ (พื้นที่สีฟ้า) จะสัมพันธ์กับพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวขนาด ≥ 5.0 Mw

ดังนั้น Pailoplee (2017c) จึงวิเคราะห์การกระจายตัวเชิงพื้นที่ของค่า b จากข้อมูลแผ่นดินไหวในช่วงปี ค.ศ. 1980-2015 (รูป ค) และพบพื้นที่ขนาดเล็กจำนวน 5 พื้นที่ (A1-A5) ที่แสดงค่า b ต่ำกว่าพื้นที่ข้างเคียง ซึ่งนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 ไม่พบแผ่นดินไหวขนาด ≥ 5.0 Mw เกิดขึ้น Pailoplee (2017c) จึงสรุปว่าทั้ง 5 พื้นที่ เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวขนาด ≥ 5.0 Mw ใหญ่ในอนาคต (รูป ค)

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: