สำรวจ

จากตำนาน “เวียงหนองหล่ม” สู่การตีความด้านแผ่นดินไหว

ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีนิทาน ตำนาน หรือเรื่องเล่าพื้นบ้านสืบสานกันมามากมายจากรุ่นต่อรุ่น ไม่ว่าจะเป็นนิทานพื้นบ้านเรื่อง ศรีธนนชัย ที่บอกเล่าเรื่องราวความฉลาดแกมโกงของมนุษย์คนหนึ่งตั้งแต่เด็กจนโต ซึ่งก็จะคล้ายๆ กับตัวละครที่ชื่อ เซียงเมี่ยง ที่เล่าต่อปากกันมาในภาคอีสาน หรือจะเป็นตำนาน ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ ที่ปราชญ์หลายท่านเชื่อว่าสุดท้ายลงเอยตรงที่สร้าง พระธาตุตาดทอง เพื่อไถ่โทษและบูชาแม่เอาไว้ที่จังหวัดยโสธร

หรือบางตำนานเรื่องเล่าก็เข้าไปสัมพันธ์กับการเกิดภัยพิบัติ ตัวอย่างเช่นตำนานเรื่อง ผาแดงนางไอ่ หรือที่เรียกกันในหมู่คนเฒ่าคนแก่ว่าตำนาน ขอคำกระฮอกด่อน ที่มีพล๊อตเรื่องประมาณว่า พญานาคหนุ่มนามว่า ท้าวภังคี แปลงกายเป็นกระรอกเผือกไปหาสาว ซึ่งก็คือ นางไอ่ คนรักของผาแดง และก็เป็นลูกสาวพญาขอม ผู้ครองเมืองหนองหาน สกลนคร แต่โชคร้าย นางไอ่จำไม่ได้ กระรอกขาวโดนยิงสอยร่วงตกลงมาเสียชีวิต ทำให้พ่อท้าวภังคีโกรธมาก พาเหล่าพลพรรคนาคขึ้นมาจากเมืองบาดาล ถล่มเมืองหนองหานจนจมเป็นหนอง อย่างที่เห็นในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ในบรรดาเรื่องเล่าต่างๆ เหล่านี้ มีตำนานอยู่เรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนสัมผัสได้ว่าคงไม่ใช่แค่นิทานปรัมปรา เพราะมีความเป็นไปได้ว่ามีนัยสำคัญที่สื่อถึงภัยพิบัติแผ่นดินไหวใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นกับไทยเราในอดีต 

ขอท้าวความกันก่อน จากการรวบรวมเรื่องราวและบทความทั้งในและต่างประเทศพบว่า ในอดีตก่อนที่วิทยาศาสตร์จะเข้ามามีอิทธิพลในสังคมมนุษย์ ภัยพิบัติใหญ่ๆ ที่มนุษย์เคยสัมผัส มักจะถูกนำมาเติมต่อและร้อยเรียงขึ้นมาเป็นนิทานอยู่เสมอ (บทความเพิ่มเติม นิทาน . ตำนาน . ความเชื่อ . แผ่นดินไหว) ซึ่งในเรื่องของแผ่นดินไหว คนไทยโบราณเชื่อว่าเกิดจาก ปลาอานนท์ ที่ดินไปดิ้นมาอยู่ใต้ประเทศไทย คล้ายกับปลาดุกยักษ์ นามาสุ (Namazu) ที่ดินไปดิ้นมาอยู่ใต้ประเทศญี่ปุ่น แต่สำหรับประเทศไทยไม่ได้มีแค่นั้น เพราะถ้าเจาะกันลึกๆ จริงๆ ทางภาคเหนือประเทศไทย ก็ยังมีตำนานเฉพาะถิ่นเพิ่มเติมมาอีก และก็เชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดภัยพิบัติแผ่นดินไหวเช่นกัน นั่นก็คือตำนาน “เวียงหนองหล่ม”

ดูกันชัดๆ เทียบกันปอนด์ต่อปอนด์ว่า (ซ้าย) ปลาดุกยักษ์นามาสุ (ขวา) ปลาอานนท์ ใครแน่กว่ากัน (ที่มา : www.buyonegetwe.wordpress.com)

จากนิทานปรัมปรา

แถบภาคเหนือของไทยมีนิทานปรัมปราที่เล่าว่านานมาแล้ว กษัตริย์สิงหนวัติ เคยนำชาวบ้านประชาชนของตน ออกเดินทางเพื่อเสาะหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการตั้งรกรากสร้างเมืองใหม่ แต่เสาะหากันไปเท่าไหร่ ก็ไม่ถูกอกถูกใจเสียที จนกระทั่งเมื่อชาวบ้านเดินทางมาถึงแถบแม่น้ำโขง กษัตริย์สิงหนวัติก็ได้พบกับชายชุดขาวแปลกหน้า ซึ่งพอได้ทักทาย แลกนามบัตรกันเรียบร้อย ก็ได้รู้ว่าชายชุดขาวนั้นคือพญานาคแห่งลุ่มน้ำโขง พญานาคได้ยื่นข้อเสนอให้กับกษัตริย์สิงหนวัติว่า เขาสามารถเสาะหาและชี้เป้าพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การตั้งรกรากให้กับชาวบ้านทั้งหมดได้ แต่เขาขอสัญญาเพียงข้อเดียวคือ เมื่อตั้งเมืองและอยู่อาศัยแล้วให้พวกท่านทั้งหมดช่วยรักษาศีลรักษาธรรม แล้วอุทิศบุญกุศลให้กับเขาอย่างสม่ำเสมอ

กษัตริย์สิงหนวัติปิดดิว ตอบรับข้อเสนอของพญานาคในทันที พญานาคจึงชี้ไปยังพื้นที่รอบข้างทิวเขาริมแม่น้ำกก ชาวบ้านต่างช่วยกันสร้างบ้านแปลงเมืองและตั้งชื่อเมืองนี้ว่า โยนกนาคพันสิงหนวัติ หรือ โยนกนาคนครสิงหพันธุ เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่กษัตริย์สิงหนวัติและเผ่าพันธุ์ของพญานาคไปในคราวเดียวกัน

หลังจากนั้นประชาชนก็อยู่ดีมีสุขพร้อมทั้งช่วยกันรักษาศิลธรรมตามคำมั่นสัญญาเสมอมาหลายชั่วอายุคน จวบจนกระทั่งวันหนึ่งในยุคสมัยของพระเจ้ามหาไชยชนะนั่งบัลลังก์เมืองโยนกนาคนคร มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งได้ออกไปหาปลาที่แม่น้ำกกหลังหมู่บ้านตามวิถี แต่ในวันนั้นพิเศษกว่าทุกๆ วัน เพราะชาวบ้านจับปลาไหลเผือกตัวเขื่องมาได้ 1 ตัว ชาวบ้านจึงนำกลับมาที่หมู่บ้าน ฆ่าและซอยแบ่งแจกจ่ายกันกินไปทั่วทั้งเมือง ยกเว้นหญิงม่ายชราตาบอดนางหนึ่งซึ่งไม่มีลูกมีหลาน จึงไม่มีใครนึกถึงและนำปลาไหลเผือกไปให้นางกินในวันนั้น 

รูปปั้นปลาไหลเผือกวัดป่าหมากหน่อ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย (ที่มา : www.chiangraifocus.com)

ในวันนั้นมื้อค่ำของทุกๆ ครัว จึงอุดมไปด้วยเนื้อปลาไหลเผือก อิ่มหมีพีมันกันไปตามปกติ แต่หารู้ไม่ว่าปลาไหลเผือกตัวนั้น คือลูกของพญานาคแห่งลุ่มน้ำโขง นาคผู้พ่อพอรู้ข่าวก็โกรธมาก ตามตำนานเล่าว่าพญานาคเต็มอัตราศึก ลุยเข้าใต้เมืองหวังจะถล่มเมืองให้ราบเป็นหน้ากอง ตกดึกคืนนั้นจึงเกิดแผ่นดินไหวใหญ่  2 ครั้ง ทำให้เมืองโยนกนาคนครทรุดตัวลง กลายเป็นหนองน้ำเกือบทั้งเมือง เหลือเพียงบ้านของหญิงม่ายนางนั้นเพียงหลังเดียวที่ยังเป็นพื้นดินเหมือนเกาะ โผล่พ้นอยู่กลางน้ำ ชาวบ้านจึงเรียกเกาะกลางน้ำนั้นว่า เกาะแม่ม่าย และเรียกเมืองโยนกนาคนครว่า เวียงหนองล่ม หรือ เวียงหนองหล่ม หรือ เวียงหนอง จวบจนปัจจุบัน

พบบันทึกประวัติศาสตร์

อย่างที่บอกว่า ตํานานเวียงหนองหล่มนั้นไม่เหมือนกับตำนานอื่นๆ ของไทย เพราะทีแรกดูเหมือนว่าจะเป็นแค่นิทานปรัมปรา แต่ในเวลาต่อมาจากการรวบรวมและวิจัยเชิงเอกสารทั้งจากจารึก จดหมายเหตุ และพงศาวดารแหล่งต่างๆ Charusiri และคณะ (2005) ได้จัดทำ บันทึกประวัติศาสตร์ (historical record) ของเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งสำคัญที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งมีมากกว่า 20 บันทึก และหนึ่งบันทึกในนั้นก็ดูครับคล้ายครับคราว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยว หรือเป็นเรื่องเดียวกันกับตํานานเวียงหนองหล่ม (บันทึกสุดท้าย)

พ. ศ. 1860 (ศักราช 1246) สมัยพญาลิไท สุโขทัย

เมียพญาลิไทตั้งจิตอธิษฐานออกผนวชมีจารึกว่า อธิษฐานดังนี้แล้ว จึงรับสรณาคมต่อพระอุปัชฌาย์ ขณะนั้น แผ่นดินไหวทั่วทุกทิศเมืองสุโขทัย ครั้นทรง ผนวชแล้ว เสด็จลงมาจากพระมหาสุวรรณเหมปราสาท ทรงไม้เท้าจรดจรดลด้วยพระบาทสมเด็จพระราชดำเนินไปป่ามะม่วง ขณะประดิษฐานฝ่าพระบาทลงยังพื้นธรณี ปฐพีก็หวั่นไหวทั่วทุกทิศ หินสาธาเข้าพรรษาวันนั้นจึงเสด็จออกเสวยพระโชรศ ขณะนั้นไม่ควรเลยสรรพ ไม่เสบยเสพยนานาอากาศดาษ สุริยะเมฆาจันทร์ปรายต์กับดาราฤกษ์ ทั้งปวงยิ่งกว่าทุกวันด้วยฉะนั้น จึงเสด็จบรรพชาเป็นภิกษุในระหว่างพัทธสีมานั้น ขณะนั้นนาคราชตนหนึ่งอยู่โดยบุรพทิศ เมือง สุโขทัยนั้น ยกพังพานขึ้นสูงพันคน แปรตาไปเฉพาะป่ามะม่วงนั้น เห็นรอยผลุดพลุ่งกลางอากาศลงต่อแผ่นดิน อนึ่งเวลานั้นได้ยินเสียงระฆังดนตรีดุริยางค์ ไพเราะใกล้โสตสของชนเป็นอันมาก จะพรรณานับมิได้ แต่บรรดามหาชนที่มาสโมสรสันนิบาตในสถานที่นั้น ย่อมเห็นการอัศจรรย์ประจักษ์ทุกคน เหตุด้วย เสด็จออกทรงบำเพ็ญพระบารมี เมื่อทำอัษฎางติกศีล เมื่อฤดูคิมหันต์ไม่มีฝน ด้วยอำนาจศีลและความอธิษฐานพระบารมีด้วย ปถวีก็ประวัติกัมปนาทหวาดหวั่นไหว เพทธาราวิรุณหกก็ตกลงมาในฤดูแล้ง แสดงอัศจรรย์สรรเสริญในการสร้างพระบารมี

ที่มา: คำแปลหลักศิลาเมืองสุโขทัย ซึ่งจารึกเป็นอักษรขอมโบราณ ประชุมพงศาวดาร เล่ม 1 องค์การค้าของคุรุสภา : พระนคร, 2521, หน้า 180.

พ. ศ. 2111 (ลุศักราช 930 ปี) วันอังคาร เดือน 7 ขึ้น 9 ค่ำ เมืองย่างกุ้ง พม่า

บังเกิดแผ่นดินไหว พระเจดีย์เมืองร่างกุ้งทะลายลงมาเพียงชั้นกลาง พระเจ้าหงสาวดีจึงตรัสสั่งให้ขุนนางผู้ใหญ่เป็นนายการกะเกณฑ์กันทำให้ปกติดังเก่า

พงศาวดารมอญพม่า ประชุมพงศาวดาร เล่ม 2 องค์การค้าคุรุสภา : พระนคร, 2506, หน้า 44.

แรม 7 ค่ำ เดือนห้า จ.ศ. 376 ปีเถาะ (พ.ศ. 1557) โยนกนคร (ปัจจุบัน หลักฐานทาง “โบราณคดี” เชื่อว่าน่าจะอยู่ในพื้นที่ จ.เชียงราย)

สุริยอาทิตย์ก็ตกไปแล้ว ก็ได้ยินเสียงเหมือนดั่งแผ่นดินดังสนั่นหวั่นไหวประดุจดังว่าเวียงโยนกนครหลวงที่นี้ จักเกลื่อนจักพังไปนั้นแล แล้วก็หายไปครั้งหนึ่ง ครั้งถึงมัชฌิมยามก็ซ้ำดังมาเป็นคำรบสองแล้วก็หายนั้นแล ถึงปัจฉิมยามก็ซ้ำดังมาเป็นคำรบสาม หนที่สามนี้ดังยิ่งกว่าทุกครั้งคราวที่ได้ยินมาแล้ว กาลนั้นเวียงโยนกนครหลวงที่นั้นก็ยุบจมลงเกิดเป็นหนองอันใหญ่ ยามนั้นคนทั้งหลายอันมีในเวียงนั้น มีพระมหากษัตริย์เป็นประธานก็วินาสฉิบหาย ตกไปในน้ำที่นั้นสิ้น ยังเหลืออยู่แต่เรือนยามแม่หม้ายเฒ่า หลังเดียวนั้นแล

ที่มา: พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน ประชุมพงศาวดารภาคที่ 61 องค์การค้าของคุรุสภา : พระนคร, 2512, หน้า 44-48.

ในช่วงแรกๆ ของการพบความคล้ายจะสัมพันธ์กันระหว่างนิทานปรัมปราเวียงหนองหล่ม กับบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่มีการกล่าวอ้างไว้ใน พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน ทั้งนักโบราณคดีและนักธรณีวิทยาต่างสนใจและใคร่หากันว่าเวียงหนองหล่มนั้นอยู่ที่ไหนกันแน่ ซึ่งในช่วงต้นก็มีหลายสมมุติฐาน บ้างก็ว่าเวียงหนองหล่มอาจจะอยู่ที่กว๊านพะเยา เพราะกลางกว๊านพะเยาพบว่ามีซากโบราณสถานอยู่ แต่ต่อมาจากการศึกษาและสืบค้นทางโบราณคดี บทสรุปก็ไปจบตรงที่สิ่งปลูกสร้างกลางกว๊านพะเยานั้นก็คือ วัดติโลกอาราม (รูป ก) ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับเวียงหนองหล่มแต่อย่างใด

หรือมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ เวียงกุมกาม (รูป ข) เมืองโบราณริมแม่น้ำปิง จังหวัดเชียงใหม่ กำลังถูกขุดแต่ง ด้วยความที่ก่อนหน้านี้ซากโบราณสถานต่างๆ ของเวียงกุมกามเดิมเคยถูกฝังอยู่ใต้ชั้นตะกอน ก็จะมีแว๊บนึงที่นักวิชาการบางท่านสงสัยว่า หรือนี้คือเวียงหนองหล่มที่จมลงในหนอง แต่การศึกษาในรายละเอียดทั้งในด้านประวัติการสร้างเมืองและวิวัฒนาการของแม่น้ำปิง สุดท้ายก็ไปจบที่ว่าเวียงกุมกามเกิดจากกระบวนการทางน้ำของแม่น้ำปิงที่ทำให้ตะกอนเข้ามาทับถมตัวเวียงนั่นเอง

(ก) วัดติโลกอาราม กลางกว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา (ที่มา :https://region3.prd.go.th/) (ข) เวียงกุมกาม ริมแม่น้ำปิง จังหวัดเชียงใหม่ (ที่มา : http://tourismchiangmai.org) (ค) เกาะแม่ม่าย กลางทะเลสาบเชียงแสน จังหวัดเชียงราย (ที่มา : https://pantip.com/topic/35849877)

เป้าสุดท้ายที่ทั้งนักโบราณคดีและนักธรณีวิทยาเหลืออยู่ จึงมุ่งไปที่ ทะเลสาบเชียงแสน (รูป ค) ในอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ซึ่งด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ที่เป็นหนองน้ำ บวกกับมีเกาะเล็กๆ อยู่กลางน้ำ และมีตำนานปลาไหลเผือกอยู่ในพื้นที่ ทำให้บริเวณแถบนี้จึงมีความเป็นไปได้มากที่สุด ที่จะเป็นเวียงหนองหล่มในตำนาน

สู่การตีความด้านธรณีวิทยาแผ่นดินไหว

ซึ่งหากทะเลสาบเชียงแสนคือเวียงหนองหล่มจริง ความท้าทายต่อมาที่นักธรณีวิทยาจะต้องไขปัญหาก็คือ สุริยอาทิตย์ก็ตกไปแล้ว ก็ได้ยินเสียงเหมือนดั่งแผ่นดินดังสนั่นหวั่นไหวประดุจดังว่าเวียงโยนกนครหลวงที่นี้ จักเกลื่อนจักพังไปนั้นแล เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วทำไมถึง กาลนั้นเวียงโยนกนครหลวงที่นั้นก็ยุบจมลงเกิดเป็นหนองอันใหญ่ ยังเหลืออยู่แต่เรือนยามแม่หม้ายเฒ่า หลังเดียวนั้นแล

ในทาง ธรณีวิทยาแผ่นดินไหว (earthquake geology) เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ขึ้นมาสักที มีโอกาสที่จะทำให้ภูมิประเทศในแถบนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างทันทีทันใด ซึ่งภูมิประเทศที่ว่าก็เกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบ (บทความเพิ่มเติม ภูมิประเทศบ่งชี้ “รอยเลื่อน”) โดยถ้าเราพิจารณาในรายละเอียด จะพบว่าในบางพื้นที่ รอยเลื่อนไม่ได้เป็นเส้นตรงเส้นเดียวยาวเหยียด แต่ประกอบด้วยแนวรอยแตกย่อยๆ อยู่เหลื่อมกันรวมเป็นแนวยาวตลอดหลายสิบกิโลเมตร ซึ่งถ้ามีการเลื่อนตัวในแนวราบของชุดรอยเลื่อนที่อยู่เกยกัน ให้สังเกตดูที่พื้นที่ด้านในที่อยู่ระหว่างของรอยเลื่อนทั้ง 2 นั้น ถ้าการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนที่เกยกัน แล้วทำให้พื้นที่ระหว่างรอยเลื่อน ถูกบีบให้ชนกันแบบเฉียงๆ (ลูกศรด้านในวิ่งเข้าหากัน) จะทำให้เกิดลักษณะที่เรียกว่า สันกลางบีบอัด (pressure ridge) แต่ถ้าพื้นที่ด้านในถูกดึงออกจากกันแบบเฉียง (ลูกศรด้านในวิ่งออกจากกัน) พื้นที่ส่วนนั้นจะทรุดต่ำลงกลายเป็นแอ่ง เรียกว่า หนองน้ำยุบตัว (sag pond) ตัวอย่างเช่น แอ่งน้ำทางตอนใต้ของเมืองซานฟรานซิสโก ที่เป็นผลมาจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนซานแอนเดรียส ต้นเหตุที่ทำให้เมืองซานฟรานซิสโก พังพินาศพนาสูรเมื่อปี พ.ศ. 2449

การ์ตูนอย่างง่ายแสดงกลไกลการเลื่อนตัวในแนวราบ ของชุดรอยเลื่อนย่อย 2 ตัว
(ซ้าย) ภาพถ่ายดาวเทียมจาก NASA (ขวา) ภาพถ่ายมุมสูงจากเครื่องบินแสดงหนองน้ำยุบตัว ตัดแนวรอยเลื่อนซานแอนเดรียส ทางตอนใต้ของเมืองซานฟรานซิสโก (ที่มา : www.nasa.gov)

ดังนั้นถ้าจำเป็นจะต้องแปลความทางธรณีวิทยาเกี่ยวกับตํานานเวียงหนองหล่ม นักธรณีวิทยาก็คงจะต้องสรุปไปในแนวทางที่ว่า เมื่อเวลา แรม 7 ค่ำ เดือนห้า จ.ศ. 376 ปีเถาะ (พ.ศ. 1557) เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ขึ้น ในพื้นที่แถบอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ซึ่งก็น่าจะเกิดจาก กลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน (Mae Chan Fault Zone) (เส้นสีขาวพาดยาวจากขวาบนลงมาซ้ายล่างในแผนที่) ซึ่งจริงๆ แล้วหากดูภูมิประเทศตามหลักทางธรณีวิทยาแผ่นดินไหว ความคมชัดของแนวรอยเลื่อนก็บ่งชัดว่ารอยเลื่อนนี้ไม่ใช่ธรรมดา และสามารถสร้างแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้ และก็อีกนั่นแหละ เหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนั้นก็น่าจะใหญ่อยู่พอสมควร ใหญ่พอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศ แบบยุบตัวกลายเป็นแอ่งเป็นหนอง ที่เรียกในทางธรณีวิทยาว่า หนองน้ำยุบตัว (sag pond)

(ล่าง) ภูมิประเทศในเขตรอยต่อระหว่างอำเภอเชียงแสนและอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย แสดงแนวการวางตัวเป็นระยะๆ ของกลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน สี่เหลี่ยม คือ ตำแหน่งทะเลสาบเชียงแสน ที่คาดว่าเป็นเมืองโยนกนาคนคร หรือเวียงหนองหล่ม (ขวาบน) ภาพดาวเทียมแสดงทะเลสาบเชียงแสนและเกาะแม่ม่าย

ซึ่งเมื่ออ่านกันมาถึงตรงนี้ อย่างน้อยๆ เราก็ได้ขึ้นเค้าขึ้นโครงกันแล้วว่า โยนกนาคนคร เวียงหนองหล่ม เวียงหนอง เกาะแม่มาย ปลาไหลเผือก ไม่น่าจะใช่แค่นิทานหลอกเด็ก แต่ประเด็นที่ว่าใช่ หนองน้ำยุบตัว (sag pond) หรือไม่ อันนี้ก็ต้องไปศึกษาในรายละเอียดกันต่อ เพราะผู้เขียนก็ได้แค่แปลความผ่านโทรสัมผัสก็เท่านั้น

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: