
ข้อสังเกตทางธรณีวิทยา สู่เจตนาการซ่อนแอบโบราณ เขาปลายบัด บุรีรัมย์
ภาพปก : ประติมากรรมสำริด ที่ขุดพบในพื้นที่ปราสาทเขาปลายบัด ๒
นอกเหนือจาก ปราสาทหินพนมรุ้ง (บนเขาพนมรุ้ง) และ ปราสาทเมืองต่ำ (ที่ราบตอนล่างเชิงเขา) เขาปลายบัด อ. ประโคนชัย จ. บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นภูเขาไฟยุคใหม่ทางตอนใต้ของเขาพนมรุ้ง ถือเป็นอีกหนึ่งดินแดนแห่งศาสนสถานโบราณที่สำคัญในทางโบราณคดี เพราะปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดี ว่าบนเขาปลายบัดมีปราสาทในวัฒนธรรมเขมรโบราณอยู่ 2 หลัง คือ ปราสาทเขาปลายบัด ๑ ที่ตั้งอยู่บนสันเขาทางตะวันออก และ ปราสาทเขาปลายบัด ๒ ทางตะวันตกของตัวเขาปลายบัด ซึ่งเชื่อว่าสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวสถานใน ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ลัทธิไศวนิกาย โดยต่อมา จากการแปลความศิลาจารึกที่ขุดพบในพื้นที่ ระบุศักราชตรงกับ พ.ศ. 1468 ในรัชสมัยของ พระเจ้าศรีอีสานวรมัน
ในละแวกพื้นที่พนมรุ้ง มีภูเขาไฟยุคใหม่ หรือ ยุคควอเทอร์นารี (Quaternary) ในทางธรณีวิทยาอยู่ 3 ลูก หลักๆ คือ 1) เขาอังคาร 2) เขาพนมรุ้ง และ 3) เขาปลายบัด และอีก 2 ลูกเล็กๆ คือ 4) เขาคอก และ 5) เขาหลุบ (เขาดุม)

- ปราสาทหินพนมรุ้ง : https://goo.gl/maps/Tq61CCTKu5Z28aFNA
- ปราสาทเมืองต่ำ : https://goo.gl/maps/xcu8cV4qUP5Xf9Yq5
- ปราสาทเขาปลายบัด ๑ : https://goo.gl/maps/khwybN6LyBMkkpee8
- ปราสาทเขาปลายบัด ๒ : https://goo.gl/maps/U5pWifK1X3pFypgv9
ในมุมเรื่องเด่น-ประเด็นร้อน ปัจจุบันปราสาทเขาปลายบัด ๒ ดูจะมีความฮอตฮิตมากกว่าปลายบัด ๑ เนื่องจากมีสตอรี่ว่า ในอดีตเมื่อกว่า 50 ปีก่อน กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ ได้ขุดพบ ประติมากรรมสำริด (พระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ ฯลฯ) จำนวนมากกว่า 300 องค์ ซึ่งเป็น ศิลปะเขมรแบบไพรเกมง-กำพงพระ กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 13 (พ.ศ. 1200-1299) (ที่มา : www.matichon.co.th) โดยเมื่อเทียบเคียงกับอายุของตัวปราสาทเขาปลายบัด (จารึก พ.ศ. 1468) ลำดับอายุกันได้ว่า ประติมากรรมสำริดที่ขุดพบ แก่กว่า ตัวปราสาทเขาปลายบัดประมาณ 170-270 ปี
ก่อน – หลังบูรณะ
ความจริงแล้ว ผู้เขียนก็ไม่ได้มีวาสนาไปเห็นกับตา ว่าปราสาทเขาปลายบัด ๒ ในเวอร์ชั่นก่อนบูรณะ มีสภาพพื้นที่เป็นอย่างไร แต่ที่ค้นดูภาพเก่าๆ จากหลายที่มาและเปรียบเทียบรูป before – after พบว่าก่อนที่จะมีการบูรณะ ตัวปราสาทนั้นถูกถม จมอยู่ใต้ดินไปกว่าครึ่งตัว ซึ่งก็คงไม่น่าเอะใจอะไร ถ้าตัววัสดุที่ทับถมนั้นคือดินหรือเศษอิฐ ที่เราคงคาดเดากันได้ไม่ยากว่า น่าจะมาจากการขุดหาของโบราณเมื่อประมาณ 50 ปีก่อน

แต่สิ่งที่ชวนฉงน จากการไปดูตัวปราสาทของจริง หลังการบูรณะ พบว่าชั้นดินดั้งเดิมก่อนการบูรณะ ที่ยังหลงเหลือให้เห็นตามโคนต้นไม้ เผยให้รู้ว่า นอกจากดินและเศษอิฐที่คลุกเคล้ากันมั่วซั่ว ในชั้นดินโดยเฉพาะช่วงบน ยังพบก้อน หินบะซอลต์ (basalt) จำนวนมากปะปนอยู่ด้วย นี่จึงเป็นที่มาของการตั้งข้อสังเกตว่า หินบะซอลต์เหล่านี้มาจากไหน มา (เคย) เป็นตัวทับถมพื้นที่รอบปราสาทได้ยังไง
ถึงแม้ว่าจะมีการขุดค้นลงไปจนถึงฐานตัวปราสาท และมีการขนย้ายวัสดุส่วนที่คุมตัวปราสาทออกไป แต่จากความต้องการอนุรักษ์ต้นไม้เอาไว้ กรมศิลปากรจึงเหลือดินโดยรอบต้นไม้ ในละแวกปราสาทเอาไว้อย่างดี เผยให้เห็นลำดับของชั้นตะกอนที่ทับถม ก่อนที่จะมีการบูรณะได้อย่างชัดเจน

เพิ่มเติม : ฤา หินบะซอลต์ เขาพนมรุ้ง-ปลายบัด จะเคยผ่านมือชาย
ขอชวนสังเกตทางธรณีวิทยา
ประเด็นการถูกทับถมของโบราณสถานเมื่อถูกปล่อยร้างไปตามกาลเวลา ในทางธรณีวิทยาอธิบายได้ 2 แบบ คือ 1) การทับถมจากกระบวนการทางน้ำ ในกรณีที่พื้นที่โบราณสถานเป็นที่ลุ่มต่ำ ต่ำกว่าพื้นที่ข้างเคียง และ 2) การทับถมจากกระบวนการการพัดพาตะกอนโดยลม ก็สามารถเป็นไปได้ หากพื้นที่นั้นมีลมพัดแรง และตัวโบราณสถานเป็นตัวกั้น กรองลมให้ตะกอนตกทับถม


เพิ่มเติม : ทำไมของโบราณต้องฝังอยู่ใต้ดิน ? แล้วทำไม นักโบราณคดีต้องขุด ?
ดูจะย้อนแย้งอยู่พอสมควร หากจะใช้ทั้ง 2 หลักการทางธรณีวิทยานี้ มาอธิบายการมีอยู่ของหินบะซอลต์ ภายในอาณาเขตของกำแพงรอบปราสาท ในกรณีของ ลมพัดหิน ตัดทิ้งไปก่อนได้เลย อภินิหารเกิ๊นนน หรือถ้าจะว่าไหลตามน้ำมา ก็แทบเป็นไปไม่ได้ เพราะเทียบไซต์ดูแล้ว ก็มีแต่หินบะซอลต์ก้อนใหญ่ ไม่มีเล็กกว่ากำมือ รวมทั้งเมื่อพิจารณาพื้นที่ตั้งตัวปราสาทปลายบัด ๒ แล้ว พบว่าเป็นแนว เนิน (ridge) มากกว่าที่จะเป็น ร่อง (valley) นั่นหมายความว่า หินบะซอลต์ทุกก้อน ที่อยู่บนพื้นผิวภายในตัวปราสาท ณ วันนั้น วันก่อนที่จะมีการบูรณะ คือหินที่ถูกขนย้ายมา และจุดสำคัญมันอยู่ที่ว่า ระดับ (level) ที่พบหินบะซอลต์เหล่านี้ อยู่สูงกว่าฐานปราสาทชัดเจน ดังนั้นจากข้อสังเกตเล็กๆ และหลักคิดสั้นๆ ในทางธรณีวิทยา ที่ว่ามาทั้งหมด จึงพอที่จะลำดับเรื่องราว จัดตัวละครออกฉากได้ ดังนี้
- คนโบราณสร้าง ประติมากรรมสำริด ช่วงปี พ.ศ. 1200-1299
- อีกประมาณ 170-270 ปีต่อมา จึงมีการสร้างปราสาทเขาปลายบัด ๒ ในปี พ.ศ. 1468 (ข้อมูลจารึก)
- หลังปี พ.ศ. 1468 ประติมากรรมสำริด ในศาสนาพุทธ ถูกรวบรวมมาไว้ในที่เดียวกัน ในพื้นที่ปราสาทของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู อย่างปราสาทเขาปลายบัด ๒ แปลความได้ว่า พระพุทธรูปน่าจะมาในวันที่ปราสาทเลิกใช้งานแล้ว (เพราะถ้าความเป็นพราหมณ์-ฮินดู ยังฉายแสงอยู่ ดูท่าพระพุทธท่านคงเข้ามาไม่ได้)
- หลังจากประติมากรรมสำริดมาถึง ทั้งตัวปราสาทภายในกำแพงแก้ว และโบราณวัตถุอื่นๆ ก็ถูกกลบ ทับถมด้วยเศษดินและหินบะซอลต์ ที่ยืนยันได้ในทางธรณีวิทยาว่า คนขนมา
จึงเดาเจตนาของวันนั้นได้ว่า ทีมงานน่าจะจงใจเอาสมบัติ (ประติมากรรมสำริด) มาซ่อนแอบไว้ ในปราสาทร้าง เพื่อไม่ให้ใครรู้ใครเห็น … เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้ 😌
. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth