สำรวจ

ทำไมของโบราณต้องฝังอยู่ใต้ดิน ? แล้วทำไม นักโบราณคดีต้องขุด ?

ภาพปก : หลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน ต. บ้านเชียง อ. หนองหาน จ. อุดรธานี (ที่มา : https://thailandtourismdirectory.go.th)

บทความสั้นๆ นี้ เกิดจากความซุกซนทางความคิดของผู้เขียน อาจจะไม่ใช่ประเด็นวิจัยที่น่าสนใจมากนัก แต่หลายครั้งที่ออกสำรวจทาง ธรณีวิทยาโบราณคดี (geoarchaeology) ประเด็นหนึ่งที่ชวนผู้เขียนให้ฉงนสงสัยอยู่บ่อยครั้งก็คือ ทำไมโบราณสถาณ โบราณวัตถุ ต้องอยู่ใต้ดิน ? ทั้งๆ ในหลายๆ พื้นที่ โบราณสถาณเป็นเนินสูงท่วมหัว แต่ก่อนที่จะมีการบูรณะ ของเดิมนั้นถูกปกคลุมด้วยดินเหมือนเป็นภูเขา และในหลายพื้นที่เป็นที่ดอนสูง ไม่ใช่ที่ลุ่มต่ำ ที่จะเอื้อให้ตะกอนไหลมาสะสมตามกาลเวลา

พีระมิดเตโอตีวากาน (Teotihuacan) ในกรุงเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก (บน) ก่อนที่จะมีการขุดแต่งในปี ค.ศ. 1900 และ (ล่าง) หลังจากมีการบูรณะในปี ค.ศ. 2022

ถ้าจะค่อยๆ คุยกันแบบตีซื่อ คงเป็นไปไม่ได้ ที่ว่าก่อนคนโบราณจะเลิกใช้อะไรซักอย่าง จะเอาดินมาถมปิดเอาไว้ กันคนปัจจุบันมาพบเห็น ดังนั้นก็แทบจะ 100 % ที่ยืนยันว่า ดินที่โป๊ะอยู่บนแหล่งโบราณสถานต่างๆ เกิดขึ้นเอง ตามธรรมชาติ

อีกข้อสังเกตที่ช่วยยืนยันตัดตัวเลือกความเป็นไปได้ คือ จะเห็นได้ว่าแทบทุกโบราณสถาน เมื่อมีการบูรณะปรับแต่ง แค่ขุดเปิดหน้าดินออก ก็ได้โบราณสถานที่กลับมาสวยสมบูรณ์ดังเดิม ไม่มีโบราณสถานส่วนใดที่ผุพังย่อยสลายออกไป ยืนยันว่าดินที่ปกคลุมอยู่บนโบราณสถาน ไม่ได้เกิดจากการผุพังของตัวโบราณสถานเอง อ้าว !!! แล้วดินมาจากไหน ? กระบวนการทางธรรมชาติอะไร ? ที่ทำให้ในหลายๆ พื้นที่ มีดินไหลจากที่ต่ำไปโป๊ะอยู่บนที่สูง คลุมโบราณสถานได้อย่างมิดชิด

ภาพสนามกีฬากรีกโบราณ ก่อน (ดินปกคลุม) และหลังการขุดปรับแต่งโดยนักโบราณคดี (สภาพยังอยู่ครบถ้วนสมบูรณ์) (ที่มา : https://greekcitytimes.com)

1) ดินทับถมจากกระบวนการทางน้ำ

บนพื้นที่ราบทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่คนโบราณมักจะเลือกอาศัยอยู่ (มากกว่าบนเขาสูง) หากวิเคราะห์ในรายละเอียด ที่ราบที่ว่า สุดท้ายแล้วไม่ได้เรียบอย่างสมบูรณ์ เพราะในแต่ละพื้นที่ย่อยใดๆ จะมีที่ที่สูงกว่า และต่ำกว่าเสมอ ซึ่งในทางธรณีวิทยาเราเรียกว่า ร่อง (valley หรือ depression area) และ เนิน (ridge) ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไป ที่อยู่อาศัยหรือโบราณสถาณเลิกใช้งาน กระบวนการทางน้ำ ก็จะค่อยๆ พัดพาเอาเศษดินหรือตะกอน ในที่ที่สูงกว่าหรือเนิน ลงมาสู่ที่ที่ต่ำกว่าหรือร่อง สะสมและทับถมโบราณสถาณได้ ตามครรลองปกติ ในทางธรณีวิทยา

การ์ตูนแสดงความเป็น ร่อง (valley) และ เนิน (ridge) ของพื้นผิวโลก ซึ่งบางครั้งอาจสังเกตไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่ในพื้นที่ใดๆ จะมีที่สูงกว่าและต่ำกว่าเสมอ
หลุมขุดค้นทางโบราณคดี บ้านสายโท 4 อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ แสดงตัวอย่างการลำดับชั้นตะกอนดิน ชั้นสีดำด้านบนที่ไหลลงมาปิดทับ เตาเผาโบราณ (เศษอิฐสีส้ม) หลังจากเตาถูกเลิกใช้งาน

2) ดินทับถมจากการพัดพาโดยลม

ในพื้นที่ที่มีลมแรง-ลมเด่น นักธรณีวิทยาได้จำแนกรูปแบบการพัดพาตะกอนโดยลมออกเป็น 3 รูปแบบ คือ 1) การคืบคลาน (creep) ลมพัดพาตะกอนขนาดทรายหยาบหรือกรวดขนาดเล็กให้เคลื่อนที่ได้โดย การคืบคลาน (creep) หรือ การกลิ้ง (rolling) 2) การกระโดดเป็นช่วง (saltation) ลมพัดพาทรายละเอียดให้เคลื่อนที่แบบกระโดดเป็นช่วง โดยลอยตัวสูง ≥ 50 เซนติเมตร ซึ่งหากมีจำนวนมากเรียกว่า พายุทราย (sand storm) และ 3) การแขวนลอย (suspension) เป็นการเคลื่อนที่โดยลมพัดตะกอนขนาดทรายแป้งหรือดิน ให้ฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศและพัดพาไปได้ไกลหลายกิโลเมตร และเมื่อตะกอนตกทับถมกัน เรียกว่า ดินลมหอบ (loess)

รูปแบบการพัดพาตะกอนขนาดต่างๆ โดยลม

ในทางอุดมคติ กรณีของพื้นที่ราบกว้างใหญ่ ตะกอนสามารถถูกลมไหลพัดพาไปได้เรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด แต่หากในทางธรรมชาติ มีพื้นผิวขุขะเพียงเล็กน้อย เช่นมีพุ่มหญ้า มีหินก้อนเล็กๆ อยู่กลางที่ราบ ทำให้พื้นผิวไม่ราบเรียบ (แม้เพียงเล็กน้อยในช่วงเริ่มต้น) กระแสลมจะเกิดอาการปั่นป่วน บางช่วงมีการปล่อยตะกอนทิ้ง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ กระบวนการสะสมตัวของตะกอนโดยลม

กระบวนการเกิดเนินทราย ที่ริ่มต้นจากสิ่งกีดขวางเล็กๆ ในพื้นที่ ทำให้ลมมีความปั่นป่วน และหอบตะกอนมาสะสม ปิดทับสิ่งกีดขวางนั้น

เริ่มจากการที่ลมถูกกีดขวางจากวัตถุ ทำให้ลมเปลี่ยนทิศทาง มีการม้วนตัว และความเร็วลมลดลงเกิดเป็น โซนอับลม (wind shallow zone) ทำให้ตะกอนทรายที่ถูกหอบมา ตกทับถมในโซนอับลม ตะกอนที่ตกสะสมยิ่งทำให้พื้นที่ไม่ราบเรียบมากขึ้น เอื้อต่อการปั่นป่วนของกระแสลมให้รุนแรงมากขึ้น และตะกอนสะสมตัวได้ดียิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งปกคลุมสิ่งกีดขวางที่ว่า หรือโบราณสถานในทางโบราณคดี เมื่อผนวกกับการเติบโตและตายลงของพืชคลุมดินในพื้นที่ ทำให้ตะกอนทรายเพิ่มปริมาณอินทรีย์วัตถุขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นดินที่ปกปิดโบราณสถานเอาไว้ กระบวนการเช่นนี้พบเห็นโดยทั่วไปในพื้นที่ทะเลทราย ในกรณีของการสร้าง เนินทราย (sand dune) ซึ่งก็เกิดจากสิ่งกีดขวาง หรือความไม่ราบเรียบเพียงเล็กน้อย เช่นกัน

อาคาร ธรรมศาลา หรือ บ้านมีไฟ หรือ โรงแรมโบราณ ของอาณาจักรเขมรโบราณ ที่ถูกปล่อยทิ้งร้าง แสดงให้เห็นเนินดินที่กำลังค่อยๆ ปกคลุมตัวอาคารได้มากพอสมควร ซึ่งในอนาคตหากปล่อยเวลาเดินไปเรื่อยๆ สุดท้ายอาคารหรือปราสาทแห่งนี้ ก็จะถูกปกคลุมไปด้วยดิน และซากอินทรีย์วัตถุจากพืชและสัตว์อย่างสมบูรณ์ (ที่มา : https://livingnomads.com)

โดยสรุป โบราณสถานจะค่อยๆ ถูกปกคลุมด้วยดิน นับตั้งแต่อาคารเลิกใช้งาน จนถึงปัจจุบัน ดังนั้น ความหนาของชั้นตะกอนทั้งหมดจึงเป็นตัวแทน ความแรงของลม และ/หรือ ความยาวนานหลังจากที่โบราณสถานนั้นถูกทิ้งร้าง

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: