สำรวจ

How to ดู : คลองคนขุดโบราณ

ในทางโบราณคดี นอกจากโบราณสถาณและโบราณวัตถุ ที่มีให้สำรวจ-ขุดค้นกันอย่างไม่หวาดไม่ไหว อีกหนึ่งตัวละครที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ ระบบชลประทาน (irrigation system) หรือ คลองขุดโบราณ ซึ่งมันก็ไม่ยากที่จะแยก หากสิ่งปลูกสร้างในอดีต เช่น ปราสาท สถูป เจดีย์ ฯลฯ ไม่ได้มีการใช้แล้วในปัจจุบัน สิ่งเหล่านั้นก็จะถูกนิยามเป็นโบราณสถาน เปิดทางให้นักโบราณคดีเข้าสำรวจในพื้นที่กันได้ง่ายๆ แต่ใครจะไปรู้ !!! หลายสิ่งที่เรายังใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ บางครั้งก็เป็นตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมาใช้งาน เนิ่นนานมาแล้วตั้งแต่อดีต และปัจจุบันก็ยังคงถูกใช้สืบต่อกันมา เช่น หลายหมู่บ้านที่เห็นๆ กันอยู่ในทุกวันนี้ อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มี คูน้ำขุดล้อมรอบ (moat) ซึ่งก็แทบทั้งนั้น…เป็นชุมชนโบราณ

ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงคูน้ำล้อมรอบ ซึ่งบ่งชี้ว่าเป็นชุมชนโบราณ แต่จากภาพถ่ายดาวเทียมนี้ ก็พบชุมชนปัจจุบันอาศัยทับอยู่ในชุมชนโบราณเช่นกัน

คลองส่งน้ำก็เช่นกัน หากมองผิวเผินในหลายพื้นที่ เราอาจจะคิดว่าคลองเหล่านี้ เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือไม่ก็ถูกขุดขึ้นมาเมื่อไม่นานมานี้ แต่หากสังเกตุดีๆ อย่างมีหลักการ เราจะแยกได้ว่า ลำน้ำเหล่านี้เกิดจากมนุษย์ในอดีตสร้างขึ้น

ภาพหน้าปกวารสารเมืองโบราณ ฉบับปีที่ 42 ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2561 แสดงให้เห็นระบบคูน้ำล้อมรอบเมืองศรีเทพ และคันดินทางตอนเหนือ เพื่อเบี่ยงน้ำในการบริหารจัดการน้ำเข้าสู่รอบเมือง

เพื่อให้การศึกษาระบบการจัดการน้ำโบราณไม่มั่วซั่ว เป็นระบบมากขึ้น หลักคิดในการสกัดคัดแยกคลองส่งน้ำโบราณ ออกจากลำน้ำธรรมชาติ หรือคลองส่งน้ำในปัจจุบัน จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น บทความนี้จึงตั้งใจจะเซ็ตหลักการ ในการที่จะบอกว่าแหล่งน้ำหรือลำน้ำนั้นเป็นธรรมชาติ หรือเป็นของเก่าขุดขึ้นในอดีต ซึ่งเอาจริงๆ ก็ดูได้ไม่ยาก จากหลักการแค่ 3 ข้อ ก็พอ 🙂

1) คันดินสูงกลางที่ราบ

ข้อนี้ง่าย ลำน้ำส่วนใหญ่ที่เห็นในประเทศไทยมักจะไหลอยู่ตามที่ ราบน้ำท่วมถึง (floodplain) แต่หากมีคันดินขนาบคร่อมร่องน้ำทั้ง 2 ข้าง นั่นหมายความว่ามนุษย์ขุดขึ้น จะโบราณไม่โบราณ เดี๋ยวค่อยมาว่ากันอีกที

(ซ้าย) ภาพถ่ายดาวเทียม (ขวา) สภาพพื้นที่จริงของ คลองปูน ทางตะวันออกเฉียงใต้ ของเขาพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ภาพถ่ายดาวเทียแสดงแนวลำคลอง ที่คล้ายกับว่าจะเป็นแนวตรง เหมือนจะไม่ใช่ธรรมชาติ ส่วนสถานที่จริงแสดงให้เห็นคันดินขนาบข้างทั้ง 2 ข้าง ของลำคลอง

แต่เดี๋ยวก่อน !!! หากผู้อ่านมีความรู้เกี่ยวกับ กระบวนการทางน้ำ (river process) อยู่บ้าง ก็อาจจะแย้งว่าคันดินที่เห็นอาจจะเป็นธรรมชาติก็ได้ เพราะในฤดูน้ำหลาก เมื่อน้ำไหลมามากเกินกว่าที่ร่องน้ำจะรับได้ มวลน้ำจะเอ่อล้นริมตลิ่งและท่วมบริเวณที่ราบน้ำท่วมถึงด้านข้างตัวคลอง ซึ่งน้ำที่เคยไหลแรงในร่องน้ำ เมื่อเริ่มเอ่อล้น น้ำจะลดความเร็วลงทันที ผลจากการลดความเร็วจากน้ำแรงในร่อง เป็นเอ่อล้นบ่าทุ่ง ตะกอนที่ถูกพัดพามาตามร่องน้ำจะตกทับถมทันที ตามขอบของร่องน้ำ เกิดเป็นสันทรายคล้ายกับคันดินขนาบไปตามร่องน้ำ อย่างที่เหล่า ชลกร หรือผู้สันทัดด้านลำน้ำ เรียกว่า คันดินธรรมชาติ (natural levee)

ภาพการ์ตูนแสดงกระบวนการเกิดคัดดินธรรมชาติ

ประเด็นนี้ ผู้เขียนก็ไม่แย้งว่าคันดินเกิดตามธรรมชาติเกิดได้ จริง แต่สเกลต้องเป็นระดับ แม่น้ำ (river) ขนาดใหญ่ หาใช่ ธารน้ำ (stream) หรือ คลองไส้ไก่ ที่เราคิดว่าจะเป็นคลองชลประทาน ดังนั้นถ้าเรามองแม่น้ำ แล้วพบเห็นคันดิน ก็น่าจะเป็นคันดินธรรมชาติตามที่ว่า แต่ถ้าเรากำลังมองคลองไส้ไก่ แล้วเจอคันดิน ผมขออนุญาตฟันธงว่าเป็น คลองคนขุด เชื่อผม ผมเรียนมา 🙂

คันดินธรรมชาติ (natural levee) โดยส่วนใหญ่มีต้นไม้หนาแน่น เนื่องจากเป็นแหล่งสะสมตัวของดินอุดมสมบูรณ์และชุ่มชื้นใกล้น้ำ แต่คันดินที่เกิดจากคลองขุดมักจะไม่มีต้นไม้ หรือมี แต่น้อยกว่าที่เราเห็นตามคันดินธรรมชาติทั่วไป

2) คลอง คดๆ แบบ ตรงๆ

บริเวณ ที่ราบน้ำท่วมถึง (floodplain) ซึ่งเป็นพื้นที่อู่ข้าวอู่น้ำ เอาไว้ทำนาทำไร่ ทั้งในปัจจุบันและอดีต ธารน้ำส่วนใหญ่จะเป็น ธารน้ำโค้งตวัด (meandering stream) ต้องสปอยกันก่อนว่า น้ำพื้นผิวเค้าจะมีนิสัยซื่อๆ คือถ้าอยู่ในพื้นที่สูงชัน น้ำเขาจะไหลแบบทะลักทะลวงและกัดกร่อนร่องน้ำ ลงไปในแนวดิ่ง ร่องน้ำบริเวณเขาสูงที่ต้นน้ำส่วนใหญ่จึงเป็นธารน้ำที่ตรงและไหลอยู่ในร่องลึกตามร่องเขา แต่ถ้าน้ำไหลเข้าพื้นที่ราบเรียบอย่างที่ราบน้ำท่วมถึง ธาน้ำจะมีการกัดกร่อนในแนวราบ กวัดแกว่งซ้าย-ขวา มากกว่ากัดแนวดิ่ง ทำให้ธารน้ำ มีการโค้งตวัดไปมา “ตลอดทั้งตัวตั้งแต่หัวจรดหาง”

เพิ่มเติม : ชนิดและภูมิลักษณ์ของธารน้ำ

การ์ตูนแสดงลักษณะการกวัดแกว่งของทางน้ำโค้งตวัด กัดกร่อนจนเกิดเกิดที่ราบน้ำท่วมถึง
ลักษณะการกวัดแกว่งของทางน้ำโค้งตวัด และการเกิด ทะเลสาบรูปแอก (oxbow lake)

ประเด็นชวนสังเกต ของความเป็นคลองขุดโบราณอย่าง คลองปูน ของเขาพนมรุ้ง บุรีรัมย์ ส่วนใหญ่หากมองภาพรวมตลอดตัวของธารน้ำหรืคลองจะเป็นแนวเส้นตรง แต่ถ้าดูเป็นท่อนสั้นๆ ภายในตัว เค้าจะขด คดเคี้ยวเว่อร์ๆ อย่างกับเป็นธารน้ำโค้งตวัดร่างสุดท้าย แถมก็ไม่มี ทะเลสาบรูปแอก (oxbow lake) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ความโค้งตวัดธรรมชาติแท้ เหลือร่องรอยเอาไว้เลย ก็ถ้ามาทรงนี้ เป็นผมก็พูดได้เต็มปากว่า คลองปูน บุรีรัมย์ 1) เป็นคลองขุด เพราะตลอดตัวเป็นแนวเส้นตรง และ 2) เป็นคลองโบราณ เพราะด้วยเวลาที่ผ่านมา บวกกับนิสัยของน้ำแถวที่ราบน้ำท่วมถึง ที่อยากตวัดอยู่แล้ว ทำให้ภายใต้แนวเส้นตรงนั้น มีความขดคด โค้งตวัดอยู่

ภาพถ่ายดาวเทียมมุมต่างๆ ของ คลองปูน ทางตะวันออกเฉียงใต้ ของเขาพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ แสดงแนวลำคลอง ที่คล้ายกับว่าจะเป็นแนวตรง เหมือนจะไม่ใช่ธรรมชาติ แต่ก็มีความคดสุดๆ ภายในตัว แปลความได้ว่าเป็น คลองคนขุดโบราณ หรือ ระบบชลประทานในอดีต

แถมถ้าว่ากันตามจริง ถ้าเราสามารถหา อัตราการโค้งตวัด หรือ อัตราการสะสมตัวของตะกอนบริเวณโค้งใน หรือที่เรียกว่า เนินทรายริมตลิ่ง (point bar) ได้ เราก็สามารถย้อนเวลากลับไปได้ว่า คลองนี้เคยเป็นเส้นตรงเมื่อตอนไหน ขุดกันตั้งแต่เมื่อไหร่

3) ธารน้ำปีนแผ่นดิน

หลักสุดท้ายที่อยากให้จับยึด ในทางธรณีวิทยา คือ ลำน้ำ หรือ ธารน้ำ (stream) กับ ร่องน้ำ (valley) ไม่เหมือนกัน ธารน้ำ (stream) คือ ลำธาร ลำคลองที่เป็นทางควบคุมให้น้ำไหล ส่วน ร่องน้ำ (valley) คือ แนวหรือร่องที่ต่ำที่สุดของพื้นที่ใดๆ ซึ่งถ้าฝนตกลงมา หรือเมื่อเทน้ำลงไป เอาจากใจจริงๆ น้ำก็อยากที่จะไหลไปสู่ร่องน้ำเหล่านั้น และโดยปกติของพื้นที่ทั่วไป ธารน้ำ (stream) กับ ร่องน้ำ (valley) ก็มักจะอยู่ในแนวเดียวกัน เพราะแนวลุ่มต่ำของพื้นที่ ก็มักจะเป็นทางเอื้อให้น้ำไหล และพัฒนาต่อไป สู่การเป็นธารน้ำเสมอ

แต่ความจริงบนโลกใบนี้ มีอยู่หลายพื้นที่ ที่ธารน้ำและร่องน้ำ ไม่ได้อยู่ในแนวเดียวกัน ซึ่งหากเป็นกระบวนการธรรมชาติทางธรณีวิทยา ปรากฏการณ์แบบนี้ก็เกิดขึ้นได้ จากการที่มี แรงทางธรณีแปรสัณฐาน (tectonic force) เข้ามาเอี่ยว ทำให้พื้นที่มีการเอียงเท ร่องน้ำกับธารน้ำจึงไหลอยู่คนละแนว

เพิ่มเติม การเอียงเทของพื้นที่ : การปรับระดับพื้นโลก-ภัยพิบัติระยะยาวจากแผ่นดินไหว

กรณีศึกษาระบบชลประทานพนมรุ้ง ธารน้ (stream) ไม่ได้ไหลอยู่ในแนวที่ต้ำสุดของพื้นที่ หรือ ร่องน้ำ (valley) ซึ่งอยู่ในแนวทางด้านขวาของลำน้ำ

อย่างไรก็ตาม พื้นที่บ้านเราโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอีสานของไทย นักธรณีเค้ารู้กัน ว่าไม่ค่อยจะมีกระบวนการทางธรณีแปรสัณฐานเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างเป็นล่ำเป็นสัน แต่ถ้าได้สำรวจตรวจวัดกันดีๆ จะพบธารน้ำ (stream) หลายสาย ที่ไม่ได้ไหลล้อไปกับร่องน้ำ (valley) ซึ่งถ้าไม่มีธรณีแปรสัณฐานให้ปรักปรำ การแปลความก็จะนำไปสู่ ความฝืนธรรมชาติ ในแบบ ธารน้ำปีนแผ่นดิน ของธารน้ำธารนั้น แล้วก็คงแปลความดิ้นไปไหนไม่ได้นอกจากจะบอกว่าเป็น ฝีมือมนุษย์

กรณีศึกษาระบบชลประทานศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ธารน้ำ (stream) ไม่ได้ไหลอยู่ในแนวที่ต้ำสุดของพื้นที่ แต่มีทิศทางการไหลเข้าสู่คูน้ำโดยรอบเมืองศรีเทพ

และนี่ก็คือแนวทาง หรือหลักยึดเพียง 3 ข้อ ที่อยากจะฝากเอาไว้ เพื่อใช้เป็นหลักมีเกณฑ์ ในการแปลความว่า ลำน้ำไหนธรรมชาติ ธารน้ำไหนที่มนุษย์สร้างขึ้น หวังว่าจะเป็นประโยชน์ กับงานวิจัยหรือการศึกษาภูมิศาสตร์โบราณคดี กับเมืองแห่งแหล่งน้ำ อย่างบ้านเรา ขอให้ทุกท่านสนุกกับโบราณคดี (archaeology) นะครับ

เกร็ดความรู้เพิ่มเติม : การประเมินดีกรีการฝืนธรรมชาติของธารน้ำ

ดัชนีความไม่สมมาตรของแอ่งรับน้ำ (Drainage Basin Asymmetry, Af) เป็นหนึ่งในหลายๆ ค่าดัชนีการตรวจวัดภูมิประเทศ ที่ใช้วิเคราะห์การเอียงเทของพื้นดินในเชิงตัวเลข (Cox, 1994) โดยจากแนวคิดที่ว่าหากแอ่งรับน้ำอยู่ในสภาวะปกติ ธารน้ำ (stream) ควรไหลอยู่ในแนวเดียวกันกับ ร่องน้ำ (valley) หรืออธิบายอีกแบบ ธารน้ำ (stream) ควรจะไหลแบ่งครึ่งหรือตรงกลางระหว่าง แอ่งรับน้ำ (drainage basin) แต่หากมี กระบวนการทางธรณีแปรสัณฐาน (tectonic process) เข้ามารบกวน ยกๆ ยุบๆ พื้นที่ใดๆ ทำให้แอ่งรับน้ำมีการเอียงเท ล้อไปกับแรงทางธรณีแปรสัณฐานที่เข้ามากระทำ ธารน้ำ (stream) จะไหลเอียงเทไปฝั่งใดฝั่งหนึ่งของแอ่งรับน้ำ ไม่อยู่ในแนวเดียวกับ ร่องน้ำ (valley) โดยที่ระดับความเอียงเทของแอ่งรับน้ำนั้นประเมินเป็นตัวเลขได้จากสมการ (4)

สมการ (4)
  • Da คือ คือ ระยะทางจากเส้นกลางของแอ่งรับน้ำ (midline basin) หรือ ร่องน้ำ (valley) ไปจนถึง แนวธารน้ำ (stream)
  • Dd คือ ระยะทางจากเส้นกลางของแอ่งรับน้ำ (midline basin) ถึง ขอบของแอ่งรับน้ำ
(ซ้าย) แบบจำลองแสดงแอ่งรับน้ำในสภาวะปกติ (ขวา) วิธีการตรวจวัดค่าต่างๆ จากภูมิประเทศ ที่ใช้ในการคำนวณดัชนีความไม่สมมาตรของแอ่งรับน้ำ (Cox, 1994)

จากสมการ (4) แอ่งที่สมมาตรอย่างสมบูรณ์ T = 0 (หรือ Da = 0) และหากแอ่งรับน้ำยิ่งเอียง ค่า T จะยิ่งใกล้ 1 ซึ่งมีนัยสำคัญว่ามีการเบี่ยงของแม่น้ำอันเนื่องมาจากพื้นเอียง (Davis, 2002)

เพิ่มเติม : 4 วิธี จับพิรุธภูมิประเทศ ด้วยตัวเลข

Share: