วิจัย

ภูมิบ้านนามเมือง : เนิน-โนน-โพน-โคก

ภูมินามวิทยา (toponymy) คือ ศาสตร์ทางด้านภาษา ที่ศึกษาความหมายหรือนัยสำคัญ ของชื่อสถานที่ต่างๆ ที่ตั้งขึ้น ว่าสื่อสัมพันธ์หรือสำแดงลักษณะเฉพาะอะไรที่โดดเด่น ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มภาษา พืชพันธุ์ สัตว์ สิ่งปลูกสร้าง ทรัพยากร รวมไปถึง ลักษณะภูมิประเทศที่ถิ่นฐานนั้นตั้งอยู่ ตัวอย่างเช่น เช่น บ้านไทรงาม อาจหมายถึงมีต้นไทรอยู่มากมายในอดีต บ้านพุน้ำร้อนบ่งบอกว่าน่าจะมีแหล่งน้ำพุร้อนอยู่ในพื้นที่ บ้านเขาเหล็ก อาจหมายถึงมีภูเขาและมีแร่เหล็กบนเขาลูกนั้น เป็นต้น

เพื่อที่จะศึกษาความสัมพันธ์ของภูมิบ้านนาเมือง ที่สื่อถึงภูมิประเทศในประเทศไทย งานวิจัยนี้เลือกกลุ่มคำตัวอย่างที่สื่อถึงพื้นที่สูงในละแวก ซึ่งคนโบราณส่วนใหญ่นิยมเลือกเป็นที่อยู่อาศัยในอดีต ได้แก่ เนิน โนน โพน โคก ดอน ควน ผ่านการมีอยู่ในองค์ประกอบของชื่อหมู่บ้านทั้งประเทศ เพื่อที่จะสังเคราะห์ว่า แต่ละคำที่กล่าวมา ถูกใช้อย่างไร ทั้งในมิติการกระจายตัวของภาษา หรือ ภูมินามวิทยา (toponymy) และในมิติของ ภูมิลักษณ์ (landform) รูปร่างของภูมิประเทศดังกล่าว

ภูมินาม (toponymy)

ในจำนวนหมู่บ้านทั้งหมดกว่า 84,000 หมู่บ้าน ทั่วประเทศ จากการคัดเลือกและรวบรวมหมู่บ้านที่มีคำว่า เนิน โนน โพน โคก ดอน ควน ผลประกอบการการคัดกรอง มีดังนี้

  • เนิน (756 หมู่บ้าน) ได้แก่ เนินพาวิวปาย ต.แม่ฮี้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน, เนินสวรรค์ ต.ห้วยเขย่ง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี, เนินสว่าง ต.ลำเลียง อ.กระบุรี จ.ระนอง, เนินสันติ ต.ละแม อ.ละแม จ.ชุมพร, เนินสุวรรณ ต.ไทรโสภา อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี, เนินมะคึก ต.น้ำรึม อ.เมืองตาก จ.ตาก
  • โนน (3,152 หมู่บ้าน) ได้แก่ โนนสมบูรณ์ ต.โกสัมพี อ.โกสัมพีนคร จ.กำแพงเพชร, โนนสมบูรณ์ ต.แม่เปิน อ.แม่เปิน จ.นครสวรรค์, โนนสูง ต.ลานสัก อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี, โนนใหญ่ ต.ศรีคีรีมาศ อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย, โนนดู่ ต.วังบัว อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร, โนนป่าแดง ต.ศรีคีรีมาศ อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย
  • โพน (452 หมู่บ้าน) ได้แก่ โพนไร่ ต.บางปลาม้า อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี, ยางโพน ต.บ้านนา อ.วชิรบารมี จ.พิจิตร, โพนางดำตก ต.โพนางดำตก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท, โพนทอง ต.ตาคลี อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์, โพนกกโก ต.บ้านโปร่ง อ.หนองโดน จ.สระบุรี, โนนตาโพน ต.หนองกะท้าว อ.นครไทย จ.พิษณุโลก
  • โคก (2,758 หมู่บ้าน) ได้แก่ โคกระเวียง ต.ขนงพระ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา, โคกสง่าสามัคคี ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา, โคกปอแดง ต.หนองไทร อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์, โคกตะแบง ต.ส้มป่อย อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์, โคกโพธิ์ ต.โคกยาง อ.ปราสาท จ.สุรินทร์, โคกมะกะ ต.ท่าสว่าง อ.เมืองสุรินทร์ จ.สุรินทร์
  • ดอน (2,213 หมู่บ้าน) ได้แก่ ดอนสว่าง ต.กลอนโด อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี, ดอนมะเกลือ ต.หนองกุ่ม อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี, ดอนตาล ต.กระจัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี, ดอนโป่ง ต.ดอนคา อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี, ดอนสว่าง ต.กลางดง อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย, ดอนพระ ต.กุดธาตุ อ.หนองนา จ.ขอนแก่น
  • ควน (770 หมู่บ้าน) ได้แก่ ควน ต.บางเตย อ.เมืองพังงา จ.พังงา, ในควน ต.เขาใหญ่ อ.อ่าวลึก จ.กระบี่, ควนกลาง ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต, ควนแม่ยาย ต.ทุ่งมะพร้าว อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา, ควน ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา, หัวควน ต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต
ตัวอย่าง ภูมิบ้านนามเมือง เนิน โนน โพน โคก ดอน ควน ที่แอบสอดแทรกอยู่ในทุกกิจกรรมของคนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นชื่ออ่างเก็บน้ำ โรงเรียน หรือแม้กระทั่งชื่อมัสยิด

จากการแปลความการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของตำแหน่งหมู่บ้านที่มีคำต่างๆ พบว่าหมู่บ้านที่มีคำว่า เนิน เป็นองค์ประกอบอยู่ในชื่อหมู่บ้าน ส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ที่ราบลุ่มภาคกลางตอนบน แถบจังหวัดสุโขทัยและกำแพงเพชร รวมถึงภาคตะวันออกของประเทศไทยในหลายพื้นที่ และที่น่าสังเกตคือ มีแนวหนาแน่นคมชัดของหมู่บ้านที่นิยมใช้คำว่า เนิน อยู่ในร่องที้ราบลุ่มต่ำที่พาดผ่าน จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรีและสระแก้ว

ส่วนหมู่บ้านที่มีคำว่า โนน และ โพน โดยส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ภาคอีสานของไทย ซึ่ง โนน จะพบมากกว่าในแทบทุกจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามแนวแม่น้ำมูล ลำน้ำสายสำคัญของภาคอีสานตอนล่าง รวมไปถึงในบางพื้นที่ของภาคกลางตอนบนและภาคตะวันออก ส่วน โพน จะกระจายอยู่เฉพาะในภาคอีสานเท่านั้น ยกเว้นจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ที่ไม่นิยมใช้คำว่า โพน หรือแม้กระทั่งคำว่า โนน ในการตั้งชื่อหมู่บ้าน

กรณีของหมู่บ้านที่มีชื่อหมู่บ้านประกอบด้วยคำว่า โคก มีการกระจายตัวอยู่ประปรายในพื้นที่ภาคอีสาน จังหวัดเพชรบูรณ์ แนวร่องที้ราบลุ่มต่ภาคตะวันออก แถบจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรีและสระแก้ว และกระโดดข้ามไปกระจายตัวอีกพื้นที่บริเวณภาคใต้ตอนล่างของไทย เป็นที่น่าสังเกตว่าหมู่บ้านที่มีคำว่า โคก จะหนาแน่นอย่างมากในจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์และสุรินทร์ โดยเฉพาะพื้นที่ติดชายแดน ประเทศกัมพูชา

แผนที่ประเทศไทย แสดงการกระจายตัวของตำแหน่งหมู่บ้าน ที่มีคำว่า เนิน โนน โพน โคก ดอน ควน เป็นองค์ประกอบอยู่ในชื่อของหมู่บ้าน

หมู่บ้านที่มีคำว่า ดอน พบกระจายตัวอยู่ประปรายในภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดลำปางและน่าน ส่วนที่กระจุกตัวกันอย่างหนาแน่นพบบริเวณฝั่งตะวันตกของที่ราบลุ่มภาคกลาง ประชิดแนวเทือกเขาถนนธงชัย และอีกหนึ่งพื้นที่ที่น่าสนใจ คือ พื้นที่ระหว่างแม่น้ำมูลตอนบนและแม่น้ำชีตอนล่างของภาคอีสาน รวมไปถึงตลอดแนวภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ก็พบหมู่บ้านที่มีคำว่า ดอน เช่นกัน โดยเฉพาะแถบจังหวัดนครศรีธรรมราชและสงขลา

ส่วนหมู่บ้านที่มีคำว่า ควน ซึ่งในภาษาใต้ หมายถึง เนินสูง ก็สอดรับสัมพันธ์กับการกระจ่ายตัวเชิงพื้นที่ ซึ่งพบหนาแน่นมากเฉพาะในภาคใต้ตอนล่างของไทย

แผนที่ประเทศไทย แสดงความหนาแน่นของหมู่บ้าน ที่มีคำว่า เนิน โนน โพน โคก ดอน ควน เป็นองค์ประกอบอยู่ในชื่อของหมู่บ้าน

จากแผนที่แสดงตำแหน่งการกระจายตัวเชิงพื้นที่และความหนาแน่นของหมู่บ้าน สรุปได้ว่า ดอน ใช้กันกระจายทั่วประเทศ ส่วนคำว่า เนิน เป็นคำหรือภาษาที่นิยมใช้กันอยู่ในภาคกลางตอนบนและภาคตะวันออก ในขณะที่คำว่า ควนชัดเจนว่าเป็นภาษาท้องถิ่นของชาวภาคใต้

ในกรณีของหมู่บ้านที่มีคำว่า โนน และ โพน นิยมใช้เฉพาะถิ่นในภาคอีสานของไทย แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าคำว่า โนน กระจายตัวในภาคอีสานแทบทุกพื้นที่ ยกเว้นพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์และสุรินทร์ ที่ติดชายแดนประเทศกัมพูชา ในขณะที่คำว่า โคก มีเบาบางในพื้นที่ภาคอีสาน แต่กลับหนาแน่นในจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์และสุรินทร์ ผกผันหรือสวนทางกับคำว่า โนน และ โพน อย่างมีนัยสำคัญ

แปลความได้ว่า โนน-โพน และ โคก น่าจะหมายถึงภูมิประเทศที่คล้ายกัน ซึ่งจากการสืบค้นด้านภาษาศาสตร์พบว่าคำว่า โคก เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาเขมร ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าคนที่อาศัยอยู่ตามชายแดนไทย-กัมพูชา แถบจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ดั้งเดิมอาจป็นกลุ่มชาติติพันธ์เขมร จึงใช้คำว่า โคก แทนภูมิประเทศที่คนภาคอีสานเรียกว่า โนน-โพน

ภูมิลักษณ์ (landform)

นอกจากการกระจายตัวเชิงพื้นที่ ซึ่งมีนัยสื่อถึงกลุ่มภาษาหรือชาติติพันธ์ที่นิยมใช้คำต่างๆ เฉพาะถิ่น งานวิจัยนี้ยังต้องการวิเคราะห์ ภูมิลักษณ์ (landform) หรือภูมิประเทศเฉพาะแบบ ที่ทำให้คนในพื้นที่เลือกใช้คำว่า เนิน โนน โพน โคก ดอน ควน มาตั้งชื่อหมู่บ้าน ซึ่งจากการสุ่มสร้างภาพตัดขวางภูมิประเทศของกลุ่มตัวอย่างหมู่บ้านที่มีคำต่างๆ ดังกล่าว เผยให้เห็นว่าหมู่บ้านที่มีคำว่า เนิน และ ดอน มีลักษณะภูมิประเทศคล้ายกัน คือ เป็นพื้นที่ที่มีความลาดชันจากด้านหนึ่งไปสู่อีกด้านหนึ่ง และอาจมีเพียงเนินเล็กๆ เตี้ยๆ เป็นศูนย์กลางของพื้นที่หมู่บ้าน

ภาพตัดขวางพื้นที่ กลุ่มตัวอย่างหมู่บ้านที่ใช้คำว่า เนิน โนน โพน โคก ดอน ควน แสดงลักษณะภูมิประเทศของพื้นที่

ในขณะที่หมู่บ้านที่ใช้คำว่า โนน โพน โคก และ ควน มีภูมิลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัวเหมือนกันคือ เป็นเนินสูงลูกโดดท่ามกลางพื้นที่ราบ จึงสรุปได้ว่า เนิน และ ดอน เป็นคำที่มีความหมายเหมือนกัน คือเป็นภูมิประเทศแบบลาดชัน ส่วนคำอื่นๆ หมายถึงพื้นที่สูงท่ามกลางที่ราบโดยรอบ

เพิ่มเติม : มองชุมชนโบราณ ผ่านกูเกิ้ลเอิร์ธ

ตัวอย่าง ภาพมุมสูงของหมู่บ้านในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ที่ใช้คำว่า โนน โพน โคก แสดงลักษณะของเนินดินสูงกลางพื้นที่ราบเกษตรกรรม และมีการขุดคูน้ำล้อมรอบเนินดิน ซึ่งในทางโบราณคดี การมีอยู่ของคูน้ำล้อมรอบเนินดินในพื้นที่ภาคอีสานของไทย แปลความได้ว่าเป็นชุมชนโบราณ

ธรณีวิทยา เนิน – ดอน

จากภาพตัดขวางที่แสดงให้เห็นว่าเนินและดอนมีมีภูมิลักษณ์เฉพาะตัวคือเป็นที่ลาดชัน ประกอบกับการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของเนินและนอนที่สรุปความได้ว่าหนาแน่นในเชิงภูมิประเทศ 2 พื้นที่หลัก คือ 1) ขอบที่ราบลุ่มภาคกลาง และภาคตะวันออก ตามรอยต่อระหว่างภูเขาและที่ราบ และ 2) พื้นที่ระหว่างแม่น้ำมูลและแม่น้ำชีในภาคอีสานของไทย ซึ่งในทาง ธรณีวิทยา (geology) อธิบายกระบวนการเกิดภูมิประเทศลาดชันของเนินและดอนได้ ดังนี้

1) ขอบเชิงเขาภาคกลาง-ภาคตะวันออก

สืบเนื่องจาก ภาคกลางของไทยเป็นที่ราบลุ่มต่ำ โดยมีแนว เทือกเขาตะนาวศรี ทางภาคตะวันตกเป็นขอบด้านซ้าย และเทือกเขาแถบลพบุรี-สระบุรี เป็นขอบทางด้านขวา ซึ่งโดยภาพรวมตะกอนที่ล่องมาตามแม่น้ำจากภาคเหนือ ไหลลงมาตกสะสมถ้วนทั่วทางภาคกลางของไทย นอกจากนี้ด้วยระดับภูมิประเทศที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนตามขอบที่ราบภาคกลาง ตะกอนที่อยู่ภายในหุบเขาทั้งทางตะวันตกและตะวันออก ก็ไหลมาตามร่องน้ำสะสมตัวตามขอบแอ่งที่ราบภาคกลางเช่นกัน เกิดเป็นภูมิประเทศที่เรียกว่า เนินตะกอนรูปพัด (alluvial fan) ในทางธรณีวิทยา

พื้นที่ภาคกลางตอนล่างของไทย แสดงขอบทางด้านตะวันตกของพื้นที่ (บน) เนินตะกอนรูปพัดอุทัยธานี (กลาง) เนินตะกอนรูปพัดสุพรรณบุรี (ล่าง) เนินตะกอนรูปพัดกำแพงแสน

รวมถึงร่องลุ่มต่ำในภาคตะวันออกของไทย ที่ได้รับตะกอนมาจากแนวเทือกเขาสันกำแพงหรือเทือกเขาใหญ่ทางตอนเหนือ ไหลลงมาสู่ที่ราบ เป็นสาเหตุให้ภาคตะวันออกของไทย แถบจังหวัดฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว มีความชันคล้ายขอบที่ราบภาคกลางของไทยเช่นกัน และเป็นเหตุให้หมู่บ้านในพื้นที่ดังกล่าว มีคำว่า เนิน หรือ ดอน เป็นองค์ประกอบในชื่อหมู่บ้าน

ตัวอย่าง เนินตะกอนรูปพัด ที่เกิดจากการที่น้ำหอบตะกอนออกมาจากร่องเขา และลดความเร็วน้ำอย่างรวดเร็วเมื่อถึงที่ราบ

2) พื้นที่ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย

ในกรณีของคำว่า เนิน หรือ ดอน ที่มีปรากฏอยู่ในชื่อหมู่บ้านในภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะฝั่งอ่าวไทย จากการตรวจสอบภูมิประเทศโดยละเอียดของพื้นที่ พบว่าทางตะวันตกของที่ราบริมชายฝั่งอ่าวไทย ประกอบไปด้วยแนวเทือกเขา (นครศรีธรรมราช) ที่ทอดยาวเหนือ-ใต้ ตลอดแนวชายฝั่ง โดยผลจากการผุพังของหินและการพัดพาเศษตะกอนจากภูเขาสูงสู่ที่ราบทางตะวันออก ทำให้ตลอดแนวที่ราบริมชายฝั่งอ่าวไทยประกอบไปด้วย เนินตะกอนรูปพัด (alluvial fan) และ ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ (delta) เป็นระยะๆ ซึ่งมีภูมิลักษณ์เป็นที่ลาดชันจากฝั่งตะวันตกไปตะวันออก สอดคล้องกับคำว่า เนิน หรือ ดอน ในมิติของภูมินาม

แผนที่ภูมิประเทศ แสดงการมีอยู่ของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ อันเนื่องมาจากตะกอนที่ไหลจากแนวเทือกเขาทางทิศตะวันตกมาตาม (1) คลองไชยา (2) คลองพุนพิน และ (3) คลองท่าทน-คลองกาย ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี

3) พื้นที่ระหว่างแม่น้ำมูล-ชี ภาคอีสาน

ผลจากการชนและบีบอัดกันของแผ่นเปลือกโลกในอดีตนานมากแล้ว ทำให้พื้นแผ่นดินอีสานซึ่งประกอบไปด้วยชั้นหินทรายเป็นส่วนใหญ่เกิด การคดโค้งโก่งงอของหิน (folding) ทำให้ภาคอีสานมีภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นแบบที่เรียกว่าที่ ราบลูกฟูก หรือ เนินลูกระนาด ซึ่งแนวเทือกเขาภูพาน แถบสกลนคร เป็นตัวอย่างชัดเจนที่เกิดและยกตัวเป็นภูเขาขึ้นมาได้จากการคดโค้งโก่งงของหินเช่นกัน กลายเป็นภูมิประเทศโดยส่วนใหญ่ ทั่วภาคอีสาน

แบบจำลองการเกิดชั้นหินคดโค้ง ที่เกิดจากแรงบีบอัดทางธรณีแปรสัณฐาน (tectonic)
ตัวอย่างชั้นหินคดโค้ง ของจริงในต่างประเทศ ที่เราก็สามารถพบเห็นได้ตามริมถนนที่มีการตัดผ่านภูเขาในภาคอีสาน (ที่มา : www.usgs.gov; www.lumenlearning.com)

อย่างไรก็ตาม สืบเนื่องจากกระบวนการกวัดแกว่งโค้งตวัดของทางแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของพื้นที่ โดยธรรมชาติของกระบวนการทางน้ำ จะทำให้เกิดการปรับราบพื้นที่ กลายเป็น ที่ราบน้ำท่วมถึง (floodplain) ด้วยเหตุนี้ หมู่บ้านที่มีคำว่า เนิน หรือ ดอน จึงกระจายตัวอยู่ในภาคอีสาน ตามลักษณะภูมิประเทศดั้งเดิมที่เกิดจากการคดโค้งโก่งงอของหิน ยกเว้นพื้นที่ราบน้ำท่วมถึง ที่ได้รับการปรับพื้นที่ราบ จากกระบวนการทางน้ำของแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี

กระบวนการเกิดที่ราบน้ำท่วมถึง และตะพักธารน้ำ

ธรณีวิทยา โนน – โพน – โคก – ควน

จากการกระจายตัวของหมู่บ้านที่มีคำว่า โนน โพน โคก ควน เป็นองค์ประกอบในชื่อ ซึ่งแปลความในเชิงภูมิลักษณ์ได้ว่า เป็นเนินสูงกลางที่ราบ โดยหมู่บ้านที่มีคำเหล่านี้ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสานและมีบางส่วนที่อยู่ในภาคตะวันออก เช่น จังหวัดนครนายก ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และสระแก้ว รวมไปถึงพื้นที่ราบฝั่งอ่าวไทยของภาคใต้ตอนล่างของไทย

1) ภาคอีสาน

ดังที่กล้าวไปในข้างต้น ในทางธรณีวิทยา ชั้นหินส่วนใหญ่ในภาคอีสานเป็น หินทราย (sandstone) แต่จะมี หมวดหินมหาสารคาม (Maha Sarakham Formation) ในทางธรณีวิทยาของภาคอีสานเพียงหมวดเดียวเท่านั้นที่เป็น หินเกลือ (rock salt) ผนวกกับชุดความรู้ทางธรณีวิทยา สรุปว่า เหตุผลเดียวที่จะทำให้เกิด เนินดินลูกโดดกลางที่ราบ ในภาคอีสานได้คือ การผุดขึ้นมาของมวลเกลือจนกลายเป็นโดม หรือที่เรียกกันในทางธรณีวิทยาว่า โดมเกลือ (salt dome)

เพิ่มเติม : มองชุมชนโบราณ ผ่านกูเกิ้ลเอิร์ธ

(ก) ตัวอย่างลักษณะของ เนินดิน (mound) และ คูเมือง (moat) ที่ตรวจพบจากภาพถ่ายดาวเทียม (ข) ภาคตัดขวางภูมิประเทศ แสดงการมีอยู่จริง ของเนินดินกลางที่ราบในภาคอีสาน

จากกระบวนการทางธรรมชาติ มวลเกลือสามารถเปลี่ยนรูปได้ จากน้ำหนักกดทับของหินด้านบนที่มีไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่ จุดหรือตำแหน่งที่มีแรงกดทับสูง จะกดมวลเกลือลงไปข้างใต้ แรงดันทำให้มวลเกลือเปลี่ยนรูป และผุดผุยขึ้นมาตามจุดหรือตำแหน่งที่มีแรงกดทับต่ำ ทำให้เกิด 1) โดมเกลือ (salt dome) ในทางธรณีวิทยา หรือ 2) เนินดิน (mound) ในทางภูมิศาสตร์ หรือ 3) โนน โพน โคก ควน ในทางภูมินามวิทยา โดยลีลาการผุดขึ้นมาของมวลเกลือ นักธรณีวิทยาสรุปได้ 6 ประเภท ลูกศรสีดำแสดงแรงหรือน้ำหนักกดทับชั้นเกลือ ลูกศรสีขาวแสดงการตอบสนองของมวลเกลือต่อแรงกดทับ ที่จะทำให้มวลเกลือแสดงอาการผุดผุย หรือแทรกดันขึ้นมาบนพื้นดิน

(ก) ภาพข้อมูลจริงจากการสำรวจชั้นหินใต้ดิน ด้วยวิธีธรณีฟิสิกส์แบบคลื่นไหวสะเทือน แสดงการมีอยู่จริงของโดมเกลือใต้พื้นที่ (ข) การ์ตูนอย่างง่าย แสดงการผุดขึ้นมาของมวลเกลือ กลายเป็นโดมเกลือใกล้พื้นผิวโลก (ค) แบบจำลองกระบวนการทางธรณีวิทยารูปแบบต่างๆ ที่สามารถทำให้มวลเกลือที่อยู่ด้านใต้ผุดขึ้นมา
แผนที่ภูมิประเทศภาคอีสานของไทย แสดงตำแหน่งเมืองหรือชุมชนโบราณในภาคอีสาน (จุดสีเหลือง) ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนเนินดิน ที่แปลความว่าเกิดจากการผุดขึ้นมาของโดมเกลือ (ที่มา : O’Reilly และ Scott, 2015)

2) ภาคตะวันออก

ในกรณีหมู่บ้านที่มีคำว่า โนน โพน โคก ควน ในภาคตะวันออกของไทย จากการวิเคราะห์ในเชิงธรณีวิทยา พบว่าแนวร่องที่ราบลุ่มต่ำที่พาดผ่านจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรีและสระแก้ว เกิดจากการมีอยู่ของ รอยเลื่อนแม่ปิง (Mae Ping Fault) ซึ่งเป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่ ที่พาดผ่านมาจากจังหวัดตาก ผ่านที่ราบลุ่มภาคกลางและเข้าภาคตะวันออกสู่ประเทศกัมพูชา ซึ่งในทางธรณีวิทยาแผ่นดินไหวรอยเลื่อนแม่ปิงแถบภาคตะวันออกของไทย บางครั้งเรียกว่า รอยเลื่อนเขาใหญ่ (Kao Yai Fault)

เพิ่มเติม : ล่อง (รอยเลื่อน) แม่ปิง

(ซ้าย) แผนที่ภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันออกของประเทศไทยแสดง แนวเส้นทางธรณีวิทยา (lineament) ตามแนวเส้นสีเหลือง และสีแดงแสดง รอยเลื่อน (fault) (ขวา) แนวรอยเลื่อนเขาใหญ่ (Kao Yai Fault) (Ridd และ Morley, 2011)

โดยผลจากการขยับเขยื้อนของรอยเลื่อนดังกล่าวในอดีต อาจส่งผลให้ท่ามกลางที่ราบลุ่มต่ำภาคตะวันออกของไทย จะมีเนินลูกโดดโผล่ขึ้นมาเป็นระยะๆ อันเนื่องมาจากชั้นหินแข็งใต้ตะกอน มีการยกหรือยุบตัวไม่เท่ากันตลอดแนวรอยเลื่อน และในกรณีของหมู่บ้านที่มีคำว่า ควน ในภาคใต้ ก็น่าจะมีสาเหตุแบบเดียวกัน แต่เกิดจาก รอยเลื่อนระนอง (Ranong Fault) และ รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย (Klong Marui) 2 รอยเลื่อนสำคัญ ในภาคใต้ของประเทศไทย

แผนที่ภูมิประเทศบริเวณภาคตะวันออกของประเทศไทย แสดงแนวร่องลุ่มต่ำที่พาดผ่านทางตอนใต้ของเขาใหญ่ ไปทางตะวันออก ผ่านจังหวัดสระแก้ว เข้าสู่ประเทศกัมพูชา ซึ่งแปลความในที่นี้ว่าคือแนว รอยเลื่อนแม่ปิง

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: