สำรวจ

ล่อง (รอยเลื่อน) แม่ปิง

ปัจจุบัน รอยเลื่อนแผ่นดินไหว ที่กรมทรัพยากรธรณีได้ประกาศเอาไว้ว่าเป็น รอยเลื่อนมีพลัง (active fault) ก็จะมีอยู่ประมาณ 14-15 รอยเลื่อน ครอบคลุมพื้นที่ทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ของประเทศไทย เช่น รอยเลื่อนแม่ทา จังหวัดเชียงใหม่ รอยเลื่อนแม่จัน จังหวัดเชียงราย รอยเลื่อนด่านเจดีย์สามองค์และรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ในแถบภาคตะวันตก ตลอดจนรอยเลื่อนระนอง-คลองมะรุ่ย ในภาคใต้ของประเทศไทย

บางรอยเลื่อนก็เพิ่งมีการนำเสนอขึ้นมาใหม่ ในขณะที่บางรอยเลื่อนชื่อก็คุ้นหูมานานแล้ว อย่างไรก็ตามในบรรดารอยเลื่อนต่างๆ ที่มีการหยิบยกนำเสนอและเรียกชื่อขึ้นมา แทบทั้งหมดก็ยังยืนยง ดำรงอยู่ในทำเนียบรอยเลื่อน แต่รู้หรือไม่ว่านอกจาก 14-15 รอยเลื่อนนี้ ยังมีรอยเลื่อนเจ้าเก่าเจ้าแก่ที่เคยมีการพูดเอาไว้ ว่าเป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่ ที่น่าจับตา น่าใส่ใจ เพียงแต่ในปัจจุบันได้ถูกแบ่งย่อย และชื่อดั้งเดิมของรอยเลื่อนนั้น ก็กำลังจะค่อยๆ เลือนหายไป จากหนุ่มสาวนักธรณีวิทยารุ่นใหม่ ในปัจจุบัน เคยได้ยินกันบ้างไหม … รอยเลื่อนแม่ปิง (Mae Ping Fault)

กำเนิดรอยเลื่อนแม่ปิง

รอยเลื่อนแม่ปิง ถือเป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่เจ้าแรกๆ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดในวงวิชาการทางธรณีวิทยา เพื่อช่วยแบ่งหรืออธิบายการอยู่ชิดกันของหินคนละชนิด หรือการอยู่เหลื่อมกันของหินที่น่าจะเกิดที่เดียวกัน (geological fault) เดิมๆ เลย เคยเรียกกันว่า รอยวังเจ้า (Wang Chao Fault; Bunopas, 1985) ซึ่งเป็นชื่ออำเภอหนึ่งของจังหวัดตาก แต่ต่อมาเปลี่ยนชื่อตาม แม่น้ำปิง ที่รอยเลื่อนนั้นพาดผ่าน ซึ่งเป็นตัวละครทางภูมิศาสตร์ที่เป็นที่รู้จักให้มากขึ้น

การกระจายตัวของรอยเลื่อน (fault) และโครงสร้างแนวเส้น (lineament) ในทางธรณีวิทยา ในพื้นที่ประเทศไทย ซึ่งแปลความโดย Morley และคณะ (2013)

วังเจ้า คือ ชื่ออำเภอหนึ่งในจังหวัด ตาก

ว่ากันว่า รอยเลื่อนแม่ปิงนั้นเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัย ปลายยุคไทรแอสซิก (Late Triassic) ที่ จุลทวีปฉานไทย (Shan-Thai block) และ จุลทวีปอินโดจีน (Indochina block) เริ่มเคลื่อนที่เข้ามาชนกัน และตัวรอยเลื่อนก็มีการขยับเยื้อนเลื่อนตัวกันตลอด ตามแรงเค้นทางธรณีแปรสัณฐานที่ได้รับกันมาในแต่ละยุคแต่ละสมัย จวบจนกระทั่งในปัจจุบัน กิจกรรมทาง ธรณีแปรสัณฐานยุคใหม่ (neotectonic) ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น เกิดจากการชนกันของแผ่นเปลือกโลก 1) อินเดีย-ออสเตรเลีย และ 2) ยูเรเซีย ซึ่งนอกจากขอบของการชนกันอย่าง เขตมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน (Sumatra-Andaman Subduction Zone) ผลจากการชนกันของยักษ์ใหญ่สองตัวยังส่งแรงเค้นเข้ามาภายในแผ่นยูเรเซียด้วย ซึ่งประเทศไทยก็อยู่ในนั้น ทำให้รอยแตกหรือรอยเลื่อนต่างๆ ทั้ง 14-15 รอยเลื่อน รวมทั้ง รอยเลื่อนแม่ปิง เกิดการขยับเขยื้อน เลื่อนตัวสร้างภูมิประเทศต่างๆ

ถ้าจะพูดถึงความยาวใหญ่ รอยเลื่อนแม่ปิงที่นักวิชาการในอดีตเคยลากเอาไว้ เห็นแล้วก็น่าตกใจเพราะถือว่าเป็นรอยเลื่อนที่มีความยาวมาก ไล่ลากมาตั้งแต่ภาคตะวันออกของพม่า ไปจวบจรดจนถึงทะเลสาบเขมร หรือ โตนเลสาบ (Tonlé Sap) ซึ่งความยาวขนาดนี้ถือว่ามีศักดิ์ศรีความใหญ่ พอๆ กับ รอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) ที่ผ่าพาดกลางประเทศพม่า หรือ รอยเลื่อนแม่น้ำแดง (Red River Fault) ในประเทศเวียดนาม ที่ลากยาวเข้ามาสู่ลาวตอนเหนือ ซึ่งถ้าถามว่ารอยเลื่อนแม่ปิงยาวขนาดไหน แล้วนักธรณีวิทยาเอาอะไรมาเป็นหลักฐาน ว่ารอยเลื่อนนี้มีอยู่จริง บทความนี้จะค่อยๆ ไล่เอาให้ทั่ว เอาให้ชัวร์ ตลอดตัวตั้งแต่หัวจรดหาง ถ้าพร้อมแล้ว ค่อยๆ ไล่กันไปพร้อมๆ กันเลยครับ

เพิ่มเติม : รอยเลื่อนสะกาย – ยักษ์หลับกลางเมืองพม่า

1) ร่องเขาคมกริบ จากตองยี-แม่น้ำเมย

หลักฐานชิ้นแรก ที่บ่งชี้จุดกำเนิดเหนือสุดของรอยเลื่อนแม่ปิงก็คือ แนวร่องเขา (valley) คมกริบที่พาดผ่านหินชนิดต่างๆ เริ่มตั้งแต่ เมืองตองยี ทางตะวันออกของประเทศพม่า วางตัวตั้งฉากลงมาทางตอนใต้ แล้วเบ้ขวาเข้าสู่ดินแดนประเทศไทยในพื้นที่ อำเภอสบเมย จังหวัดตาก ซึ่งตลอดระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร พบ ภูมิลักษณ์ (landform) ที่บ่งชี้ความเป็นรอยเลื่อนอยู่ตลอดแนว ซึ่ง Pailoplee และคณะ (2009a) นำเสนอว่าคือตัวเดียวกันกับ รอเลื่อนเมย-ตองยี ในรูปด้านล่าง และนอกจากนี้ตามบันทึกเหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.9 ที่อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก (Prachaub, 1990) จึงยืนยันได้ว่ารอยเลื่อนแม่ปิงมีอยู่จริง และยังเป็นรอยเลื่อนมีพลัง

เพิ่มเติม : ภูมิประเทศบ่งชี้ “รอยเลื่อน”

แผนที่ชายแดนภาคตะวันตกของประเทศไทย-พม่าแสดง (ก) กลุ่มรอยเลื่อนตามแนวราบ (strike-slip fault) ซึ่งนำเสนอโดย Nutalaya และคณะ (1985) และ Pailoplee และคณะ (2009a) สี่เหลี่ยมสีดำ คือ เขื่อนและโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก (ข) แผ่นดินไหวที่ตรวจวัดได้จากเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวในช่วงปี ค.ศ. 1983-2009 (วงกลมสีน้ำเงิน) ดาวสีแดง คือ เหตุการณ์แผ่นดินไหวสำคัญที่เคยสร้างภัยพิบัติในพื้นที่ (Pailoplee, 2014a)
หมายเหตุ: (1) โครงการก่อสร้างเขื่อนฮัทจี (2) เขื่อนภูมิพล (3) เขื่อนทับเสลา (4) เขื่อนวชิราลงกรณ (5) เขื่อนกระเสียว (6) เขื่อนศรีนครินทร์ (7) เขื่อนท่าทุ่งนา (8) เขื่อนแม่กลอง และ (9) โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก

เพิ่มเติม : กลุ่มรอยเลื่อนในภาคตะวันตกของไทย : แผ่นดินไหวในอดีตและนิสัยที่คาดเผื่อไว้ในอนาคต

อีกหนึ่งหลักฐานบ่งชี้การมีอยู่ของรอยเลื่อนแม่ปิง ก่อนที่จะเข้าสู่ดินแดนที่ราบลุ่มภาคกลางก็คือ การพบ หินแปรเกรดสูง (high-grade metarmorphism) ที่เกิดจากการบดขยี้ของรอยเลื่อนอย่าง หินไนส์ (gneiss) ที่อุทยานแห่งชาติ ลานสาง จังหวัดตาก ซึ่งอยู่แนวเดียวกับรอยเลื่อนแม่ปิง รวมทั้งงานวิจัยทางธรณีวิทยาอีกหลายชิ้น ก็บ่งบอกว่ารอยเลื่อนแม่ปิงเคยเลื่อนตัวมาตลอดเวลา

รอยเลื่อนเมย-อุทัยธานี คือ ชื่อเรียกที่ Saithong (2006) ได้น้ำเสนอไว้ ซึ่งต่อมา Pailoplee และคณะ (2009) ตรวจสอบว่า รอยเลื่อนเมย-อุทัยธานี ต่อเนื่องและเป็นรอยเลื่อนเดียวกันกับ รอยเลื่อนตองยี (Tongyyi) ในประเทศพม่าซึ่งนำเสนอไว้โดย Nutalaya และคณะ (1985) ด้วยเหตุนี้ Pailoplee และคณะ (2009) จึงเรียกรวม 2 รอยเลื่อนนี้ในการทำวิจัยว่า รอยเลื่อนเมย-ตองยี (Moei-Tongyyi)

แต่ทั้งหมดก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งทางภาคตะวันตกของ รอยเลื่อนแม่ปิง

2) แนวการไหลของแม่น้ำปิง

จะว่าไป งานวิจัยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะงานวิจัยที่เกี่ยวกับการศึกษาภัยพิบัติแผ่นดินไหวในปัจจุบัน แทบจะไม่มีใครกล้าลากแนวรอยเลื่อนเมย-ตองยี ต่อเข้าไปในที่ราบลุ่มภาคกลางตอนบน ด้วยเหตุผลที่คำนึงถึงความตระหนกของสังคมและหลักฐานที่ไม่ได้จั๋งหนับและสื่อสารกันยากระหว่างชุมชนและนักวิชาการ ทั้งๆ ที่รู้ถึงการมีอยู่ของรอยเลื่อนแม่ปิงว่ายังไปได้ต่อไม่ได้พอซ้ำนี้

ถึงแม้ว่าตั้งแต่จังหวัดกำแพงเพชรลงไปสู่ที่ราบตอนบนของภาคกลาง เราจะไม่สามารถเห็นแนวเทือกเขาที่แสดงภูมิลักษณ์บ่งชี้รอยเลื่อนได้อย่างชัดเจน แต่ถ้าลองสังเกตุดูดีๆ ก็จะพบว่าทิศทางการไหลของแม่น้ำปิงในช่วงจังหวัดตากถึงนครสวรรค์ ลำน้ำปิงค่อนข้างจะเป็นเส้นตรงและวางตัวสอดคล้อง ขนานไปกับรอยเลื่อนเมย-ตองยี ที่อยู่ทางตอนตะวันตกเฉียงเหนือ รวมทั้งเนินตะกอนรูปพัดกำแพงเพชรก็ถูกตัดขาดให้เห็นด้วย หากศึกษาจากข้อมูลภูมิประเทศภาพกว้างในมุมสูง ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ในช่วงจังหวัดตากถึงจังหวัดนครสวรรค์ แนวรอยเลื่อนแม่ปิงก็คือแม่น้ำปิงที่ไหลลงมา และที่แม่น้ำปิงเกิดขึ้นได้ก็น่าจะเพราะรอยเลื่อนแม่ปิงเป็นตัวควบคุมภูมิประเทศ

ข้อมูลภูมิประเทศพื้นที่ภาคกลางตอนบน แสดงแนวการวางตัวของแม่น้ำปิง ในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเชียงใต้สอดคล้องกับ แนวรอยเลื่อนเมย-ตองยี ภูมิลักษณ์ที่แสดงถึงการตกตะกอนแบบแผ่ซ่านจากจังหวัดกำแพงเพชร ไปสู่พื้นที่ทางตะวันออก คือ เนินตะกอนรูปพัดกำแพงเพชร

3) บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์

อีกหนึ่งหลักฐานที่พอจะนำมารวม ประกอบการสร้างแนวการวางตัวของรอยเลื่อนแม่ปิงก็คือ รูปร่างของบึงบอระเพ็ด แหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่อันโด่งดังในจังหวัดนครสวรรค์ เพราะถ้าสังเกตุให้ดีจะพบว่าบึงบอระเพ็ดทางตอนใต้มีการวางตัวในแนวตะวันตกเฉียงเหนือตะวันออกเฉียงใต้ และสามารถยิงแนวไปตรงกับแนวเส้นตรงของแม่น้ำปิง ที่อธิบายไปก่อนหน้านี้ และจากภูมิประเทศใต้น้ำของบึงบรเพชร ที่ทางตอนเหนือที่ตื้น และค่อยๆ ลาดมาลงใต้ มีขอบด้านใต้สุดที่ลึกและคมดิ่ง ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่า แนวเส้นตรงของบึงบอระเพ็ดทางตอนใต้ น่าจะถูกควบคุมแนวการวางตัวด้วยรอยเลื่อนแม่ปิง และในทางภูมิลักษณ์ที่บ่งชี้รอยเลื่อน บึงบอระเพ็ดก็มีศักดิ์ทัดเทียมได้กับ หนองน้ำยุบตัว (sag pond) เหมือนกับที่มีใน รอยเลื่อนซานแอนเดรียส ทางตอนใต้ของเมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา

ภาพถ่ายดาวเทียมบริเวณที่ราบภาคกลางตอนบน แสดงการวางตัวเป็นแนวคมชัด ของขอบพื้นที่ทางตอนใต้ของบึงบอระเพ็ดซึ่งสอดคล้อง ล้อกับแนวเส้นตรงแม่น้ำปิง หรือลอยเลื่อนแม่ปิงที่เรากำลังถกกัน
(ซ้าย) ภาพถ่ายดาวเทียมจาก NASA (ขวา) ภาพถ่ายมุมสูงจากเครื่องบินแสดงหนองน้ำยุบตัว ตัดแนวรอยเลื่อนซานแอนเดรียส ทางตอนใต้ของเมืองซานฟรานซิสโก (ที่มา : www.nasa.gov)

เพิ่มเติม : ภูมิประเทศบ่งชี้ “รอยเลื่อน”

4) รอยเลื่อนเขาใหญ่ – รอยเลื่อนองครักษ์

หลักฐานชิ้นต่อมา จากการศึกษาและสำรวจข้อมูลทางธรณีวิทยาโครงสร้าง (structural geology) ในพื้นที่แถบวังน้ำเขียว-มวกเหล็ก-เขาใหญ่ Ridd และ Morley (2011) ได้รายงานว่า แนวรอยเลื่อนแม่ปิงทางตอนใต้ของบึงบอระเพ็ด พาดผ่านต่อเข้ามาถึงอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งจากข้อมูล แนวเส้นทางธรณีวิทยา (lineament) และ รอยเลื่อน (fault) ที่แปลความได้จากภาพถ่ายดาวเทียม Ridd และ Morley (2011) ได้นำเสนอรอยเลื่อน เพื่ออธิบายกระบวนการทางธรณีวิทยาในพื้นที่ว่ามี รอยเลื่อนเขาใหญ่ (Kao Yai Fault) และอีกแนวตวัดลง พาดผ่านจังหวัดนครนายกที่เรียกว่า กลุ่มรอยเลื่อนนครนายก (Nakhon Nayok Fult) หรือ กลุ่มรอยเลื่อนองครักษ์ (Ongkarak Fault)

(ซ้าย) แผนที่ภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันออกของประเทศไทยแสดง แนวเส้นทางธรณีวิทยา (lineament) ตามแนวเส้นสีเหลือง และสีแดงแสดง รอยเลื่อน (fault) (ขวา) แนวรอยเลื่อนเขาใหญ่ (Kao Yai Fault) (Ridd และ Morley, 2011) กรอบสี่เหลี่ยมสีดำคือพื้นที่ อำเภอองครักษ์และอำเภอข้างเคียง จังหวัดนครนายก ซึ่งเป็นที่ตั้งของกลุ่มรอยเลื่อนองครักษ์

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มรอยเลื่อนองครักษ์ (Ongkarak Fault) จากการรวบรวมเอกสารงานวิจัยในอดีต พบว่ามีรายงานวิจัยอย่างน้อย 3 รายงานวิจัย ที่ได้ทำการศึกษาธรณีวิทยาแผ่นดินไหว ในพื้นที่ไว้อย่างละเอียดและมีการศึกษา แผ่นดินไหวบรรพกาล (paleoearthquake study) ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ ผลการศึกษาวิจัยพบว่ามีรอยเลื่อนย่อยหลายแนว ที่มีหลักฐานการเลื่อนตัวของชั้นตะกอนยุคใหม่ๆ และจากผลอายุชั้นตะกอนก็บ่งชี้ว่าอยู่ในเกณฑ์ หรือเข้าข่ายว่าเป็น รอยเลื่อนมีพลัง (active fault)

เพิ่มเติม : องครักษ์ . นครนายก : กับแนวเส้นที่ไม่ค่อยมีใครใคร่จะเห็น

5) ร่องทางเดินโบราณ ไทย-กัมพูชา

นอกจากนี้ จากการประมวลผลข้อมูลการกระจายตัวของปราสาทหินของอาณาจักรเขมรโบราณ ในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศไทย เช่น ปราสาทสด๊กก๊อกธม จังหวัดสระแก้ว เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลภูมิประเทศในพื้นที่ พบว่าปราสาทหินมักกระจายตัวอยู่ตามรองลุ่มต่ำที่พาดผ่านมาจากทางตอนใต้ของเทือกเขาใหญ่ ไล่ไปทางตะวันออก เข้าสู่ประเทศกัมพูชาและเฉียงลงใต้ เข้าสู่ ทะเลสาบเขมร หรือ โตนเลสาบ ตามลำดับ

แผนที่ภูมิประเทศบริเวณภาคตะวันออกของประเทศไทย แสดงแนวร่องลุ่มต่ำที่พาดผ่านทางตอนใต้ของเขาใหญ่ ไปทางตะวันออก ผ่านจังหวัดสระแก้ว เข้าสู่ประเทศกัมพูชา ซึ่งแปลความในที่นี้ว่าคือแนว รอยเลื่อนแม่ปิง

นี่จึงเป็นอีกหนึ่งหลักฐาน ที่แสดงความสัมพันธ์กันระหว่างกระบวนการเกิดสภาพภูมิประเทศ ที่ถูกควบคุมโดยรอยเลื่อนทางธรณีวิทยา และพฤติกรรมการตั้งถิ่นฐานและอยู่อาศัยของชุมชนโบราณในทางโบราณคดี และแนวพื้นที่ลุ่มต่ำที่คาดว่าจะเป็นแนวเส้นทางสัญจรโบราณในภาคตะวันออกนี้ น่าจะเป็นผลมาจาก รอยเลื่อนแม่ปิง เป็นตัวควบคุมภูมิประเทศ

6) ทะเลสาบเขมร โตนเลสาบ

หลักฐานชิ้นสุดท้าย เพราะว่าเป็นปลายทางของรอยเลื่อนแม่ปิงก็คือ การมีอยู่จริงของ ทะเลสาบเขมร หรือ โตนเลสาบ ซึ่งงานวิจัยในอดีตทางธรณีวิทยาหลายชิ้นสรุปตรงกันว่า โตนเลสาบเกิดขึ้นได้เพราะการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนที่พาดผ่านมาจากประเทศไทย อย่างรอยเลื่อนแม่ปิง กระบวนการเกิดก็เป็นเช่นเดียวกับการเกิด บึงบอระเพ็ดที่กล่าวมาในข้างต้น คือ หนองน้ำยุบตัว (sag pond) ที่เป็นหนึ่งในรูปแบบของภูมิลักษ์ ที่บ่งชี้ว่าเป็นแนวรอยเลื่อนในทางธรณีวิทยา

และจากการแปลความของ Morley และคณะ (2013) ยังให้ข้อสังเกตเบาๆ ว่ารอยเลื่อนแม่ปิงมีโอกาสลากยาวต่อเนื่องไปจนถึงทางตอนเหนือของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง (เส้นประในรูปด้านล่าง) ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น หมายความว่า รอยเลื่อนแม่ปิง จะเป็นรอยเลื่อนที่มีความยาวมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเชียงใต้เลยก็ว่าได้ เริ่มตั้งแต่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศพม่าที่เรียกย่อยๆ ว่า รอยเลื่อนตองยี ผ่านเข้ามาในประเทศไทยในนาม รอยเลื่อนเมย-อุทัยธานี ผ่าน บึงบอระเพ็ด มุ่งสู่ รอยเลื่อนเขาใหญ่ และ รอยเลื่อนองครักษ์ ทะลวงเข้าไปในกัมพูชา ตามแนวการวางตัวของ โตนเลสาบ และไปหยุดหลักฐานอยู่ที่ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของ ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง หรือ ทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม เรียกได้ว่า สุดจริงๆ แม่ปิง เอ๊ยยย

การกระจายตัวของรอยเลื่อน (fault) และโครงสร้างแนวเส้น (lineament) ในทางธรณีวิทยา ในพื้นที่ประเทศไทย ซึ่งแปลความโดย Morley และคณะ (2013)

ถึงแม้ว่ารอยเลื่อนแม่ปิงในปัจจุบันจะไม่ค่อยเกิดแผ่นดินไหว หรือถูกพูดถึงในแง่พิบัติภัยมากนัก แต่ด้วยความยาวที่มี บวกกับทฤษฎีที่ว่ารอยเลื่อนยิ่งยาวมาก ยิ่งสามารถเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้ รอยเลื่อนแม่ปิงจึงเป็นที่น่าจับตามอง ทั้งนี้ก็เพราะไม่รู้ว่าเหรียญจะออกหน้าไหน ระหว่างเป็นแค่รอยเลื่อนแก่ๆ ที่ไม่มีพิษสงหรือเป็นรอยเลื่อนที่รอเวลาองค์ลง แล้วจะจัดอีเวนท์ใหญ่ๆ ให้กับประเทศไทย ผู้เขียนก็หวังแต่เพียงว่า รอยเลื่อนแม่ปิงจะเป็นเพียงรอยเลื่อนเก่าแก่ ที่เอาไว้ใช้แค่เป็น ขอบโครงสร้างทางธรณี (geological boundary หรือ geological fault) เพื่ออธิบายการกระจายตัวของหินในพื้นที่ก็พอ

เพลงนี้ต้องมาแล้ว 1 : ล่องแม่ปิง

คำร้อง/ทำนอง/เรียบเรียง : จรัล มโนเพ็ชร

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: