สำรวจ

หิน-ลับ-หิน ที่ปราสาทเขาปลายบัด ๒ (เพิ่งเจอเมื่อวาน บอก “โบราณ” ไว้ก่อน)

ทีมเล่าเรื่อง : สันติ ภัยหลบลี้, กังวล คัชชิมา, สมบัติ มั่งมีสุขศิริ, อุเทน วงศ์สถิตย์ และ โอภาส จริยพฤติ

ภาพปก : ภาพแกะสลักที่ปราสาทบายน กัมพูชา แสดงกรรมวิธีการผลิตและปรับปรุงคุณภาพของหิน ก่อนนำมาสร้างปราสาทหิน (ที่มา : ไกด์โอ พาเที่ยว)

ระหว่างการเดินสำรวจ เขาปลายบัด ภูเขาไฟลูกโดดทางตอนใต้ของเขาพนมรุ้ง อ. เฉลิมพระเกียรติ จ. บุรีรัมย์ นอกจากตัวประสาทที่ทำด้วยอิฐ ยังพบหินหลากหลายชนิดที่ถูกนำมาเป็นวัสดุก่อสร้างในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น 1) หินทราย (sandstone) 2) ดิน ที่ผึ่งลมแล้วกลายมาเป็น ศิลาจำแลง หรือ ศิลาแลง (laterite) และ 3) หินกรวดภูเขาไฟ (agglomerate) ซึ่งไม่เคยพบที่ไหนนอกจาก ปราสาทเขาปลายบัด และ ปราสาทหินพนมรุ้ง และท่ามกลางหินทั้งหมดทั้งมวลนี้ มีหินอยู่หนึ่งก้อนวางนอนแอ้งแม้งอยู่อย่างสะดุดตา

เพิ่มเติม : ปราสาทเขาปลายบัด บุรีรัมย์ : จากกำแพงหินเนื้อแปลก สู่เหมืองหินลึกลับที่น่าค้นหา

เพิ่มเติม : การเกิดดินแลง

บรรยากาศบนปราสาทเขาปลายบัด ๒ ที่หินก่อสร้างดั้งเดิมถูกวางกระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ เพื่อเตรียมบูรณะให้สมบูรณ์ในสักวัน

สะดุดยังไง ? สะดุดตรงที่หินมีผิวหน้าที่มันเมื่อม วาววับ และเรียบแปล้ กว่าหินทุกก้อนที่วางกระจายกันอยู่ในแถบนั้น ซึ่งก็แทบไม่ต้องใช้ศาสตร์และศิลป์แขนงไหนเข้ามาช่วย เพราะแค่ดูด้วยตาเนื้ออย่างคนธรรมดาก็รู้ว่า หินก้อนนี้ประหลาด !!! และไม่น่าจะนำมาใช้ในการก่อสร้างตัวปราสาท (อนุมาน) ความวาวเลเวลนี้ ที่เคยเห็นก็แค่ที่ ฐานธรณีประตู ของปราสาทสักแห่ง ที่เกิดจากการขัดสีของการปิด-เปิดประตูในสมัยโบราณ แต่ก็ไม่น่าจะใช่เพราะไม่มีร่องรอยการกวาดประตูให้เห็น วาวจริงๆ แปล้จริงๆ เมื่อมจริงๆ อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

(ก-ข) หินประหลาดก้อนเดียว นอนอยู่เดี่ยวๆ กลางดงหินก่อสร้างอื่นๆ ในละแวกปราสาทเขาปลายบัด ๒ (ภาพ : คัชชิมา family) (ค) ตัวอย่างสาธิต การจัดเรียงหินที่ถูกขัดเข้าเหลี่ยมเข้ามุมกันอย่างดี ณ ปราสาทบายน กัมพูชา (ที่มา : ไกด์โอ พาเที่ยว)

จากความไม่เข้าพวกของหินประหลาด ความพยายามที่จะแปลความถึงฟังชั่นการใช้งานของหินก้อนนี้ จึงเริ่มต้นขึ้น ด้วยภูมิหลังข้อสงสัยที่ว่า คนโบราณเขาทำกันยังไง ถึงทำให้หินทรายที่สกัดออกมาจากเหมือง ราบเรียบและเอามาต่อเรียง เข้าร่องกินมุมกันแบบแนบสนิทชิดเปรี๊ยะ เชื่อว่านักโบราณคดี-นักคิด-นักเขียนหลายท่าน ก็คงมีการนำเสนอกันมาบ้างว่า ก่อนที่หินแต่ละก้อนจะถูกนำไปจัดเรียงขึ้นรูป หินก็น่าจะถูกขัดทุกสีให้มีเหลี่ยมมีมุมตามต้องการ แต่อุปกรณ์การขัดมีจริงไหม และใช้อะไรขัด อันนี้ก็ยังไม่มีความแน่ชัด หรือกล่าวถึง

1) ธรณีวิทยาของหินก้อนเดียว

เมื่อพินิจพิเคราะห์หินโดยละเอียดในทางธรณีวิทยา พบว่าหินก้อนเดียวเดี่ยวๆ นี้ มีเนื้อหินที่แตกต่างอย่างชัดเจนจากหินทรายทุกก้อน ที่นำมาสร้างปราสาทหินพนมรุ้งและปราสาทปลายบัด และมีนียสำคัญถึงแหล่งกำเนิดเกิดหินในทางธรณีวิทยา รวมถึงแหล่งที่มาของเหมืองหิน ที่ต้องอยู่คนละสถานที่กัน

ขอเล่าเอาพอสังเขปว่า นอกจากหินอัคนีภูเขาไฟ ที่เคยปะทุขึ้นมาประปรายแถบอีสานใต้ โคราช บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ทั่วทั้งแผ่นดินอีสาน จะประกอบไปด้วยหินทรายเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งถูกจัดจำแนกในทางวิชาการธรณีวิทยาว่าเป็น กลุ่มหินโคราช (Khorat Group) โดยแบ่งย่อยในรายละเอียดเป็น 9 หมวดหิน (formation) ได้แก่ 1) หมวดหินห้วยหินลาด 2) น้ำพอง 3) ภูกระดึง 4) พระวิหาร 5) เสาขัว 6) ภูพาน 7) โคกกรวด 8) มหาสารคาม และ 9) หมวดหินภูทอก ตามลำดับ ซึ่งหินทรายแทบทุกก้อนที่นำมาสร้างปราสาทพนมรุ้ง และถูกใช้ในพื้นที่ปราสาทเขาปลายบัด เป็นหินทรายของ หมวดหินภูพาน ในทางธรณีวิทยา ส่วนหินที่ว่าประหลาดก้อนนี้ เป็นหินทรายใน หมวดหินเสาขัว ซึ่งมีความแข็งและแกร่งกว่าหมวดหินภูพาน

  • หมวดหินเสาขัว (Sao Kua Formation) หินทรายแป้ง แทรกสลับด้วย หินทรายเนื้อละเอียดถึงปานกลาง สีน้ำตาลแดง และสีเทาอมเหลือง เนื้อหินแกร่ง
  • หมวดหินภูพาน (Phu Phan Formation) ประกอบด้วยหินทรายสีขาวอมชมพู และหินทรายขนาดปานกลาง บางครั้งปะปนด้วยเม็ดกรวดขนาดเล็ก
เนื้อในของหินทรายที่ว่าประหลาด ซึ่งคาดว่าจะเป็น หมวดหินเสาขัว กลุ่มหินโคราช เป็นหินทรายเนื้อละเอียดถึงปานกลาง สีน้ำตาลแดง และสีเทาอมเหลือง เนื้อหินแกร่ง (ภาพ : คัชชิมา family)

เพิ่มเติม : กลุ่มหินโคราช (Khorat Group)

ในแง่แหล่งที่มา หินทรายที่ใช้สร้างปราสาทหินพนมรุ้ง รู้กันในวงกว้างว่ามาจากแหล่งตัดหิน บ้านสายตรี 3 อ. บ้านกรวด (พื้นที่สีดำด้านล่างสุดของแผนที่) และคาดว่าน่าจะขนกันมาทางบก ผ่านร่องเขาของ เขาคอก มุ่งหน้าสู่เขาพนมรุ้ง (เส้นทางสีดำที่ลากจากบ้านสายตรี 3 สู่เขาพนมรุ้ง) ทั้งนี้ก็เพราะธารน้ำทุกสายในพื้นที่ ล้วนไหลไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ชิ่งหนีเขาพนมรุ้งกันทั้งหมด ในขณะที่หินประหลาดจากหมวดหินเสาขัว พบได้ใกล้ที่สุดในแถบนี้คือ ละแวกบ้านบาระแนะและริมเชิงเขาพนมดงรักในเขต อ. ละหานทราย ชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งถ้าจะขนหินมา ในทางภูมิศาสตร์ก็ต้องมาตาม ลำปะเทีย (เส้นน้ำสีม่วงในแผนที่) ส่วนเรื่องจะขนหินกันทางบกเลาะมาข้างลำน้ำ หรือจะเอาหินลงแพล่องไปตามน้ำ ก็ฝากกันไว้ให้คริสสสส 🙂

แต่ไม่ว่าจะมากันทางบกหรือทางน้ำ การที่หินประหลาดบนเขาปลายบัด มาจากต่างที่ต่างถิ่นเพียงก้อนเดียว นั่นหมายความว่าหินก้อนนี้มีความตั้งใจที่จะมา และน่าจะมีเจตนารมณ์ของการมาที่แตกต่าง และเฉพาะทางมากกว่าหินก่อสร้างก้อนอื่นๆ (ว่ามั๊ย :))

แผนที่ภูมิประเทศแทนเขาพนมรุ้ง-เขาปลายบัด และพื้นที่ข้างเคียง แสดงการกระจายตัวของตัวละครต่างๆ ทางภูมิศาสตร์ ที่สัมพันธ์กับชุมชนโบราณพนมรุ้ง

เพิ่มเติม : ภูมิศาสตร์โบราณคดี พนมรุ้ง บุรีรัมย์

2) แปลความการใช้งาน

เพราะหน้าเธอเรียบ จึงแปลความว่าเธอถูกขัดสี และด้วยความที่แกร่งกว่าหินก้อนอื่นๆ ในทางธรณี จึงเชื่อว่าหินก้อนนี้เป็นผู้กระทำ (เอาไว้ไปขัดสีชาวบ้าน ไม่ใช่ถูกชาวบ้านมาขัดสี) คราวนี้ก็ชวนสงสัยกันต่อ ว่าเอาไว้ขัดอะไร ขัดตัว ขัดผิว หรือจะขัดหัวสิวบนหน้า เดี๋ยวมาว่ากัน

อีกหนึ่งลักษณะปรากฏของหินประหลาด ที่น่าสังเกตและจับมาเป็นประเด็นคือ นอกจากความมันวาวของผิวแล้ว หน้าหินทั้งก้อนยังมีความราบเรียบ แปล้อย่างหาที่ติมิได้ ซึ่งลองเดินไปดูร้านข้าวมันไก่หรือเขียงหมูใกล้บ้าน แล้วนึกภาพตาม ถ้าแม่ค้าข้าวมันไก่ สับไก่บนเขียงในที่ซ้ำๆ หรือพ่อค้าหมูลับมีดซ้ำๆ ตรงกลางหินลับมีด สิ่งที่จะเกิดขึ้นในฉากต่อมาก็คือ เขียงจะบุ๋มเป็นบ่อ หินลับมีดก็จะกร่อนแค่ตรงกลางของก้อนหิน

แต่หินประหลาด นางเอกของเรื่องนี้ กลับมีหน้าเรียบแปล้ ซึ่งก็ควรจะแปลความได้แว่ วัตถุที่ถูกนำมาขัดกับหินน่าจะมีขนาดเท่ากับ หรือใหญ่กว่าขนาดของหินประหลาดก้อนนี้ เพราะถ้าเล็กกว่า ผิวหน้าอาจจะมันได้ แต่ไม่น่าจะหน้าเรียบแบบแปล้ๆ แฮร่ !!!

แปล้ (คำวิเศษณ์) แปลว่า เรียบมาก เรียบเป็นระเบียบเสมอกัน เช่น หวีผมเรียบแปล้

(ก) รอยบุ๋มข้างเขียง ที่เกิดจากการสับไก่ในที่เดิม ซ้ำๆ ตัวบ่งชี้ความขายดีของแม่ค้า (ข) ด้วยความที่กลัวมีดสะดุดบาดมือ คนลับมีดมักจะลับมีดตรงกลางหินลับมีดเสมอ ( https://m.pantip.com)

เพิ่มเติม : ความลับของช่างลับมีด

3) หิน-ลับ-กรวด บนเขาปลายบัด

นอกจากหินทรายที่มีอยู่ทั่วไปตามปราสาท ซึ่งก็คงไม่มีข้อสงสัยว่าหินเหล่านี้เคยถูกขัดสี เพราะการที่จะได้มาซึ่งผิวหน้าเรียบ เข้าเหลี่ยมเข้ามุมแบบนี้ คงไม่ได้เกิดจากแค่กิริยาการ กระเทาะ หรือ สกัด เป็นแน่ ยิ่งได้มาเห็นความพยายาม ที่จะมีความหน้าเรียบของหินกรวดภูเขาไฟ ที่ตัวกำแพงของปราสาทบนเขาปลายบัด ยิ่งช่วยยืนยันว่า หินกรวดภูเขาไฟพวกนี้ถูกขัด ถูกฝน

เพราะในทางธรรมชาติของการเกิด หินกรวดภูเขาไฟ (agglomerate) เกิดจากการเชื่อมประสานกันอย่างหลวมๆ ของ กรวดภูเขาไฟ (pyroclastic) หลากหลายขนาดที่ตกทับถมกัน ทำให้หินกรวดภูเขาไฟไม่ได้สกัดเป็นบล๊อคได้ง่ายๆ เหมือนกับกระเทาะหินทราย หรือเฉาะศิลาแลง เพราะเค้าชอบแตกร่อน ร่วนเป็นเม็ดๆ ตามเม็ดกรวดภูเขาไฟเดิม (ดูรูปประกอบ) ดังนั้นการตัดเป็นก้อนเหลี่ยม จึงไม่ใช่เรื่องง่าย และน่าจะมีกิริยาของการฝนหรือขัดให้หินกรวดภูเขาไฟมีหน้าเรียบ มากว่าการเซาะด้วยสิ่วทั่วๆ ไป

หินกรวดภูเขาไฟ (agglomerate) ที่ถูกตัดออกมาและคาดว่าจะเคยถูกขัดฝนจนมีหน้าเรียบ ก่อนที่จะมาวางเรียงซ้อนกันเพื่อสร้างกำแพงรอบปราสาทเขาปลายบัด ๒

เพิ่มเติม : สิ่งที่ภูเขาไฟผุยออกมา ไม่ได้มีลาวาแค่อย่างเดียว

4) หิน-ลับ-ทราย ที่ปราสาทไบแบก

อีกหนึ่งหลักฐานที่ยืนยันว่ามีกิริยาของการ ลับ-ขัด-สี-ฝน ร่วมอยู่ด้วยในการเตรียมวัสดุก่อสร้างปราสาท คือ ก้อนหินทรายสีขาวขนาดอิฐจำนวนมาก ที่ใช้สร้างกำแพงโดยรอบ ปราสาทไบแบก ต.จันทบเพชร อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ ซึ่งข้อมูลจากกรมศิลปากร ตัวปราสาทไบแบกสร้างด้วยอิฐเผา ในช่วงราวๆ พุทธศตวรรษที่ 16-17 แต่หากสังเกตโดยรอบตัวปราสาท จะพบว่าส่วนของกำแพงถูกสร้างจากหินทราย ที่ถูกสกัดออกมาจากหินในพื้นที่ และนำมาขัดสีจนมีหน้าเรียบ ขนาดเท่าอิฐมอญ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งปราสาท ที่มีความวาวและว๊าว ในมุมของลีลาการเลือกใช้และผลิตวัสดุก่อสร้างในอดีต

(ก) ปราสาทไบแบก (ข) บางส่วนของกำแพงที่สร้างด้วยหินทรายขัดเรียบ (ค) หินทรายขัดเรียบที่มีเนื้อเดียวกันกับหินในพื้นที่ (ง) พื้นผิวการถูกขัดเรียบของก้อนหินทรายขนาดเท่าอิฐมอญ

5) ย่อก่อนแยกย้าย

  • เพราะ มาจากต่างที่ต่างถิ่นอยู่ก้อนเดียว ถึงได้คาดว่า ไม่น่าจะเอามาเพื่อก่อสร้างปราสาท ถึงขนาดได้ถ่อไปเอามา ก็น่าจะเพราะจุดประสงค์อื่น เฉพาะๆ
  • เพราะ ผิวหินมันวาว ถึงได้แปลความว่า หินมีการขัดสี ขัดมัน
  • เพราะ หินเนื้อแกร่ง เลยเข้าข้างว่า หินประหลาดเป็นผู้กระทำ (เอาไว้ไปขัดคนอื่น ไม่ใช่คนอื่นมาขัดหิน)
  • เพราะ หน้าหินเรียบแปล้ ถึงได้แปลความว่า ตัวละครที่เอามาให้ถูกขัด น่าจะไซส์ใหญ่กว่าหินขัดนี้
  • เพราะ มีก้อนหินกรวดภูเขาไฟที่หน้าเรียบผิดธรรมชาติการปริแตก เลยสงสัยว่า หรือจะเอาไว้ขัดหินกรวดภูเขาไฟพวกนี้
  • เพราะ พบก้อนหินทรายขัดเรียบจำนวนมาก ที่ปราสาทไบแบก จึงเชื่อว่า กิริยา ขัดสี หินในสมัยโบราณ คงไม่ไม่ยากเกินวิสัย และคงทำกันได้สบายๆ อย่างเป็นล่ำเป็นสัน และ
  • เพราะ พบหินหน้ามันเรียบแปล้ ประหลาดอยู่ก้อนเดียวบนเขาปลายบัด จึงขออนุญาตตั้งประเด็น แปลความตามเหตุ-ตามผลที่กล่าวมาในข้างต้นว่า หรือหินประหลาดก้อนนี้จะเป็น เครื่องมือขัดหินให้มีผิวหน้าเรียบ ก่อนจะถูกนำไปก่อสร้าง จะผิดจะถูก ก็ว่ากันไปตามหลักฐาน จะคล้อยตามด้วยกันหรือไม่ ก็สุดแล้วแต่วิจารณญาณกันนะครับ 🙂

สุดท้ายยยยย… ก่อนที่จะจบเรื่องนี้ ถ้ามีใครสักคนเดินมาบอกว่า หินก้อนนี้นะเหรอ !!! ผมเพิ่งยกจากหลังบ้าน ขึ้นเขา เอามารองเตาหมูกะทะ เมื่อวันก่อน กว่า 100 บรรทัด 1,000 ตัวอักษร ที่ท่านได้อ่านผ่านมานี้ ก็เป็นอันว่า โมฆะ ตัวใครตัวมัน แยกย้ายกันไปทำมาหากินครับ บรั๊ยยยย !!!

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: