สำรวจ

ปราสาทเขาปลายบัด บุรีรัมย์ : จากกำแพงหินเนื้อแปลก สู่เหมืองหินลึกลับที่น่าค้นหา

ปลายบัด เป็นเขาลูกโดด ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเขาพนมรุ้ง อ. เฉลิมพระเกียรติ จ. บุรีรัมย์ ซึ่งในทางธรณีวิทยา เขาปลายบัดเป็นภูเขาไฟเก่า แต่ปัจจุบันถือว่าดับสนิทแล้ว (ไม่มีแมกมาอยู่ใต้เขาแล้ว) ในทางโบราณคดี บนพื้นที่เขาปลายบัด มีโบราณสถาณสมัยอาณาจักรแขมร์สำคัญ 2 แห่ง ได้แก่ ปราสาทเขาปลายบัด ๑ และ ๒ ซึ่งตั้งอยู่ห่างกันถัวๆ 1 กิโลเมตร คาดว่าน่าจะสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 เพื่อเป็นเทวสถานในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ปัจจุบันปราสาทเขาปลายบัดกำลังมีประเด็นร้อน เรื่องการขอคืนโบราณวัตถุ พระโพธิสัตว์สำริด กว่า 300 ขื้น ที่มีอายุกว่า 1,300 ปี ซึ่งถูกลักลอบขุดไปจากเขาปลายบัด ๒ และเข้าสู่เส้นทางตลาดของโบราณในต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ เมโทรโปลิเทน รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา

จากที่ได้มีโอกาสไปเที่ยวชมปราสาทเขาปลายบัด ๒ นอกจากมนต์ขลังในทางโบราณคดีที่ได้ดื่มด่ำอย่างหนำใจแล้ว อีกประเด็นที่น่าสนใจในทางธรณีวิทยาคือ ดูเหมือนว่าวัสดุที่นำมาใช้สร้างปราสาทเขาปลายบัด และองค์ประกอบโดยรอบ จะมีความหลากหลายมากกว่าปราสาททั่วๆ ไป ที่มักจะใช้หินทรายหรือไม่ก็ศิลาแลงเป็นหลัก ซึ่งจากการไล่ๆ ดูโดยละเมียด สรุปความได้ว่าปราสาทปลายบัด ๒ สร้างจากวัสดุต่างๆ เหล่านี้

บรรยากาศบนปราสาทเขาปลายบัด ๒

๑) อิฐ (brick)

ปราสาทเขาปลายบัด ๒ วัสดุหลักที่ใช้สร้างตัวปราสาทคือ อิฐ (brick) ที่มีขนาดเท่ากับอิฐมอญที่เราใช้ในงานก่อสร้างปัจจุบัน จากการสำรวจในเบื้องต้น สังเกตได้ว่าอิฐแต่ละก้อนมีขนาดเท่ากัน และความเป็นเหลี่ยมเป็นมุมของอิฐตั้งฉากอย่างสมบูรณ์ ทำให้การก่อสร้างตัวปราสาทจากการจัดเรียงอิฐแบบไม่สอปูนนั้น เรียบกริ๊บไม่มีขาดไม่มีเกิน บ่งชี้เป็นนัยๆ ว่ากระบวนการผลิตอิฐในสมัยนั้น มีมาตรฐานอย่างอุตสาหกรรม เรียกได้ว่าเข้าข่ายผ่านมาตรฐาน มอก.

(ซ้าย) ผนังอิฐจากตัวปราสาทเขาปลายบัด ๒ ที่เข้าเหลี่ยมเข้ามุมกันแบบ Perfect !!! (ขวา) ผนังอิฐที่ผุกร่อน เผยให้เห็นเนื้อภายในของอิฐแต่ละก้อน ที่มีสีแตกต่างจากผิวด้านนอก

อย่างไรก็ตามจากการไล่ดูปราสาทอิฐ ที่บางส่วนถูกกัดกร่อนผุพังให้เห็นเนื้อใน สิ่งที่สังเกตได้คือ เนื้อในของอิฐมีสีแตกต่างจากผิวด้านนอก ซึ่งจากที่เคยเห็นอิฐโบราณในพื้นที่อื่นๆ เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านทุ่งตึก อ. ตะกั่วป่า จ.พังงา สีที่แตกต่างกันดังกล่าว บ่งชี้ว่ากระบวนการเผาเพื่อผลิตอิฐนั้น ให้ความร้อนไม่เท่ากันตลอดทั้งก้อน (สู้อิฐปัจจุบันไม่ได้) ภายในยังมีสภาพเป็นดินเดิม ในขณะที่ภายนอกนั้นสุกปรั่งเป็นสีส้ม อมเหลือง ส่วนประเด็นว่าเดือดร้อนอะไรกันหนักหนา กับอิฐที่เผาสุกและไม่สุก แนะนำไปอ่านเพิ่มเติมเพลินๆ ในบทความด้านล่างครับ

เพิ่มเติม : คนโบราณแถวพังงา ใช้อิฐแบบ medium rare มาสร้างเมือง

หน้าตาและสีผิวภายในของอิฐที่เก็บมาจากแหล่งโบราณคดีบ้านทุ่งตึก อ. ตะกั่วป่า จ. พังงา แสดงให้เห็นกิริยาแบบว่าเผาอิฐแบบ medium rare

๒) หินทราย (sandstone)

หินทราย (sand stone) เกิดจากตะกอนขนาดทราย โดยส่วนใหญ่มีองค์ประกอบเป็นแร่ควอตซ์ แร่เฟลด์สปาร์และ เศษชิ้นหิน (rock fragment) โดยแหล่งที่มาของตะกอนขนาดทรายสามารถเกิดได้จากหลายสภาพแวดล้อม เช่น ทรายตามชายหาด โดยส่วนใหญ่มีเศษเปลือกหอยรวมอยู่ด้วย ทรายจากทะเลทรายจะมีการคัดขนาดที่ดี และโดยส่วนใหญ่มีสีแดงที่เกิดจากกระบวนการออกซิเดชัน เป็นต้น

หินทรายหลากสี อันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมตอนที่ทรายสะสมตัวแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นชายทะเล ทะเลทราย แม่น้ำโค้งตวัด ล้วนให้ทรายที่มีขนาดและองค์ประกอบโดยรวมแตกต่างกัน

เป็นที่ทราบกันดีว่า หินที่กระจายตัวอยู่ในภาคอีสานของไทย แทบทั้งหมด ส่วนมากเป็น หินทราย (sandstone) ที่เกิดจากการสะสมตัวของตะกอนธารน้ำ ในช่วง มหายุคมีโซโซอิก (Mesozoic Era) ตามมาตราเวลาทางธรณีวิทยา ซึ่งด้วยสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา หินทรายในแต่ละชั้นของอีสาน จึงมีความแตกต่างกันบ้าง ในรายละเอียด เช่น การคัดขนาดของเม็ดตะกอน สี หรือแม้กระทั่งองค์ประกอบแร่ ซึ่งจากความแตกต่างดังกล่าว นักธรณีวิทยาได้จัดจำแนกหินทรายในภาคอีสาน หรือที่เรียกว่า กลุ่มหินโคราช (Korat Group) ออกเป็นหมวดหิน (Formation) ต่างๆ ดังนี้ 1) หมวดหินห้วยหินลาด 2) หมวดหินน้ำพอง 3) หมวดหินภูกระดึง 4) หมวดหินพระวิหาร 5) หมวดหินเสาขัว 6) หมวดหินภูพาน 7) หมวดหินโคกกรวด 8) หมวดหินมหาสารคาม 9) หมวดหินภูทอก

เพิ่มเติม : กลุ่มหินโคราช (Khorat Group)

94385123_131937615104296_182511246514323
แผนที่แสดงการกระจายตัวของหินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย (กรมทรัพยากรธรณี 2542; www.khoratcuesta.net)

ซึ่งปราสาทส่วนใหญ่ในประเทศไทย นิยมใช้หินจาก หมวดหินเสาขัว และ หมวดหินภูพาน ซึ่งมีจำนวนมากทางอีสานใต้ ตลอดแนวเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งเหมืองหินสำหรับก่อสร้างปราสาทเขาพนมรุ้งและปลายบัด ก็มีการค้นพบกันแล้ว คือบริเวณลานหินตัด บ้านสายตรี ๓ อ. บ้านกรวด จ. บุรีรัมย์รวมไปถึง เทือกเขาดงพญาเย็น ที่แบ่งระหว่างภาคอีสานและภาคกลางของประเทศไทย ส่วนปราสาทต่างๆ ในประเทศกัมพูชา มักจะใช้หินใน หมวดหินภูกระดึง หมวดหินพระวิหาร และ หมวดหินเสาขัว ซึ่งมีมากมายบน เทือกเขาพนมกุเลน (Phnum Kulen) ทางทิศตะวันออกของปราสาทนครวัดนครธม

๓) ศิลาแลง (laterite)

ต้องบอกไว้ก่อนว่า การทำศิลาแลงให้เป็นบล็อกขนาดใหญ่เพื่อนำมาสร้างปราสาท ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรนัก เพราะชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า ศิลาแลง (laterite) หรือ ศิลาจำแลง นั่นคือ หินเก๊ เพราะจริงๆ แล้ว ศิลาแลง มีศักดิ์ทางธรณีวิทยาเป็นแค่ ดิน (soil)

เล่าแบบคร่าวๆ ดินจำแนกได้ 3 ชนิด ตามหลักการเกษตรกรรม ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละสภาพภูมิอากาศ คือ 1) ดินพีดอลเฟอร์ (pedalfer) ก่อตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมแบบป่าดงดิบที่ชุ่มชื้น 2) ดินเพโคดอล (pedocal) ก่อตัวได้ดีในพื้นที่แห้งแล้ง เช่น ทะเลทราย และ 3) ศิลาแลง (laterite) เกิดในภูมิอากาศแบบร้อนชื้นหรือมรสุม มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิร้อน-หนาว และความชื้นแห้ง-เปียก สลับกันอยู่ตลอดเวลา ดินมีลักษณะเป็นสีแดงเนื่องจากเหล็กออกไซด์ และอะลูมิเนียมออกไซด์

หน้าตัดดินชนิดต่างๆ ที่สัมพันธ์กับภูมิอากาศ

ศิลาแลงตอนยังอยู่ใต้ดิน เขาจะอ่อนนิ่มเหมือนดินทั่วไป เราแค่เอาจอบเอาเสียมไปเฉาะ อยากให้เป็นรูปทรงไหน ก็ทำได้ง่ายๆ ตามที่หัวใจต้องการ 🙂 ซึ่งเมื่อนำดินศิลาแลงมาผึ่งอากาศสักระยะ เหล็กจะจับตัวกับออกซิเจนในอากาศ เรียกแบบหล่อๆ ว่า ถูกออกซิไดซ์ (oxidize) จาก ferrous oxide กลายเป็น ferric oxide ที่มีคุณสมบัติแข็งโป๊ก

เพิ่มเติม : ดิน เบื้องต้น

ดังนั้น ถ้าให้เหลากันกงๆ ก็คงจะบอกว่า ไม่ต้องไปเชิดชูความแข็งแกร่งของคนโบราณเค้ามากนักจากศิลาแลง แต่ถ้าจะเชิดชูจริงๆ แนะนำไปให้เครดิตตอนตัดหินทรายน่าจะดีกว่า อันนี้โหดจริง 🙂

การทำเหมืองศิลาแลง (laterite) ในประเทศอินเดีย ซึ่งมีกรรมวิธีที่เรียบง่าย คือ ขุดหรือตัดดิน (อ่อน) ตามรูปทรงที่ต้องการ จากนั้นนำมาผึ่งลมให้แร่เหล็กหรืออะลูมิเนียมสัมผัสกับอากาศและแข็งตัว เหมือนกับเป็นหิน

คราวนี้กลับมาคุยเรื่องศิลาแลงบนเขาปลายบัด จากการสังเกตก้อนศิลาแลงที่เอามาทำกำแพง ชัดเจนว่าช่วยกันขนมาแน่ๆ เพราะบนภูเขาไฟอย่าง เขาปลายบัด เขาพนมรุ้ง ไม่มีสภาพทางธรณีวิทยาที่เอื้อต่อการเกิดศิลาแลง ล้านเปอร์เซนต์

นอกจากนี้ ศิลาแลงที่อยู่โดยรอบตัวปราสาทเอง ก็มีความต่างกันในองค์ประกอบ บางก้อนมีเนื้อเป็นเม็ดเล็กๆ เหมือนเม็ดไข่ปลาในขณะที่บางก้อนก็เป็นศิลาแลงเนื้อหยาบ ซึ่งในทางธรณีวิทยาถือว่ามาจากต่างที่ต่างถิ่นกัน เพราะขนาดเม็ดตะกอนแตกต่างกัน บ่งชี้ชัดทาง ตะกอนวิทยา (sedimentology) ว่าเกิดจากสภาพแวดล้อมการสะสมตัวที่แตกต่างกัน หรือคนละที่กัน สรุปแว่ศิลาแลงที่ใช้บนเขาปลายบัด ก็ไม่ได้มาจากเหมืองศิลาแลงเพียงเหมืองเดียว อย่างน้อยๆ ก็ต้องมี 2 เหมือง ตามหลักคิดของผู้ชายหน้าตาดีๆ คนนึง

(ซ้าย) หินทรายสกัดแบบผิวหยาบ สำหรับก่อกำแพง และหินทรายสลักผิวเรียบเป็นรูปทรงส่วนประกอบต่างๆ ของตัวปราสาท (กลาง) ก้อนศิลาแรงสำหรับสร้างกำแพง คาดว่านำมาจากแหล่งศิลาแลงต่างที่กัน เนื่องจากมีขนาดเม็ดตะกอนเดิมแตกต่างกัน (ขวา) ก้อนหินบะซอลต์ ที่บางส่วนดูเหมือนจะนำมาจัดเรียงเป็นองค์ประกอบบางอย่างในละแวกตัวปราสาท จากการสังเกตเนื้อหินพบว่า หินบะซอลต์นำมาจาก 2 ชุดหิน ในทางธรณีวิทยา คือ 1) หินบะซอลต์เนื้อแน่น (massive basalt) และ 2) หินบะซอลต์ที่มีรูพรุน (vesicular basalt)

๔) หินบะซอลต์ (basalt)

นอกจากนี้บริเวณโดยรอบปราสาทเขาปลายบัด ๒ ยังพบ หินบะซอลต์ (basalt) ขนาดพอประมาณเท่าลูกบาส-ลูกบอล ถูกวางกองกันหรือจัดเรียงเป็นแถว ซึ่งในธรรมชาติ ก้อนหินบะซอลต์ ควรจะวางระเนระนาด ไม่พูนขึ้นเป็นกองแบบนี้ ดังนั้นจึงอนุมานแบบกรุบๆ เบาๆ ว่านอกจากศิลาแลงต่างถิ่น หินบะซอลต์ก็เป็นอีกหนึ่งวัสดุ ที่มีการขนถ่ายย้ายมาจัดเรียงให้เป็นองค์ประกอบของปราสาทเขาปลายบัด

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าจะช่วยยืนยันอีกแรงว่า ก้อนหินบะซอลต์พวกนี้ไม่น่าจะมาอยู่โดยธรรมชาติก็คือ โดยรอบละแวกตัวปราสาทพบเห็นหินบะซอลต์ 2 สี 2 เนื้อ บางก้อนเป็นหินบะซอลต์สีดำเนื้อแน่น (massive basalt) แต่บางก้อนเป็นหินบะซอลต์สีอมม่วงและมีรูพรุนจำนวนมาก (vesicular basalt) ซึ่งในทางธรณีวิทยาของการเกิดหิน หินบะซอลต์ทั้ง 2 กลุ่มนี้ น่าจะเกิดต่างกรรม-ต่างวาระกัน 1) บะซอลต์สีดำเนื้อแน่น น่าจะเป็นการไหลหลากแบบเยิ้มๆ ของลาวา ที่เกิดจากการประทุ แบบไอซ์แลนด์ (Icelandic) หรือ แบบฮาวาย (Hawaiian) ในขณะที่หินบะซอลต์สีอมม่วงมีรูพรุน อาจจะเป็นการประทุของลาวาที่มีการกระเด็นกระดอนของก้อนกรวดภูเขาไฟร่วมอยู่บ้าง หรือที่เรียกกันในวงการภูเขาไฟว่าการประทุ แบบสตรอมโบเลียน (Strombolian) หรือ แบบวัลเคเนียน (Vulcanian) อะไรประมาณนั้น

เพิ่มเติม : 6 ลีลาการ ถ่ม-ถุย-ผุย-พ่น ของภูเขาไฟ

รูปแบบการปะทุของภูเขาไฟ

ซึ่งก็นั่นแหละครับ 1) เพราะก้อนหินบะซอลต์ถูกวางเป็นกองหรือเป็นแนว 2) เพราะหินแต่ละก้อนที่มีเนื้อแตกต่างกันและไม่ควรกองอยู่ในที่เดียวกันในทางธรณีวิทยา จึงสรุปได้ว่าหินบะซอลต์น่าจะเอามาเป็นองค์ประกอบในการก่อสร้าง ซึ่งก็เอามาจากบนเขาปลายบัดนั่นแหละ แต่คนละที่คนละชั้นของเหตุการณ์การประทุของภูเขาไฟ ในอดีต

๕) หินกรวดภูเขาไฟ (agglomerate)

ที่โม้มาต้ังนาน (ซึ่งก็หวังว่าผู้อ่านจะได้ความรู้กันบ้าง) แต่เจตนาของบทความนี้ ก็อยากจะให้เห็นพระเอกของเรื่อง อันนี้แหละครับ ในบรรดาหินก่อสร้างของปราสาทปลายบัด ๒ ในทางธรณีวิทยาตัวนี้ถือว่าเด็ดสุด เพราะจากที่เคยไปสำรวจในหลายๆ ปราสาทส่วนใหญ่ ก็มักจะเป็นหินทรายหรือไม่ก็อิฐ หรือไม่ก็ศิลาแลง วนๆ กันอยู่แค่นี้ แต่ที่นี่ !!! ปราสาทเขาปลายบัด พบว่ามีการใช้หินที่แปลก ที่ไม่เคยเห็นที่ปราสาทไหนมาก่อน นั่นคือการใช้ หินกรวดภูเขาไฟ (agglomerate) มาตัดให้เป็นก้อนสี่เหลี่ยม เพื่อใช้ในการทำกำแพง ซึ่งจากหินกรวดภูเขาไฟที่ว่า ประเด็นที่ขมวดได้ก็มีอยู่ 3 ประเด็น คือ

  • การใช้หินกรวดภูเขาไฟมาเป็นวัสดุก่อสร้าง มีที่อื่นอีกหรือเปล่าไม่รู้ แต่พบที่นี่ที่แรกและยังเป็นที่เดียวที่เคยพบ
  • หินกรวดภูเขาไฟไม่ได้สกัดหรือกระเทาะง่ายเหมือนหินทรายและศิลาแลง เพราะโดยธรรมชาติเค้าชอบแตกร่อน ร่วนเป็นเม็ดๆ ของ กรวดภูเขาไฟ (phyroclastic) (ดูรูปประกอบ) ดังนั้นการตัดเป็นก้อนเหลี่ยม จึงไม่ใช่เรื่องง่าย และน่าจะมีกิริยาของการฝนหรือขัดให้หินกรวดภูเขาไฟมีหน้าเรียบ มากว่าการเซาะด้วยสิ่วทั่วๆ ไป
  • และประเด็นสุดท้าย จากการพบก้อนหินตัดที่ทำมาจากกรวดภูเขาไฟ จึงสรุปได้ว่า บนภูเขาไฟเก่า อย่างเขาปลายบัด น่าจะมีเหมืองหินตัดกรวดภูเขาไฟ ซ่อนอยู่ที่ไหนสักแห่ง ก็เป็นได้…
กรวดภูเขาไฟ (phyroclastic) ขนาดต่างๆ

เพิ่มเติม : สิ่งที่ภูเขาไฟผุยออกมา ไม่ได้มีลาวาแค่อย่างเดียว

จาก กรวดภูเขาไฟ (pyroclastic) หลากหลายขนาดที่ตกทับถมกัน เมื่อแข็งตัวกลายเป็นหิน เราจะเรียกว่า หินกรวดภูเขาไฟ (agglomerate)

หินกรวดภูเขาไฟ (agglomerate) ที่ถูกตัดออกมาและขัดฝนจนมีหน้าเรียบและเหลี่ยมมุมเพียงพอ ที่จะมาวางเรียงซ้อนกันเพื่อสร้างกำแพงรอบปราสาทเขาปลายบัด ๒ (ขวาล่าง) สภาพการผุพังของหินกรวดภูเขาไฟเผยให้เห็นกรวดภูเขาไฟเป็นก้อนๆ แต่ละก้อนมีเนื้อเป็นรูพรุน บ่งชี้ถึงการประทุที่รุนแรงระดับปานกลาง

สุดท้ายก่อนที่จะแยกย้ายกันไปทำมาหากิน ด้วยความที่ปราสาทเขาปลายบัด ๒ สร้างจากวัสดุหลากหลาย มากกว่าปราสาททั่วไป ซึ่งนับรวมๆ กันก็ได้ประมาณ 5 เมนู ผู้เขียนจึงอยากจะขอตั้งชื่อฉายาเป็นกิมมิคเก๋ๆ ให้กับปราสาทหลังนี้ว่า

เขาปลายบัด : เบญจศิลาปราสาท

.

เจริญพร

Share: