สำรวจ

“บาราย” ในประเทศไทย ทำไมแห้ง ?

ในวัฒนธรรมเขมรโบราณ เพื่อที่จะสำรองน้ำไว้ใช้ แต่ละชุมชนนิยมสร้างภาชนะกักเก็บน้ำ 2 รูปแบบ คือ

1) ตระพัง หมายถึง สระน้ำขนาดเล็กรูป 4 เหลี่ยมผืนผ้าเป๊ะๆ กว้างประมาณ 200-300 เมตร ยาวประมาณ 400-600 เมตร ซึ่งด้วยความที่ขนาดตระพังอยู่ในวิสัยที่พอขุดได้ การสร้างตระพังจึงเริ่มจากการขุดพื้นที่ให้ลึกลงไปจากระดับดินเดิม และนำดินที่ขุดได้มาโป๊ะเป็นคันดินโดยรอบสระ ในประเทศไทย โดยเฉพาะแถบภาคอีสาน พบตระพังมากมายกระจายอยู่ทั่วไป และมักจะพบอยู่คู่กับปราสาทในวัฒนธรรมเขมรโบราณ นอกจากนี้ในบางพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง ก็พบตระพังได้เช่นกัน เช่น ตระพังเงิน ตระพังทอง ตระพังสอ และตระพังตะกวน ของเมืองสุโขทัย เป็นต้น

(ก) ภาพถ่ายดาวเทียม แสดงตัวอย่างตระพัง ทางตะวันออกของปราสาทพนมวัน จ. นครราชสีมา (ข-ค) สภาพพื้นที่จริงของตระพัง

2) บาราย คือ แหล่งน้ำขนาดใหญ่ของชุมชน ในวัฒนธรรมเขมรโบราณ กว้าง x ยาว หลักกิโลเมตร ซึ่งถือว่าใหญ่มากเมื่อเทียบกับตระพัง และด้วยความใหญ่ ทำให้การสร้างไม่ได้มีการขุดพื้นที่ให้ลึกลงไป ใช้เพียงการขูดดินบางส่วน แถวๆ ขอบบาราย มาปั้นเป็นคันดิน ล้อมรอบพื้นที่ราบดั้งเดิม เพื่อกักเก็บน้ำ ตัวอย่างเช่น บารายต่างๆ ในพื้นที่เมืองพระนคร ประเทศกัมพูชา ดังนั้น ตระพัง และ บาราย จึงแตกต่างกันทั้งในแง่ขนาด และระดับท้องน้ำของแหล่งน้ำ

ภาพมุมสูงแสดง บารายสำคัญๆ ในละแวกเมืองพระนคร ประเทศกัมพูชา ที่สร้างจากการปั่นคันดินล้อมรอบพื้นที่ราบ (ก) บารายตะวันตก 2.0 x 8.0 ตร.กม. (ข) บางรายปราสาทพระขรรค์ 0.89 : x 3.60 ตร.กม. (ค) บารายตะวันออก 1.9 x 7.2 ตร.กม.

บารายในประเทศไทย (บางส่วน)

นอกเหนือจากประเทศกัมพูชาในประเทศไทยก็มีบารายในวัฒนธรรมเขมรโบราณ กระจายตัวอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในแถบภาคอีสานของไทย ตัวอย่างเช่น

1) บาราย ปราสาทหินพิมาย จากภาพถ่ายดาวเทียมในโปรแกรม Google Earth จะเห็นว่าทางตะวันออกของตัวปราสาทหินพิมาย จ. นครราชสีมา มีสระน้ำขนาดย่อมอยู่ ซึ่งด้วยขนาดที่เล็กและระดับท้องน้ำที่ลึก แหล่งน้ำนี้จึงถูกนิยามว่าคือ ตระพัง ในทางโบราณคดี

อย่างไรก็ตาม บาราย ที่แท้จริงจะอยู่ทางทิศใต้ของตัวปราสาท โดยสภาพปัจจุบันของคันดินรอบบาราย กลับกลายเป็น ถนน ที่วิ่งรอบพื้นที่เป็นกรอบสี่เหลี่ยม มีขนาด กว้าง X ยาว อยู่ที่ 0.75 x 1.80 ตร.กม. (ดูรูปประกอบ) โดยพื้นที่กลางบาราย ถูกแปลงไปใช้ในการเกษตรกรรม

ตำแหน่งใน google map : อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย อ. พิมาย จ. นครราชสีมา

(ก) ภาพถ่ายดาวเทียมแสดง แนวถนนล้อมรอบเป็นกรอบสี่เหลี่ยมโดยจุดแดงตรงกลางคือตำแหน่ง โบราณสถาณวัดโคก ซึ่งมีศักดิ์ศรีในเชิงการใช้งานเป็น ปราสาทกลางบาราย หรือ ปราสาทแม่บุญ ของชุมชนพิมายโบราณ (ข) โบราณสถาณวัดโคก ที่วางตัวอยู่บนเนินดิน กลางบาราย ซึ่งมีความสูงกว่าพื้นที่ราบโดยรอบ (ค) สภาพพื้นที่บริเวณโบราณสถาณวัดโคก ซึ่งฝั่งซ้ายของภาพ คือ ส่วนเนินดินกลางบาราย ฝั่งขวา คือ ระดับของพื้นที่โดยรอบ

2) บารายหนองบัวลาย ปราสาทหินพนมรุ้ง และ บารายเมืองต่ำ ปราสาทเมืองต่ำ ด้วยขนาดของบารายคู่บารมี คิดว่าทั้งปราสาทหินพนมรุ้งและเมืองต่ำ คงมีความสำคัญก็ไม่ธรรมดา เพราะเมื่อวัดขนาดของบารายที่อยู่ทางตอนเหนือของตัวปราสาทเมืองต่ำ พบว่ามีขนาด 1.1 x 0.55 กิโลเมตร ส่วนด้านกว้าง ก็ 0.5 กิโลเมตรโดยประมาณ ในขณะที่บารายหนองบัวลาย ซิ่งอยู่เชิงเขาพนมรุ้ง มีขนาด 0.35 x 0.70 ตร.กม. เล็กกว่าของปราสาทหินเมืองต่ำอยู่เล็กน้อย

ตำแหน่งใน google map : ปราสาทเมืองต่ำ อ. เฉลิมพระเกียรติ จ. บุรีรัมย์

(ก) บารายทางตอนเหนือของปราสาทเมืองต่ำ อ. เฉลิมพระเกียรติ จ. บุรีรัมย์ สี่เหลี่ยมขาว แสดง ตำแหน่งท่าน้ำโบราณ (ข-ค) ท่าน้ำโบราณกลางบารายเมืองต่ำ ทำจากศิลาแลง (ที่มา : องค์ความรู้กรมศิลปากร)

3) บาราย (ที่หายไป) ปราสาทพนมวัน โดยที่สระน้ำเก่าแก่ ที่อยู่ทางตะวันออกของตัวปราสาทหินพนมวัน คือ ตระพัง (รูปบนสุดในบทความนี้) ส่วนตัวบางรายที่แท้จริง มีขนาดใหญ่ อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งปัจจุบันถูกทำลายไปหมดสิ้นแล้ว จากการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินของชาวบ้านในปัจจุบัน (ที่มา : รศ. ดร. สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง)

บารายที่หายไป ปราสาทหินพนมวัน จ. โคราช
ภาพถ่ายทางอากาศ ปี พ.ศ. 2517 เผยให้เห็นบาราย ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวปราสาท ปัจจุบันทั้งบาราย ถูกปรับพื้นที่เพื่อการเกษตรกรรมแล้ว (ที่มา : รศ.ดร. สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง)

4) บารายบ้านถนนหัก จากการแปลภาพถ่ายทางอากาศ ที่ถ่ายเอาไว้ในปี พ.ศ. 2497 รศ. ดร. สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง (2021) รายงานการมีอยู่ของบารายขนาด 0.50 x 1.20 ตร.กม. ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของตัว ปราสาทบ้านถนนหัก อ. หนองบุญมาก จ. นครราชสีมา ซึ่งแม้ในสภาพปัจจุบัน ยังสามารถเห็นโครงสร้างคันดินรอบบารายยังเห็นชัดเจนในรูปแบบถนน และพื้นที่กลางบารายกลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม

ตำแหน่งใน google map : ปราสาทบ้านถนนหัก อ. หนองบุญมาก จ. นครราชสีมา

นอกจากนี้ในภาคอีสานของไทยยังมีบางรายซ่อนตัวอยู่อีกมากมาย แต่ประชาชนในพื้นที่แถวนั้นอาจจะไม่รู้จัก ทั้งนี้ก็เพราะกาลเวลาผ่านไปนับพันปี บวกกับพื้นที่บางรายในปัจจุบันไม่มีน้ำหลงเหลือ ไม่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำเพราะเดิมไม่ได้ขุดลงไปจากผิวดิน ทำให้ปัจจุบัน พื้นที่บารายเดิม ที่เคยกักเก็บน้ำไว้กินไว้ใช้ ในสมัยวัฒนธรรมเขมรโบราณ จึงถูกปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินไปเป็นอย่างอื่น ตัวอย่างเช่น ปราสาทสระหิน ต. ตะคุ อ. ปักธงชัย จ. นครราชสีมา และ ปราสาทมีชัย (หมื่นชัย) ต. กระเทียม อ. สังขะ จ. สุรินทร์ ซึ่งปัจจุบันขอบคันบารายกลายเป็นถนน และภายในบางรายเอง ก็กลายเป็นนาข้าว ไร่อ้อยอย่างไม่เหลือเค้าเดิมให้คนในพื้นที่จดจำ

ภาพดาวเทียมจาก Google Earth แสดงคันดินบ่งชี้ขอบเขตบารายเดิมของปราสาทต่างๆ ในภาคอีสานของไทย (ก) ปราสาทบ้านถนนหัก ต. บ้านใหม่ อ. หนองบุญมาก จ. นครราชสีมา (ข) ปราสาทสระหิน ต. ตะคุ อ. ปักธงชัย จ. นครราชสีมา (ค) ปราสาทมีชัย (หมื่นชัย) ต. กระเทียม อ. สังขะ จ. สุรินทร์ ซึ่งปัจจุบันไม่ได้ถูกกักเก็บน้ำ แต่ถูกเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่เกษตรกรรม

เพิ่มเติม : ปราสาทหินกลางน้ำ : ความน่าจะมี ในหลายที่ของไทย

จากบารายบางส่วน ที่ยกตัวอย่างมาในข้างต้น จะสังเกตเห็นว่าบารายส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในประเทศไทยจะเหลือเพียงซากคันดินบนพื้นที่แห้งไร้น้ำหล่อเลี้ยง ประเด็นที่น่าสนใจคือทำไมบารายถึงแห้ง แห้งตอนไหน แห้งตอนช่วงที่ยังใช้งาน หรือแห้งภายหลังจากอาณาจักรล่มสลาย เหตุผลของคนทั่วไปอาจจะคิดว่าเมื่อเวลาผ่าน ตะกอนสะสม บารายก็ตื้นเขินและแห้งเป็นธรรมดา หรือบางงานวิจัยก็พยายามสรุปว่า แห้งเพราะ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ซึ่งนอกเหนือจากเหตุผลเหล่านี้ในทางธรณีวิทยา ก็สามารถอธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผลได้ 3 ประเด็น คือ

1) ทางไหลของตะกอน

จากการวิเคราะห์ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ พบว่าเมืองหรือปราสาทในวัฒนธรรมเขมรโบราณส่วนใหญ่ มักจะสร้างอยู่บนเนิน หรือปลาย เนินตะกอนรูปพัด (alluvial fan) ที่อยู่ติดกับธารน้ำหรือแม่น้ำสายใหญ่ บวกกับ บารายส่วนใหญ่ต้องการสร้างให้ตรงแนวแกนของตัวปราสาท หรือสร้างที่ปลายเนินตะกอนรูปพัด ดังนั้นในหลายๆ พื้นที่บารายในประเทศไทย เมื่อเวลาผ่านไปพบว่า มวลตะกอนจากเนินที่ตั้งปราสาทหรือปลายเนินตะกอนรูปพัดจะไหลมาทับถมตัวบารายฝั่งใดฝั่งกนึ่งจนตื้นเขิน ตัวอย่างเช่น ปราสาทบ้านพลวง ต. บ้านพลวง อ. ปราสาท จ. สุรินทร์ และ บารายเมืองสุโขทัย จ. สุโขทัย ที่พบหลักฐานว่ามวลดินจากเนินที่กลางเมือง ไหลหลากมาทับถมจนตัวบารายนั้นตื้นเขิน

เนินตะกอนรูปพัดที่เกิดจากการที่น้ำหอบตะกอนออกมาจากร่องเขาและลดความเร็วน้ำอย่างรวดเร็วเมื่อถึงที่ราบ
บารายและ ปราสาทบ้านพลวง ต. บ้านพลวง อ. ปราสาท จ. สุรินทร์ (ก) ภาพถ่ายทางอากาศปี พ.ศ. 2519 แสดงให้เห็นถึงการตื้นเขินของบารายทางทิศใต้ (ข) ภาพถ่ายดาวเทียมในปัจจุบันจาก Google Earth แสดงการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินของบางรายทางทิศใต้ ให้กลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม
(บน) ภาพถ่ายดาวเทียมแสดง คันดินล้อมรอบ บารายเมืองสุโขทัย ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของ วัดพระพายหลวง (จุดสีแดง) ต. เมืองเก่า อ. เมืองสุโขทัย จ. สุโขทัย เส้นสีเหลืองคือแนวภาพตัดขวางแสดงระดับความสูงภูมิประเทศในรูปล่าง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตัวสิ่งปลูกสร้างในวัฒนธรรมเขมรโบราณ (วัดพระพายหลวง) สร้างอยู่บนเนินที่สูงทางตะวันตกและลาดเอียงไปทางตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งของบาราย ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป ตัวบารายก็ตื้นเขิน อันเนื่องมาจากตะกอนฝั่งตะวันตกหลายลงมาทับถม

อีกหนึ่งตัวอย่างของการตั้งเมืองใกล้เนินตะกอนและถูกรบกวน คือ เมืองโบราณอู่ทอง ซึ่งตั้งคาบเกี่ยวอยู่ในพื้นที่ ที่มีการผุพังของตะกอนจากเทือกเขาทางตะวันตก และพัดพาลงมาสู่ที่ราบทางตะวันออก หรือที่เรียกในทาง สัณฐานวิทยา (morphology) ว่า เนินตะกอนเชิงเขา (colluvium) ส่งผลให้คูเมืองฝั่งตะวันตกถูกรบกวนด้วยตะกอนที่ไหลหลากลงมาและต้องมีการขุดลอกคันดินอยู่บ่อยครั้ง

เพิ่มเติม : ธรณีวิทยาโบราณคดี เมืองโบราณอู่ทอง

สภาพภูมิประเทศโดยละเอียด พื้นที่โดยรอบคูเมืองอู่ทอง วิเคราะห์จากข้อมูลไลดาร์ แสดงให้เห็นระดับความสูงที่แตกต่างกันระหว่างพื้นที่สูงฝั่งตะวันตก ที่เกิดจากการพัดพาของเศษตะกอนเชิงเขาฝั่งตะวันตกของพื้นที่ มาสู่ที่ราบทางฝั่งตะวันออก

2) ห่างไกลระดับน้ำใต้ดิน

ถ้าเราสังเกตดีๆ ถึงแม่น้ำในธรรมชาติ ก็จะพบว่า บางแม่น้ำทำไมมีน้ำเต็มอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่บางแม่น้ำกลับมีน้ำในช่วงบางฤดูกาล ซึ่งเรื่องนี้เป็นความสัมพันธ์กันระหว่าง น้ำผิวดิน (surface water) ที่อยู่ในแม่น้ำและ ระดับน้ำใต้ดิน (water table) ในบริเวณนั้น โดยสืบเนื่องจากความแตกต่างของระดับน้ำใต้ดินในแต่ละพื้นที่ ทำให้มีการถ่ายเทมวลน้ำระหว่างธารน้ำบนผิวดินและน้ำใต้ดิน

การ์ตูนแสดง (ก) ธารน้ำที่มีระดับท้องน้ำของตัวแม่น้ำอยู่ต่ำและใกล้เคียงกว่าระดับน้ำใต้ดิน (ข) ธารน้ำที่ระดับน้ำใต้ดินอยู่ต่ำกว่าระดับท้องน้ำมาก

ซึ่งในกรณีของบาราย ที่แค่สร้างคันกั้นน้ำในพื้นที่ราบ ไม่ได้ขุดให้ลึกลงไปใกล้ระดับน้ำใต้ดิน โอกาสแห้งจึงมีสูงกว่า ตระพัง ทั้งนี้เนื่องจากระดับของน้ำของตัวบารายอยู่สูงกว่าระดับน้ำใต้ดินอย่างมาก ทำให้ในทุกๆ วัน น้ำในตัวบางรายจะไหลซึมลงไปสู่ระดับน้ำใต้ดิน ซึ่งเป็นกระบวนการทางธรรมชาติของการถ่ายเทน้ำผิวดินไปสู่การเป็นน้ำใต้ดิน ส่วนในกรณีของบารายในประเทศกัมพูชา สาเหตุที่ไม่แห้งนั้น ทั้งนี้เพราะบารายส่วนใหญ่ในประเทศกัมพูชามักจะสร้างบน ที่ราบน้ำท่วมถึง (floodplain) ที่ติดกับทะเลสาบเขมร (โตนเลสาบ) มีน้ำใต้ดินรองรับอยู่ตื้น และพื้นผิวฉ่ำน้ำอยู่ตลอด เวลา ทำให้ไม่บารายในแถบนั้นจึงไม่แห้ง

โอเอซิส (oasis) กลางทะเลทราย แสดงสาเหตุที่ยังมีน้ำอยู่ได้ตลอดทั้งปี อันเนื่องมาจากระดับของบ่อโอเอซิสอยู่ติดกับระดับน้ำใต้ดินด้านล่าง

3) พื้นที่จ่ายน้ำ

ในธรรมชาติ น้ำใต้ดินจะเคลื่อนที่ได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาการเคลื่อนที่ของน้ำใต้ดิน นักธรณีวิทยาจำแนกพื้นที่บนผิวดินออกเป็น 2 ชนิด 1) พื้นที่รับน้ำ (recharge area) เป็นพื้นที่ซึ่งรับน้ำจากผิวดินหรือฝนที่ตกลงมาและไหลซึมเข้าเติมในระบบของน้ำใต้ดิน ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นที่สูง 2) พื้นที่จ่ายน้ำ (discharge area) ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ที่น้ำใต้ดินจ่ายน้ำให้กับธารน้ำหรือน้ำผิวดินอื่นๆ

เพิ่มเติม : ชั้นน้ำใต้ดินและการเคลื่อนที่

แบบจำลองแสดงการจำแนกชั้นหินตามศักยภาพในการเป็นชั้นน้ำบาดาล พื้นที่รับและจ่ายน้ำ ตลอดจนระยะเวลาการไหลของน้ำในแต่ละชั้นน้ำ

จากการสำรวจทางภูมิศาสตร์ ของบารายบางส่วนในภาคอีสานของไทย พบว่าด้วยความที่บารายในประเทศไทยส่วนใหญ่ มักสร้างอยู่บนแนวสันเนิน ดังนั้นสภาพบารายจึงก็ไม่ต่างอะไรไปกับการทำธนาคารน้ำใต้ดิน ที่รับน้ำฝนที่ตกลงมาจากฟ้าหรือน้ำผิวดินที่ไหลมาจากลำคลอง เมื่อมวลน้ำถูกขังอยู่ในบางราย เมื่อเวลาผ่านไปน้ำก็มักจะซึมลงไปใต้ดินด้านล่าง และคอยจ่ายน้ำให้พื้นที่อื่นๆ ที่อยู่ต่ำกว่า

อีกดรณีคือ ระดับน้ำใต้ดินในพื้นที่ใดๆ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละช่วงเวลาหรือฤดูกาล เช่น ในฤดูฝน ปริมาณน้ำมาก ระดับน้ำใต้ดินสูงกว่าระดับท้องน้ำ บารายจึงเปรียบเป็นบาราย พื้นที่จ่ายน้ำ (discharge area) ไม่ปล่อยน้ำไปให้ใคร ในขณะที่ฤดูแล้ง ระดับน้ำใต้ดินต่ำลง บารายจึงเป็นบารายประเภท พื้นที่รับน้ำ (recharge area) ที่คอยรับน้ำมาจากที่อื่น และจ่ายออกลงสู่ใต้ดิน เป็นต้น

บางรายในประเทศกัมพูชา แสดงให้เห็นภาวะน้ำแห้งในช่วงหน้าแล้ง

สรุป 1) แค่คันกั้นน้ำ เหมือนเอาดินน้ำมันมาปั้นขอบ ด้วยความที่ไม่ไหวจะขุด ท้องบารายจึงไม่แตะระดับน้ำใต้ดิน โอกาสแห้งจคงมีสูง 2) เมืองมักอยู่บนเนิน แต่อยากสร้างบารายคู่บารมีไว้ใกล้ๆ (เนิน) เมื่อเวลาผ่าน ตะกอนจคงไหลมาถมจนตื้นเขิน ดูอย่างบ้านพลวงและสุโขทัย 3) บารายในหลายๆ ที่ อยู่บนแนวสันเนิน ต่อให้มีน้ำพื้นผิวเข้ามาเติมอยู่ในบาราย สุดท้ายบารายก็ต้องจ่ายน้ำให้คนอื่นอยู่ดี และนี่ก็คือธรรมชาติ ที่อธิบายได้ด้วยหลักการทางธรณีวิทยา ว่าทำไมบารายในเมืองไทยเราก็มี แต่ที่มีมักแห้ง

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: