“สวัสดีครับ !!! เมืองไทยมี ปราสาทหินกลางน้ำ” ออกตัวต้นเรื่องกันแบบล้อฟรีขนาดนี้ ผู้อ่านคงจะงงว่า วันนี้จะมาไม้ไหน ไม่มีอะไรซับซ้อนครับ แค่อยากจะบอก อยากจะช่วยโปรโมตว่า ประเทศไทยของเรามี ปราสาทหินกลางน้ำ อยู่จริงๆ เพียงแค่เราอาจจะยังไม่เคยทราบ อาจจะไม่เคยเห็น หรืออาจจะเห็นแต่ไม่เคยสังเกต
จริงๆ แล้ว ปราสาทหินกลางน้ำ เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในประเทศกัมพูชา โดยมักจะเรียกกันติดปากว่า ปราสาทแม่บุญ ซึ่งเป็นปราสาทหินที่สร้างขึ้นกลาง บาราย หรือ แหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่นิยมสร้างกันในสมัยอาณาจักรเขมรโบราณ
ตามคติความเชื่อของคนในยุคนั้น นอกจากการปั้นคันดินล้อมรอบพื้นที่ เพื่อกักเก็บน้ำไว้กิน-ไว้ใช้ กลางบางรายยังต้องมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ยึดเหนี่ยวจิตใจ ที่ต้องทำหน้าที่คอยดลบันดาลให้ มวลน้ำในบางรายนั้นศักดิ์สิทธิ์ เป็นมงคล หันซ้ายหันขวาไม่มีใคร หวยเลยต้องมาออกที่ การสร้างปราสาทหินเอาไว้กลางบาราย เพื่ออัญเชิญให้ พระนารายณ์ เสด็จมาประทับ เผื่อให้ท่านชวนทวยเทพกับยักษ์ มาลงแขก กวนเกษียรสมุทร ปั่นให้น้ำในบารายกลายเป็น น้ำอมฤต ให้ชาวเมืองในอาณาจักรได้ดื่มกินของดี จะได้มีชีวิตชีวา เป็นอมตะ
ตำนาน : พระนารายณ์กวนเกษียรสมุทร
เอาจริงๆ ก่อนหน้านี้ผู้เขียนก็คิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว เพราะตั้งแต่เล็กจนโตก็ไม่เคยมีเรื่องพวกนี้เข้าหู ประกอบกับภาพจำที่ว่าปราสาทหินฝั่งกัมพูชานั้นแสนยิ่งใหญ่ แต่ปราสาทฝั่งไทยเป็นได้แค่ไม้ประดับ แต่เมื่อมีโอกาสไปเยีอนปราสาทกลางน้ำฝั่งกัมพูชา แล้วกลับมาสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมก็พบว่า เอ๊าาา !!!! บ้านเราก็มีนิ บ้านเราก็ไม่ธรรมดา 🙂
1) ปราสาทกลางน้ำ กัมพูชา
ปราสาทกลางน้ำทางฝั่งกัมพูชามีอยู่หลายที่ และก็เป็นที่รู้จักกันทั่วไป ซึ่งที่คัดมาเด่นๆ ก็จะมีอยู่ 3 แห่ง ในเวิ้งนครวัด-นครธม ได้แก่
- ปราสาทแม่บุญตะวันออก เป็นศิลปะแบบแปรรูป ศาสนาฮินดู ไศวนิกาย สร้างในปลายปีพุทธศตวรรษที่ 15 ตั้งอยู่กลางพื้นที่ของ บารายตะวันออก ของเมืองพระนคร
- ปราสาทแม่บุญตะวันตก ตั้งอยู่เกาะกลางของ บารายตะวันตก ซึ่งเป็นพื้นที่เก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองพระนคร ปราสาทแม่บุญตะวันตกเป็นศิลปะแบบบาปวน ศาสนาฮินดู ไศวนิกาย สร้างในปีพุทธศตวรรษที่ 16 – 17
- ปราสาทนาคพัน ซึ่งมีศักดิ์ศรีเป็นปราสาทแม่บุญของ ปราสาทพระขรรค์ สร้างในปีพุทธศตวรรษที่ 18 (รัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7) เป็นศิลปะแบบบายน ศาสนาพุทธ นิกายมหายาน
ตำแหน่งใน google map :
- ปราสาทแม่บุญตะวันตก กัมพูชา https://goo.gl/maps/75k8zrxkhFCgUF5MA
- ปราสาทแม่บุญตะวันออก กัมพูชา https://goo.gl/maps/qf1cGN6hFMaHQX6A9
- ปราสาทนาคพัน (ปราสาทแม่บุญของปราสาทพระขรรค์) กัมพูชา https://goo.gl/maps/VoMsXLmZdHQXv4hd9
2) ปราสาทแม่บุญ พิมาย
เชื่อว่าหลายคนคงรู้จัก ปราสาทหินพิมาย ที่ อ. พิมาย จ. นครราชสีมา ซึ่งถ้าหากมองภาพถ่ายดาวเทียมจากโปรแกรม Google Earth จะเห็นว่าทางตะวันออกของตัวปราสาท มีสระน้ำขนาดพอประมาณอยู่ บางท่านเห็นสระน้ำอยู่ใกล้ปราสาทหิน ก็อาจจะคิดว่านี่คือ บาราย ของปราสาทหินพิมาย แต่ในทางโบราณคดีสระน้ำแห่งนี้ เรียกว่า ตระพัง ซึ่งมีขนาดเล็กกว่ามาก เมื่อเทียบกับ บาราย
ตระพัง คือ สระหรือแหล่งน้ำขนาดย่อมของเมือง เกิดจากการขุดพื้นที่ ให้ลึกลงไปจากระดับเดิม และนำดินมาโป๊ะเป็นคันดินโดยรอบสระ
บาราย คือ แหล่งน้ำขนาดใหญ่ยักษ์ของชุมชนในสมัยเขมรโบราณ ไม่มีการขุดพื้นที่ให้ลึกลงไป ใช้เพียงขูดดินบางส่วน มาปั้นเป็นคันดิน ล้อมรอบพื้นที่ราบเรียบดั้งเดิม เพื่อกักเก็บนำ้
ดังนั้น ตระพัง และ บาราย แตกต่างกันทั้งในแง่ขนาด และระดับท้องน้ำภายในแหล่งน้ำ
แล้วปราสาทหินพิมายมีบางรายไหม ? มี !!! บารายพิมายอยู่ตรงไหน ? ลองสังเกตภาพถ่ายดาวเทียมดูดีๆ ทางตอนใต้ของตัวประสาท จะมีถนนที่ยกสูงขึ้นกว่าพื้นที่รอบข้าง วนรอบเป็นกรอบสี่เหลี่ยม (ดูรูปประกอบ) คำตอบอยู่ตรงนั้น นั่นคือ บาราย ของปราสาทหินพิมาย ซึ่งในปัจจุบันไม่มีน้ำ และถูกแปลงไปใช้ในการเกษตรกรรม
นอกจากสิ่งปลูกสร้างในเวิ้งปราสาทหินพิมาย ด้านนอกทางทิศใต้ ยังมีสิ่งปลูกสร้างหรือปราสาทขนาดเล็กตั้งอยู่ ชาวบ้านในท้องที่เรียกว่า โบราณสถาณวัดโคก ซึ่งหากไปเที่ยวชมแบบผิวเผิน อาจจะคิดว่าคงเป็นแค่ประสาทลูกๆ หรือปราสาทบริวารของพิมาย แต่หากพิจารณาตำแหน่งที่ตั้งในทางภูมิศาสตร์ จะพบว่าอยู่ตรงกลางบารายพิมาย พอดีเป๊ะ และด้วยความที่ ที่ตั้งของวัดโคก เป็นเนินดินสูงกว่าที่ราบข้างเคียง จึงแปลความได้ว่า เนินดินแห่งนี้เกิดจากมนุษย์ทำขึ้น และสร้างประสาทอย่างตั้งใจเอาไว้กลางบาราย ดังนั้น โบราณสถาณวัดโคก จึงไม่ใช่แค่ปราสาทโนเนมเล็กๆ เอาไว้ประดับบารมี แต่มีหน้าที่เป็นเครื่องปั่นน้ำอมฤต ให้กับปวงชนชาวพิมายในวันนั้น
ตำแหน่งใน google map : อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย อ. พิมาย จ. นครราชสีมา https://goo.gl/maps/zcaUHLss4wpySNv27
3) (อดีต) ปราสาทกลางน้ำ บ้านถนนหัก
ปราสาทบ้านถนนหัก ตั้งอยู่ที่ ต. บ้านใหม่ อ. หนองบุญมาก จ. นครราชสีมา เป็นปราสาทที่สร้างด้วยศิลาแลงเป็นส่วนใหญ่ มีหินทรายบ้างประปรายตามกรอบประตู รายละเอียดทางประวัติศาสตร์ศิลป์และโบราณคดี รบกวนเปิดเวปอื่นดู เพราะทางนี้ไม่ค่อยสันทัด 🙂
วกกลับมาเรื่องปราสาทหินกลางน้ำ จริงๆ การมีอยู่ของบาราย และประสาทกลางน้ำ แถวบ้านถนนหักนี้ รศ. ดร. สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง (2021) ได้รายงานเอาไว้แล้ว จากการแปลภาพถ่ายทางอากาศ ที่ถ่ายเอาไว้ในปี พ.ศ. 2497 ซึ่งจากความเก่าของภาพถ่าย ทำให้เห็นภาพพื้นที่เมื่อครั้งยังไม่ถูกรุกล้ำ โครงสร้างคันดินรอบบารายยังเห็นชัดเจน นอกจากนี้ ภาพถ่ายทางอากาศ ยังแสดงให้เห็นตุ่มเล็กๆ กลางบาราย ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า น่าจะเป็นสถานที่ตั้งของปราสาทหินกลางน้ำหรือ ประสาทแม่บุญ บ้านถนนหัก
ตำแหน่งใน google map : ปราสาทบ้านถนนหัก อ. หนองบุญมาก จ. นครราชสีมา https://goo.gl/maps/M2wn42JuZeqWvfVF7
เมื่อลองมาดูภาพถ่ายดาวเทียมในยุคปัจจุบัน พบว่าสภาพคันดินรอบบารายยังคงอยู่ เพียงแต่ถูกปรับเปลี่ยนการใช้งานไปเป็นถนนเข้าไร่เข้านา ตามประสาพื้นที่เกษตรกรรม ตุ่มเล็กๆ กลางบารายยังพอมีเค้าลางให้เห็น ซึ่งเมื่อทดสอบดู ภาพสตรีทวิว (street view) จากโปรแกรม Google Earth ก็ทำให้เห็นว่ามีเนินดิน ลูกโดดอยู่กลางที่ราบ อย่างชัดเจน ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจ พบเป็นเนินดินกว้างประมาณ 20 × 20 เมตร และมีความสูงจากพื้นที่โดยรอบประมาณ 1.5 เมตร แต่ไม่พบเศษซากหินหรือศิลาแลง ที่บ่งชี้ว่าเคยมีปราสาทตั้งอยู่
แต่ด้วยหลักธรรมชาติทางธรณีวิทยา ของความเป็น ที่ราบน้ำท่วมถึง (floodplain) สภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่แถบนี้ ควรเป็นที่ราบอย่างถ้วนทั่ว สุดลูกหูลูกตา ไม่ควรมีเนินดินลูกโดดอยู่กลางทุ่งนา แบบนี้ เพราะหาเหตุผลทางธรณีเข้าจับไม่ได้ ดังนั้นจึงยืนยันได้เต็ม 100% ว่าเนินดินลูกนี้ เกิดจากมนุษย์ทำ ไม่ใช่ธรรมชาติสร้าง ประกอบกับบริบทของพื้นที่ ซึ่งมีคันดินของบางรายโดยรอบ และมีตัวปราสาทบ้านถนนหัก ทางด้านทิศตะวันตก เนินดินตรงนี้จึงเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากจะเป็น อดีตที่พำนักของพระนารายณ์ กลางบาราย บ้านถนนหัก
4) ฤา จะมี ที่ปราสาทพนมวัน
รู้ทั้งรู้ว่าไม่น่าจะมีอยู่ตรงนั้น เพราะสระน้ำทางตะวันออกของปราสาทพนมวัน มีสถานะเป็นแค่ ตระพัง ไม่ใช่ บาราย แต่จากการลงพื้นที่สำรวจ พบเค้าลางชวนมโนไปต่อได้ ว่ากลางตระพังแห่งนั้น มีอะไรอยู่กันแน่ สิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตและอยากจะแชร์หลักการสังเกตในกรณีนี้คือ กลางตระพังของปราสาทพนมวัน มีกระจุกกอหญ้าดอกธูปเติบโตอยู่ ในขณะที่พื้นที่อื่นๆ ของสระ โดยรอบกอหญ้ามีแค่บัวขึ้นเต็มไปหมด ผู้เขียนไม่เชี่ยวชาญที่จะบอกว่า สายบัวยาวได้แค่ไหน และยาวกว่ากอหญ้าหรือไม่ แต่จากสภาพที่เห็นเหมือนสื่อเป็นนัยว่า พื้นที่โดยรอบมีระดับท้องน้ำที่แตกต่างจากกระจุกตรงกลาง ย้ำให้ตระหนักกันอีกที ว่านี่คือ ตระพัง ไม่ใช่ บาราย โอกาสที่จะพบสิ่งปลูกสร้างกลางน้ำคงเป็นไปได้ยาก แต่อย่างน้อยสภาพผิวน้ำที่เห็น ก็ชวนให้คิดเล่นๆ ได้เหมือนกัน
สระน้ำเก่าแก่ ที่อยู่ทางตะวันออกของตัวปราสาทหินพนมวัน คือ ตระพัง ไม่ใช่ บาราย ส่วนตัวบางรายที่แท้จริง มีขนาดใหญ่ อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งปัจจุบันถูกทำลายไปหมดสิ้นแล้ว จากการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินของชาวบ้านในปัจจุบัน
คำแนะนำ : รศ. ดร. สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง
ตำแหน่งใน google map : ปราสาทหินพนมวัน อ. เมือง จ. นครราชสีมา https://goo.gl/maps/wuv3Skphi4njapH76
เพิ่มเติม : พนมวัน – ธรณีวิทยา : ปราสาทหินสไตล์ LGBTQ+
5) น่าจะมี ที่ปราสาทเมืองต่ำ
เรื่องมันเริ่มจากความไม่เคยรู้จัก และไม่เคยคิดว่าจะมีปราสาทหินกลางน้ำ อยู่ในประเทศไทย แต่พอสืบมาสืบไป ก็พบว่าไม่จำเป็นจะต้องมีแค่ทางฝั่งกัมพูชา บ้านเราก็มีได้ ปราสาทหินพิมายก็สร้างให้เห็น ปราสาทหินบ้านถนนหัก ก็ยังจะมีเป็นเนินเด่น แล้วทำไมเล่า บุรีรัมย์บ้านเราจะไม่มี
นอกจากศาสนสถาน ปราสาทหินพนมรุ้ง ที่ตั้งตระหง่านอยู่บนยอดเขา ณ พื้นที่ราบทางตะวันออกเฉียงใต้ ใกล้ๆ กับเขาพนมรุ้ง ก็มีปราสาทขนาดใหญ่ ที่มีชื่อว่า ปราสาทเมืองต่ำ ซึ่งด้วยขนาดของปราสาทเท่าที่ตาเห็น คิดว่าความสำคัญของปราสาทก็ไม่น่าจะธรรมดา เพราะเมื่อวัดขนาดของบาราย ที่อยู่ทางตอนเหนือของตัวปราสาท พบว่ามี ขนาด 1.1 x 0.55 x 1.10 กิโลเมตร นอกจากนี้ ที่ริมฝั่งตรงกลางของบางราย ยังพบสิ่งปลูกสร้างโบราณเป็นเหมือนท่าน้ำทั้งสองฟากฝั่ง เป็นเครื่องยืนยันความเป็นล่ำเป็นสัน ความเป็นทางการ (official) ของบารายนี้ แล้วจะมีเหตุผลอะไร ที่เมืองต่ำ จะไม่มีปราสาทหินอยู่กลางน้ำ อย่างกับที่ชาวบ้านเขามีกัน
ตัวอย่าง ขนาดบาราย กว้าง x ยาว (ตารางกิโลเมตร)
• ปราสาทแม่บุญตะวันตก กัมพูชา : 2.0 x 8.0 ตร.กม.
• ปราสาทแม่บุญตะวันออก กัมพูชา : 1.9 x 7.2 ตร.กม.
• ปราสาทนาคพัน กัมพูชา 0.89 : x 3.60 ตร.กม.
• ปราสาทหินพิมาย โคราช : 0.75 x 1.80 ตร.กม.
• ปราสาทบ้านถนนหัก โคราช : 0.50 x 1.20 ตร.กม.
• ปราสาทหินเมืองต่ำบุรีรัมย์ : 0.55 x 1.10 ตร.กม.
• ปราสาทหินพนมรุ้ง บุรีรัมย์ : 0.35 x 0.70 ตร.กม.
ตำแหน่งใน google map : ปราสาทเมืองต่ำ อ. เฉลิมพระเกียรติ จ. บุรีรัมย์ https://goo.gl/maps/rwTKXiPYR4bjLrcw6
ด้วยความน่าสนใจและควรจะมีปราสาทกลางน้ำที่เมืองต่ำ ถ้าอยากที่จะพิสูจน์ ว่ามีหรือไม่ อะไรที่เราทำได้บ้าง วิธีการพื้นๆ ที่ก็น่าจะได้เห็นแดงเห็นดำ ถ้าทำได้ คือการสูบน้ำออกจากบาราย เอาให้เห็นกันไปเลยว่ามีหรือไม่มี แต่วิธีการนี้ก็คงจะเล่นใหญ่เกินไป เพราะก็ไม่ต่างอะไร กับสุภาษิตไทยที่ว่า ขี่ช้างจับตั๊กแตน
อีกวิธีการที่น่าสนใจ และอยู่ในวิสัยที่พอจะทำได้ ซึ่งถ้าพร้อมเมื่อไหร่ ผู้เขียนก็อยากจะลอง คือ การหยั่งความลึกด้วยคลื่นเสียงสะท้อน (echo sounding) หรือเรียกเป็นภาษาชาวบ้านว่า เครื่องโซนาร์หาปลา โดยใช้เทคนิคการส่งสัญญาณคลื่นเสียงจากเรือลงไปในน้ำ เมื่อคลื่นเสียงเดินทางถึงพื้นบารายหรือท้องน้ำ คลื่นจะสะท้อนกลับมาที่เครื่องตรวจรับ ทำให้สามารถคำนวณเป็นระยะทางที่คลื่นเดินทางไปและสะท้อนกลับมาได้ เอาเป็นว่า ไว้โอกาสเหมาะๆ มาถึง เราคงได้พบกันนะแม่ (บุญ)
6) แม่บุญ (เทียม) ที่กู่เปือยน้อย
สุดท้ายท้ายสุด ในระหว่างที่ค้นหาข้อมูลปราสาทหินกลางน้ำในประเทศไทย และไล่สแกนภาพถ่ายดาวเทียมในภาคอีสาน ด้วยความไม่เจตนา แต่บังเอิญกวาดตามาเห็นสระน้ำ รูปทรงน่าสงสัยนี้ ที่ จ. ขอนแก่น (ดูรูปประกอบ) ประกอบกับการมีโบราณสถาณทางตะวันตกของสระน้ำ ซึ่งก็คือ กู่เปือยน้อย หรือ พระธาตุกู่ทอง ต. เปือยน้อย อ. เปือยน้อย จ. ขอนแก่น ซึ่งเป็นศิลปะเขมรโบราณแบบบาปวน สันนิษฐานว่าสร้างในพุทธศตวรรษที่ 16-17 ด้วยองค์ประกอบปราสาทหิน + สระน้ำ การแปลความในเบื้องต้นจึงไปลงที่ บาราย และแว๊บแรกก็แอบว๊าว แอบดีใจ ที่กลางบารายเรามองเห็น ปุ่ม
แต่ในช่วงเวลาไม่เกิน 30 วินาที ความฝันที่จะมีปราสาทกลางน้ำก็พังทลาย เพราะเมื่อลงสตรีทวิว (street view) ดูภาพในพื้นที่ ก็พบว่าปุ่มที่เห็นคือ ศาลาสันทนาการกลางน้ำ ของชุมชนปัจจุบัน ด้วยความเจ็บใจเล็กๆ ผู้เขียนจึงอยากตั้งฉายาหยิกแกมหยอก ให้กับศาลากลางน้ำนี้ว่า ปราสาทแม่บุญ (เทียม) แห่ง กู่เปือยน้อย
วิเคราะห์เพิ่มเติม : จากการตรวจวัดขนาดของสระน้ำที่กูเปือยน้อย พบว่าสระมีความ กว้าง x ยาว อยู่ที่ 170 x 380 เมตร ซึ่งถือว่าเป็นสระที่มีขนาดเล็กมาก เมื่อเทียบกับบารายในพื้นที่อื่นๆ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าสระลูกนี้จะเป็นได้แค่ ตระพัง ของกู่เปือยน้อย หรือถ้ามีการวัดระดับน้ำในสระแล้วพบว่า ท้องน้ำอยู่ลึกกว่าพื้นที่โดยรอบ ก็จะยิ่งเป็นเครื่องยืนยันว่านี่คือ ตระพัง ไม่ใช่ บาราย
ตำแหน่งใน google map : กู่เปือยน้อย อ. เปือยน้อย จ. ขอนแก่น https://goo.gl/maps/XBCBscPbNptp4q4eA
ตัวอย่าง ขนาดบาราย กว้าง x ยาว (ตารางกิโลเมตร)
• ปราสาทแม่บุญตะวันตก กัมพูชา : 2.0 x 8.0 ตร.กม.
• ปราสาทแม่บุญตะวันออก กัมพูชา : 1.9 x 7.2 ตร.กม.
• ปราสาทนาคพัน กัมพูชา 0.89 : x 3.60 ตร.กม.
• ปราสาทหินพิมาย โคราช : 0.75 x 1.80 ตร.กม.
• ปราสาทบ้านถนนหัก โคราช : 0.50 x 1.20 ตร.กม.
• ปราสาทหินเมืองต่ำบุรีรัมย์ : 0.55 x 1.10 ตร.กม.
• ปราสาทหินพนมรุ้ง บุรีรัมย์ : 0.35 x 0.70 ตร.กม.
. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth