แถบแผ่นดินไหว (seismic belt) กับ 10 แผ่นดินไหว ใหญ่ที่สุดตลอดกาล
แถบแผ่นดินไหว (seismic belt)
ในบรรดาแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวที่มีอยู่บนโลก นักธรณีวิทยาแบ่งย่อย สภาพแวดล้อมทางธรณีแปรสัณฐานที่สัมพันธ์กับการเกิดแผ่นดินไหว (seismotectonic setting) เอาไว้ 3 สภาพแวดล้อม คือ 1) บริเวณขอบของแผ่นเปลือกโลก ซึ่งได้แก่ ขอบการแยกออกจากกัน (divergent) ขอบการเคลื่อนที่ผ่านกัน (transform) และ ขอบการชนกัน (convergence) ของแผ่นเปลือกโลก 2) ส่วนของแผ่นเปลือกโลกที่มุดลงไปในโลก (ในกรณีที่แผ่นเปลือกโลกชนกัน) และ 3) รอยแตกภายในแผ่นเปลือกโลก ที่เกิดจากการแรงเค้นทางธรณีแปรสัณฐานที่ส่งเข้าไปภายในแผ่น ทำให้เกิดรอยปริแตก ซึ่งเราเรียกว่า รอยเลื่อน (fault)
ถ้าจะดูเรื่องนิสัย 1) รอยเลื่อน (fault) หรือรอยแตกภายในแผ่นเปลือกโลก เกิดแผ่นดินไหวได้รุนแรงน้อยกว่าแบบอื่นๆ แต่ส่วนใหญ่เป็นแผ่นดินไหวระดับตื้น และอยู่บนบก ใกล้กับมนุษย์มากที่สุด ดังนั้นรอยเลื่อนพวกนี้จึงสำคัญ 2) ส่วนของแผ่นที่มุดตัวลงไปใต้โลก เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้มากกว่ารอยเลื่อน แต่ด้วยความลึกที่อาจจะลึกถึง 700 กิโลเมตร แรงสั่นสะเทือนจึงไม่ค่อยเป็นพิบัติภัยกับมนุษย์เท่าไหร่นัก ส่วนในกรณีของ 3) ขอบแผ่นเปลือกโลก โดยเฉพาะแผ่นเปลือกโลกที่ชนกัน ซึ่งได้แก่ บริเวณ ร่องลึกก้นสมุทร (trench) ต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วโลก พื้นที่แถบนี้ถือเป็น แหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวที่ดุที่สุด ในบรรดาแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวทั้งหมดทั้งมวล
เพิ่มเติม : เขตมุดตัว (ของเปลือกโลก) ระดับโลก
แถบแผ่นดินไหว (seismic belt) คือ แหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวที่สำคัญระดับโลก และสามารถสร้างแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้ โดยทั้งโลกมีแถบแผ่นดินไหวหลักๆ อยู่แค่ 2 แถบ คือ 1) แถบแผ่นดินไหวรอบมหาสมุทรแปซิฟิก (Circum-Pacific Seismic Belt) และ 2) แถบแผ่นดินไหวอัลไพน์-หิมาลัย (Alpine-Himalayan Belt)
1) แถบแผ่นดินไหวรอบมหาสมุทรแปซิฟิก (Circum-Pacific Seismic Belt) คือ แถบ หรือ โซน หรือ แนว แหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว โดยรอบหรือขอบของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งด้วยความที่ แผ่นเปลือกโลกมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นแผ่นเปลือกโลกที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นแผ่นเปลือกโลกทีวิ่งเร็วที่สุดในโลก (ประมาณ 2 – 3 เซนติเมตรต่อปี) ทำให้แผ่นใดก็ตาม ที่อยู่ติดประชิดแผ่นแปซิฟิก ต้องโดนกระทบกระทั่งอย่างรุนแรง
และด้วยความที่แผ่นแปซิฟิกกำลังเคลื่อนที่ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือในปัจจุบัน ทำให้ประเทศนิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ รวมถึงหมู่เกาะอินโดนิเซีย จึงกำลังถูกชนและมุดตัว และที่สุดของที่สุด ประเทศญี่ปุ่น และ หมู่เกาะอะลูเทียน (Aleutian Islands) ของรัฐอลาสก้า ประเทศสหรัฐอเมริกา ยังตั้งอยู่ประจัญหน้า กับแนววิ่งของแผ่นแปซิฟิกตรงๆ ทำให้ทั้ง 2 พื้นที่นี้ จึงถูกชนและบทขยี้อย่างจังๆ จึงไม่แปลกใจว่าทำไมประเทศญี่ปุ่นและละแวกหมู่เกาะอะลูเทียน จึงเกิดแผ่นดินไหวแทบจะรายวัน และถือเป็นพื้นที่ที่ดุที่สุดในโลกในเรื่องของแผ่นดินไหว
นอกจากนี้ทางฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นบริเวณขอบด้านข้างการเคลื่อนที่ของแผ่นแปซิฟิก จากการเคลื่อนเฉือนกันของแผ่นแปซิฟิกและแผ่นอเมริกาเหนือ ทำให้เกิดรอยเลื่อนใหญ่ขนาดเวิลด์คลาส ที่รู้จักกันดีในนาม รอยเลื่อนซานแอนเดียส (San Andreas) ซึ่งจากผลประกอบการด้านแผ่นดินไหวที่ผ่านมา ถือได้ว่านี่ก็เป็นอีกหนึ่งแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวที่น่ากลัวใน แถบแผ่นดินไหวรอบมหาสมุทรแปซิฟิก (Circum-Pacific Seismic Belt)
ร่องลึกก้นสมุทรเปรู-ชิลี (Peru-Chile trench) เกิดจากแผ่นเปลือกโลกนาซกา (Nazka) เคลื่อนที่ไปทางตะวันออกเชียงใต้ ชนกับ แผ่นเปลือกโลกอเมริกาใต้ (South America) กลายเป็นแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวที่สำคัญ และเคยเกิดแผ่นดินไหวที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปี พ.ศ. 2503 (ค.ศ. 1960) โดยมีขนาดแผ่นดินไหว 9.6 บริเวณนอกชายฝั่งของประเทศเม็กซิโก
2) แถบแผ่นดินไหวอัลไพน์-หิมาลัย (Alpine-Himalayan Belt) คือ แถบแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวที่ลากยาวมาตั้งแต่ หัวเกาะสุมาตรา ขึ้นเหนือไปตาม เขตมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน พาดผ่าน แนวรอยเลื่อนย้อนหลักหิมาลัย ต่อไปยัง แนวเทือกเขาแอลป์ ซึ่งตลอดแนวที่ลากยาวมานี้ ล้วนเป็นเขตมุดตัวของเปลือกโลกทั้งสิ้น
ด้วยอานุภาพของแถบแผ่นดินไหวทั้ง 2 แถบ ทำให้ตลอดเวลาที่ผ่านมา เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่หลายครั้ง และจากการบันทึกด้วยเครื่องมือตรวจวัดพบว่า 10 เหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่ใหญ่ที่สุดตลอดกาลของมนุษยชาติ เกิดขึ้นจาก 2 แถบแผ่นดินไหวนี้ โดยที่ 1-9 เหตุการณ์แรก เกิดใน แถบแผ่นดินไหวรอบมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนอีกหนึ่งเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งสำคัญ เกิดจาก แถบแผ่นดินไหวอัลไพน์-หิมาลัย เราลองมาดูกันครับว่าแผ่นดินไหวที่ใหญ่ที่สุดทั้ง 10 อันดับ เคยเกิดที่ไหนบ้าง
เพิ่มเติม : 13 เขตมุดตัวของเปลือกโลกในอาเซียน ตัวการที่ทำให้เกิดสึนามิ
TOP 10 แผ่นดินไหว
อย่างที่บอก แถบแผ่นดินไหวทั้ง 2 แถบ เป็นแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวที่สำคัญ ซึ่งเล่ามาขนาดนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุด ที่มนุษย์เคยเจอนั้น ล้วนแต่เกิดจากแถบแผ่นดินไหว ฝทั้ง 2 แถบ นี้ทั้งสิ้น โดย 9 เหตุการณ์แรกนั้นเกิดจาก แถบแผ่นดินไหวรอบมหาสมุทรแปซิฟิก ในขณะที่เหตุการณ์ที่ 10 เกิดจาก แถบแผ่นดินไหวอัลไพน์-หิมาลัย ซึ่ง 10 เหตุการณ์ดังกล่าว นั้นเกิดตรงไหนบ้างลองไปดูกัน
อันดับที่ 10 : แผ่นดินไหว 8.6 สุมาตรา พ.ศ. 2555
เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 15.38 น. ตามเวลาท้องถิ่น เกิดแผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดียขนาด 8.6 ใกล้กับเมืองอาเจะห์ ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ภาครัฐประกาศเตือนภัยสึนามิ แต่ต่อมามีการยกเลิกการเตือนภัยแต่ภายหลัง เนื่องจากในทางธรณีวิทยา แผ่นดินไหวครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจาก เขตมุดตัวสุมาตรา-อันดามัน (Sumatra-Andaman Subduction Zone) ที่เคยก่อให้เกิดสึนามิเมื่อปี พ.ศ. 2547 แต่เกิดจากการเลื่อนตัวของ รอยเลื่อนแนวราบ (strike-slip fault) ภายในแผ่นเปลือกโลก ที่อยู่ในละแวกนั้น เหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้จึงถือเป็น แผ่นดินไหวที่เกิดภายในแผ่นเปลือกโลก (intraplate earthquake) ที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้ แต่ด้วยแผ่นดินไหวขนาด 8.6 นี้ เกิดห่างไกลจากชุมชน และไม่เกิดสึนามิที่เป็นพิบัติภัย (มีรายงานสึนามิสูง 10 – 80 เซนติเมตร) จึงมีรายงานผู้เสียชีวิตเพียง 10 ราย และบาดเจ็บ 12 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากความตื่นตระหนกและหัวใจวาย
เพิ่มเติม : พฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวตามเขตมุดตัวของเปลือกโลกในภูมิภาคอาเซียน
อันดับที่ 9 : แผ่นดินไหว 8.6 ทิเบต พ.ศ. 2493
เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2493 เกิดแผ่นดินไหวใกล้เมืองริมา ประเทศทิเบต ผลของแผ่นดินไหวทำให้อาคารหลายแห่งถูกทำลาย และกว่า 1,500 – 3,000 คน เสียชีวิต และราว 5,000,000 คน ไร้ที่อยู่อาศัย หลังเกิดแผ่นดินไหว เกิดดินถล่มขนาดใหญ่ปิดกั้นแม่น้ำสุบรรณศิริ ซึ่งในอีก 8 วันต่อมา ดินถล่มที่เคยปิดขวางทางน้ำพังทลายลง ทำให้เกิดคลื่นน้ำสูง 7 เมตร ไหลเข้าท่วมหมู่บ้านหลายแห่งและคร่าชีวิตผู้คนไปอีก 536 คน
อันดับที่ 8 : แผ่นดินไหว 8.7 เกาะแรต พ.ศ. 2508
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2508 เวลา 19:01 ตามเวลาท้องถิ่น เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.7 ที่บริเวณใกล้กับ หมู่เกาะแรต (Rat Islands) รัฐอลาสก้า ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อให้เกิดสึนามิสูงกว่า 10 เมตร บนเกาะเชมยา แต่ด้วยจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่อยู่ห่างไกลจากชุมชน ทำให้เกิดความเสียหายน้อยมาก
อันดับที่ 7 : แผ่นดินไหว 8.8 เอกวาดอร์ พ.ศ. 2449
แผ่นดินไหวขนาด 8.8 เกิดขึ้นเมื่อเวลา 15:36 น. ของวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2449 นอกชายฝั่งใกล้กับเมือง Esmeraldas ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเอกวาดอร์ ทำให้เกิดสึนามิสูง 5 เมตร ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต
อันดับที่ 6 : แผ่นดินไหว 8.8 ชิลี พ.ศ. 2553
วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 เวลา 03:34 น. ตามเวลาท้องถิ่น เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.8 นอกชายฝั่งเมืองเมาเล (Maule) ตอนกลางของประเทศชิลี หรือที่เรียกอีกชื่อว่า แผ่นดินไหวชิลี (Chile earthquake) เกิดแรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง กินเวลานานประมาณ 3 นาที ตึกถล่มในหลายเมือง รวมทั้งเมืองหลวงซันติอาโก ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เกิดสึนามิซัดเข้าเมืองชายฝั่งทางตอนใต้ของชิลีหลายแห่ง ทำลายท่าเรือที่ Talcahuano รัฐบาลประกาศยอดผู้เสียชีวิต 525 คน และสูญหาย 25 คน
อันดับที่ 5 : แผ่นดินไหว 9.0 รัสเซีย พ.ศ. 2495
เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 เวลา 04:58 น. ตามเวลาท้องถิ่น เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.0 นอกชายฝั่ง คาบสมุทรคัมชัตกา (Kamchatka) ทางตะวันออกไกลของรัสเซีย ก่อให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิทำลายล้างครั้งใหญ่ทั่วมหาสมุทรแปซิฟิกด้วยความสูงคลื่นถึง 15 เมตร สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างให้กับชุมชนต่างๆ ตามริมฝั่งทะเลโดยรอบ คาบสมุทรคัมชัตกา และ หมู่เกาะคูริล (Kuril Islands) คร่าชีวิตผู้คนไปประมาณ 10,000 – 15,000 คน
นอกจากนี้ยังสร้างความเสียหายอย่างมากในหมู่เกาะฮาวาย ที่อยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิก แต่ไม่มีการเสียชีวิตจากสึนามิ คลื่นเดินทางไปไกลถึงประเทศเปรู ชิลี และนิวซีแลนด์ แถบหมู่เกาะอะลูเทียน ของรัฐอลาสก้า และแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีรายงานว่าคลื่นสึนามิสูงถึง 1.4 เมตร
อันดับที่ 4 : แผ่นดินไหว 8.9 โทโฮคุ ญี่ปุ่น พ.ศ. 2554
วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554 (ค.ศ. 2011) เวลา 14:46 น. ตามเวลาท้องถิ่น เกิดแผ่นดินไหวใต้ทะเลขนาด 8.9 นอกชายฝั่งประเทศญี่ปุ่น เกิดสึนามิขนาดใหญ่ที่มีคลื่นสูงถึง 40.5 เมตร คลื่นซัดเข้าหาฝั่งได้ไกลถึง 10 กิโลเมตร และสร้างความเสียหายทางโครงสร้างอย่างรุนแรง เป็นวงกว้าง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น สนามบิน ถนน และทางรถไฟถูกทำลาย อาคาร 127,300 หลัง พังยับเยิน และอาคารอีก 748,000 หลังได้รับความเสียหายบางส่วน เขื่อนแตก เกิดอุบัติเหตุทางรังสี ที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2558 ทางการยืนยันผู้เสียชีวิต 15,894 คน บาดเจ็บ 6,152 คน และสูญหาย 2,562 คน
อันดับที่ 3 : แผ่นดินไหว 9.1 สุมาตรา พ.ศ. 2547
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 26 ธันวาคมพ.ศ. 2547 เกิดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคมพ.ศ. 2547 เกิดแผ่นดินไหว 9.1 สุมาตรา พ.ศ. 2547 หนึ่งในภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ เกิดจากการไปแต่ของแผ่นเปลือกโลกยาวถึง 1,300 กิโลเมตร พลังงานทั้งหมดที่ถูกปล่อยออกมาจากแผ่นดินไหวมากกว่า 1,500 เท่าของระเบิดปรมาณูฮิโรชิมา สึนามิที่เกิดขึ้นสูงถึง 30 เมตร ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 250,000 คน
เพิ่มเติม : การเปลี่ยนแปลงอัตราการเกิดแผ่นดินไหวตามเขตมุดตัวสุมาตรา-อันดามัน : นัยสำคัญถึงแผ่นดินไหวใหญ่ในอนาคต
เพิ่มเติม : ความเงียบงันตามเขตมุดตัวสุมาตรา-อันดามัน : ยิ่งเงียบ ยิ่งน่ากลัว
อันดับที่ 2 : แผ่นดินไหว 9.2 อลาสก้า พ.ศ. 2507
วันศุกร์ที่ 27 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2507 (ค.ศ. 1964) เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ 9.2 ในรัฐอลาสก้า ของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือที่รู้จักกันในนามว่า แผ่นดินไหววันศุกร์ที่แสนดี (Good Friday Earthquake) ภาษาไทยผู้เขียนแต่งเอาเอง 🙂
ผลจากแผ่นดินไหวขนาด 9.2 ทำให้เกิดสึนามิสูง 8.2 เมตร ซัดขึ้นฝั่ง ทำลายหมู่บ้านเชเนกา (Chenega) คร่าชีวิตผู้คน 23 คน จากทั้งหมด 68 คนที่อาศัยอยู่ที่นั่น นอกจากนี้ยังทำให้เกิดแผ่นดินถล่มใต้น้ำขนาดใหญ่ ท่าเรือและท่าเทียบเรือของเมืองพอร์ตวาลเดซ ถล่ม มีผู้เสียชีวิต 30 คน โดยสรุปเชื่อว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 139 คน โดยเป็นผลมาจากแผ่นดินไหว 15 คน จากสึนามิในรัฐอลาสก้า 106 คน จากสึนามิในรัฐโอเรกอน 5 คน และจากสึนามิในรัฐแคลิฟอร์เนียอีก 13 คน
อันดับที่ 1 : แผ่นดินไหว 9.5 ชิลี พ.ศ. 2503
แผ่นดินไหววาลดิเวีย รู้จักกันในนาม แผ่นดินไหวยักษ์ชิลี (The Great Chilian Earthquake) เป็นแผ่นดินไหวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยบันทึกเอาไว้ได้จากเครื่องมือตรวจวัด โดยเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 (ค.ศ. 1960) เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.5 ห่างจากชายฝั่งเมืองวาลดืเวีย ของประเทศชิลีประมาณ 160 กิโลเมตร
ในทางธรณีแปรสัณฐาน แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดจากการที่ แผ่นเปลือกโลกนาซกา (Nazka) ทางฝั่งตะวันตก เคลื่อนที่ไปทางตะวันออกเชียงใต้ และมุดลงไปใต้ แผ่นเปลือกโลกอเมริกาใต้ (South America) ทางฝั่งตะวันออก ซึ่งผลจากการชนและมุดตัวกัน ทำให้เกิดแนว 1) ร่องลึกก้นสมุทรเปรู-ชิลี (Peru-Chile trench) 2) เทือกเขาแอนดิส และ 3) เกิดแผ่นดินไหวอยู่ตลอดเวลา ถือเป็นแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวที่สำคัญแหล่งหนึ่งของโลก
หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวประมาณ 10 นาที เกิดสึนามิสูง 25 เมตร ซัดเข้าฝั่งชิลี และกระจายไปโดยรอบมหาสมุทรแปซิฟิก มีรายงานว่าหมู่เกาะฮาวาย ที่อยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิกก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน จากสึนามิสูง 11 เมตร รวมทั้งประเทศฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น ก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิในครั้งนั้น ไม่มีรายงานยอดผู้เสียชีวิตที่แน่ชัด แต่คาดว่าผลจากทั้งแผ่นดินไหวและสึนามิที่ชิลี มีผู้เสียชีวิต 1,000 – 6,000 คนและมากกว่า 3,000 คน ที่ได้รับบาดเจ็บ
. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth