วิจัย

ความเงียบงันตามเขตมุดตัวสุมาตรา-อันดามัน : ยิ่งเงียบ ยิ่งน่ากลัว

เขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน (Sumatra-Andaman Subduction Zone) วางตัวในแนวเหนือ-ใต้พาดผ่านทางตะวันตกของประเทศพม่า หมู่เกาะนิโคบาร์ (Nicobar Islands) ในทะเลอันดามัน (Andaman Sea) ต่อเนื่องลงไปถึงตอนใต้ของเกาะสุมาตรา ซึ่งจากตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน บ่งชี้ว่าหากเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่และมีการเลื่อนตัวในแนวดิ่งของแผ่นเปลือกโลกใต้ทะเล อาจเกิดสึนามิและส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน เช่น ประเทศไทย พม่าและประเทศอินโดนีเซีย รวมทั้งประเทศต่างๆ โดยรอบมหาสมุทรอินเดีย ดังนั้นเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามันจึงเป็นแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวสำคัญในภูมิภาคนี้

และเพื่อที่จะประเมินพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวขนาด ≥ 7.0 Mw ตามเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน Sukrungsri และ Pailoplee (2015) จึงได้วิเคราะห์ คะแนน RTL โดยใช้ฐานข้อมูลแผ่นดินไหวขนาด ≥ 4.6 Mw ในช่วงปี ค.ศ. 1980-2014 เป็นข้อมูลแผ่นดินไหวหลักในการวิเคราะห์ ทฤษฏีการประเมินพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ด้วยวิธี RTL บ่งชี้ว่าตัวแปรอิสระ r0 และ t0 จะแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ศึกษา (Huang และคณะ, 2001) ดังนั้นเพื่อที่จะ 1) ทดสอบประสิทธิภาพของการวิเคราะห์พฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวด้วย ระเบียบวิธีพื้นที่-เวลา-ความยาวรอยเลื่อน เพื่อใช้เป็นสัญญาณบอกเหตุแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ และ 2) วิเคราะห์ตัวแปรอิสระ r0 และ t0 ที่เหมาะสม Sukrungsri และ Pailoplee (2015) คัดเลือกแผ่นดินไหวขนาด ≥ 7.0 Mw จำนวน 9 เหตุการณ์ ที่เคยเกิดขึ้นตามเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามันจำนวน 9 เหตุการณ์ (ดูตารางประกอบ) เพื่อเป็นกรณีศึกษาในการทดสอบย้อนกลับด้วยระเบียบวิธีพื้นที่-เวลา-ความยาวรอยเลื่อน

ลำดับ ลองจิจูด ละติจูด ความลึก (กิโลเมตร) วัน/เดือน/ปี ขนาด (Mw) RTLmin TRTL (ค.ศ.) DRTL (ปี)
1. 98.10 0.10 34 11/17/1984 7.3 -0.49 1984.69 0.2
2. 96.09 2.82 30 11/2/2002 7.4 -0.92 1997.65 5.2
3. 95.98 3.30 30 12/26/2004 9.0 -0.58 2002.87 2.1
4. 97.11 2.09 30 03/28/2005 8.6 -0.13 2005.21 0.0
5. 92.38 9.32 16 07/24/2005 7.3 -0.68 2005.02 0.5
6. 95.96 2.77 26 02/20/2008 7.4 -0.45 2008.05 0.1
7. 92.99 14.11 10 08/10/2009 7.8 -0.71 2008.62 1.0
8. 96.74 2.07 18 04/06/2010 7.8 -0.35 2008.05 2.2
9. 93.06 2.33 20 04/11/2012 8.6 -0.96 1997.35 14.9
กรณีศึกษาแผ่นดินไหวขนาด ≥ 7.0 Mw ที่เกิดจากเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามันในช่วงปี ค.ศ. 1980-2014 และผลการวิเคราะห์คะแนน RTL (Sukrungsri และ Pailoplee, 2015)
หมายเหตุ: 1) RTLmin คือ คะแนน RTL ต่ำที่สุด ที่ตรวจพบในการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงคะแนน RTL เชิงเวลา 2) TRTL คือ เวลาที่ตรวจพบค่า RTLmin และ 3) DRTL คือ ช่วงเวลาระหว่าง TRTL ถึงเวลาเกิดแผ่นดินไหวที่พิจารณา

การทดสอบย้อนกลับเชิงเวลา

Sukrungsri และ Pailoplee (2015) วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงคะแนน RTL เชิงเวลาบริเวณจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว โดยวิเคราะห์ในทุก 14 วัน เริ่มต้นจากปี ค.ศ. 1980 ถึงวันที่เกิดแผ่นดินไหวขนาด ≥ 7.0 Mw ที่พิจารณา และปรับเปลี่ยนตัวแปรอิสระ r0 อยู่ในช่วง 25-125 กิโลเมตร โดยเพิ่มขึ้นในทุก 5 กิโลเมตร ในขณะที่ตัวแปรอิสระ t0 ปรับเปลี่ยนอยู่ในช่วง 0.5 และ 10.5 ปี โดยเพิ่มขึ้นในทุก 0.5 ปี ดังนั้นโดยสรุปในแต่ละกรณีศึกษาแผ่นดินไหว (ตาราง 6.1) Sukrungsri และ Pailoplee (2015) วิเคราะห์ซ้ำคะแนน RTL ทั้งหมด 400 (20×20) ครั้ง จากตัวแปรอิสระ r0 และ t0 ที่แตกต่างกัน

ผลการวิเคราะห์พบว่าการวิเคราะห์คะแนน RTL โดยใช้ตัวแปรอิสระ r0 = 100 กิโลเมตร และ t0 = 2 ปี สามารถตรวจพบคะแนน RTL ที่ลดลงอย่างผิดปกติก่อนเกิดแผ่นดินไหวขนาด ≥ 7.0 Mw ทั้งหมด 9 เหตุการณ์ (รูปด้านล่าง) โดยมีคะแนน RTL ต่ำที่สุด (RTLmin) แตกต่างกันอยู่ในช่วง -0.13 (รูป ง) และ -0.96 (รูป ฌ) และส่วนใหญ่มีค่า RTLmin < -0.5 (ค่าต่ำที่สุดของคะแนน RTL ในทางทฤษฏี คือ -1) บ่งชี้ว่าค่า RTLmin ที่ตรวจวัดแสดงภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหวชัดเจนและใช้เป็นสัญญาณบอกเหตุแผ่นดินไหวขนาด ≥ 7.0 Mw ได้ เช่น ในกรณีของแผ่นดินไหวขนาด 7.4 Mw เมื่อวันที่ 2 เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2002 (รูป ข) ตรวจพบค่า RTLmin = -0.92 ในปี ค.ศ. 1997.65 ซึ่งหลังจากนั้น 5.2 ปี จึงเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.4 Mw ดังกล่าว

กราฟแสดงการเปลี่ยนแปลงเชิงเวลาของคะแนน RTL (เส้นสีเทา) วิเคราะห์ที่จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวขนาด ≥ 7.0 Mw ที่เกิดจากเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน (Sukrungsri และ Pailoplee, 2015) แถบสีเทา คือ ช่วงเวลาเกิดภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหว (t1-t2) สี่เหลี่ยมสีดำ คือ เวลาเกิดแผ่นดินไหวขนาด ≥ 7.0 Mw ที่พิจารณา

อย่างไรก็ตาม Sukrungsri และ Pailoplee (2015) ไม่พบหลักฐานของภาวะกระตุ้นแผ่นดินไหว เช่นเดียวกับงานวิจัยในอดีต เช่น กรณีศึกษาแผ่นดินไหวขนาด 7.2 Mw เมืองโกเบ (Huang และคณะ, 2001) และแผ่นดินไหวขนาด 6.8 Mw อ่าวเนมูโระ ประเทศญี่ปุ่น (Huang และ Sobolev, 2002)

นอกจากนี้หากพิจารณาช่วงเวลาระหว่างเวลาที่พบความผิดปกติของคะแนน RTL และเวลาเกิดแผ่นดินไหวขนาด ≥ 7.0 Mw ที่พิจารณา พบว่าส่วนใหญ่มีระเวลาอยู่ในช่วง 0.1-5.2 ปี (ตาราง) บ่งชี้ว่าการวิเคราะห์คะแนน RTL ด้วยตัวแปรอิสระ r0 = 100 กิโลเมตร และ t0 = 2 ปี สามารถพยากรณ์การเกิดแผ่นดินไหวตามเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถึงแม้ว่าในกรณีของแผ่นดินไหวขนาด 8.6 Mw ที่เกิดในปี ค.ศ. 2012 จะพบความผิดปกติของคะแนน RTL ก่อนเกิดแผ่นดินไหวยาวนาน 15 ปี แต่หากพิจารณาการลดลงของคะแนน RTL พบว่าคะแนน RTL ลดลงอย่างชัดเจน (RTLmin = -0.96 ในช่วงกลางปี ค.ศ. 1997 (รูป ฌ)

การทดสอบความอ่อนไหวของตัวแปรอิสระ

ดังที่อธิบายในข้างต้น ตัวแปรอิสระ r0 = 100 กิโลเมตร และ t0 = 2 ปี ที่ถูกคัดเลือกว่าเป็นตัวแปรอิสระที่เหมาะสมวิเคราะห์จากการปรับเปลี่ยนตัวแปรอิสระ r0 ในทุก 10 กิโลกเมตร และ t0 ในทุก 0.5 ปี ดังนั้นนักแผ่นดินไหวจึงประเมินว่าตัวแปรอิสระดังกล่าวอาจมีความอ่อนไหวต่อการวิเคราะห์คะแนน RTL ซึ่งหมายถึงหากปรับเปลี่ยนตัวแปรอิสระ r0 หรือ t0 เพียงเล็กน้อย ก็สามารถทำให้ผลการวิเคราะห์คะแนน RTL แตกต่างออกไปอย่างชัดเจน ซึ่งหมายความว่าตัวแปรอิสระ r0 หรือ t0 ดังกล่าว อาจไม่มีนัยสำคัญต่อผลการวิเคราะห์คะแนน RTL อย่างแท้จริง

ดังนั้น Chen และ Wu (2006) จึงประยุกต์ใช้การวิเคราะห์สหสัมพันธ์ (correlation) ซึ่งเป็นวิธีการทางสถิติที่วิเคราะห์ความสัมพันธ์หรือความเหมือนกันของตัวแปรอิสระหรือชุดข้อมูลที่พิจารณา เช่น การวิเคราะห์สหสัมพันธ์ระหว่างอายุและความดันโลหิตที่แตกต่างกัน หรือสหสัมพันธ์ระหว่างส่วนสูงและน้ำหนักของมนุษย์ที่แตกต่างกัน เป็นต้น โดยสหสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอิสระหรือชุดข้อมูลดังกล่าวประเมินได้จาก ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (correlation coefficient, R2) ซึ่งมีค่าอยู่ในช่วง 0-1 โดย Hinkle (1998) จำแนกระดับสหสัมพันธ์จากค่า R2 ออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่ 1) 0.90 ≤ R2 < 1.00 คือ สหสัมพันธ์สูงมาก 2) 0.70 ≤ R2 < 0.90 คือ สหสัมพันธ์สูง 3) 0.50 ≤ R2 < 0.70 คือ สหสัมพันธ์ปานกลาง 4) 0.30 ≤ R2 < 0.50 คือ สหสัมพันธ์ต่ำ และ 5) 0.00 ≤ R2 < 0.30 คือ สหสัมพันธ์ต่ำมาก เป็นต้น

ดังนั้นเพื่อที่จะวิเคราะห์ความอ่อนไหวของตัวแปรอิสระ r0 = 100 กิโลเมตร และ t0 = 2 ปี Sukrungsri และ Pailoplee (2015) ทดสอบปรับเปลี่ยนตัวแปรอิสระ r0 และ t0 ดังแสดงในตารางด้านล่าง และวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงคะแนน RTL เชิงเวลาที่จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่พิจารณาทั้ง 8 เหตุการณ์ เช่น ในกรณีศึกษาแผ่นดินไหวขนาด 9.0 Mw (รูปด้านล่าง) หลังจากนั้นจึงเปรียบเทียบและวิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่าง r0 และ t0 ที่ถูกคัดเลือกว่าเป็นตัวแปรอิสระที่เหมาะสม (r0 = 100 กิโลเมตร และ t0 = 2 ปี) กับตัวแปรอิสระ r0 และ t0 อื่นๆ ซึ่งผลการวิเคราะห์แสดงในตารางบ่งชี้ว่าค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์อยู่ในช่วง 0.81-0.91 หมายถึง มีสหสัมพันธ์สูงมาก (Hinkle, 1998) Sukrungsri และ Pailoplee (2015) จึงสรุปว่าตัวแปรอิสระ r0 = 100 กิโลเมตร และ t0 = 2 ปี มีประสิทธิภาพในการวิเคราะห์คะแนน RTL ในบริเวณเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน โดยไม่พบความอ่อนไหวของตัวแปรอิสระดังกล่าว

กรณีศึกษา (ก) r0 = 100 กิโลเมตร และ t0 = 2 ปี
กรณีศึกษา (ข) r0 = 75 กิโลเมตร r0 = 125 กิโลเมตร t0 = 1.75 ปี t0 = 2.25 ปี
ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (R2) ระหว่างกรณีศึกษา (ก) และ (ข) 0.82 0.91 0.81 0.81
ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของการเปลี่ยนแปลงเชิงเวลาของคะแนน RTL วิเคราะห์ที่จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวขนาด 9.0 Mw เมื่อวันที่ 26 เดือนธันวาคม ค.ศ. 2004 (Sukrungsri และ Pailoplee, 2015) กรณีศึกษา A คือ ตัวแปรอิสระที่เลือกใช้สำหรับเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน กรณีศึกษา (ข) คือ ตัวแปรอิสระใกล้เคียงที่พิจารณา
กราฟแสดงการเปลี่ยนแปลงเชิงเวลาของคะแนน RTL วิเคราะห์ที่จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวขนาด 9.0 Mw เมื่อวันที่ 26 เดือนธันวาคม ค.ศ. 2004 ด้วยตัวแปรอิสระที่เลือกใช้สำหรับเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน และตัวแปรอิสระใกล้เคียงที่พิจารณา (Sukrungsri และ Pailoplee, 2015)

การทดสอบย้อนกลับเชิงพื้นที่

นอกจากนี้เพื่อที่จะประเมินประสิทธิภาพการตรวจวัดคะแนน RTL ที่วิเคราะห์ได้จากการทดสอบย้อนกลับเชิงเวลา Sukrungsri และ Pailoplee (2015) วิเคราะห์การกระจายตัวเชิงพื้นที่ของคะแนน RTL โดยแบ่งเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามันออกเป็นพื้นที่ย่อยขนาด 25×25 ตารางกิโลเมตร และวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงคะแนน RTL เชิงเวลาในแต่ละพื้นที่ย่อยโดยใช้ตัวแปรอิสระ r0 = 100 กิโลเมตร และ t0 = 2 ปี หลังจากนั้นวิเคราะห์คะแนน RTL เฉลี่ย โดยพิจารณาช่วงเวลาการวิเคราะห์อยู่ในช่วง t1-t2 ที่แตกต่างกันจากผลการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงคะแนน RTL เชิงเวลา (รูปด้านบน) และสร้างแผนที่แสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหว (คะแนน RTL) ดังแสดงในรูปด้านล่าง (Sukrungsri และ Pailoplee, 2015)

จากผลการวิเคราะห์เชิงพื้นที่บ่งชี้ว่าคะแนน RTL ต่ำอย่างผิดปกติกระจายตัวอยู่ตามจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่พิจารณา เช่น ก่อนเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.3 Mw ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1984 บริเวณนอกชายฝั่งทางตะวันตกของเกาะสุมาตรา (รูป ก) ตรวจพบความผิดปกติของคะแนน RTL ในช่วงปี ค.ศ. 1984.69-1984.84 หรือประมาณ 0.2 ปี ก่อนเกิดแผ่นดินไหวดังกล่าว นอกจากนี้ในช่วงเวลาเดียวกันยังพบความผิดปกติของคะแนน RTL ในพื้นที่ข้างเคียงเพิ่มเติม เช่น พื้นที่โดยรอบเมืองซิตตเว ทางตะวันตกของประเทศพม่าและตอนใต้ของหมู่เกาะนิโคบาร์ เป็นต้น (รูป ก)

นอกจากนี้จากรูป ข-ค การกระจายตัวเชิงพื้นที่ของคะแนน RTL แสดงความผิดปกติของคะแนน RTL บริเวณนอกชายฝั่งทางตะวันตกของเกาะสุมาตราใน 2 ช่วงเวลา คือ ในช่วงปี ค.ศ. 1997.46-1997.65 ซึ่งในเวลาต่อมา 5.2 ปี เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.4 Mw ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2002 (รูป ข) และในช่วงปี ค.ศ. 2002.87-2002.99 ซึ่งหลังจากนั้น 2.1 ปี เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.0 Mw ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2004 (รูป ค)

แผนที่เขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามันแสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของคะแนน RTL ที่เวลา t1-t2 ซึ่งประเมินจากการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงคะแนน RTL เชิงเวลา (Sukrungsri และ Pailoplee, 2015) ดาวสีน้ำเงิน คือ แผ่นดินไหวขนาด ≥ 7.0 Mw ที่พิจารณา

ในช่วงปี ค.ศ. 2005.02-2005.44 ผลการวิเคราะห์พบความผิดปกติของคะแนน RTL อย่างชัดเจน 2 พื้นที่ (รูป ง-จ) โดยมีคะแนน RTL = -0.8 ทางตอนใต้ของหมู่เกาะนิโคบาร์และคะแนน RTL = -0.3 บริเวณนอกชายฝั่งทางตะวันตกของเกาะสุมาตรา ซึ่งหลังจากนั้นประมาณ 0.5 ปี เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.6 Mw ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2005 (รูป ง) และแผ่นดินไหวขนาด 7.3 Mw ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2005 (รูป จ) โดยเฉพาะบริเวณนอกชายฝั่งทางตะวันตกของเกาะสุมาตรา ผลการวิเคราะห์พบความผิดปกติของคะแนน RTL เพิ่มเติมอีก 2 ช่วงเวลา คือ ในช่วงปี ค.ศ. 2006.86-2008.05 (รูป ฉ) และ ค.ศ. 2007.70-2008.05 (รูป ช) และหลังจากนั้นประมาณ 0.1-2.2 ปี เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.4 Mw และแผ่นดินไหวขนาด 7.8 Mw ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2008 และเดือนเมษายน ค.ศ. 2010 ตามมาในพื้นที่ดังกล่าว นอกจากนี้ในพื้นที่ทางตอนเหนือของหมู่เกาะนิโคบาร์ ตรวจพบความผิดปกติของคะแนน RTL ในช่วงปี ค.ศ. 2008.62-2009.58 (รูป ช) และหลังจากนั้น 1 ปี เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.8 Mw

ในกรณีของแผ่นดินไหวขนาด 8.6 Mw ที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน ค.ศ. 2012 (รูป ฌ) ผลการวิเคราะห์ตรวจพบความผิดปกติของคะแนน RTL ในช่วงปี ค.ศ. 1997.35-1997.58 ซึ่งภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหวดังกล่าวเกิดก่อนแผ่นดินไหวขนาด 8.6 Mw ยาวนานถึง 14.9 ปี ซึ่งถือว่ายาวนานอย่างผิดปกติเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีศึกษาอื่นๆ ในพื้นที่เดียวกัน (ดูตารางประกอบ)

อย่างไรก็ตามจากการศึกษาในรายละเอียดและเปรียบเทียบกับกรณีศึกษาแผ่นดินไหวขนาด 9.0 Mw ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2004 (รูป ค) ซึ่งมีขนาดแผ่นดินไหวใกล้เคียงกัน Sukrungsri และ Pailoplee (2017b) สรุปว่าความแตกต่างของช่วงเวลาที่ตรวจพบความผิดปกติของคะแนน RTL และแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่เกิดตามมาทั้ง 2 เหตุการณ์ดังกล่าว เกิดจากสภาพแวดล้อมการเกิดแผ่นดินไหวที่สัมพันธ์กับกระบวนการทางธรณีแปรสัณฐานที่แตกต่างกัน โดยเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 9.0 Mw ในปี ค.ศ. 2004 (รูป ค) เป็นแผ่นดินไหวที่เกิดระหว่างขอบการชนกันของแผ่นเปลือกโลก ในขณะที่แผ่นดินไหวขนาด 8.9 Mw ในปี ค.ศ. 2012 (รูป ฌ) เป็นแผ่นดินไหวที่เกิดภายในแผ่นเปลือกโลก (Sukrungsri และ Pailoplee, 2017b)

สืบเนื่องจากความสอดคล้องกันทั้งในเชิงเวลาและเชิงพื้นที่ระหว่างความผิดปกติของคะแนน RTL และแผ่นดินไหวขนาด ≥ 7.0 Mw ที่เกิดตามมา Sukrungsri และ Pailoplee (2015) จึงสรุปว่าตัวแปรอิสระ r0 = 100 กิโลเมตร และ t0 = 2 ปี มีประสิทธิภาพในการตรวจวัดความผิดปกติของคะแนน RTL หรือภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหวโดยเฉพาะในบริเวณเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน

พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอนาคต

จากตัวแปรอิสระ r0 = 100 กิโลเมตร และ t0 = 2 ปี ซึ่งวิเคราะห์ได้จากการทดสอบย้อนกลับทั้งในเชิงเวลาและเชิงพื้นที่ Sukrungsri และ Pailoplee (2015) วิเคราะห์ความผิดปกติของคะแนน RTL จากข้อมูลแผ่นดินไหวในช่วงปี ค.ศ. 2010-2014 (5 ปี) ที่เกิดในบริเวณเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน โดยผลการวิเคราะห์พบพื้นที่ความผิดปกติของคะแนน RTL จำนวน 4 พื้นที่ ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน (ดูรูปด้านล่างประกอบ) ซึ่งอาจเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวขนาด ≥ 7.0 Mw ในอนาคต ได้แก่ 1) เมืองซิตตเว ทางตะวันตกของประเทศพม่า 2) ตอนเหนือของหมู่เกาะนิโคบาร์ 3) เมืองอาเจะห์ ตอนเหนือสุดของเกาะสุมาตราและ 4) นอกชายฝั่งทางตะวันตกของเกาะสุมาตรา เช่น พื้นที่โดยรอบเมืองซิตตเว พบความผิดปกติของคะแนน RTL ยาวนานประมาณ 1 ปี ในช่วงปี ค.ศ. 2010.43-2011.27 (รูป ก) ในขณะที่บริเวณนอกชายฝั่งทางตอนเหนือของหมู่เกาะนิโคบาร์ พบความผิดปกติของคะแนน RTL ยาวนาน 2 ปี ในช่วงปี ค.ศ. 2010.43-2012.23 (รูป ก-ข) ส่วนในกรณีของเมืองอาเจะห์ ตอนเหนือสุดของเกาะสุมาตรา พบความผิดปกติของคะแนน RTL ในช่วงปี ค.ศ. 2010.43-2011.27 (รูป ก) และบริเวณนอกชายฝั่งทางตะวันตกของเกาะสุมาตรา ตรวจพบในช่วงปี ค.ศ. 2012.35-2014.57 (รูป ค) 

แผนที่เขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามันแสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของคะแนน RTL วิเคราะห์จากข้อมูลแผ่นดินไหวในช่วงปี ค.ศ. 2010-2014 (Sukrungsri และ Pailoplee, 2015)

นอกจากนี้เพื่อที่จะประเมินนัยสำคัญทางสถิติของความผิดปกติของคะแนน RTL ที่วิเคราะห์ได้ Sukrungsri และ Pailoplee (2015) สังเคราะห์ฐานข้อมูลแผ่นดินไหวด้วยวิธีการสุ่มจำนวน 10,000 ฐานข้อมูล และวิเคราะห์คะแนน RTL ที่จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่พิจารณาทั้ง 9 เหตุการณ์ หลังจากนั้นวิเคราะห์โอกาส (หน่วย %) ของคะแนน RTL ระดับต่างๆ ที่เกิดจากฐานข้อมูลแผ่นดินไหวที่เกิดจากการสุ่ม เช่น จากกราฟแสดงโอกาสเกิดคะแนน RTL ระดับต่างๆ ที่จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวขนาด 9.0 Mw ที่เกิดในปี ค.ศ. 2004 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบคะแนน RTL = -0.58 ที่วิเคราะห์ได้ร่วมกับรูปด้านล่าง พบว่ามีโอกาส < 10% ที่คะแนน RTL = -0.58 ดังกล่าวเกิดจากฐานข้อมูลแผ่นดินไหวที่เกิดจากการสุ่ม รวมทั้งกรณีศึกษาอื่นๆ ที่แสดงโอกาส < 15% ดังนั้น Sukrungsri และ Pailoplee (2015) จึงสรุปว่าผลการวิเคราะห์คะแนน RTL ในพื้นที่เขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน ไม่ได้เกิดจากฐานข้อมูลแผ่นดินไหวที่เกิดจากการสุ่ม แต่เป็นความผิดปกติของคะแนน RTL ซึ่งแสดงถึงภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหวอย่างแท้จริง

กราฟแสดงโอกาสเกิดคะแนน RTL วิเคราะห์ที่จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวขนาด 9.0 Mw เมื่อวันที่ 26 เดือนธันวาคม ค.ศ. 2004 จากฐานข้อมูลแผ่นดินไหวที่เกิดจากการสุ่ม จำนวน 10,000 ฐานข้อมูล (Sukrungsri และ Pailoplee, 2015)

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: