วิจัย

พฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวตามเขตมุดตัวของเปลือกโลกในภูมิภาคอาเซียน

จากการรวบรวมและประมวลผลข้อมูลด้านธรณีวิทยา ธรณีแปรสัณฐานและวิทยาคลื่นไหวสะเทือนในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN) พบว่ามีความสัมพันธ์กับการเคลื่อนที่และกระทบกระทั่งกันระหว่างแผ่นเปลือกโลก 3 แผ่น คือ แผ่นยูเรเซีย (Eurasian Plate) อินโด-ออสเตรเลีย (Indo-Australian Plate) และแผ่นทะเลฟิลิปปินส์ (Philippine Sea Plate) ซึ่งผลจากการชนและมุดกันระหว่างแผ่นเปลือกโลกดังกล่าวทำให้เกิด เขตมุดตัวของเปลือกโลก (subduction zone) ที่เป็นแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวสำคัญ 13 เขตมุดตัว ซึ่งเขตมุดตัวเหล่านี้มีศักยภาพ

แผนที่ภูมิภาคอาเซียนแสดงการวางตัวของเขตมุดตัวของเปลือกโลก (เส้นสีเทา) ที่อาจเป็นแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวและสึนามิในอนาคต สามเหลี่ยมสีแดง คือ ภูเขาไฟมีพลัง วงกลมสีเขียว คือ เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ทำให้เกิดสึนามิและ สามเหลี่ยมสีน้ำเงิน คือ พื้นที่ซึ่งเคยได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติสึนามิ (Charusiri และ Pailoplee, 2015a)

ที่จะทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่และส่งผลกระทบด้านแรงสั่นสะเทือน รวมทั้งสร้างภัยพิบัติสึนามิต่อประชาชนชาวอาเซียนได้ ดังนั้นเพื่อที่จะตีแผ่สถานการณ์หรือนิสัยของเขตมุดตัวของเปลือกโลกต่างๆ เหล่านี้ จึงได้มีการศึกษาวิจัยแผ่นดินไหววิทยาเชิงสถิติเพื่อที่จะประเมินพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวตามแนวหรือเขตมุดตัวดังกล่าว โดยแสดงผลการศึกษาวิจัยออกมาในรูปแบบของแผนที่แสดงการกระจายตัวของ 1) แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุด (maximum magnitude) 2) คาบอบุติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหว (return period) และ 3) โอกาสเกิดแผ่นดินไหว (probability of occurrence) โดยทฤษฎีการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้จากบทความเรื่อง แผ่นดินไหวเล็กและใหญ่ เกิดเป็นสัดส่วนกัน-ถ้าเราดูออก ก็รู้จักนิสัยของเขา และผลการศึกษาพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวของเขตมุดตัวของเปลือกโลกในอาเซียน มีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดที่สามารถเกิดขึ้นได้

1) เขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน

Pailoplee (2017a) วิเคราะห์การกระจายตัวเชิงพื้นที่ของ ค่า a และค่า b จากสมการความสัมพันธ์ FMD ตามแนวเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน (Sumatra-Andaman Subduction Zone) และประเมินแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดที่สามารถเกิดขึ้นได้ในอีก 10 ปี 30 ปี และ 50 ปี ตามลำดับ โดยผลการประเมินบ่งชี้ว่าในอีก 10 ปี (รูป ก) พื้นที่ส่วนใหญ่ของเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดประมาณ 4.6-5.2 Mw ในขณะที่บริเวณนอกชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือและนอกชายฝั่งทางตะวันตกของเกาะสุมาตรา ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวขนาด 9.0 Mw เมื่อวันที่ 26 เดือนธันวาคม ค.ศ. 2004 มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.8-6.7 Mw ในอีก 10 ปี (Pailoplee, 2017a)

แผนที่เขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามันแสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุด (หน่วย Mw) ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลา (ก) 10 ปี (ข) 30 ปี และ (ค) 50 ปี (Pailoplee, 2017a)

นอกจากนี้หากพิจารณาแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดที่สามารถเกิดขึ้นได้ในอีก 30 ปี และ 50 ปี (รูป ข-ค) ผลการประเมินบ่งชี้ว่าบริเวณชายฝั่งทางตะวันตกของประเทศพม่าและตอนใต้ของหมู่เกาะนิโคบาร์ มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.1-6.4 Mw และ 6.4-6.7 Mw ในอีก 30 ปี และ 50 ปี ตามลำดับ (Pailoplee, 2017a) ในขณะที่พื้นที่โดยรอบเกาะสุมาตราสามารถเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.0 Mw (รูป ค) หรือสามารถเกิดแผ่นดินไหวขนาด ≥ 7.0 Mw ได้เช่นกัน แต่เนื่องจากข้อจำกัดทางทฤษฏีของการประยุกต์ใช้สมการความสัมพันธ์ FMD เพื่อประเมินพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ซึ่งจากการประมวลผลงานวิจัยในอดีต Youngs และ Coppersmith (1985) สรุปว่าแผ่นดินไหวที่มีขนาด ≥ 7.0 Mw โดยประมาณ มักจะมีพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวเฉพาะตัว ซึ่งแตกต่างจากสมการความสัมพันธ์ FMD เรียกว่า แผ่นดินไหวลักษณะเฉพาะ (characteristic earthquake) ดังนั้น Pailoplee (2017a) จึงไม่นำเสนอการประเมินพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวขนาด ≥ 7.0 Mw (รูป ก-ค)

2) เขตมุดตัวของเปลือกโลกตามแนวหมู่เกาะอินโดนีเซีย

เพื่อที่จะประเมินพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวที่อาจส่งผลกระทบด้านภัยพิบัติสึนามิต่อแนวหมู่เกาะอินโดนีเซีย อันเนื่องมาจาก เขตมุดตัวของเปลือกโลกตามแนวหมู่เกาะอินโดนีเซีย (Indonesian Island Chain) Pailoplee (2017b) ได้ประเมินแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดที่สามารถเกิดขึ้นได้ในอีก 5-50 ปี จากข้อมูลแผ่นดินไหวที่เกิดระหว่างขอบการชนกันของแผ่นเปลือกโลก (interplate earthquake) ผลการประเมินบ่งชี้ว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ตามแนวหมู่เกาะอินโดนีเซียมีพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวใกล้เคียงกัน โดยมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดประมาณ 5.0-5.9 Mw 5.3-6.5 Mw 5.6-7.0 Mw และ 6.2-7.0 Mw หากพิจารณาช่วงเวลาเกิดแผ่นดินไหวในอีก 5 ปี 10 ปี 30 ปี และ 50 ปี ตามลำดับ โดยพื้นที่ซึ่งมีพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ข้างเคียง ประเมินว่าอยู่ทางตอนใต้ของเมืองปาเล็มบัง (Palembang) และทางตะวันออกของเมืองปาลู (Palu) ซึ่งมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุด 5.9-7.0 Mw ในอีก 5-50 ปี ในขณะที่บริเวณโดยรอบนอกชายฝั่งแนวหมู่เกาะอินโดนีเซียมีพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวต่ำที่สุด ซึ่งสามารถเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดได้ประมาณ 5.3-5.9 Mw ในอีก 50 ปี (รูป ค) (Pailoplee, 2017b)

แผนที่เขตมุดตัวของเปลือกโลกตามแนวหมู่เกาะอินโดนีเซียแสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุด (หน่วย Mw) ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลา (ก) 5 ปี (ข) 10 ปี (ค) 30 ปี และ (ง) 50 ปี (Pailoplee, 2017b)

3) เขตมุดตัวของเปลือกโลกรอบแนวหมู่เกาะฟิลิปปินส์

Pailoplee และ Boonchaluay (2016) ประเมินแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดที่สามารถเกิดขึ้นได้ในอีก 5-50 ปี บริเวณ เขตมุดตัวของเปลือกโลกรอบแนวหมู่เกาะฟิลิปปินส์ (Philippine Islands) พบว่าพื้นที่โดยรอบเมืองดาเวาและมานาโด ซึ่งมีเขตมุดตัวของเปลือกโลกกระจายตัวอยู่อย่างหนาแน่น เช่น เขตมุดตัวของเปลือกโลกฮัลมาฮีรา เขตมุดตัวของเปลือกโลกฟิลิปปินส์และเขตมุดตัวของเปลือกโลกซันกิลดับเบิ้ล สามารถเป็นแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุด 6.8-7.0 Mw ในอีก 5-10 ปี (รูป ก-ข) ในขณะที่กลุ่มรอยเลื่อนที่กระจายตัวอยู่ตามหมู่เกาะฟิลิปปินส์ เป็นพื้นที่ภัยพิบัติปานกลางเมื่อเปรียบเทียบกับเขตมุดตัวของเปลือกโลก โดยผลการศึกษาบ่งชี้ว่ารอยเลื่อนบนหมู่เกาะฟิลิปปินส์มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดประมาณ 5.6-7.0 Mw ในอีก 5-50 ปี

แผนที่เขตมุดตัวของเปลือกโลกและรอยเลื่อนรอบหมู่เกาะฟิลิปปินส์แสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุด (หน่วย Mw) ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลา (ก) 5 ปี (ข) 10 ปี (ค) 30 ปี และ (ง) 50 ปี (Pailoplee และ Boonchaluay, 2016)

นอกจากนี้ในกรณีของพื้นที่นอกชายฝั่งทางตะวันออกของประเทศไต้หวัน ผลการประเมินบ่งชี้ว่าเป็นพื้นที่ภัยพิบัติสูงเช่นเดียวกัน ซึ่งสามารถเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุด 6.8-7.0 Mw ในอีก 5-50 ปี (Pailoplee และ Boonchaluay, 2016) อย่างไรก็ตามเนื่องจากข้อมูลแผ่นดินไหวที่กระจายตัวอยู่อย่างจำกัดเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ข้างเคียง และไม่เพียงพอต่อการวิเคราะห์ สมการความสัมพันธ์ FMD ทำให้บริเวณร่องลึกก้นสมุทรปาลาวัน ร่องลึกก้นสมุทรซูลูอาชิเพลาโกและร่องลึกก้นสมุทรซูลู ถูกจัดให้เป็น พื้นที่ไม่มีกิจกรรมแผ่นดินไหว (aseismic zone)

คาบอบุติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหว

1) เขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน

จากการประเมินคาบอุบัติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหวในบริเวณเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน Pailoplee (2017a) แบ่งเขตมุดตัวของเปลือกโลกดังกล่าวออกเป็น 3 พื้นที่ คือ บริเวณนอกชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือและตะวันตกของเกาะสุมาตรา ซึ่งมีพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวสูง โดยมีคาบอุบัติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.0 Mw 6.0 Mw และ 7.0 Mw ประมาณ 1-3 ปี 6-12 ปี และ 10-30 ปี ตามลำดับ ถือว่าเป็นพื้นที่ซึ่งมีคาบอุบัติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหวสั้นเมื่อเปรียบเทียบกับแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวอื่นๆ

แผนที่เขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามันแสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของคาบอุบัติซ้ำ (หน่วย ปี) การเกิดแผ่นดินไหวขนาด (ก) 5.0 Mw (ข) 6.0 Mw และ (ค) 7.0 Mw (Pailoplee, 2017a)

ในขณะที่พื้นที่ซึ่งมีพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวต่ำ กระจายตัวอยู่ทางตอนเหนือของชายฝั่งทางตะวันตกของประเทศพม่าและหมู่เกาะนิโคบาร์ โดยมีคาบอุบัติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหวในแต่ละขนาดยาวนาน 3 เท่า ของเขตมุดตัวของเปลือกโลกทางตอนใต้ ดังที่อธิบายในข้างต้น ซึ่งผลจากการประเมินบ่งชี้ว่าแผ่นดินไหวขนาด 6.0 Mw และ 7.0 Mw มีคาบอุบัติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหวประมาณ 20-30 และ ≥ 100 ปี ตามลำดับ (รูป ค-ง) (Pailoplee, 2017a)

2) เขตมุดตัวของเปลือกโลกตามแนวหมู่เกาะอินโดนีเซีย

ผลการประเมินคาบอุบัติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหว Pailoplee (2017b) พบว่าเมืองสำคัญของประเทศอินโดนีเซียส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในบริเวณที่มีคาบอุบัติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหวสั้น เช่น ตอนใต้ของเมืองปาเล็มบังและเมืองอัมบน (Ambon) มีคาบอุบัติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.0 Mw และ 6.0 Mw ประมาณ < 5 ปี และ 5-15 ปี ตามลำดับ (รูป ก-ข)

แผนที่เขตมุดตัวของเปลือกโลกตามแนวหมู่เกาะอินโดนีเซียแสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของคาบอุบัติซ้ำ (หน่วย ปี) การเกิดแผ่นดินไหวขนาด (ก) 5.0 Mw (ข) 6.0 Mw และ (ค) 7.0 Mw (Pailoplee, 2017b)

นอกจากนี้พื้นที่ซึ่งมีพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวต่ำ เช่น ตอนเหนือของเมืองพรายา (Praya) และทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองดิลี (Dili) มีคาบอุบัติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.0 Mw ยาวนาน > 50 ปี (รูป ข) ส่วนในกรณีของการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.0 Mw (รูป ค) พบเพียงพื้นที่ขนาดเล็กทางตอนใต้ของเมืองปาเล็มบัง ทางตะวันออกของเมืองปาลูและพื้นที่ข้างเคียงเมืองอัมบน ที่แสดงคาบอุบัติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหว < 30 ปี ในขณะที่พื้นที่ข้างเคียง มีคาบอุบัติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหว > 50 ปี ซึ่งถือว่ามีความปลอดภัยจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวในช่วงอายุโดยเฉลี่ยของมนุษย์ในปัจจุบัน (Pailoplee, 2017b)

3) เขตมุดตัวของเปลือกโลกรอบแนวหมู่เกาะฟิลิปปินส์

Pailoplee และ Boonchaluay (2016) รายงานว่าในแต่ละขนาดแผ่นดินไหวที่พิจารณา บริเวณนอกชายฝั่งทางตะวันออกของประเทศไต้หวันและทางตะวันออกของเขตมุดตัวของเปลือกโลกฟิลิปปินส์ รวมทั้งพื้นที่โดยรอบเขตมุดตัวของเปลือกโลกฮัลมาฮีราและเขตมุดตัวของเปลือกโลกซันกิลดับเบิ้ล มีคาบอุบัติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหวสั้นเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ข้างเคียง เช่น คาบอุบัติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.0-8.0 Mw มีค่า < 1 ปี 2-4 ปี 5-20 ปี และ 20-40 ปี ตามลำดับ ในขณะที่ตอนเหนือของร่องลึกก้นสมุทรมินาฮาสสาและทางตะวันออกของร่องลึกก้นสมุทรซูลูมีคาบอุบัติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหวโดยเฉลี่ยที่ยาวนานกว่าพื้นที่ข้างเคียง โดยแผ่นดินไหวขนาด 7.0 Mw มีคาบอุบัติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหวประมาณ 100-150 ปี (รูป ค-ง) (Pailoplee และ Boonchaluay, 2016)

แผนที่เขตมุดตัวของเปลือกโลกและรอยเลื่อนรอบหมู่เกาะฟิลิปปินส์แสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของคาบอุบัติซ้ำ (หน่วย ปี) การเกิดแผ่นดินไหวขนาด (ก) 5.0 Mw (ข) 6.0 Mw และ (ค) 7.0 Mw (Pailoplee และ Boonchaluay, 2016)

โอกาสเกิดแผ่นดินไหว

นอกจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดที่สามารถเกิดขึ้นได้และคาบอุบัติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหว นักวิจัยยังประเมินและแสดงพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวของแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวในรูปแบบของโอกาสเกิดแผ่นดินไหว (probability of occurrence) (หน่วย %) ในแต่ละขนาดแผ่นดินไหวและช่วงเวลาที่พิจารณา ซึ่งมีรายละเอียดผลการศึกษาตามเขตมุดตัวของเปลือกโลกต่างๆ ดังนี้

1) เขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน

Pailoplee (2017a) ประเมินโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.0-7.0 Mw ในอีก 50 ปี พบว่าตลอดแนวเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามันมีโอกาส 70-100% ที่แผ่นดินไหวขนาด 5.0-6.0 Mw จะเกิดขึ้น (รูป ก-ข) ในขณะที่พื้นที่ทางตอนเหนือของเขตมุดตัวของเปลือกโลกระหว่างชายฝั่งทางตะวันตกของประเทศพม่าลงไปถึงตอนใต้ของหมู่เกาะนิโคบาร์ มีโอกาส < 50% ที่แผ่นดินไหวขนาด 7.0 Mw จะเกิดขึ้น (รูป ค) แต่ยังคงมีโอกาส 90-100% ที่แผ่นดินไหวขนาด 7.0 Mw จะเกิดขึ้นในอีก 50 ปี ในบริเวณนอกชายฝั่งทางตะวันตกของเกาะสุมาตรา (รูป ค)

แผนที่เขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามันแสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของโอกาส (หน่วย %) เกิดแผ่นดินไหวขนาด (ก) 5.0 Mw (ข) 6.0 Mw และ (ค) 7.0 Mw ในอีก 50 ปี (Pailoplee, 2017a)

นอกจากนี้ผลการประเมินโอกาสเกิดแผ่นดินไหวในเมืองสำคัญ 4 เมือง ที่ตั้งอยู่ใกล้กับเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน โดยพิจารณาที่ช่วงเวลา 5-50 ปี บ่งชี้ว่าเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า มีโอกาสต่ำที่สุดที่จะเกิดแผ่นดินไหวเนื่องจากเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน โดยมีโอกาส 20-90% ที่แผ่นดินไหวขนาด 6.0 Mw จะเกิดขึ้นในอีก 5-50 ปี ในขณะที่เมือง ซิตตเว (Sittwe) ประเทศพม่า เมืองนิโคบาร์ (Nicobar) ประเทศอินเดีย และเมืองอาเจะห์ (Aceh) ประเทศอินโดนีเซีย มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.0 Mw ประมาณ 10% 20% 50% และ 60% ในอีก 5 ปี 10 ปี 30 ปี และ 50 ปี ตามลำดับ (Pailoplee, 2017a)

2) เขตมุดตัวของเปลือกโลกตามแนวหมู่เกาะอินโดนีเซีย

Pailoplee (2017b) ประเมินโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.0-7.0 Mw ในอีก 50 ปี บ่งชี้ว่าในอีก 50 ปี ตลอดแนวหมู่เกาะอินโดนีเซียมีโอกาส > 80% ที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.0-6.0 Mw (รูป ก-ข) ในขณะที่แผ่นดินไหวขนาด 7.0 Mw มีโอกาสเกิดแตกต่างกัน โดยทางตอนใต้ของเมืองปาเล็มบัง ทางตะวันออกของเมืองปาลูและพื้นที่โดยรอบเมืองอัมบนมีโอกาส > 80% ที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.0 Mw ในอีก 50 ปี (รูป ค)

แผนที่เขตมุดตัวของเปลือกโลกตามแนวหมู่เกาะอินโดนีเซียแสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของโอกาส (หน่วย %) เกิดแผ่นดินไหวขนาด (ก) 5.0 Mw (ข) 6.0 Mw และ (ค) 7.0 Mw ในอีก 50 ปี (Pailoplee, 2017b)

3) เขตมุดตัวของเปลือกโลกรอบแนวหมู่เกาะฟิลิปปินส์

Pailoplee และ Boonchaluay (2016) ประเมินโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.0-7.0 Mw ในอีก 50 ปี พบว่าในอีก 50 ปี มีโอกาส 80-100% ที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.0-6.0 Mw ทั่วพื้นที่หมู่เกาะฟิลิปปินส์รวมทั้งพื้นที่ข้างเคียง (รูป ก-ข) ส่วนในกรณีของแผ่นดินไหวขนาด 7.0 Mw (รูป ค) บ่งชี้ว่าเขตมุดตัวของเปลือกโลกรอบแนวหมู่เกาะฟิลิปปินส์มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวประมาณ 70-90% ในอีก 50 ปี

แผนที่เขตมุดตัวของเปลือกโลกและรอยเลื่อนรอบหมู่เกาะฟิลิปปินส์แสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของโอกาส (หน่วย %) เกิดแผ่นดินไหวขนาด (ก) 5.0 Mw (ข) 6.0 Mw และ (ค) 7.0 Mw ในอีก 50 ปี (Pailoplee และ Boonchaluay, 2016)

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: