สำรวจ

ฤา ศรีเทพจะมี 3 เมือง ซ้อนทับกัน ?

ถ้าใครได้กดสับตะไคร้ ติดตามความเป็นมาเป็นไปของ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ หรือ เมืองโบราณศรีเทพ ในจังหวัดเพชรบูรณ์ ก็จะรู้ว่า ณ ห้วงเวลา ต่อจากนี้ไป ไอ ไอ ไอ ไอ … ศรีเทพ ได้ถูกอวยยศจากยูเนสโกให้เป็น มรดกโลกทางวัฒนธรรม เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แอ๊ว แอ๊ว แอ๊ว แอ๊ว … เพราะจากคุณสมบัติที่เพรียบพร้อมของอดีต และความยังคง หลงเลืออยู่ได้ในปัจจุบัน การที่มงจะลงตรงศรีเทพ ก็ต้องถือว่าเลอค่าและสมราคา ซึ่งนอกเหนือจาก ความยาวนาน หลากหลายและเอกลักษณ์ทางศิลปะ ศาสนา สังคมและวัฒนธรรม ศรีเทพ ยังแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของการบริหารจัดการธรรมชาติ ทั้งการควบคุมน้ำ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การวางผังเมือง ซึ่งก็คือเส้นเรื่องหลักของบทความนี้

แผนที่ภูมิประเทศ 3 มิติ แสดงที่ตั้งเมืองโบราณศรีเทพ (เส้นสีเหลือง) และพื้นที่ข้างเคียง ภูเขาสูงลูกโดดที่ห่างออกไปทางทิศตะวันตกประมาณ 15 กิโลเมตร คือ เขาถมอรัตน์ ส่วนพื้นที่ด้านทิศตะวันออกของเมืองศรีเทพ เป็นการสะสมตัวของเศษตะกอนที่ไหลหลากลงมาจากแนวเทือกเขารวก-เขาแผงม้า รอยต่อระหว่างจังหวัดเพชรบูรณ์-ลพบุรี

อย่างที่ทราบกันดี เห็นกันชัดๆ จากภาพถ่ายดาวเทียมและพื้นที่จริง เมืองโบราณศรีเทพ เกิดจากการขุดคลองล้อมรอบเมือง 2 รอบ ซึ่งก็เชื่อในทางโบราณคดีว่าเป็นผลมาจากการขยายเมืองไปทางทิศตะวันออก เมื่อคนเพิ่มเมื่อเวลาผ่าน ปัจจุบันเราจึงแบ่งเมืองศรีเทพออกเป็น 2 โซนหลัก ประกอบไปด้วย เมืองใน ทางทิศตะวันตก และ เมืองนอก ทางทิศตะวันออก ไม่รวมหลักฐานคูน้ำคันดินและโบราณสถาณอื่นๆ ที่มีอีกมากมายกว่า 100 แห่ง ที่ขุดค้นพบนอกคูเมือง

เมืองใน กินพื้นที่กว่า 1,300 ไร่ ถูกกำหนดเขตด้วยคูน้ำคนขุด มีรูปร่างค่อนไปทางกลมมน มีโบราณสถานกระจายตัวอยู่ 48 แห่ง เช่น ปรางค์ศรีเทพ ปรางค์สองพี่น้อง และ เขาคลังใน ฯลฯ ส่วน เมืองนอก จะใหญ่กว่านิดหน่อย กินพื้นที่ประมาณ 1,600 ไร่ อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเมืองใน ผังเมืองค่อนข้างเป็นวงรี โดยมีโบราณสถานประมาณ 64 แห่ง ตั้งอยู่

ภาพถ่ายดาวเทียมจาก Google Earth แสดงลักษณะผังเมืองศรีเทพ ที่เกิดจากการขุดคูน้ำล้อมรอบ 2 วงซ้อนกัน กินพื้นที่กว่า 2,900 ไร่ วงด้านซ้ายคือ เมืองใน ส่วนวงด้านขวาคือ เมืองนอก

ซึ่งนอกเหนือจากการโปรยข้อมูลทั่วไปของศรีเทพ มูลเหตุจูงใจในการเขียนบทความนี้ คือ จากการนั่งมองภาพถ่ายทางอากาศของ กรมแผนที่ทหาร ที่ถ่ายเอาไว้ในอดีต ผู้เขียนพบว่าก่อนที่พื้นที่จะถูกปรับเปลี่ยนมาอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ในอดีตภายในพื้นที่เมืองศรีเทพ ครับคล้ายครับคราว่าอาจมีอีก 1 เมืองที่ 3 ซ่อนซ้อนอยู่ การแปลความตามสมมุติฐาน และการลำดับวิวัฒนาการการสร้างศรีเทพในสเกลละเมียดๆ จึงเริ่มต้นขึ้น

อาจจะเป็นอีกผังเมืองใหม่ที่ 3

จากการแปลความหมายภาพถ่ายทางอากาศปี พ.ศ. 2536 ผู้เขียนพบว่า ภายในพื้นที่ เมืองใน ของศรีเทพ มีแนวเส้นสี่เหลี่ยมพื้นผ้า ซ้อนทับอยู่ ซึ่งจากการสังเกตในรายละเอียดประเมินว่าเป็นแนวร่อง (น้ำ) มากกว่าจะเป็นแนวคันดิน หลักฐานจางๆ ที่สนับสนุนการมีอยู่จริงของแนวร่องสี่เหลี่ยมนี้ มี 2 ข้อคือ

ภาพถ่ายทางอากาศ (arial photo) ปี พ.ศ. 2536 กรมแผนที่ทหาร แสดงรูปแบบผังเมืองของเมืองโบราณศรีเทพ จ. เพชรบูรณ์ (ก) ภาพสดไม่ผ่านการแปลความ (ข) แนวเส้นสีเหลืองแสดงผลการแปลความ แนวคูน้ำสี่เหลี่ยม ภายในเมืองใน
ภาพสเก็ตผังเมืองโบราณศรีเทพ แนวสีน้ำตาล คือ คันดิน แนวสีฟ้า คือ คูคลองรอบเมืองและแหล่งน้ำภายในเมือง จุดสีเหลือง คือ ตำแหน่งโบราณสถาณ แปลความโดย อาจารย์ ดร. อนุรักษ์ ดีพิมาย
  1. จากการสำรวจและสร้างแผนผังเมืองศรีเทพโดย อาจารย์ ดร. อนุรักษ์ ดีพิมาย พบว่าออกจากโบราณสถาณที่กระจายอยู่ ยังมีแหล่งน้ำขนาดย่อมจำนวนมาก อยู่ภายในคูเมือง ซึ่งในส่วนของเมืองใน แหล่งน้ำบางส่วนอยู่ในแนวเส้นตรง ที่ผู้เขียนแปลความไว้ (แหล่งน้ำ 2 บ่อ ทางตะวันออกของปรางค์ศรีเทพ) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แหล่งน้ำทางตะวันตกออกเฉียงเหนือหรือมุมขวาบนของแนวสี่เหลี่ยม (จุดสีแดง TP2 ในแปนผัง) อาจารย์อนุรักษ์ รายงานว่าเป็น แหล่งน้ำรูปตัว L หักศอก ซึ่งบังเอิญ ล้อไปกับแนวสี่เหลี่ยมที่กำลังเป็นประเด็นอยู่นี้อย่างพอดิบพอดี จึงอนุมานได้ว่า แหล่งน้ำขนาดย่อมบางส่วน ที่อยู่ภายในเมืองใน น่าจะเป็นการขุดที่ล้อไปกับซากพื้นที่ลุ่มต่ำ อันเนื่องมาจากความที่เคยเป็นแนวร่องน้ำกรอบสี่เหลี่ยมเดิม ซึ่งจากตำแหน่งบวกกับรูปร่าง ผู้เขียนจึงแปลความตามหลักฐาน (อ่อนๆ) ว่าแหล่งน้ำรูปตัว L หักศอก เป็นซากหรือร่องรอยเดิม ส่วนของมุมของร่องน้ำสี่เหลี่ยมที่แปลความได้
  2. แนวร่องสี่เหลี่ยมที่แปลความนี้ ด้านทิศเหนือวางตัวในแนวตะวันออก-ตะวันตก (E-W) สอดคล้องกับแนวคูเมืองใน ของศรีเทพทางตอนเหนือ ซึ่งก็ขุดเป็นเส้นตรงเช่นกันในแนวตะวันออก-ตะวันตก เช่นกัน แตกต่างจากแนวคูเมืองศรีเทพโซนอื่นๆ ที่ขุดเป็นวงกลม (เมืองใน) หรือ วงรี (เมืองนอก) แปลความได้ว่าคูเมืองใน ทางตอนเหนือและแนวร่องเส้นตรงที่ตรวจพบนี้ น่าจะขุดล้อหรือลอกแนวกัน ส่วนใครจะลอกใครเดี๋ยวไปว่ากันอีกที

จากหลักฐานความสัมพันธ์ทั้ง 2 ข้อนี้ จึงมีความเป็นไปได้ว่ากรอบหรือร่องสี่เหลี่ยมภายในเมืองใน น่าจะมีอยู่จริง ไม่เชื่อก็ลองเพ่งดู 😊

โบราณสถาณเขาคลังนอก ตั้งอยู่นอกคูเมือง ทางตอนเหนือของเมืองโบราณศรีเทพ ชื่อ เขาคลัง ได้มาจากที่ชาวบ้านในพื้นที่เชื่อว่า น่าจะมีสมบัติและอาวุธเก็บซ่อนอยู่ข้างในเขา เพราะเป็น (เหมือน) เขาลูกโดดอยู่ในละแวกเมืองโบราณศรีเทพ ซึ่งเขาคลัง ที่อยู่ในพื้นที่คูเมืองจะเรียกว่า เขาคลังใน ส่วนที่อยู่นอกคูเมือง ชาวบ้านก็จะเรียกว่า เขาคลังนอก (ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม www.silpa-mag.com)

ตีความ 3 พัฒนาการ ผังเมืองศรีเทพ

ก็ต้องขอออกตัวและยอมรับตามความจริง ว่าหลักฐานการมีอยู่ของขอบเขตหรือคูเมืองที่ 3 ของศรีเทพ ได้มาจากหลักฐานจางๆ ของการแปลความจากภาพถ่ายทางอากาศเท่านั้น การขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อพิสูจน์ทราบการมีอยู่จริงของร่องน้ำ หรือคูเมืองรูปสี่เหลี่ยมจึงเป็นสิ่งจำเป็น อย่างไรก็ตามหากสมมุติว่ากรอบสี่เหลี่ยมนั้นมีอยู่จริง ในทางการแปลความหมายการเกิดขึ้น ก่อน-หลัง ก็สามารถอนุมานได้โดยใช้หลักการเดียวกับหลักการลำดับชั้นหินในทางธรณีวิทยาที่เรียกว่า กฏการลำดับชั้น (law of superposition) ซึ่งนำเสนอโดย นิโคลัส สเตโน (Steno N.) โดยอธิบายว่าชั้นหินหรือชั้นตะกอนใดๆ ที่ไม่ถูกรบกวนจากกระบวนการต่างๆ ที่เกิดภายหลังนั้น ชั้นหินที่วางตัวอยู่บนจะมีอายุอ่อนกว่า และชั้นหินที่วางตัวอยู่ล่างจะมีอายุแก่กว่า ซึ่งจากหลักการดังกล่าว ทำให้สามารถตีความพัฒนาการ การสร้างผังเมืองศรีเทพทั้ง 3 ได้ตามลำดับ ดังนี้

เพิ่มเติม : กฏ 8 ข้อ การลำดับเรื่องราวทางธรณีวิทยาที่เกิดขึ้นบนโลก

ตัวอย่างการตีความวิวัฒนาการการลำดับชั้นหิน ในแต่ละระยะ ก่อนที่จะมาเป็นชั้นหินที่เราเห็นในปัจจุบัน ซึ่งผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านค่อยๆ ทำความเข้าใจ อยากให้อ่านทีละข้อ ก่อนที่เราจะคุยกันต่อ เรื่องวิวัฒนาการผังเมืองศรีเทพนะครับ

1) กรอบสี่เหลี่ยม vs เมืองใน

หากกรอบสี่เหลี่ยมนั้นมีอยู่จริง ความเป็นไปได้ตามกฎการลำดับชั้น คือ เริ่มต้นจากการสร้างกรอบสี่เหลี่ยม และในเวลาต่อมา 1) มีการเข้ามาอยู่ใหม่ของกลุ่มคน หรือ 2) กรอบสี่เหลี่ยมมีความแออัดจากกลุ่มคนที่เพิ่มมากขึ้น จึงมีการขยายขนาดของเมืองให้ใหญ่ขึ้น โดยขุดลอกร่องน้ำเป็นรูปวงกลมล้อมรอบกรอบสี่เหลี่ยม กลายเป็นส่วนของ เมืองในซึ่งการขุดร่องเพื่อสร้างเมืองทางตอนเหนือ ด้านบนยังคงรักษาความแนวตรง ตะวันตก-ตะวันออก ล้อไปกลับแนวร่องของกรอบสี่เหลี่ยมเดิม นอกจากนี้จากรูปทรงที่มีแง่ง อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือหรือมุมซ้ายบนของเมืองใน จึงอาจะอนุมานแปลความไปได้ 2 แนวทางว่า

  1. การขุดคลองรอบเมืองในเริ่มจากพื้นที่ด้านบนทางตอนเหนือ ขุดวนแบบตามเข็มนาฬิกา หรือวนขวาทักษิณา ซึ่งเมื่อขุดคลองไปเรื่อยๆ เมื่อใกล้จะจบเส้นรอบวง ทีมงานกลับพบว่าขุดเพลิน เกินแนวคลองเส้นตรงที่เคยขุดไว้ทางตอนเหนือ จึงลุกลี้ลุกลน รีบเปลี่ยนแผน หักแนวคลองลงมาแบบดื้อๆ เพื่อให้คลองชนกัน เชื่อมปิดเป็นวง หรือ
  2. บริเวณมุมซ้ายบน อาจจะมีสิ่งปลูกสร้างหรือตัวละครอะไรที่สำคัญ จนถึงขนาดที่ทำให้การขุดคลองรอบวงต้องเอื้อมเข้าไปอ้อม ล้อมพื้นที่ตรงนั้นไว้ ให้อยู่ภายในเมืองใน โดยไม่ได้สนใจ หรือแคร์ความสวยงามเป็นวงกลมของผังเมือง

ซึ่งหากจะแปลความแบบดูถูกฝีมือคนโบราณ ที่ไม่แม่นในเรื่องการวางผังเมือง เหตุผลข้อแรกก็น่าจะพอเป็นไปได้ และช่วยยืนยันการขุดแบบเวียนขวาทักษิณาได้หนักแน่นขึ้น แต่หากเราเชื่อว่าคนโบราณฉลาดพอตัว พื้นที่ตรงมุมซ้ายบนนั้น น่าจะมีอะไรบางอย่างที่สำคัญอย่างมาก จนถึงขนาดที่ว่า ตั้งไจอยากจะล้อม อ้อมเอาไว้ ให้อยู่ภายในเขตเมืองเมืองใน ถึงแม้รูปทรงของเมือง จะต้องไม่เป็นวงกลมสวยงามก็ตาม

วิวัฒนาการการสร้างผังเมืองศรีเทพ แปลความจากงานวิจัยนี้ ในกรณีที่อนุมานว่า กรอบสีเหลืองมีอยู่จริง และเป็นขอบเขตของชุมชนในอดีตจริง 1) ผังเมืองสี่เหลี่ยม 2) ผังเมืองใน และ 3) ผังเมืองนอก ตามลำดับ

2) จากเมืองในไปเมืองนอก

จากภาพถ่ายดาวเทียมในปัจจุบัน บวกกับความคิดพื้นๆ ของกฎการลำดับชั้น มั่นใจได้ว่าเมืองนอกเป็นพัฒนาการการขยายเมือง ต่อยอดมาจากเมืองใน เนื่องจากการขุดคูเมืองนอกเป็นการล้อรูปทรงของเมืองใน แค่ขุดขยายไปเพิ่มเติมทางทิศตะวันออก แต่ประเด็นที่น่าสนใจอีกอย่างคือ จากการกระจายตัวของโบราณสถานบริเวณเมืองนอก (จุดสีน้ำตาลในแผนผัง) จะพบว่าเป็นแนวเส้นตรงออกมาจากประตูทางฝั่งตะวันออกของเมืองใน การแปลความจึงเป็นไปได้ 2 แนวทางอีกเช่นเคย คือ

ภาพสเก็ตผังเมืองโบราณศรีเทพ แนวสีน้ำตาล คือ คันดิน แนวสีฟ้า คือ คูคลองรอบเมืองและแหล่งน้ำภายในเมือง จุดสีเหลือง คือ ตำแหน่งโบราณสถาณ แปลความโดย อาจารย์ ดร. อนุรักษ์ ดีพิมาย
  1. เมื่อเมืองในอัดแน่น จึงมีการสร้างถนน ในแนวผ่ากลางจากตะวันออกของเมืองใน วิ่งออกนอกเมืองในไปทางตะวันออก จากนั้นมีการสร้างโบราณสถาน ตามถนนตลอดแนวเส้นทางนี้ ซึ่งเมื่อรุ่งเรืองได้ที่ จึงสร้างเมืองนอกครอบคลุมโบราณสถานและชุมชนเอาไว้ หรือ
  2. เมื่อเมืองในอัดแน่น จึงมีการขยายเมือง โดยขุดคลองครอบพื้นที่เป็นเมืองนอกเอาไว้ก่อน จากนั้นจึงมีการขยายตัวจากเมืองใน ออกมาสู่เมืองนอก ผ่านเส้นทางประตูตะวันออกของเมืองใน ตามลำดับ

เหตุผลอื่นๆ ที่เป็นไปได้

ถึงแม้ว่าจะสามารถมองเห็นแนวร่องน้ำได้อย่างชัดเจนจากภาพถ่ายทางอากาศ และการแปลความในบทความนี้โกเบไปในทิศทางของคูเมืองที่น่าจะเกิดก่อนทั้งเมืองไหนและเมืองนอกของศรีเทพ แต่เพื่อยืนยันการมีอยู่จริงของแนวร่องดังกล่าว ก็ต้องอาศัยการขุดค้นทางโบราณคดีเป็นสำคัญ

ซึ่งถึงแม้ว่าแนวร่องน้ำจะมีอยู่จริง ก็ไม่จำเป็นว่าจะเป็นขอบเขตของเมืองแต่อย่างใด อาจจะมีความเป็นไปได้ที่แนวร่องน้ำดังกล่าว เป็นเพียงขอบเขตการกันโซนพื้นที่ภายในเมืองใน หรือ อาจเป็นเพียงแค่ระบบคลองส่งน้ำกินน้ำใช้ภายในเมือง ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นไปได้ทั้งสิ้น ซึ่งบทความนี้ก็ไม่ได้มีเจตนาที่จะด่วนสรุป เพียงแค่อยากจะชี้ประเด็นน่าสนใจ และเชื้อเชิญท่านผู้อ่านให้มองเห็น อย่างที่ผู้เขียนเห็น ซึ่งอาจจะเป็นอะไรก็ได้ หากมีการสำรวจและศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต เอาเป็นว่าเรามาร่วมรอ ร่วมลุ้นไปด้วยกันนะครับ 😊

เขาถมอรัตน์ ภูเขาศักดิ์สิทธิ์คู่บารมีศรีเทพ ตั้งอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตกของตัวเมืองศรีเทพราว 15 กิโลเมตร ซึ่งหากฟ้าเปิด คนที่อาศัยอยู่ในแถบศรีเทพ จะสามารถมองเห็นเขาถมอรัตน์ได้อย่างชัดเจน

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: