สำรวจ

ราชมรรคา : อีกเหตุผล ทำไมเส้นทางโบราณนี้เป็นที่นิยม

ราชมรรคา : วิเคราะห์และเรียบเรียงโดย : สุทธิกานต์ คำศิริ, สุรพล เทวัญรัมย์ และ สันติ ภัยหลบลี้

ด้วยสภาพภูมิประเทศหรือภูมิศาสตร์ในปัจจุบัน ภาคอีสานของไทยอยู่สูงกว่าที่ราบลุ่มต่ำของประเทศกัมพูชา ซึ่งนอกจากระดับความสูงโดยรวมที่แตกต่างกันแล้ว ชายแดนของทั้ง 2 พื้นที่ ยังถูกขวางกั้นตลอดแนวกว่า 300 กิโลเมตร ไว้ด้วย เทือกเขาพนมดงรัก ที่ทอดตัวยาวในแนวตะวันตก-ตะวันออก จากจังหวัดนครราชสีมาไปจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี ของประเทศไทย

แบบจำลองความสูงเชิงเลข (Digital Elevation Model, DEM) แสดงสภาพภูมิประเทศบริเวณชายแดนภาคอีสานของไทยและประเทศกัมพูชา โดยมีเทือกเขาพนมดงรักวางตัวในแนวตะวันตก-ตะวันออก เป็นเขตแดนกั้นระหว่างทั้งสองประเทศ จุดสีดำ คือ ช่องทางที่มีรายงานว่าคนโบราณใช้เดินทางสัญจรไป-มา ระหว่างที่ราบสูงทางตอนเหนือและที่ราบลุ่มต่ำทางตอนใต้ สี่เหลี่ยมสีเหลือง คือ ตำแหน่ง ธรรมศาลา หรือ บ้านมีไฟ ทั้ง 17 แห่ง ตลอดแนวเส้นทางที่เชื่อว่าเป็น ราชมรรคา ส่วน สี่เหลี่ยมสีแดง คือ ปราสาทสำคัญๆ ในละแวกนี้

ในทางธรณีวิทยา เชื่อว่าเทือกเขาพนมดงรัก เริ่มยกตัวขึ้นตั้งแต่สมัย มหายุคมีโซโซอิก (Mesozoic Era) ช่วงที่แผ่นเปลือกโลก (เก่า) อินโดจีน (Indochina) และ แผ่นเปลือกโลก (เก่า) ฉานไทย (Shan-Thai) หรือ ชิบูมาสุ (Sibumasu) วิ่งเข้ามาชนกัน ซึ่งผลจากการชนกันทำให้ส่วนของแผ่นเปลือกโลกอินโดจีนเกิดการคดโค้งโก่งงอ และทำให้อีสานเป็นเหมือนแอ่งกระทะ ซึ่งขอบแอ่งกะทะด้านล่างก็คือเทือกเขาพนมดงรักนั่นเอง โดยชั้นหินของแผ่นเปลือกโลกอินโดจีนหรือเทือกเขาพนมดงรักจะวางตัวเชิดหรือเหินขึ้นไปทางทิศใต้ และเกิดการผุพังของหินตามรอยแตกเป็นระยะๆ พัฒนาตัวเป็นร่องเขาในแนวเหนือ-ใต้ ขวางกับแนวเทือกเขาพนมดงรัก หรือที่เรียกในภาษาชาวบ้านว่า ช่องอานม้า และจากการสำรวจในทางภูมิประเทศพบว่าช่องเขาหรือช่องอานม้าเหล่านี้มีทั้งหมด 9 ช่อง ได้แก่ 1) ช่องเขาแสง 2) ช่องเขาตากิ่ว 3) ช่องเขาสายตะกู 4) ช่องเขาตาเมือน 5) ช่องเขากร่าง 6) ช่องเขาจอม 7) ช่องเขาพระพลัย 8) ช่องเขาตาเฒ่า และ 9) ช่องเขาบก ซึ่งจากรายงานสำรวจทางโบราณคดีบ่งชี้ว่า ช่องอานม้าทั้ง 9 ช่องนี้ เป็นเส้นทางที่คนโบราณใช้เดินทางสัญจรไปมา ระหว่างที่ราบสูงทางตอนเหนือและที่ราบลุ่มต่ำทางตอนใต้

ราชมรรคา

จากจารึกที่มีบันทึกไว้ที่ปราสาทพระขรรค์ ทางฝั่งประเทศกัมพูชา เล่ากันว่าจากศูนย์กลางความรุ่งเรืองในสมัยนั้น ปราสาทนครวัดนครธม มีการสร้างเส้นทางหลักหรือเส้นทางหลวงกระจายออกไปตามที่ต่างๆ โดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นทางตะวันออกเชียงใต้ ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ทางตะวันออกรวมทั้งขึ้นไปทางทิศเหนือ ซึ่งในกรณีของเส้นทางขึ้นเหนือ ก็คือเส้นทางที่เดินทางจากปราสาทนครวัดนครธม ไปสู่ปราสาทหินพิมาย ในจังหวัดนครราชสีมาปัจจุบัน ซึ่งนักวิชาการทางด้านโบราณคดีตั้งชื่อเส้นทางนี้เอาไว้ว่า ราชมรรคา (The Royal Road) โดยจารึกยังกล่าวไว้ว่า ตลอดเส้นทางราชมรรคาจะมี ธรรมศาลา (Dharmsala) หรือ บ้านมีไฟ จำนวน 17 แห่ง วางไว้เป็นระยะๆ เพื่อเป็นที่พักให้แก่คนเดินทาง โดยในปัจจุบันก็มีการค้นพบแล้วทั้งหมดและยังพบหลักฐานสะพานที่ก่อด้วยศิลาแลงอีกมากมายตามแนวเส้นทาง โดยเฉพาะในฝั่งประเทศกัมพูชา ในขณะที่ทางฝั่งประเทศไทยพบเพียงแนวที่มีลักษณะบ่งบอกว่ามีการใช้เป็นทางสัญจรไปมา แต่ไม่พบสิ่งปลูกสร้างที่บ่งชี้ว่าเป็นถนนอย่างเด่นชัด

สิ่งปลูกสร้างและแนวช่องทาง ที่พบตลอดแนวเชื่อมระหว่างธรรมศาลาทั้ง 17 แห่ง ที่เชื่อว่าเป็นเส้นทางสายราชมรรคา

ชุมชนโบราณ

จากการศึกษางานวิจัยที่ผ่านมาพบว่าแหล่งโบราณคดีที่ล้อมรอบด้วยคูน้ำ หรือ คูเมือง (moat) ในภาคอีสานของไทย ที่มีการระบุไว้ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 (Damrong Rajanubhap, HRH Prince, 1995) และเริ่มเป็นที่สนใจของนักวิชาการทั้งนักโบราณคดีและนักธรณีวิทยามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลจากการศึกษาวิจัยจากหลายกลุ่มวิจัยในเวลาต่อมาบ่งชี้ว่า คูเมืองดังกล่าวส่วนมากมีวิวัฒนาการการเจริญเติบโตและขยายตัวอยู่ในช่วง ยุคเหล็ก (iron age) (ประมาณ 500 ก่อนคริสตกาล – ค.ศ. 600)

ตัวอย่างลักษณะของคูเมืองที่ตรวจพบจากภาพถ่ายดาวเทียม (ก-ข) วงกลม (ค-ง) วงรี (จ-ฉ) สี่เหลี่ยม และ (ช-ซ) รูปร่างเฉพาะอื่นๆ

และในปัจจุบันมีการค้นพบคูเมืองในภาคอีสานของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการสำรวจเพิ่มเติมอย่างเป็นระบบด้วยข้อมูล โทรสัมผัส (remote sensing) ไม่ว่าจะเป็น รูปถ่ายจากจากดาวเทียม (sattelite image) หรือ ภาพถ่ายทางอากาศ (aireal photo) Reilly และ Scott (2015) สรุปและนำเสนอว่ามีคูเมืองทั้งสิ้น 297 คูเมือง กระจายตัวอยู่ทั่วภาคอีสาน โดยคูเมืองส่วนใหญ่ตั้งอยู่ใกล้กับ แม่น้ำมูล และ แม่น้ำชี ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญของย่านนี้

แผนที่แสดงตำแหน่งของชุมชนโบราณ ที่มีคูน้ำล้อมรอบ (จุดสีเหลือง) ที่ถูกค้นพบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เส้นสีฟ้า คือ เส้นทางน้ำในปัจจุบัน เส้นบนคือแม่น้ำชี ส่วนเส้นล่างคือแม่น้ำมูล (ข้อมูลตำแหน่งชุมชนโบราณจาก : O’Reilly และ Scott, 2015)

ทำไมต้องช่องนี้ ?

อย่างที่บอกว่า ตลอดแนวเทือกเขาพนมดงรักมีช่องให้เดินขึ้นเดินลงถึง 9 ช่อง แต่ทำไมเส้นทางสายราชมรรคาจึงต้องมาฮอตฮิต นิยมกันจังในช่องนี้ แน่นอนว่าถ้าเทียบระยะกระจัดจากนครวัดนครธมถึงพิมาย แนวนี้แหล่ะน่าจะใกล้สุด และเพื่อต้องการจะตอกย้ำว่า นอกจากระยะขจัดพิมาย-นครวัดนครธมแล้ว การมีอยู่ของชุมชนโบราณก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เส้นทางนี้ใช้มากที่สุด โดยเพื่อที่จะพิสูจน์ทราบสมมุติฐานดังกล่าว ผู้วิจัยได้ลองตรวจวัดระยะทางจากชุมชนโบราณทั้ง 297 ชุมชน ที่มีอยู่ในภาคอีสานจนถึงช่องเขาทั้ง 9 ช่อง และนำมาหาความน่าจะเป็นของระยะทางจากชุมชนถึงช่อง ซึ่งผลการคำนวณก็แสดงอยู่ในรูปด้านล่าง

แผนที่และกราฟแสดงความน่าจะเป็นของระยะทางจากชุมชนโบราณทั้ง 297 แห่ง ถึงช่องอานม้าทั้ง 9 ช่อง

จากรูปแสดงให้เห็นว่า ช่องเขาแสง ช่องเขาตากิ่ว ช่องเขาสายตะกู ช่องเขาตาเมือน ช่องเขากร่างและช่องเขาจอม มีระยะทางจากพื้นที่ศึกษาในช่วง 120 ถึง 160 กิโลเมตร มากที่สุด โดยในจำนวนนี้ 3 ช่องเขา มีความเหมาะสมมากที่สุด ได้แก่ 1) ช่องเขาสายตะกู 2) ช่องเขาตาเมือน และ 3) ช่องเขากร่าง และจากข้อมูลในช่วงระยะทาง 80-120 กิโลเมตร จึงสรุปว่า ช่องเขาตาเมือน และ ช่องเขากร่าง มีความเหมาะสมสูงสุด ในมิติขอระยะทางที่สั้นที่สุด

แน่นอนว่าคงไม่ใช่แค่ระยะทางเพียงอย่างเดียว ที่จะส่งผลต่อการเลือกใช้หรือความนิยมของช่องเขา ความจริงอาจจะมีปัจจัยอื่น เช่น ทรัพยากร (เกลือ พิมาย) หรือผลิตภัณฑ์ผลิตผลที่อยู่ในแถบนั้นระหว่างทาง ซึ่งในบริเวณ ช่องเขาตาเมือน และ ช่องเขากร่าง อยู่ใกล้กับ อำเภอบ้านกรวด ของ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็น แหล่งถลุงเหล็กและแหล่งเครื่องปั้นดินเผาขนาดใหญ่ระดับอุตสาหกรรม ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่านี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เส้นทางสายราชมรรคา เลือกที่จะตัดผ่านแนวนี้ แต่ที่แน่ๆ จากผลการคำนวณถัวๆ คร่าวๆ ในบทความนี้ ชี้ให้เห็นเป็นนัยๆ ว่า

คนโบราณแถบนี้ !!! ถ้าไม่ฉลาดก็อาจจะขี้เกียจ (เดิน) 🙂

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: