เรียนรู้

มหายุคมีโซโซอิก – ยุคทองของ ไดโนเสาร์

มหายุคมีโซโซอิก (Mesozoic era) เป็นมหายุคตอนกลาง 252-66 ล้านปี สิ่งมีชีวิตที่อยู่รอดจากการสูญพันธุ์ในช่วง ยุคเพอร์เมียน (ยุคสุดท้ายของมหายุคพาลีโอโซอิก) เริ่มมีวิวัฒนาการและมีความหลากหลายของสายพันธุ์มากขึ้น พืชเมล็ดเปลือย (gymnosperm) เช่น ปรง (cycad) สน (conifer) และแปะก๊วย (ginkgoe) เป็นพืชโดดเด่นของมหายุคมีโซโซอิก

พืชเมล็ดเปลือย (gymnosperm) ชนิดต่างๆ (ที่มา : www.wikimedia.org)

ในขณะที่สัตว์เลื้อยคลาน กลายเป็นสัตว์ที่โดดเด่นที่อาศัยอยู่บนบก โดยในช่วงแรกสัตว์เลื้อยคลานจะมีขนาดเล็ก แต่พัฒนาและเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไดโนเสาร์ (dinosuar) นอกจากนี้ยังพบฟอสซิลอาร์คีออปเทอริกซ์ (Archaeopteryx) ซึ่งเป็นสัตว์บรรพบุรุษของนกในปัจจุบัน

ฟอสซิล (ซ้าย) ส่วนหัวของไดโนเสาร์ และ (ขวา) อาร์คีออปเทอริกซ์

สภาพอากาศทั่วโลกของมหายุคมีโซโซอิกไม่ค่อยมีโซนภูมิอากาศที่รุนแรง ไม่มีธารน้ำแข็ง และไม่พบหลักฐานของถ่านหิน นักวิทยาศาสตร์จึงประเมินว่าน่าจะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ในชั้นบรรยากาศจำนวนมาก โดยมหายุคมีโซโซอิกแบ่งย่อยเป็น 3 ยุค

1) ยุคไทรแอสสิก

ยุคไทรแอสสิก (Triassic Period) เป็นยุคแรกของมหายุคเมโสโซอิก ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ 252-205 ล้านปี เป็นการเริ่มต้นของสัตว์เลื้อยคลานที่มีลักษณะคล้ายกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งในเวลาต่อมาถูกแทนที่ด้วยสัตว์ที่เป็นต้นตระกูลไดโนเสาร์ พื้นทวีปไม่อุดมสมบูรณ์ พืชโดยส่วนใหญ่ที่สามารถเจริญเติบโตได้ในยุคนี้จึงเป็นพืชจำพวก สน ปรง และเฟิร์น

2) ยุคจูแรสสิก

ยุคจูแรสสิก (Jurassic Period) เป็นยุคกลางของมหายุคเมโสโซอิก ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ 205-144 ล้านปี เป็นยุคที่ไดโนเสาร์ครองโลก สัตว์เลื้อยคลานบินได้เริ่มพัฒนาเป็นสัตว์ปีก เช่น นก แอมโมไนต์ (ammonite) แพร่กระจายและวิวัฒนาการไปเป็นสัตว์ เช่น ปลาหมึก พืชยังเป็นพืชไร้ดอก ปรงพบมากในช่วงยุคจูแรสซิก และพบโดยทั่วไปจนถึงยุคครีเทเชียส แปะก๊วยพบโดยทั่วไปในมหายุคมีโซโซอิก และยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน

ความหลากหลายของสายพันธุ์และวิวัฒนาการของไดโนเสาร์ในมหายุคมีโซโซอิก(ที่มา : https://earthandourecosystem.wordpress.com)

3) ยุคครีเทเชียส

ยุคครีเทเชียส (Cretaceous Period) เป็นยุคสุดท้ายของมหายุคเมโสโซอิก ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ 144-66 ล้านปี สิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นใหม่ ได้แก่ งู นก และพืชมีดอก ไดโนเสาร์วิวัฒนาการให้มีนอ ครีบหลัง และผิวหนังหนาสำหรับป้องกันตัว ปลายยุคครีเทเชียสเกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ทั้งหมด สิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ สูญพันธุ์ประมาณ 70% ของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตทั้งหมด

การสูญพันธุ์ปลายมหายุคมีโซโซอิก

ในช่วงสิ้นสุดของยุคครีเทเชียสมีการพัฒนาความหลากหลายของสายพันธุ์อย่างมาก รวมทั้งไดโนเสาร์ ซึ่งต่อมาในช่วงประมาณ 66 ล้านปี ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานที่บ่งชี้ว่า 75% ของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตทั้งหมดในยุคครีเทเชียสสูญพันธุ์ภายในระยะเวลาอันสั้น และถูกแทนที่ด้วยพืชดอก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์ประเภทนก ซึ่งสาเหตุการสูญพันธุ์ยุคนี้ นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมุติฐานไว้หลากหลายสมมุติฐาน

1) ธรณีแปรสัณฐาน

ในช่วงปลายยุคครีเทเชียส สันเขากลางมหาสมุทรมีอัตราการแยกตัวออกจากกันเร็วขึ้น ซึ่งตรงกันข้ามกับสันเขากลางมหาสมุทรในช่วงปลายยุคเพอร์เมียน ของมหายุคพาลีโอโซอิก ที่มีอัตราการแยกตัวที่ต่ำ ผลจากการแยกตัวของแผ่นเปลือกโลกด้วยอัตราที่เร็วขึ้น ทำให้พื้นที่มหาสมุทรยกตัวสูงขึ้นและระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นทวีป เช่น ในช่วงตอนกลางของยุคครีเทเชียส (110-85 ล้านปี) เกิดการแยกตัวของสันเขากลางมหาสมุทรอย่างรวดเร็ว ทำให้ทะเลนั้นสูงกว่าระดับน้ำทะเลในปัจจุบันประมาณ 200 เมตร เกิดการรุกล้ำของน้ำทะเลเข้าสู่พื้นทวีปครอบคลุมพื้นที่กว้าง ทำให้ความหลากหลายของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตบนบกลดลงหรือสูญพันธุ์

แบบจำลองความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการแยกตัวของสันเขากลางมหาสมุทรและระดับน้ำทะเล (ที่มา : www.slideplayer.com)

นอกจากนี้ จากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่าในช่วง 130 ล้านปี ธารน้ำแข็งทั่วโลกหลอมละลายจนหมด ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับปัจจุบันถึง 70 เมตร นักวิทยาศาสตร์จึงคาดว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างทันทีทันใดของระดับน้ำทะเลดังกล่าว อาจส่งผลต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในช่วงปลายยุคครีเทเชียสเช่นกัน

2) กิจกรรมภูเขาไฟ

ตัวอย่างเช่น เมื่อประมาณ 120 ล้านปี เกิดการปะทุของภูเขาไฟและเกิดการไหลหลากของลาวาครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 36 ล้านตารางกิโลเมตร ในบริเวณ อนตง-จาวา (Ontong Java) ประเทศอินโดนีเซีย ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นประมาณ 13 องศาเซลเซียส และลาวาโดยส่วนใหญ่ไหลลงไปทับถมในมหาสมุทร ทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นมากกว่า 10 เมตร เกิดการสูญพันธุ์ในรูปแบบที่คล้ายกับการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเล

นอกจากนี้เมื่อประมาณ 66ล้านปี ที่ผ่านมา เกิดการปะทุของภูเขาไฟยาวนาน 1 ล้านปี และลาวาไหลหลากคลอบคลุมพื้นที่ > 2 ล้านกิโลเมตร ในพื้นที่โดยส่วนใหญ่ของภาคตะวันตกและตอนกลางของประเทศอินเดีย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลต่อภูมิอากาศทั่วโลก เช่นเดียวกันกับเหตุการณ์ลาวาไหลหลากที่เคยเกิดขึ้นในช่วงยุคเพอร์เมียน ของมหายุคพาลีโอโซอิก

ชั้นหินบะซอลต์แสดงการไหลหลากของลาวาจำนวนมากในไซบีเรีย (ที่มา : www.howstuffworks.com)

3) สาเหตุจากนอกโลก

อีกหนึ่งหลักฐานสำคัญที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า อาจเป็นสาเหตุหลักของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ในยุคยุคครีเทเชียส-ยุคเทอร์เชียรี คือ การตกกระทบของอุกกาบาตชิคซูลูป (Chicxulub Asteroid Impact) บริเวณตอนเหนือของคาบสมุทรยูคาทาน ประเทศเม็กซิโก เมื่อประมาณ 66 ล้านปี ที่ผ่านมา

(ซ้าย) ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงตำแหน่งการตกของอุกกาบาตชิคซูลูป บริเวณคาบสมุทรยูคาทาน ประเทศเม็กซิโก (ขวา) แผนที่การสำรวจธรณีฟิสิกส์ด้วยวิธีแรงโน้มถ่วง (gravity) แสดงโครงสร้างของหลุมอุกกาบาต

ผลการสำรวจธรณีฟิสิกส์ด้วยวิธีแรงโน้มถ่วงและวิธีแม่เหล็ก ทางตอนเหนือของคาบสมุทรยูคาทาน พบค่าสัญญาณความผิดปกติเป็นรูปวงกลม และจากการสำรวจคลื่นไหวสะเทือน (seismic survey) ทำให้นักวิทยาศาสตร์แปลความได้ว่าหลุมอุกกาบาตนี้มี 1) วงแหวนชั้นใน เส้นผ่านศูนย์กลาง 80 กิโลเมตร ซึ่งยกพื้นที่สูงขึ้น และ 2) วงแหวนชั้นนอก เส้นผ่านศูนย์กลาง 195 กิโลเมตร ซึ่งลึกลงไป 60 กิโลเมตร

นอกจากนี้ในระหว่างการเจาะสำรวจปิโตรเลียมในพื้นที่คาบสมุทรยูคาทาน นักวิทยาศาสตร์ยังพบ แร่สติโชไวต์ (stishovite) ซึ่งเป็นแร่ควอตซ์ที่มีโครงสร้างผลึกแสดงหลักฐานว่าเคยได้รับแรงดันอย่างรุนแรง สนับสนุนว่าพื้นที่คาบสมุทรยูคาทานอาจเป็นหลุมที่เกิดจากการตกกระทบของอุกกาบาตในอดีต

(ซ้าย) ตัวอย่างแร่สติโชไวต์ (ขวา) ชั้นหินที่มีธาตุอิริเดียมสูงอย่างผิดปกติ ( ที่มา : www.chinaneolithic.com; USGS)

นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2520 กลุ่มนักวิทยาศาสตร์พบว่าชั้นหินใกล้เมืองกับบิโอ (Gubbio) ประเทศอิตาลีนั้น ซึ่งมี ธาตุอิริเดียม (Ir) ปนเปื้อนอยู่ในระดับที่สูงกว่าปกติ 300 เท่า ซึ่งโดยทั่วไปธาตุอิริเดียมนั้นจะมีน้อยมากในแผ่นเปลือกโลก แต่พบมากในแก่นโลกและเป็นองค์ประกอบของอุกกาบาต นักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อว่าธาตุอิริเดียมความเข้มข้นสูงที่พบในชั้นหินดังกล่าว อาจจะเกิดจากการตกกระทบของอุกกาบาตในคาบสมุทรยูคาทาน ด้วยเช่นกัน ซึ่ง ผลจากการตกกระทบของอุกกาบาต นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าทำให้เกิดภัยพิบัติในหลายด้านจนทำให้มีความสุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ุของสิ่งมีชีวิตได้

1) เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่กว่า 11.3 และสึนามิสูงกว่า 300 เมตร ซึ่งพบหลักฐานชั้นตะกอนสึนามิ ตามแนวชายฝั่งของอ่าวเม็กซิโก

2) เกิดไฟไหม้ป่าครอบคลุมพื้นที่กว้างหรืออาจทั่วโลก ซึ่งยืนยันได้จากการพบถ่านจำนวนมากในชั้นดิน

3) มีไนโตรเจนออกไซด์จำนวนมากในชั้นบรรยากาศ ทำให้เกิดฝนกรด ซึ่งเมื่อตกลงสู่มหาสมุทรทำให้สิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรตาย

4) ฝุ่นละอองกั้นแสงอาทิตย์ทำให้พืชไม่สามารถสังเคราะห์แสงและตายลง และต่อมาสัตว์ต่างๆ ตายตามไป เนื่องจากไม่มีพืชเป็นอาหาร

5) ไอน้ำและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ฟุ้งกระจายและหลงเหลือในชั้นบรรยากาศทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก และเกิดภาวะโลกร้อน อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นกว่า 10 องศาเซลเซียส

ผลจากการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์พบว่าการตกกระทบของอุกกาบาตนั้นเกิดขึ้นเมื่อ 66 ล้านปี ที่ผ่านมา จึงเรียกเหตุการณ์สูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ว่า การสูญพันธุ์ยุคครีเทเชียส-ยุคเทอร์เชียรี (Cretaceous-Tertiary หรือK-T Extinction) ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดมหายุคมีโซโซอิก

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: