เรียนรู้

มหายุคซีโนโซอิก – มหายุคแห่งนม

มหายุคซีโนโซอิก (Cenozoic era) เริ่มต้นเมื่อประมาณ 65 ล้านปี ถึงปัจจุบัน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเข้ามาแทนที่สัตว์เลื้อยคลานที่สูญพันธุ์ไปในมหายุคมีโซโซอิก พืชโดยส่วนใหญ่เป็นพืชที่มีดอก ในทางธรณีแปรสัณฐาน มหายุคซีโนโซอิกเกิด กระบวนการเกิดภูเขา (orogeny) ที่สำคัญ 2 พื้นที่ คือ 1) แนวเทือกเขาอัลไพน์-หิมาลัย (Alpine-Himalayan Belt) และ 2) แนวเทือกเขารอบมหาสมุทรแปซิฟิก (Circum-Pacific Belt) โดยนักวิทยาศาสตร์แบ่งย่อยมหายุคซีโนโซอิกออกเป็น 3 ยุค

มหายุคซีโนโซอิก ถือเป็นยุคทองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

แนวเทือกเขาสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงมหายุคซีโนโซอิก (ที่มา : www.quora.com)

1) ยุคพาลีโอจีน

ยุคพาลีโอจีน (Paleogene Period) เป็นยุคแรกของมหายุคซีโนโซอิก ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ 65-24 ล้านปี สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแพร่พันธุ์แทนที่ไดโนเสาร์ มีทั้งสัตว์กินพืชและสัตว์กินเนื้อ บนบกเต็มไปด้วยป่าและทุ่งหญ้า

2) ยุคนีโอจีน

ยุคนีโอจีน (Neogene Period) ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ 24-1.8 ล้านปี เป็นช่วงเวลาของสัตว์รุ่นใหม่ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของสัตว์ในปัจจุบัน รวมทั้งมนุษย์แรกเริ่ม หรือ โฮโมอีเรคตัส (Homo Erectus)

3) ควอเทอร์นารี

ควอเทอร์นารี (Quaternary Period) เป็นยุคสุดท้ายของมหายุคโซโนโซอิก อยู่ในช่วง 1.8 ล้านปี จนถึงปัจจุบัน แบ่งย่อยเป็น 2 สมัย

1) สมัยไพลส์โตซีน (Pleistocene Epoch) ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ 1.8 ล้านปี – 1 หมื่นปี เกิดยุคน้ำแข็ง ซีกโลกเหนือถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็ง ทำให้ไซบีเรียและอลาสก้าเชื่อมต่อกัน มีสัตว์หลายชนิดที่คล้ายกับสัตว์ในปัจจุบันซึ่งสูญพันธ์ไปแล้ว เช่น ช้างแมมมอธ เสือเขี้ยวดาบ และหมีถ้ำ เกิดบรรพบุรุษของมนุษย์ปัจจุบันในสายพันธุ์ โฮโมเซเปียนส์ (Homo Sapien) เมื่อประมาณสองแสนปี ที่ผ่านมา

2) สมัยโฮโลซีน (Holocene Epoch) ตั้งแต่สิ้นสุดยุคน้ำแข็งเมื่อประมาณ 1 หมื่นปี ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน เป็นสมัยที่มนุษย์รู้จักการทำเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ และอุตสาหกรรม

(ซ้าย) ภาพจำลอง และ (ขวา) โครงกะโหลก เสือเขี้ยวดาบ หรือ สไมโลดอน (Smilodon) (ที่มา : http://beastwarstransformers.wikia.com)

การสูญพันธุ์ยุคควอเทอร์นารี

ในอดีตนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการสูญพันธุ์ยุคควอเทอร์นารี อาจจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเล เช่นเดียวกับข้อสัญนิษฐานการสูญพันธุ์ยุคเพอร์เมียน-ยุคไทรแอสซิก ซึ่งจากหลักฐานบ่งชี้ว่าในยุคควอเทอร์นารีเคยเกิดยุคน้ำแข็งอย่างน้อย 3 ครั้ง ทำให้น้ำแข็งปกคลุมไปทั่วบนทวีป และระดับน้ำทะเลต่ำกว่าระดับน้ำทะเลปัจจุบันประมาณ 140 เมตร

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่าการลดลงของน้ำทะเลหรือการเพิ่มขึ้นของพื้นทวีปควรจะทำให้สายพันธุ์เพิ่มขึ้นไม่ใช่ลดลง และจากการศึกษายุคน้ำแข็งในช่วงยุคอื่นๆ ก่อนหน้านี้พบว่ามีการสูญพันธุ์น้อยกว่ายุคน้ำแข็งในยุคควอเทอร์นารีซึ่งสัตว์ขนาดใหญ่มีการสูญพันธุ์มากกว่าสัตว์ขนาดเล็กหรือพืช

สถิติการสูญพันธุ์ของสัตว์ขนาดใหญ่ในทวีปต่างๆ ทั่วโลก แสดงในรูปของจำนวนสกุล (genus) ของสัตว์ (Martin และ Klein, 1989)

ทวีป สูญพันธุ์ในช่วง 100,000 ปี ยังคงมีอยู่ % การสูญพันธุ์
แอฟริกา 7 42 14
อเมริกาเหนือ 33 12 73
อเมริกาใต้ 46 12 79
ออสเตรเลีย 19 3 86

จากข้อมูลพบว่าสัตว์หลายสายพันธุ์ในทวีปอเมริกาเหนือสูญพันธุ์ไปในช่วง 12,000-8,000 ปี ที่ผ่านมา ในขณะที่ มนุษย์เริ่มมาอาศัยอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ (ประเทศสหรัฐอเมริกา) เมื่อประมาณ 13,000 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากนั้นจำนวนของสายพันธุ์ก็ลดลงอย่างรวดเร็วในทันทีและสูญพันธุ์

จากตาราง พบว่าในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศออสเตรเลียมีการล่าสัตว์จำนวนมาก ในขณะในทวีปแอฟริกา ซึ่งมนุษย์ยังไม่ได้พัฒนามากนั้น กลับมีการสูญพันธุ์ลดลง เช่น มนุษย์มาถึงประเทศออสเตรเลียเมื่อประมาณ 56,000 ปี ที่ผ่านมา และพบว่ามีสัตว์ขนาดใหญ่จำนวน 24 สกุล แต่หลังจากนั้นเมื่อประมาณ 46,000 ปี ที่ผ่านมา (1,000 ปี หลังจากที่มนุษย์มาอยู่อาศัย) สัตว์จำนวน 23 สกุล สูญพันธุ์ไป

สถิติช่วงเวลาการอพยพมาถึงของมนุษย์ในพื้นที่ต่างๆ และช่วงเวลาการสูญพันธุ์ของสัตว์ (หน่วย ปี ก่อนปัจจุบัน) (Martin และ Klen, 1989)

ทวีป การมาของมนุษย์ การสูญพันธุ์
แอฟริกา 200,000
ยุโรป >100,000 12,000-10,000
ออสเตรเลีย 56,000 46,000
อเมริกาเหนือ 14,000 12,000-10,000
อเมริกาใต้ 14,000 12,000-8,000
มาร์ดากัสการ์ 1,500 50
ประเทศนิวซีแลนด์ 1,000 900-600

ในประเทศมาดากัสการ์ที่เคยมี นกช้าง (elephant bird) อาศัยอยู่ ซึ่งเป็นนกขนาดใหญ่แต่ไม่สามารถบินได้ และ นกโมอา (moa) ในประเทศนิวซีแลนด์ หลักฐานยืนยันว่าเมื่อมนุษย์มาถึงทั้ง 2 ประเทศ ดังกล่าว ได้สังหารนกเหล่านั้นและขโมยไข่ไปจนกระทั่งมีจำนวนลดลงและสูญพันธุ์ในที่สุด

 (ซ้าย) ขนาดของนกช้าง ที่เคยอาศัยอยู่ในประเทศมาดากัสการ์ เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดมนุษย์ (ขวา) ภาพจำลองการล่านกโมอาของชาวมาวรี ในประเทศนิวซีแลนด์ (ที่มา : www.reddit.com; https://th.wikipedia.org)

นอกจากนี้การรุกล้ำป่าของมนุษย์ทำให้สัตว์มีพื้นที่อยู่อาศัยลดลงและทำให้ความหลากหลายของสายพันธุ์สัตว์มีจำนวนลดลงตามไปด้วย ดังนั้นปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์จึงสรุปว่าการสูญพันธุ์ยุคควอเทอร์นารี มีสาเหตุสำคัญมาจาก…พวกเรา

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: