สำรวจ

5 เรื่องราวทางธรณีวิทยา ที่ส่งผลต่อไทย เมื่อ “อินเดีย” พุ่งชน “เอเชีย”

จากการศึกษา ธรณีแปรสัณฐาน (tectonic) ของประเทศไทย นักธรณีวิทยาสามารถย้อนเรื่องราวทางธรณีวิทยาไทย ไปได้ไกลถึง 400 ล้านปีก่อน โดยในยุคดีโวเนียน (Devonian period) ของ มหายุคพาลีโอโซอิก (Paleozoic Era) ช่วงนั้น 1) ด้ามขวาน (ภาคเหนือ + ตะวันตก + ใต้ของไทย) และ 2) ใบขวาน (อีสาน + ลาวตอนใต้ + เวียดนาม) ค่อยๆ ออกเดินทางจากทวีปแม่อย่าง แผ่นเปลือกโลกออสเตรเลีย (Australian Plate) ขึ้นมาทางเหนือ และมาเชื่อมติดกันในช่วงประมาณ 240-210 ล้านปีก่อน หรือ ปลายยุคไทรแอสซิก (late Triassic) กลายเป็น ดินแดนขวานทอง ที่เราเรียกกัน

เพิ่มเติม : ธรณีกาล : กาลเวลาทางธรณีวิทยา

ต่อมาในช่วง 252 – 66 ล้านปีก่อน หรือในช่วง มหายุคมีโซโซอิก (Mesozoic Era) ผืนแผ่นดิน พม่าฝั่งตะวันตก (Western Burmar) วิ่งเข้ามาชนกับขวานทอง รวมกันเป็น แผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย (Eurasian Plate) ในปัจจุบัน โดยมีรอยเชื่อมต่ออยู่ที่ ขอบเขตฉาน (Shan boundary) หรือ รอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) ที่ผ่ากลางอกประเทศพม่า ลากยาวตั้งแต่เหนือจรดใต้ ลงสู่ทะเลอันดามัน

จวบจนในช่วง มหายุคซีโนโซอิก (Cenozoic Era) หรือประมาณ 66 ล้านปีก่อน จนถึงปัจจุบัน แผ่นเปลือกโลกอินเดีย (Indian Plate) กำลังพุ่งเข้าชน แผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย ด้วยอัตราการเคลื่อนตัว 54 มิลลิเมตรต่อปี ทำให้เกิดปรากฏการณ์หรือเรื่องราวทางธรณีวิทยามากมาย ในภูมิภาค เอเชียตะวันออกเชียงใต้ (Southeast Asia) รวมถึงประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น 1) ภูมิประเทศรูปแบบต่างๆ 2) การกระจายตัวของหิน 3) ทรัพยากรธรณี รวมไปถึง 4) ธรณีพิบัติภัย

โดยในทางธรณีวิทยา ยังคงเชื่อว่ากิจกรรมต่างๆ ใน มหายุคซีโนโซอิก (Cenozoic Era) นี้ จะยังคงดำเนินเช่นเดิม ต่อไปทั้งในปัจจุบันและอนาคต บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะสรุป ผลประกอบการ อันเนื่องมาจากแผ่นอินเดียที่กำลังวิ่งชนยูเรเซียอยู่ตลอดเวลาปัจจุบัน ซึ่งมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

เพิ่มเติม : แผ่นดินไทยมาจากไหน ? : นิทาน . ธรณีแปรสัณฐาน . ประเทศไทย

ภาพสโลว์โมชั่นแสดงการวิ่งอย่างช้าๆ ของแผ่นเปลือกโลกอินเดีย ที่กำลังพุ่งเข้าชนแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย หรือทวีปเอเชีย ในทิศทางเกือบเหนือค่อนไปทางตะวันออกนิดๆ ทำให้แผ่นเปลือกโลกทั้งสองซ้อนทับกันบูบี้ ยู่ยี่ และยกตัวขึ้นมาเป็นแนวเทือกเขาหิมาลัย รวมทั้งเกิดปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาต่างๆ อีกมากมายภายในแผ่นยูเรเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน

1) เทือกเขาหิมาลัย ที่ราบสูงทิเบต

เมื่ออินเดียเคลื่อนที่จากใต้ขึ้นเหนือ และเริ่มชนกับแผ่นยูเรเซีย ในช่วงแรกเมื่อประมาณ 10-38 ล้านปีก่อน เป็นการมุดตัวของ แผ่นเปลือกโลกมหาสมุทร (oceanic plate) ส่วนที่เชื่อมต่อกับ แผ่นเปลือกโลกทวีป (continental plate) อินเดีย ลงไปใต้แผ่นเปลือกโลกทวีปยูเรเซีย

แบบจำลองการชนและมุดกันของแผ่นเปลือกโลกทวีปอินเดีย และแผ่นเปลือกโลกทวีปของยูเรเซีย

หลังจากนั้น เมื่อแผ่นเปลือกโลกมหาสมุทรมุดไปจนหมด และแผ่นอินเดียซึ่งเป็นแผ่นเปลือกโลกทวีปเริ่มชนกับแผ่นเปลือกโลกทวีปยูเรเซีย ผลจากการชนกันระหว่าง แผ่นทวีปชนแผ่นทวีป (continent-continent collision) ที่เปรียบเหมือนสิบล้อชนประสานงากับสิบล้อ ทำให้เกิดการยกตัวขึ้นอย่างรุนแรง ในบริเวณที่มีการชนกัน เกิดเป็น ที่ราบสูงทิเบต (Tibetan Plateau) และ เทือกเขาหิมาลัย (Himalayan Mountain Range) ในปัจจุบัน โดยจากการตรวจวัดด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ พบว่าปัจจุบัน หิมาลัยสูงขึ้นทุกๆ ปี ปีละ 4-5 มิลลิเมตร

ผลจากการชนกันของแผ่นทวีป 2 แผ่น ทำให้เกิด ที่ราบสูงทิเบต (Tibetan Plateau) และ เทือกเขาหิมาลัย (Himalayan Mountain Range)

เพิ่มเติม : เคล็ดลับการทำเบบี้เฟสหนังหน้าโลก

2) เขตมุดตัวของเปลือกโลก

นอกจาก เทือกเขาหิมาลัย (Himalayan Mountain Range) ซึ่งเป็นแนวรอยชนทางภูมิศาสตร์ หรือแนวรอยต่อระหว่างแผ่นอินเดียและยูเรเซีย ทางตอนเหนือ รอยต่อทางตะวันออกของแผ่นอินเดีย-แผ่นยูเรเซีย คือ เขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน (Sumatra-Andaman Subduction Zone) ซึ่งมีความยาวประมาณ 4,100 กิโลเมตร วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ พาดผ่านทางตะวันตกของประเทศพม่า หมู่เกาะนิโคบาร์ (Nicobar Islands) ในทะเลอันดามัน (Andaman Sea) ต่อเนื่องลงไปถึงตอนใต้ของเกาะสุมาตรา

ภาพดาวเทียมจาก google earth แสดงแนวการวางตัวของเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน (เส้นสีฟ้า) 

ในมิติของภัยพิบัติ เขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน ถือเป็นแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวและสึามิที่สำคัญ ที่อาจส่งผลต่อบ้านเรา เช่น เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 9.1 เมื่อวันที่ 26 เดือนธันวาคม ค.ศ. 2004 ที่ก่อให้เกิดพิบัติภัยทั้งแผ่นดินไหวและสึนามิ รวมทั้งสถิติการเกิดแผ่นดินไหวขนาด ≥ 7.0 มากถึง 9 เหตุการณ์ ในช่วงเวลาแค่ 35 ปี ที่ผ่านมา (ค.ศ. 1980-2015)

เพิ่มเติม : 13 เขตมุดตัวของเปลือกโลกในอาเซียน ตัวการที่ทำให้เกิดสึนามิ

3) รอยเลื่อนมีพลัง

นอกจากแผ่นดินไหวที่เกิดตามแนว เขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน ผลจากการชนกันระหว่างแผ่นอินเดียและแผ่นยูเรเซีย ยังส่งแรงเข้ามาภายในแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย หรืออาเซียนบ้านเรา ทำให้รอยเลื่อนที่มีอยู่ เกิดการขยับตัว กลายเป็นรอยเลื่อนพี่ยังไม่ตาย หรือที่เรียกว่า รอยเลื่อนมีพลัง (active fault) ก่อให้เกิดแผ่นดินไหวในระดับที่เป็นพิบัติภัยในแผ่นดินอาเซียนอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งรอยเลื่อนที่สำคัญในบ้านเรา ได้แก่

  • รอยเลื่อนทางภาคเหนือ เช่น รอยเลื่อนแม่ทา ลำปาง-เถิน ฯลฯ เลื่อนตัวแนวระนาบแบบซ้ายเข้า (จะซ้ายเข้าหรือ ขวาเข้า มีผลเรื่องกลไกแผ่นดินไหว และพิบัติภัยที่ต่างกัน เอาแค่นี้ก่อนนะครับ เดี๋ยวยาว)
  • รอยเลื่อนทางภาคตะวันตก เช่น รอยเลื่อนด่านเจดีย์สามองค์ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ รอยเลื่อนเมย-อุทัยธานี เลื่อนตัวแนวระนาบแบบขวาเข้า
  • รอยเลื่อนทางภาคใต้ เช่น รอยเลื่อนระนอง รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย เลื่อนตัวแนวระนาบแบบซ้ายเข้า
แบบจำลองระดับสูงเชิงเลข (Digital Elevation Model, DEM) แสดงบางส่วนของรอยเลื่อนที่พบเห็นในประเทศไทยและบ้านใกล้เรือนเคียง (1) รอยเลื่อนแม่ทา จังหวัดเชียงใหม่ (2) รอยเลื่อนเมย แถบตอนล่างของจังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดตาก (3) รอยเลื่อนเถินและรอยเลื่อนแพร่ จังหวัดลำปางและจังหวัดแพร่ (4) รอยเลื่อนเดียนเบียนฟู ทางตอนเหนือของประเทศลาว

เพิ่มเติม : 3 ทศวรรษ พัฒนาการแผนที่รอยเลื่อนมีพลังของไทย

4) เปิด อ่าวไทย-ภาคกลาง-ภาคเหนือ

นอกจากนี้ การชนกันของอินเดีย-ยูเรเซีย ยังทำให้เกิดแรงดึงทางธรณีแปรสัณฐานในแนว ตะวันออก-ตะวันตก พื้นที่ตรงกลางของ ไทยถูกยืด และเปิดออกตลอดแนว เหนือ-ใต้ โดยพื้นที่ตอนล่างเริ่มเปิดก่อน จาก อ่าวไทย > ภาคกลาง > ภาคเหนือ ตามลำดับ เมื่ออ่าวไทยถูกดึงยืดออกด้านข้าง อ่าวไทยกว้างขึ้นเรื่อยๆ แหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทยส่วนใหญ่ ก็ค่อยๆ สะสม ก่อร่างสร้างตัวขึ้นในช่วงนี้

ทิศทางการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกอินเดีย ที่กำลังวิ่งเข้าชนแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียอยู่ในปัจจุบัน ทำให้เกิด แนวเทือกเขาหิมาลัย (Himalaya Mountain) ที่ราบสูงทิเบต (Tibet Plateau) ตลอดจนเป็นสาเหตุทำให้รอยเลื่อนต่างๆ ที่อยู่ภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงรอยเลื่อนที่อยู่ในประเทศไทย เกิดการเลื่อนตัวอยู่ทุกวันนี้

ภาคกลางของไทย นอกจากนี้ ผลจากแรงดึงในแนวตะวันออก-ตะวันตก ยังส่งผลให้ภาคกลางของไทย กลายเป็นที่ราบลุ่มต่ำ โดยมีแนว เทือกเขาตะนาวศรี ทางภาคตะวันตกเป็นขอบด้านซ้าย และเทือกเขาแถบลพบุรี-สระบุรี เป็นขอบทางด้านขวา เอื้อให้ตะกอนที่ล่องมาตามแม่น้ำจากภาคเหนือ ไหลลงมาตกสะสมถ้วนทั่วทางภาคกลางของไทย กลายเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญของประเทศ นอกจากนี้ด้วยระดับภูมิประเทศที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ตะกอนที่อยู่ภายในหุบเขาทั้งทางตะวันตกและตะวันออก ก็ไหลมาตามร่องน้ำสะสมตัวตามขอบแอ่งที่ราบภาคกลางเช่นกัน เกิดเป็นภูมิประเทศที่เรียกว่า เนินตะกอนรูปพัด (alluvial fan) ในทางธรณีวิทยา

ตัวอย่าง เนินตะกอนรูปพัด ที่เกิดจากการที่น้ำหอบตะกอนออกมาจากร่องเขา และลดความเร็วน้ำอย่างรวดเร็วเมื่อถึงที่ราบ
พื้นที่ภาคกลางตอนบนของไทย แสดงขอบทางด้านตะวันตกของพื้นที่ เนินตะกอนรูปพัดกำแพงเพชร หรือ กำแพงเพชรแฟน (Kamphaeng Phet Fan) คลุมพื้นที่ทั้งจังหวัดกำแพงเพชร
พื้นที่ภาคกลางตอนล่างของไทย แสดงขอบทางด้านตะวันตกของพื้นที่ (บน) เนินตะกอนรูปพัดอุทัยธานี (กลาง) เนินตะกอนรูปพัดสุพรรณบุรี (ล่าง) เนินตะกอนรูปพัดกำแพงแสน

ภาคเหนือของไทย ทรุดเป็นแอ่งๆ กลายเป็นที่ราบสลับทิวเขา ซึ่งในทางธรณีวิทยา เราแบ่งแอ่งที่ราบต่างๆ ตั้งตามชื่อจังหวัด เช่น แอ่งเชียงใหม่ ลำปาง และก็มีแอ่งยิบแอ่งย่อยอีกมากมาย เช่น เชียม่วน แอ่งลี้ เป็นต้น ส่วนในกรณีของภูเขาที่เกิดขึ้นในภาคเหนือ (เทือกเขาผีปันน้ำ) ความจริง กระบวนการเกิดภูเขา (orogeny) ในทางธรณีวิทยา เกิดได้หลายแบบ เช่น ภูเขาไฟ ภูเขาที่เกิดจากการชนกันของแผ่นเปลือกโลก และหนึ่งในหลายหลายลีลาของการเกิดภูเขานั้นก็คือ ภูเขารอยเลื่อน (fault-block mountain) ซึ่งเป็นภูเขาที่เกิดจากแรงดึงทางธรณีแปรสัณฐาน ทำให้พื้นทวีปถูกยืดออกจากกันและแตกเป็นท่อนๆ และมีการยุบตัวลงอย่างเป็นระบบ เกิด ภูมิลักษณ์ (landfirm) ทางธรณีวิทยาแบบ ร่องขนาบรอยเลื่อน (graben) และ เขาขนาบรอยเลื่อน (horst) กลายเป็น แอ่งที่ราบ (basin) และเทือกเขาสลับกันไป ซึ่งนี่คือกลไกหลักที่ทำให้เกิดภูมิประเทศแบบ ภูเขาสลับที่ราบ ในภาคเหนือของไทย

เพิ่มเติม : 6 ลีลาโลก กับการสร้างภูเขา

กระบวนการเกิดภูเขารอยเลื่อน ที่เกิดจากแรงดึงทางธรณีแปรสัณฐานไปในแนวซ้าย-ขวา ซึ่งนักธรณีวิทยาเชื่อว่าระบบแบบนี้เกิดขึ้นในอ่าวไทย ภาคกลาง รวมถึงภาคเหนือของประเทศไทย ก็เช่นกัน
แบบจำลองความสูงเชิงตัวเลข (Digital Elevation Model, DEM) แสดงภูมิประเทศแบบ ภูเขาสลับที่ราบ ในภาคเหนือของไทย

โดยสรุป ภาคเหนือจึงเป็น ที่ราบหลุมๆ สลับหุบเขา อ่าวไทย ก็เหมือนภาคเหนือ แค่มีตะกอนและน้ำทะเลปิดอยู่ ภาคกลาง ก็เหมือนภาคเหนือ แค่มีตะกอนปิดทับอยู่

เพิ่มเติม : ภาคเหนือของไทย กับการเปรียบเปรยเชิงภาชนะ

5) ภูเขาไฟยุคใหม่

ผลพวงสุดท้าย จากการที่แผ่นเปลือกโลกอินเดียพุ่งชนแผ่นยูเรเซีย แล้วทำให้เกิดแรงดึงทางธรณีแปรสัณฐาน ในแนวตะวันออก-ตะวันตก บางพื้นที่ของประเทศไทยเกิดรอยปริแตก แผ่นเปลือกโลกบางกว่าปกติ ส่งผลให้ใต้เปลือกโลกมีการสร้างแมกมา และพุ่งขึ้นมากลายเป็นภูเขาไฟ ในช่วง มหายุคซีโนโซอิกตอนปลาย (Late Cenozoic Era) หรือ ยุคควอเทอร์นารี (Quaternary) หรือ เมื่อประมาณ 1,000,000 ปีที่ผ่านมา ตัวอย่างของภูเขาไฟรุ่นใหม่ของไทย ที่เกิดจากกระบวนการทางธรณีแปรสัณฐานล่าสุดที่ว่านี้ ก็ได้แก่ เขาพนมรุ้ง เขากระโดง ภูพระอังคาร ใน จังหวัดบุรีรัมย์ ดอยผาคอกจำป่าแดด ดอยผาคอกหินฟู ในจังหวัดลำปาง เขาพลอยแหวน พลอยเมืองจันทร์ ก็ถูกอมขึ้นมาพร้อมกับแมกมาในยุคที่ว่านี้ เช่นกัน

ภาพถ่ายดาวเทียมจาก Google Earth แสดงภูมิลักษณ์ (landform) ของเขาพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นภูเขาไฟลูกโดด ที่เกิดจากแมกมาพุ่งขึ้นมากลางที่ราบสูง ภาคอีสานของไทย

โดยสรุป กระบวนการทางธรณีแปรสัณฐานและธรณีวิทยาในบ้านเรา ทั้งหมดทั้งมวลก็เพราะ แผ่นเปลือกโลกอินเดีย แผ่นเดียวแท้ๆ …

ร้ายกาจนักน๊าาาาาา 😉


. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: