สำรวจ

โบราณคดี x แผ่นดินไหว – กรณีศึกษา วัดส้มสุก เชียงใหม่

โบราณสถาน วัดส้มสุก อ. แม่อาย จ. เชียงใหม่ เชื่อกันว่าเป็นเมืองเก่าสำคัญในลุ่มน้ำฝาง วัดส้มสุกโด่งดังในทางโบราณคดี เพราะในช่วงที่ขุดค้นและบูรณะ พบ จารึกโบราณ อักษรฝักขาม อยู่ในแผ่นอิฐจำนวนมากกว่า 200 ก้อน (ครองสถิติ จารึกมากที่สุดในประเทศไทย) ยืนยันถึงการเผยแพร่ วัฒนธรรมสุโขทัย เข้ามาในดินแดนล้านนา เมื่อกว่า 600 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากการขุดแต่งและบูรณะ ปัจจุบันโบราณสถานวัดส้มสุก เหลือรากฐานโบราณสถานกระจายอยู่ในพื้นที่ รวมถึงเสาโบราณสถานที่รวมใจกันหักล้มระเนระนาด อันเป็นเหตุให้นักโบราณคดีพบจารึกอักษรฝักขาม ตามแผ่นอิฐสร้างเสาอย่างที่ว่า

สภาพเสาอาคาร โบราณสถานวัดส้มสุก และร่องรอยจารึกโบราณ ตามแผ่นอิฐที่ใช้สร้างเสา

เปลี่ยนฉากข้ามฟากมาเรื่อง แผ่นดินไหว หนึ่งในหลายๆ ลีลาของการศึกษา สืบหาหลักฐานการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ คือ การศึกษาร่องรอยของแผ่นดินไหว จากซากโบราณสถานตามแหล่งโบราณคดี หรือที่นักวิชาการเรียกศาสตร์นี้อย่างเป็นทางการว่า โบราณคดีแผ่นดินไหว (archaeoseismology) (Evans, 1928; Agamennone, 1935) ซึ่งเป็นการศึกษาที่ช่วยเติมเต็มช่องว่าง ระหว่างข้อมูล บันทึกทางประวัติศาสตร์ (historical record) และข้อมูลจาก บันทึกทางธรณีวิทยา (geological record) โดยเฉพาะในบางครั้งข้อมูลประวัติศาสตร์ไม่สมบูรณ์ นักแผ่นดินไหววิทยา อาจใช้ข้อมูลจากแหล่งโบราณคดี ช่วยยืนยันการมีอยู่ หรือเพิ่มข้อมูลรายละเอียดให้กับบันทึกทางประวัติศาสตร์ได้ เช่น การประเมินระดับความรุนแรงจากสภาพความเสียหายที่พบได้ในแหล่งโบราณคดี โดยหลักฐานส่วนใหญ่ที่นิยมใช้ในการแปลความหมายแผ่นดินไหวมีอยู่คร่าวๆ 3 ลีลา คือ (Galadini และคณะ, 2006) 1) การพังทลาย 2) การทรุดเอียง และ 3) การบิดเบี้ยว (เหลื่อมเอียง) ของสิ่งปลูกสร้าง

ตัวอย่างหลักฐานจากแหล่งโบราณคดีที่มีนัยว่า น่าจะเกิดจากแผ่นดินไหว (1-2 และ 5-11) โบราณสถานมีการเลื่อนตัวในแนวระนาบ (3-4) แนวการล้มของเสาหิน ซึ่งอาจจะสัมพันธ์กับทิศทางของแรงสั่นหรือทิศของแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว (Hinzen และคณะ, 2009)

1) เค้าลางแผ่นดินไหว วัดส้มสุก

ท่ามกลางเศษซากโบราณสถาณ ที่กระจายตัวอยู่ในวัดส้มสุก ตัวละครที่น่าสนใจในทาง ธรณีวิทยาแผ่นดินไหว (earthquake geology) คือ ความที่เสาอาคารโบราณรวมใจกันล้มระเนระนาด ซึ่งหากมองแบบผิวเผิน ก็อาจจะเพลินไปว่า เพราะกาลเวลาผ่าน โบราณสถาณเก่า ก็ไม่แปลกที่เสาจะล้ม แต่หากฉุกคิดกันดีๆ ประเด็นแค่เสาล้มนั้นน่าจะมีนัย ไล่เปรียบเทียบกันไปง่ายๆ 1) อุตส่าห์มีสถานะเป็นเสา ก็ควรจะมีความแข็งแรงนิดนึง ไม่ใช่เอะอะล้ม เอะอะล้ม ทำทรงเหมือนเด็กงอแงกันทุกต้น และ 2) จะว่าเก่าก็ผุพังกันได้ ลองดูเสาสุโขทัย อายุก็ไร่เรี่ยกัน แต่ทำไมเขาไม่เห็นจะยับเยินเหมือนเสาวัดส้มสุก ยิ่ง 3) เจออาการ เสารวมใจกันล้มหมดทั้งบาง ดูท่าวันเสาล้ม สภาพการณ์ไม่น่าจะปกติ

ดงเสาอาคารสุโขทัย สูงชะลูด เก่าแก่แค่ไหน ก็ไม่เห็นล้มจนหมด (ที่มา : hotelandresortthailand)

ประกอบกับตำราการศึกษาแผ่นดินไหวจากแหล่งโบราณคดีในต่างประเทศ มีหลายกรณีของเสาล้ม ที่นักแผ่นดินไหววิทยาต่างประเทศ นำมาแปลความและสรุปกันเป็นล่ำเป็นสันว่า เกิดจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว แถมบางกรณีศึกษา สามารถเทียบเคียงกลับไปได้ด้วยซ้ำว่า เสาล้มที่เห็นเกิดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ ครั้งไหนในบันทึกทางประวัติศาสตร์ แม้กระทั่งเสาล้มไปคนละทิศและทาง หรือเสาล้มไปในทางเดียวกัน นักแผ่นดินไหววิทยาก็ยังแปลความกันต่อไปได้ว่า แผ่นดินไหวครั้งนั้น ใหญ่มากแค่ไหน แปลความกันยังไง หากสนใจในรายละเอียด ลองไปดูเพิ่มเติมได้ที่ …

เพิ่มเติม : ซากโบราณสถาน กับการแปลความ แผ่นดินไหว

หน้าปกตำราต่างประเทศเรื่อง โบราณคดีแผ่นดินไหว (archaeoseismology) แสดงให้เห็นถึงนัยสำคัญของการที่เสาโบราณสถาณหักล้ม ที่สื่อถึงแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว

2) ภูมิประเทศบ่งชี้ “รอยเลื่อน”

อีกหนึ่งหลักฐานทางธรณีวิทยาที่ช่วยขยี้ มูลเหตุของเสาล้มวัดส้มสุกให้คลี่คลายได้ง่ายขึ้น คือการมีอยู่ของรอยเลื่อนแผ่นดินไหวในละแวกวัด ภาพด้านล่าง คือ (ก) ภูมิประเทศ 3 มิติ และ (ข) ภาพถ่ายดาวเทียม แสดงลักษณะภูมิประเทศในละแวกแอ่งฝาง ของ จ. เชียงใหม่ จุดสีแดง คือ ตำแหน่งวัดส้มสุก แนวร่องเขา ที่ทิ่มเข้าไปในภาพ ตัดผ่านจากพื้นที่ราบแอ่งฝาง เข้าสู่แอ่งเชียงราย ตามแนวถนน ทางหลวงหมายเลข 1089 ฝาง-แม่จัน ซึ่งก็คือ แนวรอยเลื่อนแผ่นดินไหว ที่กรมทรัพยากรธรณีได้นำเสนอไว้ ซึ่งถ้าบอกชื่อไปก็คงคุ้นหูกันดี เพราะรอยเลื่อนตัวนี้ คือ รอยเลื่อนแม่จัน (Mae Chan Fault) อันโด่งดังในแวดวงแผ่นดินไหวของไทย สัญลักษณ์ T คือ ตำแหน่งของภูมิประเทศหรือ ภูมิลักษณ์ (landform) ที่เรียกว่า หน้าผาสามเหลี่ยม (triangular facet) (ตัวอย่างในรูป ค) บ่งชี้ว่าเป็นแนวรอยเลื่อนแผ่นดินไหว แน่นอน

เพิ่มเติม : ภูมิประเทศบ่งชี้ “รอยเลื่อน”

(ก) ภูมิประเทศ 3 มิติ (ข) ภาพถ่ายดาวเทียมจากโปรแกรม Google earth แสดงตำแหน่งของวัดส้มสุก (จุดสีแดง) และแนวร่องเขา หรือ แนวถนนเส้นฝาง-แม่จัน หรือ แนวรอยเลื่อนแม่จัน สัญลักษณ์ T คือ หน้าผาสามเหลี่ยม (triangular facet) (ค) ตัวอย่างภูมิลักษณ์ หน้าผาสามเหลี่ยม ที่สามารถพบเห็นได้ระหว่างเส้นทางถนนสายฝาง-แม่จัน

3) รอยเลื่อนแม่จัน

ในบรรดาทำเนียบ 14 รอยเลื่อน ของไทย รอยเลื่อนแม่จัน (Mae Chan Fault) เป็นหนึ่งรอยเลื่อนที่บอกเลยว่าไม่ไก่กา เพราะ 1) เป็นรอยเลื่อนที่แสดงภูมิลักษณ์ความเป็นรอยเลื่อนได้คมชัดที่สุด ในบรรดารอยเลื่อนของไทยทั้งมวล พาดจากซ้ายสุดที่ อ. ฝาง จ. เชียงใหม่ ไปจนถึง อ. เชียงของ จ. เชียงราย สิริความยาวประมาณ 100 กิโลเมตร แปลความยาวเป็นขนาดแผ่นดินไหวใหญ่ที่สุด ที่สามารถเกิดขึ้นได้ ก็ประมาณ 7.4 โดยมีอัตราการเลื่อนตัวอยู่ที่ 3.0 มิลลิเมตรต่อปี (Fenton และคณะ, 2003) 2) มีบันทึกทางประวัติศาสตร์ (historical earthquake record) ว่ารอยเลื่อนแม่จันเคยจัดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ในอดีต และ 3) มีนิทานปรัมปราเกี่ยวกับ ตำนานปลาไหลเผือก กับ เวียงหนองหล่ม การล่มของเมือง ที่สอดคล้องสัมพันธ์กับบันทึกทางประวัติศาสของการเกิดแผ่นดินไหวจากรอยเลือนนี้

เพิ่มเติม : 4 รอยเลื่อน แห่งลุ่มน้ำโขง ที่ไทยควรเฝ้าระวัง

ดังนั้นในทางธรณีวิทยาแผ่นดินไหว ก็น่าจะพอฟังได้ ถ้าจะเขียนบทละครที่ว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เคยเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ จากรอยเลื่อนแม่จัน แรงสั่นสะเทือนทำให้วัดส้มสุกพังทลายลง เหลือให้เห็นเป็นวัดเสาล้ม ในปัจจุบัน

(ล่าง) ภูมิประเทศในเขตรอยต่อระหว่าง อ. ฝาง เชียงแสน และ อ. แม่จัน จ. เชียงราย แสดงแนวการวางตัวเป็นระยะๆ ของกลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน สี่เหลี่ยม คือ ตำแหน่งทะเลสาบเชียงแสน ที่คาดว่าเป็น เมืองโยนกนาคนคร หรือ เวียงหนองหล่ม (ขวาบน) ภาพดาวเทียมแสดง ทะเลสาบเชียงแสน และ เกาะแม่ม่าย ตามตำนานปรัมปรา ปลาไหลเผือก

แรม 7 ค่ำ เดือนห้า จ.ศ. 376 ปีเถาะ (พ.ศ. 1557) โยนกนคร (ปัจจุบัน หลักฐานทางโบราณคดี เชื่อว่าน่าจะอยู่ในพื้นที่ จ.เชียงราย)

สุริยอาทิตย์ก็ตกไปแล้ว ก็ได้ยินเสียงเหมือนดั่งแผ่นดินดังสนั่นหวั่นไหวประดุจดังว่าเวียงโยนกนครหลวงที่นี้ จักเลื่อนจักพังไปนั้นแล แล้วก็หายไปครั้งหนึ่ง ครั้งถึงมัชฌิมยามก็ซ้ำดังมาเป็นคำรบสองแล้วก็หายนั้นแล ถึงปัจฉิมยามก็ซ้ำดังมาเป็นคำรบสาม หนที่สามนี้ดังยิ่งกว่าทุกครั้งคราวที่ได้ยินมาแล้ว กาลนั้นเวียงโยนกนครหลวงที่นั้นก็ยุบจมลงเกิดเป็นหนองอันใหญ่ ยามนั้นคนทั้งหลายอันมีในเวียงนั้น มีพระมหากษัตริย์เป็นประธานก็วินาสฉิบหาย ตกไปในน้ำที่นั้นสิ้น ยังเหลืออยู่แต่เรือนยามแม่หม้ายเฒ่า หลังเดียวนั้นแล

ที่มา: พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน ประชุมพงศาวดารภาคที่ 61 องค์การค้าของคุรุสภา : พระนคร, 2512, หน้า 44-48.

เพิ่มเติม : จากตำนาน “เวียงหนองหล่ม” สู่การตีความด้านแผ่นดินไหว

รูปปั้นปลาไหลเผือกวัดป่าหมากหน่อ อ . แม่จัน จ. เชียงราย ต้นเหตุที่มาของตำนานเวียงหนองหล่ม และการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในอดีต (ที่มา : www.chiangraifocus.com)

4) ใช่ … ใช่มะ !!!

เค้าลางปิดท้าย ที่ผู้เขียนได้จากการนั่งชมคลิปวิดีโอวัดส้มสุก คือ ในระหว่างที่นักโบราณคดีกำลังบรรยายเรื่องราวของวัดส้มสุก ฉากหลังโบราณสถาณในบางช่วงบางตอน ก็ยังมาหลอกหลอนให้ผู้เขียนต้อง เอ๊ะ !!! ทำไมฐานโบราณสถานถึง ดูเหมือนจะบิดเบี้ยว ดูเหมือนกับกรณีศึกษาแผ่นดินไหวโบราณคดีในรูปแรกของบทความนี้ และก็ยัง ดูเหมือนกับ กรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหวในต่างประเทศ ที่เราสามารถพบเห็นการเหลื่อมหรือเลื่อนตัวของแผ่นดินหลัง จากเกิดแผ่นดินไหว

แน่นอนว่า ผู้เขียนก็ไม่ได้อยู่ที่วัดส้มสุก ณ วันนั้น แต่จากเค้าลางหลักฐานที่แสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างมาทั้งหมดนี้ น่าจะช่วยยืนยันได้บ้างว่า 1) มีความเป็นไปได้สูง ที่เสาวัดส้มสุก จะล้มเพราะแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว 2) แล้วถ้าใช่จริงๆ รอยเลื่อนที่น่าจะเป็นสาเหตุก็น่าจะเป็น รอยเลื่อนแม่จัน (Mae Chan Fault) ที่จากผลงานในอดีต เขามีศักยภาพที่จะทำให้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ ในระดับภัยพิบัติได้ และ 3) ฐานโบราณสถาณที่ดูจะเหลื่อมบิดเบี้ยวไป ก็มีความเป็นไปได้ ที่จะเกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อน ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งที่ทำให้เสาวัดส้มสุกพังลงมานั้น

(ก) (คาดว่า) แนวโบราณสถานเลื่อนตัว วัดส้มสุก เชียงใหม่ (ข) แผ่นดินไหวซานฟรานซิสโก (ค.ศ. 1906) เลื่อน 3 เมตร และ (ค) แผ่นดินไหวกัวเตมาลา (ค.ศ. 1976) เลื่อน 3 เมตร

…. มีโอกาส ก็น่าสืบหาหลักฐานทาง โบราณคดี x ธรณีวิทยา กันต่อไป ไม่แน่นะ !!! ดีไม่ดี ตำนานปลาไหลเผือก แห่งเชียงแสน เชียงราย อาจะจะมีสตอรี่เพื่อนใหม่ เสาล้มวัดส้มสุก เอาไว้เคียงคู่กัน

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: