เรียนรู้

6 ลีลาโลก กับการสร้างภูเขา

หากพิจารณา พื้นทวีป (continent) นักวิทยาศาสตร์พบว่าประกอบด้วย ภูมิประเทศทางธรณีวิทยา (terrain) 3 รูปแบบ ได้แก่

1) หินฐานทวีป (continental shield) หมายถึง พื้นทวีปราบเรียบ ที่มีความแตกต่างของระดับความสูงน้อย และระดับความสูงโดยเฉลี่ยใกล้เคียงกับระดับน้ำทะเล หินฐานทวีปโดยส่วนใหญ่อยู่บริเวณกลางทวีป ประกอบด้วยหินอัคนีและหินแปรในยุคเก่า (โดยส่วนใหญ่มีอายุหินมากกว่า 1,000 ล้านปี) และมีโครงสร้างทางธรณีวิทยาที่ซับซ้อน แต่ไม่พบกิจกรรมทางธรณีแปรสัณฐานในยุคปัจจุบัน ทั้งภูเขาไฟและแผ่นดินไหว เช่น หินฐานทวีปในประเทศคนนาดา

การกระจายตัวของลักษณะภูมิประเทศทางธรณีวิทยาบนพื้นทวีป
(บน) แบบจำลองภาพตัดขวางแสดงความหลากหลายของหินที่มีอยู่ใต้ดินของหินฐานทวีป (ล่างซ้าย) ภาพถ่ายมุมสูงจากเครื่องบิน ลานทวีปแคนาดา (ล่างขวา) หินที่พบในพื้นที่ (ที่มา : www.lpi.usra.edu)

2) ลานเสถียร (stable platform) หมายถึง หินฐานทวีปที่ถูกปกคลุมด้วยหินตะกอนในยุคเก่าที่ไม่ถูกแปรสภาพ โดยทั้งหินฐานธรณีและลานเสถียร สามารถเรียกรวมกันได้ว่า หินฐานธรณี (craton)

ลานเสถียรในทวีปแอฟริกา

3) เทือกเขา (mountain belt) หมายถึง พื้นที่หรือโซนแคบและยาวที่หนาแน่นไปด้วยโครงสร้างอันเกิดจากกระบวนการธรณีแปรสัณฐาน ทำให้เกิดการแปรสภาพหินและโครงสร้างทางธรณีวิทยา โดยแบ่งย่อยเป็น 2 ชนิด คือ

1) เทือกเขาอายุแก่ (old mountain belt) คือ สภาพของภูเขาเดิมที่มีอายุแก่กว่า 100 ล้านปี เช่น เทือกเขาแอปพาเลเชียน (Appalachian) ในประเทศสหรัฐอเมริกา และเทือกเขายูรัล (Ural) ในประเทศรัสเซีย เป็นเทือกเขาที่มีอายุหลายร้อยล้านปี

2) เทือกเขาอายุอ่อน (young mountain belt) คือ เทือกเขาที่มีอายุน้อยกว่า 100 ล้านปี หรือกำลังมีการสร้างภูเขาอยู่ในปัจจุบัน เช่น เทือกเขาหิมาลัย (Himalaya) เริ่มก่อตัวขึ้นเป็นภูเขาเมื่อประมาณ 45 ล้านปี และยังคงกำลังก่อตัวเป็นภูเขาเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน

(ซ้าย) แอปพาเลเชียน และ (ขวา) หิมาลัย (ที่มา : www.gadventures.com)

ซึ่งจากการกระจายตัวของลักษณะภูมิประเทศทางธรณีวิทยาบนพื้นทวีป (รูปด้านบน) จะพบว่าเทือกเขาบนโลกโดยส่วนใหญ่จะเป็นเทือกเขาใหม่ที่ก่อตัวขึ้นตามขอบแผ่นเปลือกโลกในปัจจุบัน ซึ่ง กระบวนการเกิดภูเขา (orogeny) หรือ บรรพตรังสรรค์ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยนักวิทยาศาสตร์ได้จำแนกสาเหตุการเกิดภูเขา ดังนี้

1) ภูเขาไฟ

ภูเขาไฟ (volcanic mountain) เกิดจากแมกมาใต้พื้นผิวโลกปะทุขึ้นมาเติมมวลให้กับพื้นทวีป กลายเป็นภูเขา เช่นภูเขาไฟฟูจิ (Fuji) ภูเขาไฟเอทนา (Etna) ภูเขาไฟเรนเนีย (Rainier) ภูเขาไฟเมยอน (Mayon) และภูเขาไฟกิริมาจาโร (Kiriman-jaro)

ภูเขาไฟเมยอน (Mayon) (ที่มา : www.wikipedia.org)

2) ภูเขาแบบชั้นหินคดโค้ง

ภูเขาคดโค้งและรอยเลื่อนย้อน (fold-and-thrust mountain) เกิดจากพื้นทวีปถูกแรงเค้นทางธรณีแปรสัณฐานบีบอัดพื้นทวีปเข้าหากัน จนทำให้เกิดชั้นหินคดโค้งและรอยเลื่อนย้อนขนาดใหญ่ ในพื้นที่บริเวณกว้าง เช่น เทือกเขาแอปพาเลเชียน เทือกเขายูรัล และเทือกเขาหิมาลัย

(บน) แบบจำลองการเกิดการคดโค้งของหิน (ล่าง) ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงการคดโค้งโก่งงอของเทือกเขาแอปปาละเชียน (ที่มา : https://persquaremile.com)

3) ภูเขาที่เกิดจากรอยเลื่อน

ภูเขารอยเลื่อน (fault-block mountain) เป็นภูเขาที่เกิดจากแรงดึงทางธรณีแปรสัณฐาน ทำให้พื้นทวีปถูกยืดออกจากกันและแตกเป็นท่อนๆ และมีการยุบตัวลงอย่างเป็นระบบ เกิดภูมิลักษณ์ทางธรณีวิทยาแบบ ร่องขนาบรอยเลื่อน (graben) และ เขาขนาบรอยเลื่อน (horst) หรือในทางภูมิศาสตร์นั้น กลายเป็นแอ่งราบและเทือกเขาสลับกันไป

กระบวนการเกิดภูเขารอยเลื่อน

ตัวอย่างการเกิดภูเขารอยเลื่อนที่โดดเด่นที่สุด คือ พื้นที่แอ่งราบและเขาสูง (basin and range) ที่เกิดครอบคลุมพื้นที่ในรัฐไอดาโฮ โอเรกอน เนวาดา ยูทา คาลิฟอร์เนีย แอริโซนา และรัฐนิวเม็กซิโก ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นภูเขาจากรอยเลื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก

(ก) ภาพถ่ายดาวเทียม และ (ข) แบบจำลองแสดงการเกิดพื้นที่แอ่งราบและเขาสูง (basin and range) ในประเทศสหรัฐอเมริกา

4) ภูเขาแบบสันกลางบีบอัด

ภูเขาสันกลางบีบอัด (pressure-ridge mountain) เป็นภูเขาที่เกิดจากการเคลื่อนที่ผ่านกันของแผ่นเปลือกโลกหรือรอยเลื่อน ซึ่งโดยปกติในรายละเอียด รอยเลื่อนไม่ได้เป็นเส้นตรงเส้นเดียว แต่ประกอบด้วยแนวรอยแตกย่อยๆ วางตัวเหลื่อมกันรวมเป็นแนวยาว ซึ่งหากมีการเลื่อนตัวในแนวระนาบของกลุ่มรอยเลื่อนที่อยู่เหลื่อมเกยกันดังกล่าวจะทำให้พื้นที่ระหว่างรอยเลื่อนนั้นมีโอกาสได้รับทั้งแรงเค้นดึงและแรงเค้นบีบอัด

หากพื้นที่ดังกล่าวได้รับแรงดึงจะเกิดเป็น หนองน้ำยุบตัว (sag pond) ในขณะที่บริเวณที่ถูกแรงบีบอัด พื้นที่ดังกล่าวจะยกตัวสูงขึ้นเป็นเทือกเขา เรียกว่า สันกลางบีบอัด (pressure ridge) เช่น แอ่งน้ำและเทือกเขาทางตอนใต้ของเมืองซานฟรานซิสโก ที่เป็นผลมาจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนซานแอนเดรียส

แบบจำลองการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนที่วางตัวเหลื่อมกันแสดงการเกิด (ซ้าย) สันกลางบีบอัด (ขวา) หนองน้ำยุบตัว รอยเลื่อนซานแอนเดรียส ทางตอนใต้ของเมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา (ที่มา : www.nasa.gov)

5) ภูเขาที่เกิดจากการกัดกร่อน

ภูเขาที่เกิดจากการกัดกร่อน (erosional mountain) เกิดจากการที่กระบวนการธรณีแปรสัณฐานยกพื้นที่ใดๆ ขึ้นมาเป็นบริเวณกว้าง กลายเป็นที่ราบสูงที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ทำให้พื้นที่ดังกล่าวเกิดกระบวนการผุพังและกัดกร่อน โดยส่วนที่อ่อนจะถูกกัดกร่อนออกไป คงเหลือแต่เพียงส่วนที่ยังแข็งแรงตั้งอยู่กลายเป็นภูเขา เช่น เนินเมซา (mesa) เนินยอดป้าน (butte) และแท่งหินสูงเรียว (pinnacle) เป็นต้น

ภูเขาที่เกิดจากกระบวนการธรณีแปรสัณฐานยกพื้นที่ให้สูงขึ้นและถูกกัดกร่อนโดยน้ำในรัฐยูท่าห์ ประเทศสหรัฐอเมริกา

6) ภูเขาที่มาจากมวลหินอัคนีแซกซอน

นอกจากนี้ภูเขาที่เกิดจากโครงสร้างจากการแทรกดันของแมกมาใต้พื้นผิวโลกในอดีต เช่น 1) หินอัคนีมวลไพศาล (batholith) 2) ลำหินอัคนี (stock) 3) พนังแทรกชั้นตามยาว (sill) 4) พนังแทรกชั้นตามขวาง (dike) 5) โครงสร้างรูปเห็ด (laccolith) เป็นต้น

แบบจำลองแสดงการเกิดโครงสร้างการแทรกดันของแมกมาใต้พื้นผิวโลกในอดีต ต่อมาถูกกระบวนการธรณีแปรสัณฐานยกพื้นที่ให้สูงขึ้นและถูกกัดกร่อนพื้นผิวด้านบนออกไป
ภูเขาที่เกิดจากโครงสร้างจากการแทรกดันของแมกมา

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: