สำรวจ

แผ่นดินไทยมาจากไหน ? : นิทาน . ธรณีแปรสัณฐาน . ประเทศไทย

เชื่อว่าผู้อ่านคงเคยได้รับชมสารคดีเกี่ยวกับการเดินทางของเผ่าพันธุ์มนุษย์ การอพยพของสัตว์เพื่อหนีหนาว หรือแม้แต่การเดินทางของเม็ดเลือดจากการ์ตูน “นิทานชีวิต” ที่เราคลั่งไคล้กันตอนเด็กๆ คราวนี้ผู้เขียนอยากให้ลองเปลี่ยนบรรยากาศ มาดูการเดินทางของผืนแผ่นดิน (ธรณีแปรสัณฐาน) กันบ้าง ผู้เขียนผู้เขียนตั้งชื่อนิทานเรื่องนี้ว่า “นิทานขวานทอง” ซึ่งอ้างอิงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เคยมีการศึกษาวิจัยเอาไว้ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น Bunopas (1985) Charusiri และคณะ (2002) และ Yan และคณะ (2020) ฯลฯ โดยนำมาเล่าใหม่ ให้เสียงภาษาไทยโดยผู้เขียน และเพื่อให้ย่อยง่ายขึ้น ผู้เขียนจึงแบ่งนิทานออกเป็น 3 EP. สั้นๆ ตาม มหายุค (era) ต่างๆ ทาธรณีกาล (geological time scale) พร้อมกันหรือยังครับ ถ้าพร้อมแล้ว เชิญรับชมรับอ่านกันได้เลยครับ

EP.1 : สมรสให้สมรัก น้องใบ-พี่ด้าม

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในช่วง มหายุคพาลีโอโซอิก (Paleozoic Era) เมื่อประมาณ 400 ล้านปีก่อน (ยุคดีโวเนียน-Devonian) ประเทศไทยไม่ได้มีรูปร่างเหมือน “ขวาน” อย่างที่เห็นในปัจจุบัน โดยส่วน 1) ด้ามขวาน (Si) อันได้แก่ ภาคเหนือ-ตะวันตก-ใต้ของไทย เป็นแผ่นเปลือกโลกทวีปเดียวกัน และอยู่ติดกับประเทศออสเตรเลียทางตะวันตกเฉียงเหนือ หรือฝั่งเวสเทิร์นออสเตรเลีย เหมือนกับ แผ่นดินจีนตอนใต้ (SCB) ส่วน 2) ใบขวาน (INC) ซึ่งกินพื้นที่ภาคอีสานทั้งหมด รวมไปถึงประเทศลาวตอนใต้และประเทศเวียดนาม เกาะกลุ่มรวมกันอยู่ใกล้ๆ กับ เมืองหางโจว (Qiangtang; NQ, SQ) ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ทางตะวันออกสุดของประเทศจีน โดยในตอนนั้นผืนแผ่นดินทั้งหมดที่ได้กล่าวมานี้ อาศัยอยู่ทางซีกโลกใต้ เกาะกลุ่มกลมเกลียวกันอย่างรักใคร่ ยังไม่มีใครมีปัญหา

แผนที่โลกแสดงสภาพภูมิศาสตร์บรรพกาล (paleogeography) ที่ได้จากการศึกษาวิจัยทางธรณีแปรสัณฐานทั่วโลก โดยในจุลทวีปหรือแผ่นเปลือกโลกเก่า มีชื่อย่อ ดังนี้ Indochina (INC), North Qiangtang (NQ) and South China (SCB), North China Block (NCB), Kazakhstan (KAZ), Iran (Ir), Afghanistan (Af), Tethys-Himalaya (TH), South Qiangtang (SQ), Sibumasu (Si), Lhasa (Ls) (ที่มา : Yan และคณะ (2020))

ในทางวิชาการธรณีวิทยา

ด้ามขวาน เรียกว่า พื้นแผ่นดินชิบูมาสึ (Sibumasu, Si) หรือ พื้นแผ่นดินฉาน-ไทย (Shan-Thai)

ใบขวาน เรียกว่า พื้นแผ่นดินอินโดจีน (Indochina, INC)

แต่ต่อมาระยะหลังๆ ช่วง ยุคคาร์บอนิเฟอรัสตอนต้น (Early Carboniferous) หรือประมาณ 360 ล้านปีก่อน เมื่อความสัมพันธ์เริ่มระหองระแหง ทำให้ น้องใบขวาน (INC) ตัดสินใจชิ่งหนี พี่ออสฯ ออกเดินทางขึ้นไปตายดาบหน้าทางซีกโลกเหนือ ส่วน พี่ด้ามขวาน (Si) ก็ยังกั้นใจอาศัยอยู่ติดอยู่กับพี่ออสฯ จวบจนถึง ยุคเพอร์เมียน (Permian) หรือ 290 ล้านปีก่อน ก่อนที่จะมารู้ข่าวในภายหลังว่า พี่ด้าม (Si) ก็ทนไม่ไหว ชิ่งพี่ออสฯ ระหกระเหินหนีขึ้นเหนือตามกันมาติดๆ

จะด้วยบุพเพฯ หรืออะไรก็ไม่ทราบ หลังจากนั้นไม่นานทั้ง น้องใบ (INC) และ พี่ด้าม (Si) ก็ได้พบหน้ากันอีกครั้ง ซึ่งก็คงจะด้วยแรงรักแรงคิดถึง ทั่งคู่จึงวิ่งชนกันจังๆ อย่างดูดดื่ม ในช่วงเวลาประมาณ 240-210 ล้านปี (ปลายยุคไทรแอสซิก-late Triassic)

แผ่นเปลือกโลกย่อย (continental block) และแนวรอยต่อ ระหว่างแผ่นดิน หรือ ตะเข็บธรณี (suture) ในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ที่มา : Metcalfe, 2011) จากรูป INDOCHINA = ใบขวาน; SIBUMASU = ด้ามขวาน; WB = น้องหม่า; INDIA = แผ่นดินลูกครึ่งภารตะ-ตาน้ำข้าว; หมายเลข 4-7 = รอยต่อของด้ามและใบขวาน; หมายเลข 16 = รอยถูของน้องหม่าและด้ามขวาน

ผลจากการชนและมุดกันของแผ่นเปลือกโลกทั้งสองแผ่นทำให้เกิดแนวหิน แนวหินแกรนิต (granite belt) ที่เป็นเหมือนรอยมาร์คขอบแผ่นทั้งสองแผ่นเอาไว้ รวมทั้งเกิดการบดขยี้หินเกิดการคดโค้งจนทำให้เกิดแนวที่เรียกว่า ตะเข็บธรณี (suture) เชื่อมประสานเป็นรอยพยานรักของ น้องใบ และ พี่ด้ามขวาน

รอยต่อระหว่าง ใบและด้ามขวาน ไล่จากเหนือลงใต้ ได้แก่

ถ้าตามรูปด้านบน คือ หมายเลข 4-7

4) ตะเข็บธรณีฉางหนิง-เมิ่งเหลียน (Changning-Menglian)

5) ตะเข็บธรณีเชียงใหม่-อินทนนท์ (Ciang Mai-Inthanon)

6) ตะเข็บธรณีจันทบุรี (Chanthabuti)

7) ตะเข็บธรณีเบตง-รวบ (Betong-Ruab)

ที่มา : Metcalfe (2011)

นอกจากนี้ผลจากแรงกระแทกในครั้งนั้น ก็ยังทำให้ พี่ด้ามขวาน (ภาคเหนือ-ตะวันตก-ใต้) แตกร้าวไปทั่วตัว ซึ่งก็คือ รอยเลื่อน (fault) ที่มีอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบัน โดยสามารจัดกลุ่มรอยร้าวกรือรอยเลื่อนออกมาได้ 3 กลุ่มใหญ่ๆ ตามทิศทางการวางตัวของรอยเลื่อน คือ

  • รอยเลื่อนที่วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ ได้แก่ รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน
  • รอยเลื่อนที่วางตัวในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ รอยเลื่อนด่านเจดีย์สามองค์ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ รอยเลื่อนเมย-อุทัยธานี รอยเลื่อนต่างๆ ที่อยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศพม่า รวมทั้งรอยเลื่อนแม่น้ำแดง ซึ่งเป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม
  • รอยเลื่อนที่วางตัวในแนวตะวันตกเฉียงใต้-ตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ รอยเลื่อนระนอง และ รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย รวมทั้งรอยเลื่อนเดียนเบียนฟู ที่อยู่ในประเทศเวียดนาม
แผนที่สภาพแวดล้อมทางธรณีแปรสัณฐานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงรอยต่อระหว่าง 1) แผ่นเปลือกโลกอินโด-ออสเตรเลีย และ 2) แผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย (เขตมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน) และแนวการวางตัวของรอยเลื่อนหลักๆ ภายในแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย หรือประเทศไทยและพื้นที่ข้างเคียง (Polachan และ Satayarak, 1989)

EP.2 : รักสามเศร้า เราสามแผ่น

ว่ากันว่าตลอดช่วง มหายุคพาลีโอโซอิก ทั้ง น้องใบและพี่ด้าม ครองคู่อยู่กันอย่างสงบ กาลเวลาล่วงเลยมาจนกระทั่งเข้าสู่ มหายุคมีโซโซอิก (Mesozoic Era) หรือช่วงประมาณ 252 – 66 ล้านปีที่ผ่านมา จึงได้มีเศษแผ่นดินชิ้นเล็กๆ ซึ่งก็คือ ผืนแผ่นดินพม่าฝั่งตะวันตก (Western Burmar, WB)ในปัจจุบัน (ผู้เขียนขอเรียกย่อๆ ว่า น้องหม่า) วิ่งเข้ามาแนบชิด กะลิ้มกะเหลี่ยฝั่งตะวันตกของด้ามขวาน หรือถ้าจะเรียกว่ามือที่สามก็คงจะไม่ผิด

แผ่นเปลือกโลกย่อย (continental block) และแนวรอยต่อ ระหว่างแผ่นดิน หรือ ตะเข็บธรณี (suture) ในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ที่มา : Metcalfe, 2011) จากรูป INDOCHINA = ใบขวาน; SIBUMASU = ด้ามขวาน; WB = น้องหม่า; INDIA = แผ่นดินลูกครึ่งภารตะ-ตาน้ำข้าว; หมายเลข 4-7 = รอยต่อของด้ามและใบขวาน; หมายเลข 16 = รอยถูของน้องหม่าและด้ามขวาน

ผลจากการวิ่งเข้ามาชนของน้องหม่าในแนวตะวันออก-ตะวันตก (วิ่งจากทางตะวันตกและพุ่งชนด้ามขวาน) ทำให้บริเวณแนวรอยต่อระหว่างแผ่นหรือขอบของการชนกันเกิดการบดขยี้ของหินเดิมอย่างรุนแรง แรงดันและความร้อนจากการบทขยี้ทำให้หินเดิมแปรสภาพกันถ้วนทั่วหน้า ซึ่งนักธรณีวิทยาก็เชื่อว่านี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด โซนหรือ แนวหินแปรโมงกก (Mokok metamorphic belt) ที่ให้ แร่อัญมณี (gemstone) จำนวนมหาศาล และขอบของการชนกันก็คือบริเวณที่เรียกว่า ผารอยเลื่อนฉาน (Shan scarp) หรือ ขอบเขตฉาน (Shan boundary) แต่ก็มีนักวิจัยบางท่าน ก็เชื่อว่าขอบระหว่าง ด้ามขวาน กับ น้องหม่า น่าจะเป็นรอยแตกของแผ่นดินที่เรารู้จักกันดีในนามของ รอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault, SG) ที่ผ่ากลางอกประเทศพม่า ลากยาวตั้งแต่เหนือจรดใต้ ลงสู่ทะเลอันดามัน

เพิ่มเติม : รอยเลื่อนสะกาย – ยักษ์หลับกลางเมืองพม่า

นอกจากนี้ การชนของน้องหม่ายังส่งแรงเข้ามาภายในด้ามขวาน ซึ่งทำให้รอยแตกเดิม หรือกลุ่มรอยเลื่อนที่วางตัวในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ อย่างเช่น รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ฯลฯ เกิดการเลื่อนตัวในแนวราบแบบซ้ายเข้า (งงกันไหมครับ ? อย่าพึ่งงงนะครับ เราไปกันต่อ !!!) และรอยเลื่อนที่วางตัวอยู่ในแนวตะวันตกเฉียงใต้-ตะวันออกเฉียงเหนือ เลื่อนตัวในแนวราบแบบขวาเข้า

เพิ่มเติม : รอยแยกและรอยเลื่อนของหิน

ซึ่งความสัมพันธ์รักสามเศร้าของแผ่นดินโบราณทั้ง 3 แผ่นนี้ ปัจจุบันนักธรณีวิทยาถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ แผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย (Eurasian Plate)

EP.3 : พี่แขกขอแจม

ในช่วง มหายุคซีโนโซอิก (Cenozoic) หรือประมาณ 66 ล้านปีก่อน จนถึงปัจจุบัน ถ้าจะพูดถึงชีวิตรักปัจจุบันของยูเรเซีย ดูเหมือนจะยุ่งเหยิงยิ่งขึ้น เมื่อมี แผ่นดินลูกครึ่งภารตะ-ตาน้ำข้าว ที่นักธรณีวิทยาเรียกว่า แผ่นอินโด-ออสเตรเลีย (Indo-Australian Plate) เข้ามาปะชิด ก้อล่อก้อติดอีกฝั่งของน้องหม่า (ร้ายกาจนักน๊าาาาาา)

ผลจากการชนกันของแผ่นเปลือกโลกอินโด-ออสเตรเลีย ที่วิ่งไปในทางทิศเหนือค่อนไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ (NNE) มุดเข้าไปใต้แผ่นยูเรเซีย ทำให้เกิดร่องรอยการชนกันของแผ่นเปลือกโลกปัจจุบันที่เรียกว่า เขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน (Sumatra-Andaman Subduction Zone) ทอดยาวลวไปจนถึง ร่องลึกก้นสมุทรจาวา (Java trench) เกิดแนวภูเขาไฟ และเป็นตัวการที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวมากมายตามเขตมุดตัวของเปลือกโลกนี้ และยังส่งแรงทอดต่อเข้ามาในแผ่นยูเรเซีย

ภาพสโลว์โมชั่นแสดงการวิ่งอย่างช้าๆ ของแผ่นเปลือกโลกอินเดีย ที่กำลังพุ่งเข้าชนแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียในทิศทางเกือบเหนือค่อนไปทางตะวันออกนิดๆ ทำให้แผ่นเปลือกโลกทั้งสองซ้อนทับกันบูบี้ ยู่ยี่ และยกตัวขึ้นมาเป็นแนวเทือกเขาหิมาลัย รวมทั้งเกิดปรากฏการณ์ต่างๆ อีกมากมายภายในแผ่นยูเรเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน

และด้วยขนาดที่ใหญ่โตของ พี่แขก ทำให้ครอบครัวรัก 3 เศร้า อย่างยูเรเซียนั้น ถูกกดดันอย่างหนัก เกิดอาการขยับ ขยุกขยิกอยู่เป็นระยะๆ มีผลมากกับสภานการณ์แผ่นดินไหวและรอยเลื่อนในประเทศไทย ซึ่งบทสรุปความรักของตัวละครทั้งสี่ (น้องใบ พี่ด้าม น้องหม่า และ พี่แขก) ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด ยังคงหม่นๆ หมองๆ กลัดเลือดกลัดหนองอยู่อย่างนี้จนปัจจุบัน เลยทำให้ตลอดระยะเวลาในช่วง มหายุคซีโนโซอิก เกิดโน่น นี่ นั่น มากมาย ในละแวกอาเซียน

ภูมิประเทศ

  • หิมาลัย สูงขึ้นทุกๆ ปี ปีละ 4-5 มิลลิเมตร
  • อ่าวไทย ถูกดึงยืดออกในแนวตะวันออก-ตะวันตก และเปิดอ่าวไทยกว้างขึ้นเรื่อยๆ
  • ภาคกลางของไทย กลายเป็นที่ราบลุ่มต่ำ
  • ภาคเหนือของไทย ทรุดเป็นแอ่งๆ กลายเป็นที่ราบสลับทิวเขา (ทิวเขาผีปันน้ำ)
  • จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นที่ลุ่ม มีทิวเขาขนาบซ้าย-ขวา

ภัยพิบัติ (แผ่นดินไหว)

  • เกิดแผ่นดินไหวแทบทุกวัน ตลอดแนว เขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน (sumatra-Andaman Subduction Zone)
  • เคยเกิดสึนามิในอดีต เกิดสึนามิ ปี พ.ศ. 2547 และมีโอกาสเกิดอีกในอนาคต ตามแนวเขตมุดตัวดังกล่าว
  • รอยเลื่อนทางภาคเหนือ เช่น รอยเลื่อนแม่ทา ลำปาง-เถิน ฯลฯ เลื่อนตัวแนวระนาบแบบซ้ายเข้า (จะซ้ายเข้าหรือ ขวาเข้า มีผลเรื่องกลไกแผ่นดินไหว และพิบัติภัยที่ต่างกัน แค่นี้ก่อนนะครับ เดี๋ยวยาววววว)
  • รอยเลื่อนทางภาคตะวันตก เช่น รอยเลื่อนด่านเจดีย์สามองค์ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ รอยเลื่อนเมย-อุทัยธานี เลื่อนตัวแนวระนาบแบบขวาเข้า
  • รอยเลื่อนทางภาคใต้ เช่น รอยเลื่อนระนอง รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย เลื่อนตัวแนวระนาบแบบซ้ายเข้า

แร่ หินและทรัพยากร

  • ภูเขาไฟรุ่นใหม่ๆ เช่น เขาพนมรุ้ง เขากระโดง ภูพระอังคาร ที่บุรีรัมย์ ดอยผาคอกจำป่าแดด ดอยผาคอกหินฟู ที่ลำปาง เขาพลอยแหวน ที่จันทบุรี ก็ประทุใน EP. นี้
  • พลอยเมืองจันฯ พลอยเมืองกาญฯ ก็ถูกหินอมมาในยุคนี้
  • ปิโตรเลียมและถ่านหิน ส่วนใหญ่ของไทย ก็ค่อยๆ สะสมกันในช่วงมหายุคซีโนโซอิกนี้ เช่นกัน

จากนิทานเรื่องนี้ ผู้เขียนขอสรุปอีกทีว่า ชะตากรรมด้านแผ่นดินไหวของไทย ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของตัวละครทั้งสี่ เพราะถ้ามีการกระทบกระทั่งกันเมื่อไหร่ แผ่นดินไหวเกิดแน่ ผู้เขียนจำแนกสัมพันธ์รักหลักๆ ที่เป็นต้นเหตุของแผ่นดินไหวในบ้านเราเอาไว้ 4 แบบ คือ 1) รอยต่อของด้ามและใบขวาน 2) รอยร้าวภายในด้ามขวาน 3) รอยถูของน้องหม่าและด้ามขวาน และ 4) รอยชนประชิดของแผ่นลูกครึ่งภารตะ

เกร็ดชวนคิด (คิดไม่ออกก็ช่างมัน :)) : เมื่อเข้าสำรวจ กลุ่มรอยเลื่อนที่วางตัวในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ เช่น รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ฯลฯ หากพบหลักฐาน รอยครูดรอยเลื่อน (slickenside) ที่ชี้ว่ามีการเลื่อนตัวแบบซ้ายเข้า นักธรณีวิทยาจะแปลความว่านี่เป็นการเลื่อนตัวในช่วง มหายุคมีโซโซอิก (Mesozoic Era) และระนาบรอยเลื่อนรวมรวมทั้งหินควรจะต้องแก่กว่ามหายุคมีโซโซอีก

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: