เรียนรู้

เครือข่ายเฝ้าระวังสึนามิ

จากการคิดค้น ระบบประเมินและรายงานสึนามิในมหาสมุทรลึก (Deep-ocean Assessment and Reporting of Tsunami System) หรือเรียกสั้นๆ ว่า ระบบดาร์ท (DART) เพื่อเอาไว้ตรวจจับและเตือนภัยสึนามิก่อนที่จะซัดเข้าฝั่ง นอกเหนือจากประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการทำงานอย่างเป็นระบบแบบอัตโนมัติแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือของการเตือนภัยจากระบบเตือนภัย คือการสร้างเครือข่ายการตรวจจับและวัดการเกิดขึ้นของสึนามิ ซึ่งจากความร่วมมือร่วมใจกันทั้งภาครัฐและเอกชนของนานาประเทศที่อยู่โดยรอบมหาสมุทรต่างๆ ของโลก ทำให้เกิดเครือข่าย หรือระบบเตือนภัยสึนามิขึ้น โดยปัจจุบันมีการติดตั้งระบบเตือนภัยสึนามิมากมายทั้งที่เกิดจากการป้องกันตัวเองของประเทศที่รวยแล้ว หรือจะมาจากความสงสารในประเทศที่ยากจนแต่ต้องทนทุกข์กับสึนามิ ซึ่งถ้าจะให้แยกสไตล์ ของระบบการเตือนภัยสึนามิ ตามศักยภาพและความเป็นชิ้นเป็นอันก็พอจะจำแนกได้ 3 แบบ 3 สไตล์ด้วยกัน

1) ระบบเตือนภัยนานาชาติ

ระบบเตือนภัยนานาชาติ (International Warning System) เป็นระบบเตือนภัยที่มีเครือข่าย เครื่องไม้เครื่องมือพร้อมเพรียงและทันสมัย พร้อมด้วยบุคคลากรที่เฝ้าระวังอยู่ตลอดเวลา ซึ่งปัจจุบันในโลกนี้มีเครือข่ายหรือระบบเตือนภัยแบบนานาชาติ ติดตั้งและดำเนินการอยู่หลายเครือข่ายด้วยกัน โดยแต่ละเครือข่ายก็จะแยกพื้นที่ทำมาหากิน ว่ากันเป็นมหาสมุทรต่างกันไป ได้แก่

แผนที่โลกแสดงพื้นที่หรืออาณาเขตรับผิดชอบในการตรวจจับและเฝ้าระวังภัยพิบัติสึนามของแต่ละเครือข่ายที่มีการร่วมมือและจัดตั้งขึ้นในปัจจุบัน (ที่มา : Hutcherson, 2018)

1) มหาสมุทรแปซิฟิก ระบบเตือนภัยในมหาสมุทรแปซิฟิก มีอยู่ 2 เครือข่ายหลักๆ โดยทั้ง 2 เครือข่ายนี้ดูแลและจัดการโดย สำนักงานบริหารภาคพื้นทะเลและบรรยากาศแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration) หรือที่เราเคยได้ยินคุ้นๆ หูว่า โนอาร์ (NOAA) โดยทั้ง 2 เครือข่ายดังกล่าว ได้แก่

  • ศูนย์เตือนภัยสึนามิแปซิฟิก (Pacific Tsunami Warning Center, PTWC) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2492 หลังจากเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิเข้าปะทะชายฝั่งหมู่เกาะอะลูเทียน (Aleutian Islands) รัฐอลาสก้า สหรัฐอเมริกา โดยมีศูนย์บัญชาการใหญ่อยู่ที่หาดอีวา (Ewa Beach) ในฮาวาย ซึ่งนอกจากจะเตือนภัยให้กับประเทศต่างๆ รอบมหาสมุทรแปซิฟิกแล้ว เครือข่ายนี้ยังทำหน้าที่เป็นเครือข่ายท้องถิ่น สำหรับเตือนภัยสึนามิให้กับประชาชนในหมู่เกาะฮาวายอีกด้วย
  • ศูนย์เตือนภัยสึนามิชายฝั่งทะเลตะวันตกและรัฐอลาสก้า (West Coast and Alaska Tsunami Warning Center, WCATWC) ใน เมืองพาล์มเมอร์ (Palmer) รัฐอลาสก้า จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2510 เพื่อเตือนภัยสึนามิในพื้นที่ตามแนวชายฝั่งของประเทศแคนนาดา และรัฐอลาสก้า ของประเทศสหรัฐอเมริกา

2) มหาสมุทรอินเดีย สืบเนื่องจากเหตุการณ์สึนามิในปี พ.ศ. 2547 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตเกือบ 230,000 คน ที่ประชุมสหประชาชาติ (United Nations, UN) ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2548 ที่เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น ได้ริเริ่มก่อตั้ง ระบบเตือนภัยสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Tsunami Warning System, IOTWS) โดยเริ่มติดตั้งระบบที่ประเทศอินโดนีเซียเป็นแห่งแรก และปัจจุบันมีสมาชิกรอบมหาสมุทรอินเดียวกว่า 27 ประเทศ เข้าร่วม

3) ระบบเตือนภัยในมหาสมุทรแอตแลนติก ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และทะเลที่เกี่ยวข้อง (North Eastern Atlantic, the Mediterranean and Connected Seas, NEAMTWS) ตั้งขึ้นในการประชุมของคณะกรรมาธิการทางทะเลแห่งชาติของยูเนสโก ในปี พ.ศ. 2548 ที่ประเทศอิตาลี เพื่อดูแลมหาสมุทรแอตแลนติก ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และทะเลอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง

นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายเตือนภัยสึนามิย่อยๆ ที่บางประเทศมีไว้เป็นของตัวเอง แต่ก็ถือว่าเป็นเครือข่ายระดับนานาชาติเช่นเดียวกัน เพราะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอยู่เป็นระยะๆ เช่น กรณีของทะเลแคริเบียน ได้มีการติดตั้งระบบเตือนภัยสึนามิขึ้นในปี พ.ศ. 2553 หลังจากการประชุมของตัวแทนประเทศที่เกี่ยวข้อง ที่ปานามา ในปี พ.ศ. 2541 ซึ่งปานามาก็เคยมีผู้เสียชีวิตจากสึนามิมากกว่า 4,500 คน จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในปี พ.ศ. 2425

ในขณะที่ประเทศรัสเซียก็มีระบบเตือนภัยสึนามิเป็นของตัวเองเรียกว่า Yuzhno-Sakhalinsk Tsunami Warning Center (YSTWC) ซึ่งรัสเซียติดตั้งไว้เพื่อการเตือนภัย และกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวของกับสึนามิที่จะส่งผลกระทบต่อรัสเซีย เพื่อใช้ศึกษาและหาทางแก้ไขให้ได้รับผลกระทบจากสึนามิน้อยที่สุด

2) ระบบเตือนภัยท้องถิ่น

ระบบเตือนภัยท้องถิ่น (Local Warning System) เป็นระบบเตือนภัยสึนามิที่ใช้สำหรับการเฝ้าระวังว่าจะเกิดแผ่นดินไหวในทะเลหรือไม่ จากสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวในพื้นที่ และคาดการณ์ว่าสึนามิมีโอกาสเกิดแค่ไหน โดยการประเมินจากประสบการณ์ของหน่วยงานท้องถิ่นที่รับผิดชอบ เช่น เกิดแผ่นดินไหวระดับ 6.0-7.0 ก็จะเตือนไว้ก่อน ซึ่งใช้เวลาน้อยกว่า 15 นาที เพราะไม่มีระบบอะไรซับซ้อน เพียงแค่โทรศัพท์บอกไปยังหอกระจายข่าวก็ประกาศได้ทันที โดยอาจสามารถประเมินขนาด ตำแหน่ง และเวลาการมาถึงของคลื่นได้อย่างคร่าวๆ แต่ก็ไม่มีข้อมูลการเคลื่อนตัวของภูมิประเทศใต้ทะเลอย่างถูกต้องจริงๆ ดังนั้นจึงมีหลายครั้งที่ระบบท้องถิ่นเตือนผิด ซึ่งหมายถึง บอกว่าจะมาแต่ก็ไม่มา แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากเป็นพื้นที่เล็ก จึงเกิดปัญหาน้อยถึงแม้จะเตือนกันผิดพลาดไปบ้าง แต่ถ้าเป็นระบบใหญ่ๆ อาจทำให้คนแตกตื่นและเกิดความโกลาหลได้

หอกระจายข่าวท้องถิ่น รูปทรงต่างๆ บนเกาะฮาวายที่ใช้ในการเตือนภัย ทั้ง สึนามิ และภูเขาไฟ ไฟไหม้ หรือภัยอื่นๆ จิปาถะ

3) มาตรวัดระดับน้ำ

นอกจากการติดตั้งระบบดาร์ทเพื่อตรวจวัดสึนามิกลางมหาสมุทร คณะกรรมาธิการระหว่างชาติทางทะเลขององค์การยูเนสโก ยังได้ริเริ่มการประยุกต์ใช้ เครือข่ายมาตรวัดระดับน้ำตามแนวชายฝั่งทั่วโลก (The Global Sea Level Observing System) หรือเรียกง่ายๆ สั้นๆ ว่า เครือข่ายกลอส (GLOSS) เพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพ ในการติดตามและเฝ้าระวังภัยพิบัติสึนามิที่อาจจะเกิดขึ้น

โดยระบบการทำงานของมาตรวัดระดับน้ำ ประกอบด้วยหัววัดซึ่งลอยอยู่ในท่อ หรือถ้าจะให้ทันสมัยหน่อยก็ใช้เรดาร์ตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงพื้นผิวของระดับน้ำตามแนวชายฝั่ง โดยข้อมูลที่ได้จะถูกส่งไปยังศูนย์ควบคุมส่วนกลางผ่านระบบดาวเทียม เพื่อสังเกตการณ์และประมวลผล

ระบบการทำงานและหน้าตาทันสมัยของมาตรวัดระดับน้ำ (ที่มา : www.news.bbc.co.uk)

ตัวอย่างผลการตรวจวัดสึนามิจากมาตรวัดระดับน้ำ บริเวณชายฝั่งอันดามันของไทย จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิ เมื่อวันที่ 26 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2547 แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำอย่างชัดเจนในระหว่างที่สึนามิวิ่งเข้าฝั่ง

ความสูงของคลื่นสึนามิที่ตรวจวัดได้จากมาตรวัดระดับน้ำกองทัพเรือ (มนตรี ชูวงษ์, 2553)

ปัจจุบันเครือข่ายกลอสมีสถานีตรวจวัดระดับน้ำมากกว่า 170 สถานี กระจายตัวอยู่ตามชายฝั่งทุกภูมิภาคของโลก ซึ่งเดิมทีนักวิทยาศาสตร์ใช้สำหรับศึกษาการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกเท่านั้น แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดียเมื่อปี พ.ศ. 2547 หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบ จึงเชื่อมต่อเครือข่ายมาตรวัดระดับน้ำเหล่านี้ เพื่อส่งข้อมูลระดับน้ำที่วัดได้ไปยังศูนย์เตือนภัยสึนามิแห่งชาติด้วย

การกระจายตัวของตำแหน่งมาตรวัดระดับน้ำ เครือข่ายกลอส (ที่มา : www.gloss-sealevel.org)

ประโยชน์จากการเชื่อมเครือข่ายมาตรวัดน้ำตามแนวชายฝั่ง จะไม่ค่อยมีบทบาทในการเตือนภัยในตอนต้นซักเท่าไหร่นัก แต่จะเน้นหนักไปในด้านการยืนยันการมีอยู่จริงของสึนามิที่ซัดเข้าฝั่งและสามารถรายงานความสูงของคลื่นได้อย่างแม่นยำ ทำให้ในแต่ละพื้นที่สามารถประเมินระยะความใกล้-ไกลของน้ำที่จะเอ่อล้นไปบนฝั่งในแต่ละท้องที่ได้ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ไม่มีระบบการเตือนภัยแบบดาร์ท ขอแค่มีมาตรวัดระดับน้ำ ก็ถือว่ายังพอมีอะไรอยู่บ้างไม่ใช่เป้านิ่ง นอกจากนี้ข้อมูลระดับน้ำที่ได้ยังเป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์นำไปใช้ในการสร้างแบบจำลองการเดินทางมาถึงฝั่งของคลื่นได้อย่างถูกต้องแม่นยำมากขึ้น เพื่อประโยชน์ในการเตือนภัยในอนาคต

ก็อย่างที่เล่าไป ถึงแม้ว่าเครือข่ายเตือนภัยทั้งแผ่นดินไหวและสึนามิดูจะมีกระจายตัวอยู่หนาแน่นและครอบคลุมโลกไว้พอสมควร แต่จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิ ที่ยังมียอดผู้เสียชีวิตให้นั่งนับ นั่นเป็นสิ่งยืนยันว่าระบบเตือนภัยที่ใช้ๆ กันอยู่ยังไม่สมบูรณ์แบบแม้ในปัจจุบัน ยังมีข้อจำกัดหรือเงื่อนที่นักวิชาการด้านแผ่นดินไหวและสึนามิก็ยังคิดไม่ออกว่าจะแก้อย่างไร ทั้งในเรื่องของเวลาที่เหลือน้อย และแบบจำลองที่ยังไม่นิ่ง ไม่แม่นยำ ไม่เป็นสูตรสำเร็จตายตัว ตัวแปรเหล่านี้แหละครับที่ทำให้หลายครั้งการเตือนภัยนั้นพลาด พลาดในแง่ที่ว่าบอกจะมาแต่กลับไม่มา และก็หลายครั้งที่ผมพบว่า ประชาชนที่หนีภัยแล้วภัยไม่มา ก็มีอารมณ์กันบ้าง แต่ถ้ามองในแง่ดี…ก็ดีแล้วนี่ครับที่มันไม่มา เพราะถ้ามันมาเราคงจะแย่

สิ่งที่อยากจะทิ้งท้ายไว้ก่อนจบบทความนี้คือ อยากให้ทุกคน “เชื่อ” การเตือนภัย ถ้าเตือนมาเมื่อไหร่ก็ให้พร้อมวิ่งทันที แม้จะมีผิดพลาดบ้างก็อย่าว่ากัน เห็นใจและเป็นกำลังใจให้กับคนเตือนภัย พวกเขาไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่เขาทำเพื่อพวกเราทุกคน

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: