สำรวจ

ขยี้ 4 โอกาส (อันน้อยนิด) สึนามิขึ้นฝั่งอ่าวไทย

หลังจากภัยพิบัติสึนามิในมหาสมุทรอินเดียเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ 2547 ซึ่งส่งผลกระทบต่อชายฝั่งทะเลอันดามันของไทย บทเรียนที่คนไทยได้รู้ในวันนั้นคือ สึนามิหน้าตาเป็นยังไงและน่ากลัวแค่ไหน แล้วก็พ่วงมาด้วยชุดความคิดที่ว่า อ้าว !!! แล้วอ่าวไทยของเราล่ะมีโอกาสโดนกับเขาไหม

หลังจากเกิดสึนามิทางฝั่งทะเลอันดามันใหม่ๆ สภาพเศรษฐกิจในพื้นที่รอบชายฝั่งอ่าวไทยย่ำแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด พ่อค้าแม่ขายที่อาศัยชายหาดเป็นแหล่งทำมาหากินถึงกับบ่นอุบว่า สึนามิเกิดที่ฝั่งอันดามันแต่คนฝั่งอ่าวไทยก็แทบจะตายไปด้วย ทั้งนี้ก็เพราะคนไทยเกิดอาการแหยงทะเล ซึ่งถึงจะผ่านมานาน 10 กว่าปีแล้วก็ตาม ตอนนี้ถ้ามีข่าวลือเรื่องสึนามิเมื่อไหร่ อ่าวไทยก็คงจะถูกพ่วงไปด้วยเหมือนเดิม

จะว่าไปที่เราเรียกสึนามิว่าสึนามิก็เพราะว่าสึนามิเป็นคลื่นน้ำที่มีลักษณะเฉพาะตัว และความเฉพาะตัวนั้นก็สร้างภัยพิบัติได้รุนแรงกว่าคลื่นน้ำปกติ ดังนั้นสึนามิจึงแตกต่าง ซึ่งสาเหตุการเกิดสึนามิหลักๆ นักวิทยาศาสตร์บอกว่ามี 4 สาเหตุ คือ 1) อุกกาบาตตกกลางน้ำ  2) ดินถล่มใต้น้ำ 3) ภูเขาไฟปะทุใต้น้ำ และ 4) การเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศในแนวดิ่งอย่างทันทีทันใดใต้น้ำ (ที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวไปพร้อมๆ กัน)

มัดรวมสาเหตุการเกิดสึนามิ

เมื่อเกิดแผ่นดินไหวและมีสึนามิตามมา จริงๆ แล้วแผ่นดินไหวไม่ได้ทำให้เกิดสึนามิ แต่ทั้งแผ่นดินไหวและสึนามิเปิดพร้อมๆ กัน จากการเลื่อนตัวในแนวดิ่งของแผ่นเปลือกโลกอย่างทันทีทันใด

อันที่จริงก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าฝั่งทะเลอันดามันของไทยเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติสึนามิ เพราะฝั่งอันดามันหันหน้าประจันกับ เขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน (Sumatra-Andaman Subduction Zone) ซึ่งมักเกิดแผ่นดินไหวและมีการเลื่อนตัวของภูมิประเทศในแนวดิ่งอยู่บ่อยๆ และจากผลการสำรวจและวิจัยของ Jankaew และคณะ (2008) ก็ยืนยันว่าสึนามิในปี พ.ศ. 2547 ไม่ใช่สึนามิโทนหรือครั้งแรก เพราะหลักฐานทางธรณีวิทยาที่พบบอกว่ามีก่อนหน้านั้นอีก 2-3 ครั้งก่อนที่เราจะเกิด แต่ถ้าลองมองมาที่อ่าวไทย ปัจจัยการเกิดสึนามิมันก็จะคนละตัวคนละระบบกัน บทความนี้จึงตั้งใจที่จะยี ขยี้ ตีแผ่โอกาสหรือความเป็นไปได้ที่สึนามิจะขึ้นฝั่งอ่าวไทย ตีโปร่งกันสุดๆ เอาแบบถึงจะแทบเป็นไปไม่ได้ ก็จะเอามาให้ดู

อุกกาบาตตกกลางน้ำ

จะว่าเป็นไปไม่ได้ก็ไม่เชิงเพราะจากฐานข้อมูลสึนามิที่บันทึกได้จากหน่วยงาน โนอา (National Oceanographic and Atmospheric Administration, NOAA) รายงานว่า ในวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2553 มีอุกกาบาตตกกลางทะเลรอยต่อของเกาะบอร์เนียวและตอนใต้ของหมู่เกาะฟิลิปปินส์

ผลคือทำให้เกิดสึนามิสูงประมาณ 20 เมตร ซัดเข้าชายฝั่งในแถบนั้น นั่นแสดงว่าการเกิดสึนามิจากการตกกระทบของอุกกาบาตไม่ใช่เรื่องไกลตัว ถึงแม้ว่าโอกาสจะน้อยก็ตาม แต่จะว่าไปเรื่องอุกกาบาต พื้นที่ไหนๆ ของโลกก็เสี่ยงพอกัน ถือซะว่าถัวๆ กันไป ถ้วนทั่วโลก

แผนที่ภูมิภาคอาเซียนแสดงตำแหน่งที่สึนามิเคยซัดขึ้นฝั่ง (จุดเล็กสีน้ำเงิน) และตำแหน่งแหล่งกำเนิดสึนามิชนิดต่างๆ (วงกลม) สีเทา = แผ่นดินไหว สีแดง = ภูเขาไฟ สีเขียว = ดินถล่ม สีม่วง = อุกกาบาต และสีเหลือง = ไม่่รู้สาเหตุ (ข้อมูล : โนอา)

ดินถล่มใต้น้ำ

จริงๆ แล้ว ภูมิภาคอาเซียนบ้านเราเกือบทั้งหมดเกิดขึ้นมาเมื่อประมาณ 2.6 ล้านปีที่แล้ว และจากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับยุคน้ำแข็งครั้งล่าสุด (115,000–11,700 ปีก่อน) ยืนยันว่าถ้าน้ำทะเลลดลง (ไปกองกันเป็นน้ำแข็งอยู่ที่ขั้วโลก) เกาะแก่งต่างๆ ที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันเคยเชื่อมต่อเป็นผืนดินเดียวกันทั้งหมด เรียกว่า ซุนดาแลนด์ (Sundaland) โดยพื้นที่อ่าวไทยในตอนนั้นเป็นพื้นที่ราบเหมือนกับภาคกลางของไทยในตอนนี้ ก็แค่ปัจจุบันแข็งที่เคยกองอยู่ที่ขั้วโลกบางส่วนละลายลงมหาสมุทร แล้วทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ดังนั้นด้วยความที่อ่าวไทยเคยเป็นที่ราบซึ่งมีความชันของพื้นที่ต่ำมาก โอกาสเกิดดินถล่มใต้น้ำในอ่าวไทยจึงค่อนข้างจะเป็นไปได้น้อย

ซุนดาแลนด์ เมื่อประมาณ 115,000–11,700 ปีก่อน (ที่มา : https://twitter.com/simonjgreenhill)

ซึ่งจากข้อมูลของโนอาจะเห็นว่ามีแค่สึนามิเหตุการณ์เดียวที่ถูกยืนยันว่าเกิดจากดินถล่มใต้น้ำบริเวณใต้เกาะสุลาเวสี และเมื่อลองเข้าไปดูใกล้ๆ ในรายละเอียด ก็จะพบว่าเป็นแค่สาเหตุหรือปัจจัยในท้องถิ่นที่ทำให้พื้นที่นั้นชันเป็นพิเศษและเกิดดินถล่มได้ ก็ยังคงยืนยันเหมือนเดิมว่าโอกาสเกิดสึนามิในอ่าวไทยจากสาเหตุดินถล่มใต้น้ำมีเปอร์เซ็นต์น้อย

ภูเขาไฟปะทุใต้น้ำ

จากสถิติการเกิดสึนามิเพราะภูเขาไฟระเบิดในแถบอาเซียน ก็ถือว่ามีไม่น้อยเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่มักเกิดอยู่ในทะเลแคบๆ ซึ่งเป็นช่องว่างระหว่างหมู่เกาะฟิลิปปินส์และหมู่เกาะอินโดนีเซีย ทำให้สึนามิที่เกิดขึ้นจากภูเขาไฟส่งผลกระทบในพื้นที่แคบๆ ในระแวกนั้น ไม่ค่อยกินวงกว้างมากนัก ตัวอย่างเช่นเหตุการณ์สึนามิจากกการประทุและถล่มของภูเขาไฟกรากาตัวที่อยู่ระหว่างท้ายเกาะสุมาตราและเหนือเกาะชวา (V1 ในรูป) เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ทำให้พื้นที่ชายฝั่งโดยรอบช่องแคบซุนดาถูกสึนามิซัด ซึ่งมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 426 คนและบาดเจ็บกว่า 14,059 คน

แผนที่ภูมิภาคอาเซียนแสดงตำแหน่งที่สึนามิเคยซัดขึ้นฝั่ง (จุดเล็กสีน้ำเงิน) และตำแหน่งภูเขาไฟมีพลัง (สามเหลี่ยมสีแดง) ในภูมิภาคอาเซียน

แต่ถ้าจะดูตำแหน่งของภูเขาไฟมีพลังแถบบ้านเราที่มีโอกาสสร้างสึนามิเข้าอ่าวไทยได้ถ้าประทุหรือถล่ม ก็เห็นจะมีอยู่ 2 ลูก (V2-V3 ในรูป) คือ ภูเขาไฟทางตะวันตกของเกาะบอร์เนียวและกลุ่มภูเขาไฟทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม ซึ่งจากการสืบค้นประวัติโดยละเอียดก็พบว่าไม่ค่อยมีความดุร้ายเท่าไหร่นัก และไม่ค่อยมีประวัติการปะทุที่รุนแรงเป็นล่ำเป็นสัน ดังนั้นก็วางใจได้ในระดับหนึ่งว่าภูเขาไฟพวกนี้ไม่น่าจะทำให้เกิดสุนามิถึงอ่าวไทยหรือถ้าทำได้ก็คงไม่ถึงกับเป็นภัยพิบัติ

Ile des Cendres เป็นกลุ่มของภูเขาไฟใต้ทะเล นอกชายฝั่งทางใต้ของเวียดนาม (V3 ในรูป) ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2466 เคยประทุมาหนึ่งครั้งและทำให้เกิดเป็นเกาะโผล่พ้นน้ำ แต่หลังจากนั้นในเดือนพฤษภาคม (2 เดือน) ก็ถูกคลื่นซัดผุพังและก็กลายเป็นภูเขาไฟใต้ทะเลเหมือนเดิม

ภูมิประเทศใต้น้ำเลื่อนตัวในแนวดิ่ง

ตามทฤษฎีทาง ธรณีแปรสัณฐาน (tectonic) โอกาสเกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศในแนวดิงใต้น้ำส่วนใหญ่มักจะเกิดในบริเวณขอบของแผ่นเปลือกโลกที่มีการชนและมุดกัน ซึ่งสึนามิที่เคยเกิดทางฝั่งทะเลอันดามันของไทยก็เกิดจาก เขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน (Sumatra-Andaman Subduction Zone) แต่ในระแวกใกล้ๆ อ่าวไทยไม่ใช่ขอบของแผ่นเปลือกโลกและไม่น่าจะเกิดอะไรทำนองนั้น

แต่ถ้าจะให้พิจารณาเขตมุดตัวของเปลือกโลกทั้งหมดที่มีอยู่ในอาเซียน ซึ่งถ้าเกิดแผ่นดินไหวและมีการเคลื่อนตัวของภูมิประเทศในแนวดิ่งก็มีโอกาสสร้างสึนามิเดินทางมาที่อ่าวไทยได้ พบว่ามีอยู่ 2 ตัว คือ ร่องลึกก้นสมุทรปาลาวัน (Palawan Trench) แต่จากการศึกษาของ Pailoplee และ Boonchaluay (2016) พบว่าเขตมุดตัวปาละวันเป็นเขตมุดตัวเก่าที่ไม่ค่อยจะมีกิจกรรมทางธรณีแปรสัณฐานมากนัก คือแถบไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวเลยในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา

และอีกตัวที่มองแล้วว่าพอมีโอกาสเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดสึนามิเข้าอ่าวไทยก็น่าจะเป็น ร่องลึกก้นสมุทรมะนิลา (Manila Trench) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศฟิลิปปินส์ โดยผลจากการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ Ruangrassamee และ Saelem (2009) พบว่าถ้าเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.5 ที่ร่องลึกก้นสมุทรมะนิลา สึนามิจะมาถึงอ่าวไทยด้วยความสูงประมาณ 20 เซนติเมตร แต่ถ้าเกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.0 สึนามิในอ่าวไทยจะสูงสุด 50 เซนติเมตร จึงสรุปว่าสึนามิอาจเกิดขึ้นได้ในเชิงสาเหตุของเขตมุดตัวหรือร่องลึกก้นสมุทรมะนิลา แต่ถามว่าถือเป็นภัยพิบัติไหม ก็คงไม่ใช่

แผนที่แสดงความสูงของสึนามิในอ่าวไทยถ้าเกิดแผ่นดินไหวที่ร่องลึกก้นสมุทรมะนิลา (ซ้าย) แผ่นดินไหวขนาด 8.5 (ขวา) แผ่นดินไหวขนาด 9.0 (Ruangrassamee และ Saelem, 2009)

ก็อย่างที่บอกล่ะครับว่าถ้าเกิดแผ่นดินไหวใหญ่แถวฝั่งอันดามันของไทยเมื่อไหร่ คนไทยก็จะนึกถึงสึนามิ และเมื่อนึกถึงสึนามิ อ่าวไทยก็จะถูกพูดถึงเป็นระยะๆ ซึ่งถ้าอ่าวไทยเสี่ยงสึนามิจริงๆ มันก็คุ้มที่จะไม่เอาความเสี่ยงของชีวิตไปแลกกับเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง แต่จากการยีประเด็นความเสี่ยงการเกิดสึนามิในอ่าวไทยของบทความนี้ ก็น่าจะเห็นแล้วว่าโอกาสน่ะมี แต่โอกาสที่มีน่ะโคตรน้อย อย่าพะวงไปเลยครับ เที่ยวอ่าวไทยกันให้สนุก ผมอุตส่าห์ยกหลักฐานมาเล่ามาอ้างขนาดนี้ ก็หวังแค่นี้ล่ะครับ

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share:
Slot Toto Slot Gacor Maxwin slot thailand slot toto slot resmi slot thailand slot qris slot gacor maxwin slot gacor maxwin Slot Gacor Maxwin Slot Gacor Maxwin 2024 Situs Slot Gacor 777 Situs Slot Gacor Toto Slot Gacor 2024 Maxwin Slot Gacor Terbaik Slot Gacor 4D Slot Gacor Terpopuler slot gacor maxwin slot toto gacor scatter hitam slot thailand slot777 slot maxwin slot thailand slot toto gacor slot gacor 777 Slot Gacor Thailand slot88 maxwin slot thailand 2024