ข้อย้อนแย้ง ธรณีวิทยา-โบราณคดี : กรณีวัดแสนตุ่ม อ. เขาสมิง จ. ตราด
วัดแสนตุ่ม หรือ วัดเขาโต๊ะโม๊ะ อ. เขาสมิง จ. ตราด คือหนึ่งในแหล่งโบราณคดี ที่ทางกรมศิลปากรได้ประกาศและขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเอาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 ในนาม เมืองเก่าแสนตุ่ม ซึ่งลักษณะโดยทั่วไปของพื้นที่ คือสภาพเนินลูกโดด ตั้งตระหง่านอยู่กลางพื้นที่ราบภายในวัด โดยความสูงของเนิน ประเมินด้วยสายตา กะได้คร่าวๆ ว่า 5-10 เมตร และมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20 เมตร
จากการขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร บวกกับชุดข้อมูลที่ว่าในรัศมี 5 กิโลเมตร พบหลักฐานการมีอยู่ ของกลุ่มคนในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ (พบเครื่องมือหิน เครื่องปั้นดินเผา พระพุทธรูป) ชาวบ้านในละแวกนั้นจึงเชื่ออย่างสนิทใจว่า วัดแสนตุ่ม คือแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในพื้นที่ แต่จากการลงสำรวจพื้นที่ พบว่าเนินทั้งเนินเป็นหินแข็งสีดำอมเขียว มีความเป็นแท่งรูปหลายเหลี่ยมคล้ายเสา ซึ่งในทางธรณีวิทยา หินแข็งที่ว่าคือ หินบะซอลต์ (basalt) ที่เกิดจากการแทรกดันและปะทุขึ้นมาของลาวาในอดีต
โต๊ะโม๊ะ ภาษาเขมร แปลว่า ภูเขา หรือ เนินสูง
นักวิชาการบางท่านให้ความเห็นว่า คำว่า โต๊ะโม๊ะ อาจมาจาก ภาษาชอง ที่แปลว่า ยุ้งฉาง หรือ ที่สำหรับเก็บของ ทำให้ชาวบ้านในท้องที่ แปลความเพิ่มเติมต่อไปว่า เขาโต๊ะโม๊ะ อาจจะเป็นที่เก็บทรัพย์สมบัติของคนโบราณในอดีต
เมื่อนักธรณีวิทยามาเยือน
ด้วยความที่เป็นแหล่ง หินอัคนี (igneous rock) ที่น่าสนใจในทางธรณีวิทยา ทำให้ในอดีตที่ผ่านมา นักธรณีวิทยาจำนวนไม่น้อย ได้แวะเวียนไปชมพื้นที่แห่งนี้ ทั้งในมิติของการวิจัย และการเรียนการสอนของนิสิตนักศึกษา ซึ่งเมื่อมาพบป้ายประวัติ และการสถาปนาความเป็นโบราณสถาน บวกกับองค์ความรู้ทางธรณีวิทยาที่มีอยู่ ทำให้นักธรณีวิทยาบางท่านเกิดความเข้าใจคาดเคลื่อน ในเรื่องเจตนาและหลักคิดในการแปลความหมาย หลายครั้งที่ผู้เขียนได้ยินคำพูดประมาณว่า
“ มันเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติทางธรณีวิทยา นักโบราณคดีคงจะเห็นหินเหมือนเสาตั้งเรียงราย ก็เลยจะคิดว่าเป็นเสาบ้านเสาเรือนโบราณกระมัง ถึงได้แปลความว่าเป็นแหล่งโบราณคดี ”
หนักข้อเข้า ลามกันไปจนถึงในโลกโซเชียล ที่ทุกครั้งเมื่อมีการโพสต์ถึง เมืองเก่าแสนตุ่ม ก็จะมีคอมเม้นต์ประมาณว่า …
“ โบราณสถานเขาโต๊ะโม๊ะ ที่คาดว่าสร้างขึ้นในสมัยก่อนพุทธกาล ม้นคือ columnar jointing ลาวาภูเขาไฟเย็นตัวลงเป็นหกเหลี่ยม ไม่ใช่โบราณสถาน ไปถามกรมทรัพยากรธรณีนู่น หน่วยงานรัฐช่างไม่รู้อะไรเลย กำ ”
ที่มา : FB
และด้วยความที่แทบจะไม่เคยได้พบกันสักทีในพื้นที่ ระหว่างนักโบราณคดีและนักธรณีวิทยา ทำให้การแปลความความเป็นโบราณสถาณของ เมืองเก่าแสนตุ่ม กลายเป็นข้อย้อนแย้งในการตีความ ระหว่างธรณีวิทยา-โบราณคดี มาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งเอาเข้าจริง จากที่ผู้เขียนได้มีโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทั้งสองฝั่งวิชาชีพ สรุปแล้ว เรื่องนี้ไม่มีอะไรในกอไผ่เลยจริงๆ 😁
มองมุมธรณีวิทยา
ธรณีวิทยาของ เมืองเก่าแสนตุ่ม ลักษณะของหินที่แตกเป็นรูปหลายเหลี่ยมคล้ายเสา เรารู้จักกันดีว่าคือหนึ่งในรูปแบบ โครงสร้างทางธรณีวิทยา (geological structure) ที่เรียกว่า เสาหินเหลี่ยม (columnar joint) ที่เป็นปรากฏการณ์การแตกอย่างเป็นระบบของมวลหิน อันเนื่องมาจากการหดตัวของเนื้อหิน ในช่วงที่ลาวานั้นเย็นตัวกลายเป็นหินอัคนี คล้ายกับการเกิด ระแหงโคลน (mudcrack) เมื่อน้ำแห้ง โคลนหดตัวเพราะแห้ง ส่วนหินหดตัวเพราะเย็นลง โดยรายละเอียดทางธรณีวิทยาของตัวละคร เสาหินเหลี่ยม (columnar joint) สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากลิงค์ด้านล่างนะครับ เพิ่มเติม : ธรณีวิทยา เสาหินเหลี่ยม
มองมุมโบราณคดี
จากการได้เคยพูดคุยกับนักโบราณคดีรุ่นใหญ่หลายท่าน ผู้เขียนได้รับคำอธิบายว่า นักโบราณคดีทราบอยู่แล้วนะครับว่า ลักษณะของหินที่เป็นเสาแบบนี้ เป็นปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาที่เรียกว่า เสาหินเหลี่ยม (columnar joint) และเหตุผลของการแปลความว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งโบราณคดี ก็ไม่ใช่เพราะ คิดว่า เสาหินเหลี่ยม เป็น เสาบ้านโบราณ แต่เพราะ …
1) มีการนำเสาหินเหลี่ยม (ที่ทราบดีว่าเกิดจากธรรมชาติ) นำมาเรียงกันใหม่ วางซ้อนกันคล้ายกับเป็น เทวสถานหรือสถานที่สักการะบูชา และ 2) พื้นที่โดยรอบเนินไม่ได้พบเฉพาะเสาหินเหลี่ยมที่นำมาจัดวางใหม่เท่านั้น แต่ยังพบหลักฐานของวัสดุอื่นๆ ที่บ่งชี้ว่าเป็นกิจกรรมของมนุษย์ เช่น ศิลาแลง และวัสดุคล้ายปูนปั้น กระจายตัวอยู่ทั่วพื้นที่ ซึ่งด้วยเหตุผล 2 ข้อนี้ ในทางโบราณคดีจึงประเมินว่านี่คือโบราณสถาน จึงขึ้นทะเบียน เมืองเก่าแสนตุ่ม เป็นโบราณสถาน ดังที่ติดป้ายประกาศพร้อมประวัติอยู่หน้าทางขึ้นเนินนั้น
เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้ นะครับผม
เพิ่มเติม : ฤา หินบะซอลต์ เขาพนมรุ้ง-ปลายบัด จะเคยผ่านมือชาย
เพิ่มเติม : วัสดุแปลกปลอม กลางป่าพนมรุ้ง
. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth