เรียนรู้

การคดโค้งโก่งงอของหิน

ชั้นหินคดโค้ง (fold) คือ โครงสร้างทางธรณีวิทยาที่เกิดจากหินถูกแรงเค้นทางธรณีแปรสัณฐานแบบบีบอัด (compressional stress) ทำให้หินเกิดความเครียดแบบหดสั้นลง และเกิดการคดโค้ง โดยส่วนใหญ่เกิดตามขอบแผ่นเปลือกโลกที่มีการเคลื่อนที่เข้าหากัน และเป็นโครงสร้างโดยส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดแนวเทือกเขา และเพื่อที่จะจำแนกรูปร่างและการวางตัวของชั้นหินคดโค้งในรายละเอียด นักธรณีวิทยาจึงกำหนดส่วนประกอบที่สำคัญต่างๆ ของชั้นหินคดโค้งไว้อย่างน้อย 5 ส่วน

1) จุดพับ (hinge point) และ เส้นพับ (hinge line) คือ จุดและเส้นที่แสดงค่าการโค้งของชั้นหินคดโค้งมากที่สุด

2) ระนาบแกนคดโค้ง (axial plane) คือ ระนาบที่แบ่งชั้นหินคดโค้งออกเป็นสองส่วนเท่าๆกัน

3) แขนการโค้งตัว (limb) คือ แขนทั้งสองข้างของชั้นหินคดโค้ง

4) แกนคดโค้ง (fold axis) คือ แกนที่แบ่งการคดโค้งออกเป็นสองส่วนเท่าๆกัน เป็นเส้นที่ตัดขวางส่วนที่โค้งที่สุดของชั้นหินคดโค้ง

5) มุมกด (plunge) คือ มุมเอียงเท (dip angle) ที่กวาดจากเส้นพับ (hinge line) ไปยัง เส้นพับมุมกด (plunging hinge line)

ส่วนประกอบของชั้นหินคดโค้ง (ที่มา : http://hkss.cedd.gov.hk)

ชั้นหินคดโค้งทั่วไป

ในเบื้องต้นชั้นหินคดโค้งที่พบบ่อยแบ่งย่อยเป็น 2 ชนิดหลัก คือ

1) ชั้นหินคดโค้งปะทุนคว่ำ (anticline) คือ การโค้งงอที่แขนทั้งสองข้างเอียงเทออกจากกัน

2) ชั้นหินคดโค้งปะทุนหงาย (syncline) คือ การโค้งงอที่แขนทั้งสองข้างของแนวการคดโค้งเอียงเทเข้าหากัน

แบบจำลองการเกิดชั้นหินคดโค้งปะทุนคว่ำและชั้นหินคดโค้งปะทุนหงาย
(ซ้าย) ชั้นหินคดโค้งปะทุนคว่ำ (ขวา) ชั้นหินคดโค้งปะทุนหงาย (ที่มา : www.usgs.gov; www.lumenlearning.com)

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนใหญ่ในธรรมชาติ ชั้นหินคดโค้งมักจะมีการเอียงเท หรือมีเส้นพับมุมกด (plunging hinge line) นักธรณีวิทยาจึงแบ่งย่อยและเรียกชั้นหินคดโค้งที่มีเส้นพับมุมกดว่า 3) ชั้นหินคดโค้งเอียง (plunging fold) ซึ่งจะเป็นประทุนหงายหรือประทุนคว่ำก็ขึ้นอยู่กับการวางตัวของชั้นหิน

แบบจำลองการเกิดชั้นหินคดโค้งเอียง
(ซ้าย) ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงชั้นหินคดโค้งเอียงของเทือกเขาแอฟพาลาเชียน ทางตะวันออกของสหรัฐอเมริกา (ขวา) ภาพถ่ายมุมสูงของภูเขาแกะ (Sheep Mountain) รัฐไวโอมิง สหรัฐอเมริกา แสดงชั้นหินคดโค้งเอียง (ที่มา : www.geologyin.com)

ชั้นหินคดโค้งทรงกลม

นอกจากชั้นหินคดโค้งปะทุนคว่ำและชั้นหินคดโค้งปะทุนหงายที่เกิดจากแรงเค้นเข้ามากระทำ 2 แนวในทิศทางตรงกันข้ามกัน ในบางกรณีหากชั้นหินถูกแรงเค้นกระทำทุกทิศทาง ชั้นหินสามารถเปลี่ยนรูปเป็นทรงกลมได้ เรียกว่า ชั้นหินคดโค้งทรงกลม (circular fold) ซึ่งโดยส่วนใหญ่พบเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่มากระดับภูมิภาค ซึ่งแบ่งย่อยชั้นหินคดโค้งทรงกลมได้ 2 รูปแบบ

แบบจำลองแสดงชั้นหินคดโค้งแบบโดมและแอ่ง

4) โดม (dome) เกิดจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกในแนวดิ่ง ทำให้แผ่นดินโค้งลง ชั้นหินคดโค้งเอียงเทเข้าหาใจกลางทุกทิศทา งหินที่มีอายุแก่อยู่ด้านในของโดม และหินที่มีอายุอ่อนอยู่ด้านนอกของโดม

5) แอ่งตะกอน (basin) เกิดจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกในแนวดิ่ง ทำให้แผ่นดินโค้งขึ้น แขนการคดโค้งเอียงเทเข้าหาใจกลางทุกทิศทาง หินที่มีอายุอ่อนอยู่ด้านในของแอ่ง และหินที่มีอายุแก่อยู่ด้านนอกของแอ่ง

ภาพถ่ายจากมุมสูงแสดงชั้นหินคดโค้งแบบ (ซ้าย) โดม และ (ขวา) แอ่ง

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: