สำรวจ

กาลครั้งหนึ่งนานมากแล้ว ภูเก็ต . เพชรบุรี เคยอยู่ใกล้ขั้วโลก

ธารน้ำแข็ง – ถ้าได้กางแผนที่ประเทศไทยดูก็จะรู้ว่า ปัจจุบันภูเก็ตและเพชรบุรีตั้งอยู่ในละติจูดประมาณ 8-10 องศาเหนือ ซึ่งถือว่าเป็นละติจูดที่ต่ำมากและอยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์มากกว่าประเทศอื่นๆ โดยส่วนใหญ่ ทำให้สภาพอากาศของทั้งภูเก็ตและเพชรบุรี ก็อย่างที่เรารู้กันในปัจจุบันว่ามันร้อนแถมชื้น แต่ใครจะไปรู้ว่า ในอดีต (นานมากแล้ว) ทั้งภูเก็ตและเพชรบุรีเคยอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากขั้วโลก

ซึ่งหลักฐานที่ใช้ยืนยันคำกล่าวนี้ ก็ไม่ใช่ซากเพนกวิน หรือฟอสซิลแมมมอธ หมีขาวแต่อย่างใด แต่กลับเป็นหลักฐานทาง ตะกอนวิทยา (sedimentology) ที่นักธรณีวิทยาได้ใช้แปลความ บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ของโลกมาหลายยุคหลายสมัย

หินนิรสถาน (diamictiteหรือ drop stone หรือ pebbly mudstone) คือ หินตะกอนเนื้อเม็ด ที่มี เม็ดกรวด (pebble) หลากหลายขนาด ฝังอยู่ในตะกอนส่วนใหญ่ที่มีขนาด โคลน (mud) ขนาด โคลน (mud) ขนาด โคลน (mud) ย้ำอีกที ขนาด โคลน (mud) 🙂

การเดินทางของเม็ดตะกอน

โดยธรรมชาติ ตะกอนบริเวณภูเขาสูง ซึ่งเป็นต้นทางหรือต้นน้ำจะมีขนาดใหญ่ เหลี่ยมมุมมากคัดขนาดไม่ดี และเมื่อถูกพัดพาไปยังปลายน้ำตะกอนจะมีขนาดเล็กลง มีการคัดขนาดดีขึ้น และถูกขัดสีระหว่างพัดพาจนมีความกลมและมนมากขึ้น โดยจากหลักการดังกล่าวประเมินได้ว่า 1) ตะกอนกรวดขนาดใหญ่ ที่ออกมาจากร่องเขา ช่วงต้นการเดินทางของตะกอน 2) ตะกอนขนาดทราย บริเวณธารน้ำโค้งตวัด ซึ่งเป็นช่วงกลางน้ำ 3) ตะกอนขนาดดิน บริเวณปากแม่น้ำ ติดกับทะเล และ 4) ตะกอนขนาดโคลน พี่เดินทางมาไกลไหลลงไปสู่กลางมหาสมุทร

แบบจำลองการคัดขนาดตะกอนในบริเวณต่างๆ ตามธารน้ำ ต้นน้ำ ตะกอนมีขนาดใหญ่ ความกลมมนน้อย และการคัดขนาดไม่ดี ส่วน ปลายน้ำ ตะกอนมีขนาดเล็ก ความกลมมนสูง และมีการคัดขนาดดีเยี่ยม

เพิ่มเติม : 5 หลักการ แยกแยะและแปลความการเดินทางของ “เศษหิน”

ธารน้ำแข็ง พื้นทวีป

ธารน้ำแข็งพื้นทวีป (continental glacier) คือ ธารน้ำแข็งที่เกิดบนพื้นราบแต่มีอุณหภูมิต่ำเพียงพอต่อกระบวนการเกิดธารน้ำแข็ง พบเฉพาะใน 2 พื้นที่เท่านั้น คือ 1) เกาะกรีนแลนด์ (ขั้วโลกเหนือ) และ 2) ทวีปแอนตาร์กติก (ขั้วโลกใต้) โดยนักธรณีวิทยาแบ่งย่อยธารน้ำแข็งพื้นทวีปออกเป็น 3 รูปแบบ

ภาพถ่ายดาวเทียมแสดง เกาะกรีนแลนด์ (ขั้วโลกเหนือ) และ ทวีปแอนตาร์กติก (ขั้วโลกใต้) 
  • พืดน้ำแข็ง (ice sheet) เป็นธารน้ำแข็งพื้นทวีปที่มีพื้นที่กว้างที่สุด ครอบคุลมพื้นที่กว้างกว่า 1 ล้านตารางกิโลเมตร และมีความหนามากกว่า 1 กิโลเมตร
  • ทุ่งน้ำแข็ง (ice field) มีธารน้ำแข็งปกคลุมน้อยกว่า 5,000 ตารางกิโลเมตร เกิดจากการแยกและเคลื่อนตัวของมวลน้ำแข็งบางส่วนออกมาจากพืดน้ำแข็ง ซึ่งโดยส่วนใหญ่เกิดบริเวณปลายด้านล่างของธารน้ำแข็ง
  • ลาดน้ำแข็ง (ice shelve) เกิดจากแรงกดทับของธารน้ำแข็งที่มีมากขึ้น ทำให้ธารน้ำแข็งถูกดันให้ไหลลงไปในมหาสมุทร มีบางส่วนแตกหลุดออกและลอยอย่างอิสระ ซึ่งหากมวลน้ำแข็งที่หลุดออกมามีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่า 15 เมตร และลอยเหนือน้ำสูงกว่า 6 เมตร เราเรียกว่า ภูเขาน้ำแข็ง (iceberg)
ส่วนย่อยต่างๆ ของธารน้ำแข็งพื้นทวีป
แบบจำลองการเกิดส่วนต่างๆ ของธารน้ำแข็งพื้นทวีป

และด้วยความที่เป็นน้ำแข็ง ภูเขาน้ำแข็ง (iceberg) สามารถอมตะกอนหลากหลายขนาดรวมทั้งตะกอนขนาดกรวด ลอยไปกับภูเขาน้ำแข็งนั้นได้ตามแต่ภูเขาน้ำแข็งจะไป และเมื่อลอยออกไปกลางมหาสมุทร ซึ่งมีละติจูดต่ำลง มีอุณหภูมิสูงขึ้น (เพราะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น) ภูเขาน้ำแข็งก็จะละลายลง และเมื่อภูเขาน้ำแข็งละลาย ตะกอนที่อมมาด้วยจะหลุ่มและจมตัวลงพื้นมหาสมุทร ซึ่งก็อย่างที่บอกโดยปกติพื้นมหาสมุทรมีการสะสมตัวของตะกอนขนาดดินหรือโคลนเป็นหลัก ทำให้เกิดเป็นหินตะกอนขนาดกรวดที่อยู่ในเนื้อโคลนดังกล่าว

ลักษณะการสะสมตัวของก้อนกรวด หากมองในรายละเอียด จะพบว่ามีลักษณะการบิดเบี้ยวของชั้นตะกอนโคลน อันเนื่องมาจากน้ำหนักของกรวด ที่ตกลงใส่ชั้นโคลนที่ยังไม่แข็งตัว

ซึ่งจากการสังเกตภูเขาน้ำแข็งในปัจจุบันนักธรณีวิทยาประเมินว่ามีภูเขาน้ำแข็งเคลื่อนลงมาที่ละติจูดต่ำไม่มากก็จะละลายหายไปจนหมดนั่นหมายความว่าการเจาะจงของเศษหินก็คงจะไม่ไกลจากแถบขั้วโลกเท่าไหร่นะอย่างน้อยน้อยก็พูดได้เต็มปากเต็มคำว่า อยู่ที่ภูมิอากาศหนาวหรือที่ละติจูดสูง

หินนิรสถาน (diamictite หรือ drop stone หรือ pebbly mudstone) คือ หินตะกอนเนื้อเม็ด ที่มี เม็ดกรวด (pebble) หลากหลายขนาด ฝังอยู่ในตะกอนส่วนใหญ่ที่มีขนาด โคลน (mud) ขนาด โคลน (mud) ขนาด โคลน (mud) ย้ำอีกที ขนาด โคลน (mud) 🙂

จากการสำรวจและศึกษาของนักธรณีวิทยา (เช่น Ampaiwan, 2009) พบเห็นหินนิรสถานเด่นๆ อยู่ 2 พื้นที่ คือ 1) บริเวณทางน้ำล้น หรือ สปิลเวย์ (spillway) ของ เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และ 2) บริเวณ แหลมพันวา จุดชมวิวเขาขาด ทางตะวันออกเฉียงใต้ของ เกาะภูเก็ต รวมทั้งบริเวณ แหลมพับผ้า แหลมไม้ไผ่ บนเกาะสิเหร่ ทางตะวันออกของเกาะภูเก็ต รวมไปถึงพื้นที่ตามแนวเทือกเขาฝั่งตะวันตกของภาคใต้ของประเทศไทย ลากยาวไปจนถึงเกาะสุมาตราของประเทศอินโดนีเซีย ที่มีรายงานว่าพบหินจำนวกนี้

การแปลความทางธรณีวิทยาจึงอธิบายได้ว่า มีความเป็นไปได้ที่ในอดีต (ยุคคาร์บอนิเฟอรัส – Carboniferous หรือในช่วง 354 – 295 ล้านปีก่อน) ภูเก็ต และ เพชรบุรี รวมถึงพื้นที่ด้ามขวานของไทยเคยอยู่ใกล้ขั้วโลก และจากข้อมูลทางธรณีวิทยาอื่นๆ เช่น หลักฐานทางธรณีแปรสัณฐาน หลักฐานสนามแม่เหล็กโลกบรรพกาล อนุมานว่า เราน่าจะอยู่ใกล้กับ ขั้วโลกใต้

(ซ้าย) แผนที่ประเทศไทยและพื้นที่ข้างเคียงแสดงการกระจายตัวของหินนิรสถาน ที่มีการรายงานการค้นพบ (พื้นที่สีเทา) 1) เกาะภูเก็ต 2) อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี (ขวา) ภาพถ่ายและภาพสเก็ตของ หินนิรสถาน (diamictite) ที่ Ampaiwan (2009) ได้สำรวจและพบที่ แหลมพับผ้า แหลมไม้ไผ่ บนเกาะสิเหร่

และนี่ก็คือหลักฐานที่นักวิทย์ธรณีวิทยาเขาใช้ในการแปลความว่า กาลครั้งหนึ่งนานมากแล้ว ภูเก็ต-เพชรบุรี เคยอยู่ใกล้ขั้วโลก

เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้ หล่ะครับท่านผู้อ่าน

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: