อุลกมณี (tektite) ถ้าจะให้แปลเป็นไทย คนไทยเคยเรียกเอาไว้และเรียกได้หลายชื่อ เช่น อุลกมณี (นิยมเรียกที่สุด) อุกกามณี หยดน้ำฟ้า แก้วข้าว สะเก็ดดาว คดปลวก พลอยจันทรคราส หรือจะเรียกทับศัพท์แบบฝรั่งไปเลยก็ได้ว่า เทคไทต์ โดยหน้าตาอุลกมณีหรือเทคไทต์ทั่วๆ ไป ก็จะมีลักษณะเป็น ก้อนดำๆ กำถนัดมือ มีเนื้อแก้ว หลายสี (สีดำทึบพบได้มากที่สุด แต่สีน้ำตาล สีเขียวมะกอกก็มีได้) ผิวด้านนอกเป็นหลุมตะปุ่มตะป่ำ รูปทรงก็มีได้หลายแบบ

ชนิดเทคไทต์

ถ้าจะแยกแบบบ้านๆ ในสมัยก่อนชาวบ้านแถบชนบทเชื่อว่าอุลกมณีหรือเทคไทต์นั้น เป็นสะเก็ดดาวหล่นมาจากท้องฟ้า ซึ่งจากรูปลักษ์หรือรูปทรงที่พบเห็นเก็บได้ส่วนใหญ่ ก็จะมีอยู่แค่ 2 รูปทรง คือ แบบทรงกลมและแบบแท่ง ชาวบ้านจึงเชื่อว่าสะเก็ดดาวจากฟากฟ้า ก็น่าจะมีเพศเหมือนมนุษย์บนโลก จึงแบ่งให้เทคไทต์ที่มีรูปทรงเป็นแท่ง คือ อุลกมณีตัวผู้ และส่วนที่มีรูปร่างทรงกลมและที่เหลือ เรียกเป็น อุลกมณีตัวเมีย

(ก-ข) เทคไทต์กระเซ็นออสเตเลีย (Australian splash tektite)โดย (ก) เหม็นเทคไทต์ (ข) วู๊ววว เหม็นเทคไทต์ ส่วน (ค) เทคไทต์ชั้นเมืองaนอง (Muong Nong layered tektite)

อุกกาบาต (meteorite) คือ เทหวัตถุนอกโลก ตกลงมาบนโลก

อุลกมณี (tektite) คือ เศษหิน เศษดิน เศษทรายทั่วๆ ไป ที่อยู่บนโลกนี่แหละ แต่ช่วงที่มีอุกกาบาตพุ่งมาชนโลก ทรายหลอมละลาย สาดกระเซ็น เย็นและแข็งตัว กลางอากาศ แล้วตกลงสู่พื้นโลกดังเดิม

นอกจากนี้ในทางวิชาการแบ่งเทคไทต์ออกเป็น 2 ประเภทเช่นกัน แต่แบ่งตามลักษณะการเกิด หรือแยกเพื่อย้อนดูภาพตอนตก หรือแบ่งตามพื้นที่ที่สามารถพบเทคไทต์ชนิดนั้นๆ ได้แก่

1) เทคไทต์ชั้น (layered tektite) เป็นเทคไทต์ที่มีลักษณะเป็นแผ่นชั้นปื้นหนา ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าน่าจะเกิดจากการที่อุกกาบาตตกกระทบพื้นโลก โดยในพื้นที่ซึ่งมีการตกกระทบจะมีความดันสูงที่สุดขั้วอย่างทันทีทันใด บางครั้งเกิดการแปรสภาพหิน เรียกว่า การแปรสภาพเนื่องจากการตกกระทบของอุกกาบาต (impact หรือ shock metamorphism) แต่โดยส่วนใหญ่ หินที่ถูกตกกระทบเกิดการหลอมละลาย เกิดแร่ชนิดใหม่และเย็นตัวอย่างรวดเร็ว กลายเป็นเทคไทต์ชั้น หรืออีกนัยหนึ่งในการแปลความทางธรณีวิทยาการพบเทคไทต์ชั้น สื่อว่าตรงที่พบคือจุดที่อุกกาบาตตกกระแทก

แบบจำลองแสดงพื้นที่ที่มีการแปรสภาพเนื่องจากการตกกระทบของอุกกาบาตและความแตกต่างของระดับความดันเมื่อห่างจากพื้นที่ตกกระทบ (หน่วย GPa)

2) เทคไทต์กระเซ็น (splash tektite) เกิดจากเมื่ออุกกาบาตตกกระทบพื้นผิวโลก ทั้งไอระเหย เศษหินเกิดการหลอมละลาย และกระเซ็นกระจายไปทั่วโดยรอบหลุม ซึ่งในระหว่างที่เศษหินหลอมเหลวลอยละลิ่วอยู่บนอากาศ จะถูกอากาศปลุกปั่นให้เกิดรูปทรงต่างๆ ตามระยะทางหรือระยะเวลาที่ลอยอยู่บนอากาศก่อนที่จะแข็งตัวและตกลงสู่พื้น เกิดเป็นเทคไทต์กระเซ็น ที่มีรูปทรงแตกต่างกัน หรืออีกนัยหนึ่ง การพบเทคไทต์กระเซ็น แปลความในทางธรณีวิทยาได้ว่าน่าจะมีการตกกระทบของอุกกาบาตในละแวกนั้น

กลไกการตกกระทบและเกิดหลุมออุกาบาต

นอกจากนี้ เทคไทต์กระเซ็น ยังสามารถแบ่งแยกประเภทตามรูปทรงที่พบได้ ซึ่งแต่ละทรงก็สื่อถึงระยะเวลาที่ลอยเคว้งคว้างอยู่ในอากาศ หรือระยะห่างจากหลุมอุกกาบาตได้เป็นนัยๆ ได้แก่ 1) รูปทรงกลม เกิดใกล้กลับหลุมอุกกาบาตก้อนหินเหลวเดิมตกอย่างรวดเร็ว 2) รูปแท่ง ก้อนหินเหลวมีเวลาปั่นเป็นแท่ง เนื่องจากมีระยะเวลาลอยอยู่ในอากาศนานขึ้น และแปลความว่าตกไกลจากหลุมมากกว่าเทคไทต์กระเซ็นรูปทรงกลม 3) ดัมเบล เป็นพัฒนาการต่อเนื่องมาจากเทคไทต์กระเซ็นรูปแท่ง อันเนื่องมาจากเวลาที่ลอยอยู่ในอากาศนานขึ้นและระยะทางมากขึ้น

การเกิดเทคไทต์กระเซ็น ตามเวลาตอนล่องลอย

ซึ่งในเวลาต่อมา ตรงแกนกลางของเทคไทต์กระเซ็นรูปดัมเบลจะคอดเล็กลงเรื่อยๆ เมื่อให้เวลาอยู่ในอากาศนานขึ้น จนสุดท้ายดัมเบลขาดออกจากกันกลายเป็น 4) รูปหยดน้ำ และเทคไทต์กระเซ็นรูปทรงสุดท้าย ซึ่งพบได้ไม่บ่อยนัก 5) รูปถ้วย จริงๆแล้วคล้ายกับเทคไทต์กระเซ็นรูปทรงกลม จะแตกต่างกันตรงที่มีรูบุ๋มอยู่ตรงกลาง คล้ายกับเป็นถ้วยตะไลใบเล็กๆ ซึ่งในทางธรณีวิทยาแปลความว่าเทคไทต์กระเซ็นรูปถ้วย กระเซ็นไกลไปจากศูนย์กลางการตกกระทบของอุกกาบาตมากที่สุด

ชนิดเทคไทต์กระเซ็นแยกตามรูปทรง แต่ละแบบสื่อถึงความนานที่ลอยคว้างอยู่บนอากาศ ก่อนตกพื้น กลม เกิดใกล้ตกเร็ว แท่ง มีเวลาปั่นเป็นแท่ง ดัมเบล เวลานาน แท่งเริ่มแยกตัว หยดน้ำ ดัมเบลขาดอจากกัน

เพิ่มเติม : อุกกาบาต กับการโหม่งโลก

พื้นที่การไล่ล่าและสนนราคา

ถึงตรงนี้หลายคนคงนึกมันส์อยากไปล่าเทคไทต์ หรือมีเอาไว้ครอบครอง ถามว่าถ้าจะไปล่าเทคไทต์ถึงที่แหล่งด้วยมือตัวเองหาได้ที่ไหนบ้าง บอกเลยเทคไทต์พบกระจายตัวอยู่ตามที่ต่างๆ ของโลก 5 พื้นที่ใหญ่ๆ ได้แก่ 1) อเมริกาเหนือ 2) แอหริกาแถบไอเวอรี่โคสต์ 3) ออสเตรเลีย 4) ยุโรปตอนกลาง รวมถึง 5) ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บ้านเรา

แผนที่โลกแสดงการกระจายตัวของเทคไทต์ จะเห็นได้ว่ามี 4 กระจุกใหญ่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวิ้งเอเชียตะวันออกเชียงใต้และออสเตรเลียถือเป็นกระจุกที่ใหญ่ที่สุด (McCall, 2005)

ในประเทศไทยก็มีเทคไทต์เช่นเดียวกัน โดยพบมากแถบ จังหวัดอุบลราชธานี และมุกดาหาร ส่วนบุรีรัมย์ สุรินทร์และ โคราช พบบ้างประปราย ซึ่งส่วนใหญ่จะพบฝังอยุ่ตามชั้นทรายในแม่น้ำมูล

เรื่องสนนราคามูลค่าเทคไทต์ เอาจริงๆ เทคไทต์มีขายกันเกลื่อนทั้งออนไลน์ ไปจนถึงตามแผงพระในตลาดสดตลาดนัด ราคาใน ebay ก็เปิดอยู่ในช่วง หลักร้อย-หลักพัน ต่อให้เอามาเจียรนัย อัดกรอบ ขึ้นเรือน ราคาก็ยังอยู่ในช่วง หลักพัน-หลักร้อย ดังนั้นเทคไทต์ จึงหาใช่เหล็กไหลหลวงปู่เค็ม ราคาหลักล้านไม่ ยังไงก็อย่าหลงกล ตกเป็นเหยื่อของความเชื่อความศรัทธากันนะครับ เอาแค่พอประมาณในราคาจากความชอบพอในสีในสัน อย่าเผลอไปให้ราคากับความศักดิ์สิทธิ์หรืออภินิหารในเทคไทต์

กับเรื่องเล่าขาน ครั้งหนึ่งอุกกาบาตเคยโหม่งโลกแถบไทย-ลาว

อย่างที่เล่าไปว่า ประเทศไทยก็มีเทคไทต์กระจัดกระจายฝังตัวอยู่แถบภาคอีสานตะวันออก และก็ได้ข่าวว่าทางฝั่งลาว แถวๆ จำปาสัก สุวรรณเขต ก็พบเทคไทต์เช่นกัน พบกันเป็นล่ำเป็นสัน พบกันมานานแล้ว แต่ที่พบทั้งหมดนั้นเป็น เทคไทต์กระเซ็น (splash tektite) แสดงว่าที่เราพบๆ กัน เป็นแค่ได้ชื่อว่า ละแวกของตำแหน่งที่อุกกาบาตโหม่งโลก แล้วหลุมอุกกาบาตอยู่ตรงไหน ? คงอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล แถวๆ ไทยๆ ลาวๆ นี่แหละ มีใครเคยพบ เทคไทต์ชั้น (layered tektite) บ้างไหมเอ่ย ? คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่ยังคงค้างคาใจนักธรณีวิทยาทั้งไทยและเทศมานานกว่า 10-20 ปี หลายคนรวมทั้งผู้เขียน พยายามตามหาจากการสอดส่องจากห้วงอวกาศผ่าน ภาพถ่ายดาวเทียม (satellite image) แต่ก็ไม่เคยมีใครพบร่องรอยของหลุมอุกกาบาตเลยแม้แต่เงา จนกระทั่ง…

ทีมนักวิจัยหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งลาว ไทยและเทศ ได้เข้าไปสำรวจและพบว่าในพื้นที่ที่เรียกว่าที่ ราบสูงโบลาเวน (Bolaven Plateau) ที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศลาว มีหลักฐานที่สือได้ใกล้เคียงที่สุดว่า น่าจะเป็นหลุมอุกกาบาตที่เราเคยตามหากันในอดีต โดยเชื่อว่าก่อนหน้าที่อุกกาบาตจะตก พื้นที่แถบโบลาเวน เคยมีการไหลหลากของลาวาบะซอลต์ ซึ่งเมื่ออุกกาบาตตกกระทบ หลังจากนั้นก็มีลาวาชุดใหม่ไหลหลากเข้ามาปิดทับหลุมอุกกาบาตอีกที ก่อนที่ทุกอย่างจะดำเนินไปตามครรลองจนถึงปัจจุบัน

(ก) แผนที่แถบประเทศไทย-ลาว-กัมพูชา-เวียดนาม แสดงการกระจายตัวของ (จุด) เทคไทต์กระเซ็น และ (พื้นที่สีแดง) หินบะซอลต์ที่เคยไหลหลากในช่วงตอนปลายยุคซีโนโซอิก (ข) ที่ราบสูงโบลาเวนในประเทศลาว (ค) ภาพตัดขวางแสดงการวางตัวของเศษหินทรายและหินโคลนที่แตกออกมาจากหินเดิม (เชื่อว่าเกิดจากแรงกระแทกของอุกกาบาต) และถูกปิดทับด้วยฉชั้นดินในยุคหลัง จนถึงปัจจุบัน (Sieh และคณะ, 2019)

หลักฐานที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ยืนยันคือพบว่า 1) ชั้นหินที่อยู่เหนือลาวาไหลหลากบนสุดมีองค์ประกอบทางเคมีคล้ายกับเทคไทต์ 2) อายุลาวาด้านบนน้อยกว่า 790,000 ปีก่อน ส่วนลาวาด้านล่างอายุมากกว่า 790,000 ปี สอดคล้องกันดีในเชิงลำดับเวลา ที่ว่าอุกกาบาตตกประมาณ 790,000 ปีก่อน ก่อน 3) ผลการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ (สนามแรงโน้มถ่วงโลก) แสดงค่าความผิดปกติของสัญญาณ กระจายตัวให้เห็นในลักษณะที่เหมือนกับจะเป็นหลุมอุกกาบาต โดยมีพื้นที่ประมาณ 17 × 13 ตารางกิโลเมตร และ 4) พบเศษซากหินทรายและหินโคลนที่เหมือนกับแตกหลุดอย่างรุนแรงกระจายอยู่ทั่วในรัศมีกว่า 20 กิโลเมตร จากพื้นที่ที่คาดว่าเป็นหลุมอุกกาบาต

ด้วยหลักฐานที่นักวิทยาศาสตร์นำมาแสดงทั้ง 4 ข้อนี้ ทำให้สรุปในเบื้องต้นได้ว่า มีอุกกาบาตตกกระทบบริเวณที่ราบสูงโบลาเวน และหลังจากนั้นจึงมีการไหลหลากของลาวา มาปิดทับหลุมอุกกาบาตอีกที ซึ่งนี่ก็คือสาเหตุที่ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นหลุมอุกกาบาตได้จากภาพถ่ายดาวเทียม ซึ่งผลจากการกำหนดอายุหินบะซอลต์ สอดคล้องกันมากกับลำดับเวลาการเกิดก่อนหลัง ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงสรุปว่าที่ราบสูงบริเวณเป็นพื้นที่ที่อุกกาบาตตกกระทบเมื่อเวลา 790,000 ปีก่อน

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: