
นักธรณีวิทยา เขาบอกตำแหน่งและการวางตัวของวัตถุบนโลกแบบไหน
เมื่อนักสำรวจหรือนักธรณีวิทยาค้นพบอะไรบางอย่างและต้องการที่จะบอกตำแหน่งหรือการวางตัวของวัตถุ หรือตัวละครที่พิจารณานั้น นักธรณีวิทยามีวิธีการบอกเป็นหลักเป็นการ โดยอันดับแรกจะต้องแปลความหรือมองวัตถุหรือตัวละครนั้นให้อยู่ในเชิงเรขาคณิตเสียก่อน ว่าเป็น จุด เส้น ระนาบ หรือจะเป็น รูปทรง ที่มีปริมาตรหลังจากนั้นในแต่ละชนิดก็จะมีรูปแบบของการบรรยายหรือพรรณนาตำแหน่งและการวางตัวที่แตกต่างกัน ดังนี้
จุด (Point)
ในกรณีของวัตถุที่พิจารณาว่าเป็นจุด เช่น ตำแหน่งหมู่บ้านตำแหน่งภูเขาไฟ หรือ จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว ฯลฯ การบรรยายในเบื้องต้นจะเน้นไปที่การระบุตำแหน่งบนพื้นโลก ซึ่งตามหลักสากลทั่วไปนิยมบอกเป็นพิกัด ดังนี้
ลองจิจูด | ละติจูด | ความลึก | ปี | เดือน | วัน | ชั่วโมง | นาที | Mw | mb | Ms |
93.73 | 03.28 | 18 | 2005 | 07 | 27 | 14 | 05 | 4.6 | 5.0 | – |
92.60 | 09.18 | 41 | 2004 | 12 | 30 | 06 | 38 | 4.7 | 4.9 | – |
94.08 | 08.00 | 12 | 2005 | 01 | 30 | 03 | 44 | 4.7 | 5.0 | – |
96.05 | 19.61 | 16 | 2005 | 02 | 08 | 07 | 20 | 4.7 | 5.2 | – |
94.37 | 04.97 | 33 | 2005 | 02 | 19 | 23 | 45 | 4.7 | 4.9 | – |
94.12 | 02.62 | 12 | 2005 | 02 | 25 | 20 | 40 | 4.7 | 5.1 | 4.3 |
91.31 | 09.05 | 29 | 2005 | 03 | 07 | 21 | 32 | 4.7 | 4.9 | 4.5 |
94.54 | 05.09 | 36 | 2005 | 03 | 31 | 14 | 27 | 4.7 | 5.0 | 4.2 |
ตัวอย่างฐานข้อมูลแผ่นดินไหวที่ตรวจวัดได้จากเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหว

1) ละติจูด (latitude) หรือ เส้นรุ้ง คือ การกำหนดตำแหน่งในแนวระนาบขนานกับ เส้นศูนย์สูตร (Equator) ด้วยระยะทางเชิงมุมในแนวตั้งบนพื้นโลกจากจุดศูนย์กลางโลก ละติจูดแต่ละเส้นจะห่างกัน 1 องศา ประกอบด้วยเส้นที่อยู่เหนือเส้นศูนย์สูตร 90 เส้น และใต้เส้นศูนย์สูตรอีก 90 เส้น
2) ลองจิจูด (longitude) หรือ เส้นแวง คือ ตำแหน่งแนวตั้ง ด้วยระยะทางเชิงมุมในแนวนอนบนเส้นศูนย์สูตรจากจุดศูนย์เริ่มต้นที่ เมริเดียนย่านกลาง (Prime Meridian) หอดูดาวเมืองกรีนิช อังกฤษ และแบ่งเส้นย่อยไปทางทิศตะวันออกและตกด้านละ 180 เส้น

เส้น (Line)
ในกรณีของวัตถุบนโลกที่พิจารณามีรูปทรงเป็นแบบเส้น เช่น แนวถนน แนวรอยแตกของหิน แนวรอยเลื่อนแผ่นดินไหว แนวการไหลของทางน้ำหรือแม่นำ้ ฯลฯ นอกจากการบอกตำแหน่งของเส้นว่าอยู่ตรงไหนบนโลก สิ่งที่นักธรณีวิทยาต้องอธิบายเพิ่มเติมคือ เส้นดังกล่าววางตัวอยู่ในแนวทางใด ที่เรียกว่า แนวระดับ หรือ แนวการวางตัว (strike) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการบอก มุมที่เบี่ยงเบนออกมาจากทิศเหนือที่ใช้เป็นหลักตั้งต้น
โดยปัจจุบัน ระบบการบอกทิศทางการวางตัว (direction system) ที่นิยมใช้และเป็นมาตรฐานสากลทั่วโลกมีอยู่ 2 ระบบ ได้แก่
- ระบบแอซิมัท (azimuth) คือ บอกทิศของเส้นจากจุดเริ่มต้นไปจุดปลาย โดยวัดมุมตามเข็มนาฬิกา (clockwise) เทียบกับทิศเหนือ มีค่า 0-360o
- ระบบแบริงส์ (bearing) คือ บอกทิศของเส้น โดยวัดมุมเอียงจาก ทิศเหนือหรือใต้ไปทางทิศตะวันออกหรือตะวันตก มีค่าไม่เกิน 90o

ตัวอย่างเช่น แนวรอยเลื่อนวางตัวเบี่ยงเบนจากทิศเหนือ 155o (ระบบแอซิมัท) มีความหมายเดียวกับแนวรอยเลื่อนวางตัวเบี่ยงออกจากทิศใต้ไปทางตะวันออก 25o หรือ S25oE ในระบบแบริงส์ หรือแนวทางน้ำวางตัวเบี่ยงเบนจากทิศเหนือ 330o (ระบบแอซิมัท) มีความหมายเดียวกับแนวรอยเลื่อนวางตัวเบี่ยงออกจากทิศเหนือทวนเข็มนาฬิกาออกไป 30o หรือ N30oW ในระบบแบริงส์
นอกจากนี้ในการบอกแนวเส้นเราสามารถบอกได้ทั้งสองด้านที่ตรงกันข้ามกันเนื่องจากไม่มีนัยยะสำคัญว่าด้านไหนหัวอันไหนห่าง เช่น ถนนเส้นนี้วางตัวอยู่ในแนว 330o หรือ 240o (ระบบแอซิมัท) ซึ่งทั้งสองข้างและมีองศาต่างกัน 90o หรือตรงกันข้ามกัน เป็นต้น หรือถ้าในระบบแบริงส์ แนวรอยแตกของหินแนวนี้วางตัวอยู่ในแนว NE-SW และ NW-SE เป็นต้น ซึ่งทั้งสองค่ามีความหมายเดียวกันในกรณีของการอธิบายการวางตัวของเส้น
ระนาบ (Plane)
ในกรณีของวัตถุทางธรณีวิทยามีความใกล้เคียงกับความเป็น ระนาบ (plane) เช่น ระนาบการวางตัวของชั้นหิน (bedding plane) หรือ ระนาบรอยเลื่อน (fault plane) ในการบอกทิศทางการวางตัวจะแตกต่างจากการบอกของแนวเส้น ทั้งนี้เนื่องจาก การเอียงเท (dip direction) ของระนาบไปทิศทางใด ก็จะมีผลต่อทิศทางการวางตัวด้วย โดยที่ด้านการวางตัวและด้านตรงข้ามจะมีซักดิ์ศรีไม่เท่ากัน โดยรายละเอียดของทั้ง 3 ค่า การบอกระนาบในทางธรณีวิทยา มีดังนี้ (ดูรูปแบบจำลองด้านล่างประกอบจะทำให้เข้าใจง่ายขึ้น)

- แนวระดับ (strike) คือ ทิศทางตั้งฉากกับแนวไหลของน้ำบนผืนระนาบของโครงสร้างทางธรณีวิทยา นิยมใช้เป็นมุมแอซิมัท (ดูรูปประกอบ)
- แนวมุมเท (dip direction) คือ ทิศทางของแนวไหลของน้ำบนผืนระนาบของโครงสร้างทางธรณีวิทยา (วัดบนระนาบนอน) ตั้งฉากกับแนวระดับนิยมใช้เป็นมุมแอซิมัท (ดูรูปประกอบ)
- มุมเท (dip / dip angle) คือ มุมระหว่างระนาบของโครงสร้างทางธรณีวิทยากับระนาบนอนโดยวัดจากระนาบนอนลงไปยังระนาบของโครงสร้างทางธรณีวิทยา (ดูรูปประกอบ)

ข้อสังเกต แนวมุมเท (dip direction) จะทำมุมมากกว่าหรือนำหน้า แนวระดับ (strike) อยู่ 90o เสมอ เช่น ถ้าตรวจวัดแนวระดับว่าวางตัวเบี่ยงไปจากทิศเหนือ 90o นั่นหมายความว่าแนวมุมเอียงมีค่า 180o
การเลื่อนตัว (Movement)
มุมเลื่อนตัว (rake angle) เป็นการบอกทิศทางการเลื่อนตัวของระนาบในเชิงสัมพัทธ์หรือเชิงเปรียบเทียบระหว่าง ผนังพื้น (footwall) และ ผนังแขวน (hangingwall) โดยหลักการการบอกทิศทางคือ ให้มองผนังพื้นเปรียบเสมือนเข็มทิศโดยที่ทิศ 0o หรือทิศเหนือชี้ไปในแนวเดียวกับ แนวระดับ (strike) หลังจากนั้น การกวาดองศาให้กวาดทวนเข็มนาฬิกา ซึ่งทิศทางในแต่ละมุมคือแนวการเลื่อนตัวของผนังแขวนเมื่อเทียบกับผนังพื้น


ตัวอย่างเช่น ระนาบรอยเลื่อนแสดงมุมเลื่อนตัว 0o นั่นหมายความว่า การเลื่อนตัวของรอยเลื่อนเป็นแบบ รอยเลื่อนแบบซ้ายเข้า (sinistral หรือ left-lateral fault) หากมุมเรื่องตัว 90o หมายถึงรอยเลื่อนเป็นแบบ รอยเลื่อนย้อน (reverse fault) หากการเลื่อนตัว 180o หมายถึงรอยเลื่อนเป็น รอยเลื่อนแบบขวาเข้า (dextral หรือ right-lateral fault) และหากมุมการเลื่อนตัวเป็น 270o หมายความว่ารอยเลื่อนมีการเลื่อนตัวแบบ รอยเลื่อนปกติ (normal fault)



มุมเลื่อนตัว (rake angle) มีประโยชน์อย่างมากในการบอกทิศทางการเลื่อนตัวของระนาบรอยเลื่อน โดยผู้ที่สนใจข้อมูลจำพวกนี้ สามารถเข้าถึงได้จากฐานข้อมูลกลไกการเกิดแผ่นดินไหวหรือกลไกการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนจากเว็บไซต์ https://eps.harvard.edu/links/yahoo-search หรือสามารถตรวจวัดได้เองจาก รอยครูดของหินจากการเลื่อนตัว (slickenside)
ทั้งหมดนี้ก็คือหลักการสากลที่นักสำรวจหรือนักธรณีวิทยาใช้ในการบรรยายในเบื้องต้น ถึงตำแหน่ง ทิศทางการวางตัวรวมทั้งชนิดของตัวละครหรือวัตถุทางธรณีวิทยา ที่พิจารณา
. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth