สำรวจ

ปากแม่น้ำโบราณ ของไทย

ในบรรดา ภูมิลักษณ์ (landform) รูปแบบต่างๆ บนพื้นผิวโลก ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ (delta) ถือเป็นภูมิลักษณ์อันดับหนึ่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดต่อการเกษตรกรรม อุดมยิ่งกว่า ที่ราบน้ำท่วมถึง (floodplain) อย่างที่เราเคยรู้กัน ทั้งนี้ก็เพราะดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเป็นพื้นที่สุดท้าย ที่คอยรวบรวมอินทรีย์วัตถุที่สะสมมาตลอดทาง จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำให้ตกสะสมในบริเวณนี้ ตัวอย่างที่เห็นชัดในแถบบ้านเรา คือ ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง พื้นที่ต้นเหตุสำคัญ ที่ทำให้ทั้งกัมพูชาและเวียดนามปลูกข้าวได้ปริมาณมาก แซงหน้าอู่ข้าวอู่น้ำอย่างที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศไทย

ในกรณีของไทย ถึงแม้ว่าบริเวณชายฝั่งอ่าวไทยโซนหัว ก. ไก่ จะมีแม่น้ำสายสำคัญ 4 สาย ไหลลงสู่ทะเล ได้แก่ 1) แม่น้ำแม่กลอง 2) แม่น้ำท่าจีน 3) แม่น้ำเจ้าพระยา และ 4) แม่น้ำบางประกง จะด้วยปริมาณตะกอนที่น้อยไปหรือห้วงเวลาสั้นไป แต่ผลประกอบการการหอบตะกอนจากต้นน้ำมาถึง ปากน้ำ (river mount) ทั้ง 4 สาย ยังไม่สร้างดินดอนอย่างเป็นล่ำเป็นสัน อย่างมากก็จะได้เป็นหาดเลนลานกว้างที่ปากแม่น้ำ ตัวอย่างเช่น ดอนหอยหลอด อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม

เพิ่มเติม : ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ (delta)

ภาพถ่ายดาวเทียมบริเวณพื้นที่อ่าวไทย โซน ก. ไก่ แสดงดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำในปัจจุบัน (1) แม่น้ำแม่กลอง (2) แม่น้ำท่าจีน (3) แม่น้ำเจ้าพระยา และ (4) แม่น้ำบางประกง
ดอนหอยหลอด ตำบลบางจะเกร็ง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม

แต่ก็ใช่ว่าในอดีตเราจะไม่เคยมีดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ เพราะจากการวิเคราะห์ข้อมูลภูมิประเทศจาก แบบจำลองความสูงเชิงเลข (Digital Elevation Model, DEM) ในรายละเอียด พบว่าในหลายพื้นที่ฝั่งตะวันตกและภาคใต้ของไทย มีเค้าลางความเคยเป็นปากแม่น้ำโบราณหรืออดีตดินดอนฯ ที่เหมาะสมในการเพาะปลูกในปัจจุบัน และยังเป็นข้อมูลสำคัญ ในการแปลความแนวชายฝั่งทะเลของไทยในอดีต ผลการวิเคราะห์พบดินดอนฯ ที่ไหนที่น่าสนใจบ้าง ลองดูกันครับ

1) ปากแม่น้ำแควใหญ่ ?

จากงานวิจัยในอดีต เชื่อว่าพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี และ อ. กำแพงแสน จ. นครปฐม มีศักดิ์เป็น เนินตะกอนรูปพัด (alluvial fan) ที่เกิดจากการ สะสมตัวบนบก ของตะกอนจำนวนมากที่ไหลบ่ามาจากทางตะวันตก แต่จากการวิเคราะห์ในมิติ ภูมิลักษณ์ (landform) จากแบบจำลองความสูงเชิงเลข (DEM) ในรายละเอียด พบว่ารูปร่างและรูปแบบการสะสมตัวของตะกอนในพื้นที่แถบนี้ (หมายเลข 1) มีความคล้ายคลึงอย่างมากกับ ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ สหรัฐอเมริกา โดยมีแขนงกิ่งก้านของตะกอน แผ่ซ่านออกไปคล้ายกิ่งไม้ หรือ ตีนนก (bird’s foot delta) ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้จากรูปลักษณ์ว่า ตะกอนที่ไหลมาจากแม่น้ำแควใหญ่ ผ่านกาญจนบุรีมาตกสะสมตัวบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลาง แถบกำแพงแสน นครปฐม ในรูปแบบดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ เรียก ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแควใหญ่ (Kwae Yai delta)

พื้นที่ภาคกลางตอนล่างของไทย แสดงขอบทางด้านตะวันตกของพื้นที่ (บน) เนินตะกอนรูปพัดอุทัยธานี (กลาง) เนินตะกอนรูปพัดสุพรรณบุรี (ล่าง) เนินตะกอนรูปพัดกำแพงแสน (งานวิจัยในอดีต)
ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงการสะสมตัวของ ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ ทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม การแปลความนี้เป็นเพียงการแปลความจากภูมิลักษณ์เท่านั้น การศึกษาในรายละเอียดเกี่ยวกับขนาด (grain size) และ การคัดขนาด (sorting) ของตะกอน จะช่วยยืนยันความถูกต้องว่าเนินดินแถบกาญจนบุรีและกำแพงแสนเป็นอะไรกันแน่

2) ปากแม่น้ำแม่กลอง

แน่นอนว่าปัจจุบันปากน้ำแม่กลองคือดอนหอยหลอด และตัวเมืองสมุทรสงคราม คือบกที่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน แต่หากปรับปรุงข้อมูลภูมิประเทศอย่างเหมาะสม จะพบว่าแผ่นดินที่เหมือนจะดูเป็นที่ราบกลับมีเนินนูนขึ้นมากลางแม่น้ำแม่กลองแถบตัวเมืองสมุทรสงคราม (หมายเลข 2) ซึ่งสอดรับกับแนว สันทรายโบราณ (sand bar) ที่วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ จากราชบุรีจนถึงเพชรบุรี (หมายเลข 4) โดยในทางธรณีวิทยา แนวสันทรายดังกล่าวคือชายฝั่งโบราณ และในทางโบราณคดี สันทรายนี้ยังเคยมีสถานะเป็นถนนโบราณ ที่เชื่อมต่อระหว่างชุมชนสมัยทวาราวดี เมืองคูบัวใน จ. ราชบุรี และเมืองโคกเศรษฐี จ. กำแพงเพชร หรือมีชื่อเรียกขานในทางโบราณคดีว่า ถนนท้าวอู่ทอง (หมายเลข 4)

แผนที่ภูมิประเทศ แสดงการมีอยู่ของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ (1) แควใหญ่ จ. กาญจนบุรี (2) แม่กลอง จ. สมุทรสงคราม และ (3) เพชรบุรี จ. เพชรบุรี (4) คือ แนวชายฝั่งหรือสันทรายโบราณ ในสมัยที่น้ำทะเลสูงกว่าระดับปัจจุบันและรุกเข้ามาในแผ่นดิน ซึ่งในทางโบราณคดี เป็นเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อระหว่าง เมืองคูบัว จ. ราชบุรี และ เมืองทุ่งเศรษฐี จ. เพชรบุรี

จากการมีอยู่และตำแหน่งที่สอดรับกันในทางธรณีวิทยา จึงแปลความได้ว่า ในอดีตแนวชายฝั่งโบราณเคยอยู่ตามแนวถนนท้าวอู่ทอง (หมายเลข 4) โดยปากแม่น้ำแม่กลองเคยอยู่ที่ตัวเมืองสมุทรสงคราม ซึ่งมีการสัสมตัวของตะกอนจำนวนมากจนกลายเป็น ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ (delta) และผลจากคลื่นทะเลที่ค่อนข้างแรงในช่วงเวลานั่น (แปลความ) ทำให้ ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำสมุทรสงคราม (Samut Songkhram delta) (หมายเลข 2) มีรูปร่างที่กลมมน จำแนกเป็นดินดอนฯ ประเภท คลื่นทะเลเด่น (wave dominated) ในทางธรณีวิทยา

เพิ่มเติม : ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ (delta)

3) ปากแม่น้ำเพชรบุรี

ในส่วนของแม่น้ำเพชรบุรีที่ไหลลงมาจากเทือกเขาทางฝั่งตะวันตก ข้อมูลภูมิประเทศแสดงให้เห็นลักษณะคล้ายกับเป็นดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ (หมายเลข 3) แบบ ตีนนก (bird’s foot delta) เช่นเดียวกันกับ ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแควใหญ่ (หมายเลข 1) และดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ สหรัฐอเมริกา บ่งชี้ว่าเป็นดินดอนฯ ประเภท แม่น้ำเด่น (river dominated) คือ เป็นปากแม่น้ำ ที่มีแม่น้ำพัดพาตะกอนลงสู่ทะเลในปริมาณมาก จนทำให้กระแสคลื่นทะเลหรือแม้กระทั่งน้ำขึ้น-น้ำลง ก็ไม่สามารถต้านทานปริมาณตะกอนจำนวนมากนั้นได้ ทำให้ดินดอนมีรูปลักษณ์คล้ายกับตะกอนพยายามจะรุกล้ำลงไปได้ใน (อดีต) ทะเล

ดังนั้นหากมองภาพรวมในอดีต ที่แนวชายฝั่งอยู่ตามแนวสันทรายโบราณหรือแนวถนนท้าวอู่ทอง พื้นที่ทั้งสมุทรสงครามและเพชรบุรี จึงมีสถานะเป็นดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโบราณ ที่เกิดจากการไหลหลากของตะกอนมาตามแม่น้ำแม่กลองและเพชรบุรี และด้วยความที่เป็นแนวเทือกเขาทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นแหล่งตะกอนนั้น มีขนาดใหญ่และอยู่ใกล้อดีตชายฝั่ง ทำให้ตะกอนปริมาณมหาศาลไหลทะลักลงมา จนกระแสคลื่นทะเลและปรากฏการณ์น้ำขึ้น-น้ำลง ไม่สามารถต้านทานได้ จึงกลายเป็นดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำประเภท แม่น้ำเด่น (river dominated)

4) ปากคลอง ภาคใต้ประเทศไทย

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาภูมิประเทศ ไล่ตามแนวชายฝั่งภาคใต้ของไทย พบว่าบริเวณที่ราบริมฝั่งอ่าวไทยในปัจจุบัน ยังประกอบไปด้วยภูมิลักษณ์ ที่มีลักษณะคล้ายกับเป็นดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำขนาดย่อมอยู่หลายที่ (อักษร D ในรูป) เช่น ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำของ (1) คลองไชยา (2) คลองพุนพิน และ (3) คลองท่าทน-คลองกาย ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี

โดยดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแถบอ่าวบ้านดอน (หมายเลข 2) ซึ่งคลองพุนพิน นำพาตะกอนลงมาจากเทือกเขาฝั่งตะวันตก แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เป็นอดีตดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ที่มีระโยงระยางคล้ายตีนนก บ่งบอกถึงการมีตะกอนที่ไหลลงมาเด่นกว่าอิทธิพลของน้ำทะเลและน้ำขึ้นน้ำลง ส่วนอดีตดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำของคลองท่าทน-คลองกาย (หมายเลข 3) แสดงลักษณะผสมกันระหว่างตะกอนเด่นและคลื่นทะเลเด่น เป็นต้น

แผนที่ภูมิประเทศ แสดงการมีอยู่ของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ (delta) อันเนื่องมาจากตะกอนที่ไหลมาตาม (1) คลองไชยา (2) คลองพุนพิน และ (3) คลองท่าทน-คลองกาย ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี

นอกจากนี้ในกรณีของรูปหมายเลข 3 ยังพบว่าหลังจากการสะสมตัวของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำกระบวนการพัดพาตะกอนบริเวณชายฝั่งในเวลาต่อมาได้สร้างแนวสันทราย พาดผ่านดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเดิมส่งผลให้บริเวณหลังชายฝั่งมีสถานะเป็นเหมือนทะเลสาบลากูน (lagoon) อีกด้วย

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: