เรียนรู้

ภัยพิบัติจากภูเขาไฟ ซึ่งไม่ได้มีแค่ลาวา

การปะทุของภูเขาไฟถือเป็นอีกหนึ่งภัยพิบัติทางธรรมชาติที่สามารถสร้างความเสียหายทั้งทรัพย์สินและชีวิตให้กับมนุษย์ ซึ่งจากสถิติที่มีการบันทึกไว้พบว่าในช่วง 500 ปีที่ผ่านมา มนุษย์เสียชีวิตจากภัยพิบัติภูเขาไฟมากกว่า 275,000 คน  เช่น ปี พ.ศ. 2426 ภูเขาไฟกรากะตัวทางตอนใต้ของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เกิดปะทุขึ้นและมีผู้เสียชีวิต 36,000 คน หรือในปี พ.ศ. 2358 มีผู้เสียชีวิตมากถึง 92,000 คนจากการปะทุของภูเขาไฟแทมโบร่า ในประเทศอินโดนีเซีย

หากมองกันแค่ผิวเผิน ภาพจำของคนส่วนใหญ่จะมองว่าลาวาที่ไหลออกมาจากภูเขาไฟเป็นภัยพิบัติที่ร้อนแรงและน่ากลัว แต่จากผลกระทบจากภูเขาไฟที่เคยประทุผ่านๆ มา เราพบว่าความสูญเสียส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากลาวาที่ไหลมาเผาไหม้ แต่ยังมีภัยพิบัติอีกหลากหลายรูปแบบที่เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟแล้วทำให้ความเสียหายรุนแรงกินวงกว้าง ซึ่งจากหลากหลายกรณีศึกษาที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ได้สรุปและจำแนกภัยพิบัติภูเขาไฟออกเป็น 8 รูปแบบแตกต่างกัน

1) ลาวาไหลหลาก

ลาวาไหลหลาก (lava flow) เป็นภัยพิบัติรูปแบบแรกๆ ที่พวกเรามักจะนึกถึงเมื่อได้ยินข่าวว่าเกิดการปะทุของภูเขาไฟ โดยปกติการไหลหลากของลาวา มักจะเกิดจากแมกมาบะซอลต์ซึ่งมีความหนืดต่ำหรือเหลวมากกว่าแมกมาชนิดอื่นๆ (แมกมาไรโอไลต์และแมกมาแอนดีไซต์) ทำให้เมื่อถูกขับขึ้นมาบนพื้นผิวโลกแมกมาบะซอลต์จะไหลหลาก ล้อไปตามภูมิประเทศที่ต่ำกว่าเหมือนกับการบีบหรือหยดน้ำผึ้งลงพื้น

ลาวาไหลหลาก ฮาวาย พ.ศ. 2561 (ที่มา : ฺฺBBC)

ลาวาไหลหลากโดยส่วนใหญ่สร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สินมากกว่าชีวิต เนื่องจากเคลื่อนที่ส่วนใหญ่จะออกแนวคืบคลานอย่างช้าๆ มากกว่าการไหลหลากเหมือนกับน้ำในแม่น้ำ นอกจากนี้ในปัจจุบัน มนุษย์สามารถจำกัดขอบเขตความเสียหายอันเนื่องมาจากภัยพิบัติลาวาไหลหลากได้ เช่น กรณีของลาวาไหลหลากจากภูเขาไฟไฮแม ในประเทศไอซ์แลนด์ เมื่อปี พ.ศ. 2516 ประชาชนใช้น้ำทะเลฉีดให้ลาวาชุดแรกแข็งตัว กลายเป็นแนวกำแพงเบี่ยงเบนลาวาชุดต่อมาให้ไหลลงทะเลได้ ดังนั้นในบรรดาภัยพิบัติทั้งหมดที่เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟ ลาวาไหลหลากจึงถือเป็นภัยพิบัติที่มีความน่ากลัวน้อยที่สุด

2) ธุลีหลาก

ธุลีหลาก (nuée ardente) เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟแบบ พลิเนียน หรือ วัลเคเนียน ทำให้เกิดเถ้าผสมของกรวดภูเขาไฟและก๊าซร้อนแรงดันสูง ไหลลงตามความชันของภูเขาไฟด้วยความเร็วสูง โดยธุลีหลากเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การถล่มของโดมภูเขาไฟที่ภูเขาไฟอันเซน ปี พ.ศ. 2534 การถล่มของกรวดภูเขาไฟที่ทับถมกันบนภูเขาไฟวีสซูเวียน ปี พ.ศ. 79 หรือการระเบิดในแนวราบของภูเขาไฟเซนต์เฮเลนส์ ปี พ.ศ. 2523 เป็นต้น

ธุลีหลาก ภูเขาไฟพินาตูโบ ฟิลิปปินส์ พ.ศ. 2534 (ที่มา : www.geologues-prospecteurs.fr)

ซึ่งในกรณีการปะทุของภูเขาไฟวิสุเวียส นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าอาจเป็นภัยพิบัติธุลีหลากที่รุนแรงที่สุดในโลก เนื่องจากทำให้เมืองโบราณปอมเปอี รวมทั้งประชาชนกว่า 2,000 คน ถูกฝังทั้งเป็น ด้วยกรวดภูเขาไฟหนากว่า 2 เมตร

เมืองโบราณปอมเปอีในปัจจุบัน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้รับผลกระทบจากการปะทุของ ภูเขาไฟวิสุเวียส

3) ลาฮาร์

ลาฮาร์ (lahar) เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของภัยพิบัติภูเขาไฟที่เกิดจากกรวดภูเขาไฟไหลปะปนกันมากับน้ำ ทำให้เกิดลักษณะคล้ายกับ โคลนไหลหลาก (mud flow)

ที่มาของน้ำอาจเป็นไปได้จากหลายกรณี เช่นเกิดฝนตกหลังจากการปะทุของภูเขาไฟวีสซูเวียส พ.ศ. 622 เกิดไต้ฝุ่นหลังจากการปะทุของภูเขาไฟพินาตูโบ พ.ศ. 2534 และการปะทุของภูเขาไฟเซนต์เฮเลน พ.ศ. 2523 หรือกรณีของภูเขาไฟเคลลูท (Kelut) ในประเทศอินโดนีเซีย พ.ศ. 2129 แมกมาแทรกดันทะเลสาบกลางปล่องภูเขาไฟ ทำให้เศษกรวดภูเขาไฟจากการระเบิดครั้งก่อนปนมากับน้ำ

(ซ้าย) ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงลาฮาร์หลังการปะทุของภูเขาไฟพินาตูโบ พ.ศ. 2534 (ขวา) ร่องรอยแสดงระดับความสูงที่ลาฮาร์ไหลผ่านจากภูเขาไฟเซนต์เฮเลน พ.ศ. 2523
วิวัฒนาการการถูกทับถมของเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2539-2546 จากภัยพิบัติลาฮาร์ของภูเขาไฟเปอเล (Montagne Pelée) บนหมู่เกาะเวสต์อินดี ประเทศฝรั่งเศส

4) เถ้าหล่น

เถ้าหล่น (ash fall) หรือ เทฟ่า (tepha) เกิดจากการปะทุของแมกมาไรโอไรต์ ทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจายเป็นบริเวณกว้าง เช่น การปะทุของภูเขาไฟพินาตูโบ พ.ศ. 2534 เกิดเมฆของเถ้าภูเขาไฟครอบคลุมพื้นที่ 400 ตารางกิโลเมตร โดยผลกระทบที่เกิดจากเถ้าหล่น ได้แก่ หากเถ้าสะสมบนหลังคาในปริมาณมาก น้ำหนักของเถ้าอาจทำให้โครงสร้างถล่มได้ หากเถ้าหล่นในพื้นที่การเกษตรก็ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย และที่สำคัญเถ้าสามารถลอยหมุนวนอยู่ในอากาศได้นานเป็นสัปดาห์ ทำให้การจราจรทางอากาศในบริเวณนั้นต้องหยุดชะงัก เนื่องจากเป็นอันตรายต่อเครื่องยนต์ เช่น กรณีของสายการบิน British Airway เที่ยวบิน 9 ปี พ.ศ. 2525 ซึ่งบินจากประเทศมาเลเซียไปประเทศออสเตรเลีย ระหว่างบินผ่านกลุ่มเถ้าภูเขาไฟที่ลอยอยู่ในอากาศจากการปะทุของภูเขาไฟกาลังกัง (Galunggung) เครื่องยนต์ทั้งหมดหยุดการทำงาน โดยเมื่อเครื่องบินลดระดับลงพ้นจากกลุ่มเถ้าภูเขาไฟ เครื่องยนต์จึงใช้งานได้อีกครั้ง

ผลกระทบจากภัยพิบัติเถ้าหล่น ภูเขาไฟพินาตูโบประทุ พ.ศ. 2534 เมฆของเถ้าภูเขาไฟกว้าง 400 กิโลเมตร สะสมบนหลังคาน้ำหนักเถ้าทำให้โครงสร้างถล่ม เถ้าหล่นในพื้นที่เกษตร ผลิตผลการเกษตรเสียหาย

5) ก๊าซพิษ

ก๊าซพิษ (toxic gas) ในระหว่างที่ภูเขาไฟปะทุ จะมีการปล่อยก๊าซซึ่งเป็นพิษต่อมนุษย์ ออกมาหลายชนิด เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไฮโดรเจนซัลไฟด์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์พบว่ามีหลายกรณีของการเสียชีวิตจากภูเขาไฟ มีสาเหตุเนื่องจากการสูดดมก๊าซพิษมากเกินไป เช่น การปะทุของภูเขาไฟลาไค (Laki) ในประเทศไอซ์แลนด์ ปี พ.ศ. 2326 ปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ทำให้สัตว์เลี้ยง 75% และประชาชน 24% ของทั้งหมดในพื้นที่โดยรอบเสียชีวิต

นอกจากนี้กรณีทะเลสาบกลางปล่องภูเขาไฟนีออส ในประเทศคาเมรูน ซึ่งที่ผ่านมามีการรั่วซึมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากปล่องใต้ทะเลสาบอยู่ตลอดเวลา แต่ถูกกดทับให้อยู่ใต้ก้นทะเลสาบด้วยมวลน้ำด้านบน จนกระทั่ง พ.ศ. 2529 เกิดการระเบิดของก๊าซ มวลน้ำที่ปนเปื้อนด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไหลลงสู่หมู่บ้านด้านล่าง ประชาชน 1,700 คน และวัวควาย 3,000 ตัว ที่อาศัยอยู่ในหุบเขาด้านล่างเสียชีวิต

ผลกระทบจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สะสมอยู่ใต้ทะเลสาบนีออส

6) การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

เนื่องจากเถ้าภูเขาไฟและก๊าซสามารถอยู่ได้ในชั้นบรรยากาศนานเป็นหลักปี และบดบังแสงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลก ทำให้อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกลดลง เช่น การปะทุของภูเขาไฟแทมโบร่า ในประเทศอินโดนีเซีย พ.ศ. 2358 อุณหภูมิโลกลดลง 3 องศาเซลเซียส และในปีต่อมาเกิดหิมะตก ฤดูกาลปลูกพืชสั้นลง พืชหลายชนิดตายเพราะความหนาว ประชาชนเกิดสภาวะอดอาหารและเสียชีวิตมากกว่า 80,000 คน

7) ดินถล่มและสึนามิ

จากกรวดภูเขาไฟจำนวนมากที่ทับถมบริเวณไหล่เขาความชันสูง ทำให้ในพื้นที่รอบภูเขาไฟมีโอกาสเกิดดินถล่ม หรือบางครั้งภูเขาไฟปะทุใต้น้ำก็อาจทำให้เกิดสึนามิได้ เช่น การปะทุของภูเขาไฟกรากะตัว ในประเทศฟิลิปปินส์ ปี พ.ศ. 2426 เกิดสึนามิและมีผู้เสียชีวิต 36,000 คน ส่วนกรณีภูเขาไฟอันเซน ในประเทศญี่ปุ่น ปี พ.ศ. 2335 เกิดแผ่นดินไหวทำให้โดมภูเขาไฟถล่ม กรวดภูเขาไฟที่ตกทับถมอยู่ไหลหลากลงทะเลและทำให้เกิดสึนามิ ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 15,000 คน

การปะทุของภูเขาไฟกรากะตัวที่ทำให้เกิดสึนามิเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2561 (ที่มา : www.forbes.com)

8) ความอดอยาก

ความอดอยาก (famine) ค.ศ. 1815 ภูเขาไฟแทมโบร่า อินโดนีเซีย ประทุรุนแรงที่สุดในรอบ 200 ปี มีผู้เสียชีวิต 117,000 คน 10% เสียชีวิตเพราะภูเขาไฟประทุ แต่อีก 90% เสียชีวิตเพราะอดอยากและโรคระบาด

ถึงแม้ว่าการปะทุของภูเขาไฟนั้นจะไม่สามารถยุดยั้งได้ แต่ประชาชนสามารถลดอันตรายจากภัยพิบัติภูเขาไฟได้ หากมีการเฝ้าระวังอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้มีการเฝ้าระวังภูเขาไฟในพื้นที่ต่างๆ ที่ยังมีพลังอยู่ โอยอาศัยการตรวจวัด สัญญาณบอกเหตุ (precursor) การปะทุของภูเขาไฟ ซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น 1) ตรวจวัดแผ่นดินไหว ปกติก่อนการปะทุ บริเวณภูเขาไฟจะเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กจำนวนมาก เนื่องจากการแทรกดันของแมกมาใต้พื้นผิวโลกที่กำลังจะปะทุ 2) ตรวจวัดความเอียงของภูเขาไฟ ก่อนการเกิดการปะทุของภูเขาไฟ รูปร่างของภูเขาไฟจะเปลี่ยนไปมีลักษณะโป่งนูนขึ้นเล็กน้อยเนื่องจากการแทรกดันของแมกมา และ 3) ตรวจวัดก๊าซพิษจากภูเขาไฟ โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ บ่งชี้ว่าแมกมากำลังจะปะทุ

การเฝ้าติดตามสัญญาณบอกเหตุก่อนเกิดภูเขาไฟปะทุ (ซ้ายตรวจวัดปริมาณก๊าซ (ขวา) เครื่องวัดความเอียง (tiltmeter) ที่นำมาใช้กับ ภูเขาไฟสามพี่น้อง (3 Sisters Volcano) ในรัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา พบส่วนที่นูนโป่งออก 10 เซนติเมตร หรือประมาณ 21 ล้านลูกบาศก์เมตรของแมกมาเกิดการยกตัวขึ้น

ดังนั้นหากมองในแง่ของความวูบวาบพของภัยพิบัติ ภูเขาไฟก็ยังถือว่ามีสัญญาณหรือแสดงอาการให้เห็นก่อนที่จะเอาจริง ไม่เหมือนกับแผ่นดินไหวที่นึกจะมาตอนไหนก็มา นึกอยากจะไปก็ไป ซึ่งโดยส่วนใหญ่พวกเรามักจะตั้งตัวไม่ค่อยทัน

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: