สำรวจ

ขยี้ 4 โอกาส (อันน้อยนิด) สึนามิขึ้นฝั่งอ่าวไทย

หลังจากภัยพิบัติสึนามิในมหาสมุทรอินเดียเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ 2547 ซึ่งส่งผลกระทบต่อชายฝั่งทะเลอันดามันของไทย บทเรียนที่คนไทยได้รู้ในวันนั้นคือ สึนามิหน้าตาเป็นยังไงและน่ากลัวแค่ไหน แล้วก็พ่วงมาด้วยชุดความคิดที่ว่า อ้าว !!! แล้วอ่าวไทยของเราล่ะมีโอกาสโดนกับเขาไหม

หลังจากเกิดสึนามิทางฝั่งทะเลอันดามันใหม่ๆ สภาพเศรษฐกิจในพื้นที่รอบชายฝั่งอ่าวไทยย่ำแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด พ่อค้าแม่ขายที่อาศัยชายหาดเป็นแหล่งทำมาหากินถึงกับบ่นอุบว่า สึนามิเกิดที่ฝั่งอันดามันแต่คนฝั่งอ่าวไทยก็แทบจะตายไปด้วย ทั้งนี้ก็เพราะคนไทยเกิดอาการแหยงทะเล ซึ่งถึงจะผ่านมานาน 10 กว่าปีแล้วก็ตาม ตอนนี้ถ้ามีข่าวลือเรื่องสึนามิเมื่อไหร่ อ่าวไทยก็คงจะถูกพ่วงไปด้วยเหมือนเดิม

จะว่าไปที่เราเรียกสึนามิว่าสึนามิก็เพราะว่าสึนามิเป็นคลื่นน้ำที่มีลักษณะเฉพาะตัว และความเฉพาะตัวนั้นก็สร้างภัยพิบัติได้รุนแรงกว่าคลื่นน้ำปกติ ดังนั้นสึนามิจึงแตกต่าง ซึ่งสาเหตุการเกิดสึนามิหลักๆ นักวิทยาศาสตร์บอกว่ามี 4 สาเหตุ คือ 1) อุกกาบาตตกกลางน้ำ  2) ดินถล่มใต้น้ำ 3) ภูเขาไฟปะทุใต้น้ำ และ 4) การเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศในแนวดิ่งอย่างทันทีทันใดใต้น้ำ (ที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวไปพร้อมๆ กัน)

มัดรวมสาเหตุการเกิดสึนามิ

เมื่อเกิดแผ่นดินไหวและมีสึนามิตามมา จริงๆ แล้วแผ่นดินไหวไม่ได้ทำให้เกิดสึนามิ แต่ทั้งแผ่นดินไหวและสึนามิเปิดพร้อมๆ กัน จากการเลื่อนตัวในแนวดิ่งของแผ่นเปลือกโลกอย่างทันทีทันใด

อันที่จริงก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าฝั่งทะเลอันดามันของไทยเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติสึนามิ เพราะฝั่งอันดามันหันหน้าประจันกับ เขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน (Sumatra-Andaman Subduction Zone) ซึ่งมักเกิดแผ่นดินไหวและมีการเลื่อนตัวของภูมิประเทศในแนวดิ่งอยู่บ่อยๆ และจากผลการสำรวจและวิจัยของ Jankaew และคณะ (2008) ก็ยืนยันว่าสึนามิในปี พ.ศ. 2547 ไม่ใช่สึนามิโทนหรือครั้งแรก เพราะหลักฐานทางธรณีวิทยาที่พบบอกว่ามีก่อนหน้านั้นอีก 2-3 ครั้งก่อนที่เราจะเกิด แต่ถ้าลองมองมาที่อ่าวไทย ปัจจัยการเกิดสึนามิมันก็จะคนละตัวคนละระบบกัน บทความนี้จึงตั้งใจที่จะยี ขยี้ ตีแผ่โอกาสหรือความเป็นไปได้ที่สึนามิจะขึ้นฝั่งอ่าวไทย ตีโปร่งกันสุดๆ เอาแบบถึงจะแทบเป็นไปไม่ได้ ก็จะเอามาให้ดู

อุกกาบาตตกกลางน้ำ

จะว่าเป็นไปไม่ได้ก็ไม่เชิงเพราะจากฐานข้อมูลสึนามิที่บันทึกได้จากหน่วยงาน โนอา (National Oceanographic and Atmospheric Administration, NOAA) รายงานว่า ในวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2553 มีอุกกาบาตตกกลางทะเลรอยต่อของเกาะบอร์เนียวและตอนใต้ของหมู่เกาะฟิลิปปินส์

ผลคือทำให้เกิดสึนามิสูงประมาณ 20 เมตร ซัดเข้าชายฝั่งในแถบนั้น นั่นแสดงว่าการเกิดสึนามิจากการตกกระทบของอุกกาบาตไม่ใช่เรื่องไกลตัว ถึงแม้ว่าโอกาสจะน้อยก็ตาม แต่จะว่าไปเรื่องอุกกาบาต พื้นที่ไหนๆ ของโลกก็เสี่ยงพอกัน ถือซะว่าถัวๆ กันไป ถ้วนทั่วโลก

แผนที่ภูมิภาคอาเซียนแสดงตำแหน่งที่สึนามิเคยซัดขึ้นฝั่ง (จุดเล็กสีน้ำเงิน) และตำแหน่งแหล่งกำเนิดสึนามิชนิดต่างๆ (วงกลม) สีเทา = แผ่นดินไหว สีแดง = ภูเขาไฟ สีเขียว = ดินถล่ม สีม่วง = อุกกาบาต และสีเหลือง = ไม่่รู้สาเหตุ (ข้อมูล : โนอา)

ดินถล่มใต้น้ำ

จริงๆ แล้ว ภูมิภาคอาเซียนบ้านเราเกือบทั้งหมดเกิดขึ้นมาเมื่อประมาณ 2.6 ล้านปีที่แล้ว และจากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับยุคน้ำแข็งครั้งล่าสุด (115,000–11,700 ปีก่อน) ยืนยันว่าถ้าน้ำทะเลลดลง (ไปกองกันเป็นน้ำแข็งอยู่ที่ขั้วโลก) เกาะแก่งต่างๆ ที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันเคยเชื่อมต่อเป็นผืนดินเดียวกันทั้งหมด เรียกว่า ซุนดาแลนด์ (Sundaland) โดยพื้นที่อ่าวไทยในตอนนั้นเป็นพื้นที่ราบเหมือนกับภาคกลางของไทยในตอนนี้ ก็แค่ปัจจุบันแข็งที่เคยกองอยู่ที่ขั้วโลกบางส่วนละลายลงมหาสมุทร แล้วทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ดังนั้นด้วยความที่อ่าวไทยเคยเป็นที่ราบซึ่งมีความชันของพื้นที่ต่ำมาก โอกาสเกิดดินถล่มใต้น้ำในอ่าวไทยจึงค่อนข้างจะเป็นไปได้น้อย

ซุนดาแลนด์ เมื่อประมาณ 115,000–11,700 ปีก่อน (ที่มา : https://twitter.com/simonjgreenhill)

ซึ่งจากข้อมูลของโนอาจะเห็นว่ามีแค่สึนามิเหตุการณ์เดียวที่ถูกยืนยันว่าเกิดจากดินถล่มใต้น้ำบริเวณใต้เกาะสุลาเวสี และเมื่อลองเข้าไปดูใกล้ๆ ในรายละเอียด ก็จะพบว่าเป็นแค่สาเหตุหรือปัจจัยในท้องถิ่นที่ทำให้พื้นที่นั้นชันเป็นพิเศษและเกิดดินถล่มได้ ก็ยังคงยืนยันเหมือนเดิมว่าโอกาสเกิดสึนามิในอ่าวไทยจากสาเหตุดินถล่มใต้น้ำมีเปอร์เซ็นต์น้อย

ภูเขาไฟปะทุใต้น้ำ

จากสถิติการเกิดสึนามิเพราะภูเขาไฟระเบิดในแถบอาเซียน ก็ถือว่ามีไม่น้อยเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่มักเกิดอยู่ในทะเลแคบๆ ซึ่งเป็นช่องว่างระหว่างหมู่เกาะฟิลิปปินส์และหมู่เกาะอินโดนีเซีย ทำให้สึนามิที่เกิดขึ้นจากภูเขาไฟส่งผลกระทบในพื้นที่แคบๆ ในระแวกนั้น ไม่ค่อยกินวงกว้างมากนัก ตัวอย่างเช่นเหตุการณ์สึนามิจากกการประทุและถล่มของภูเขาไฟกรากาตัวที่อยู่ระหว่างท้ายเกาะสุมาตราและเหนือเกาะชวา (V1 ในรูป) เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ทำให้พื้นที่ชายฝั่งโดยรอบช่องแคบซุนดาถูกสึนามิซัด ซึ่งมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 426 คนและบาดเจ็บกว่า 14,059 คน

แผนที่ภูมิภาคอาเซียนแสดงตำแหน่งที่สึนามิเคยซัดขึ้นฝั่ง (จุดเล็กสีน้ำเงิน) และตำแหน่งภูเขาไฟมีพลัง (สามเหลี่ยมสีแดง) ในภูมิภาคอาเซียน

แต่ถ้าจะดูตำแหน่งของภูเขาไฟมีพลังแถบบ้านเราที่มีโอกาสสร้างสึนามิเข้าอ่าวไทยได้ถ้าประทุหรือถล่ม ก็เห็นจะมีอยู่ 2 ลูก (V2-V3 ในรูป) คือ ภูเขาไฟทางตะวันตกของเกาะบอร์เนียวและกลุ่มภูเขาไฟทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม ซึ่งจากการสืบค้นประวัติโดยละเอียดก็พบว่าไม่ค่อยมีความดุร้ายเท่าไหร่นัก และไม่ค่อยมีประวัติการปะทุที่รุนแรงเป็นล่ำเป็นสัน ดังนั้นก็วางใจได้ในระดับหนึ่งว่าภูเขาไฟพวกนี้ไม่น่าจะทำให้เกิดสุนามิถึงอ่าวไทยหรือถ้าทำได้ก็คงไม่ถึงกับเป็นภัยพิบัติ

Ile des Cendres เป็นกลุ่มของภูเขาไฟใต้ทะเล นอกชายฝั่งทางใต้ของเวียดนาม (V3 ในรูป) ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2466 เคยประทุมาหนึ่งครั้งและทำให้เกิดเป็นเกาะโผล่พ้นน้ำ แต่หลังจากนั้นในเดือนพฤษภาคม (2 เดือน) ก็ถูกคลื่นซัดผุพังและก็กลายเป็นภูเขาไฟใต้ทะเลเหมือนเดิม

ภูมิประเทศใต้น้ำเลื่อนตัวในแนวดิ่ง

ตามทฤษฎีทาง ธรณีแปรสัณฐาน (tectonic) โอกาสเกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศในแนวดิงใต้น้ำส่วนใหญ่มักจะเกิดในบริเวณขอบของแผ่นเปลือกโลกที่มีการชนและมุดกัน ซึ่งสึนามิที่เคยเกิดทางฝั่งทะเลอันดามันของไทยก็เกิดจาก เขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน (Sumatra-Andaman Subduction Zone) แต่ในระแวกใกล้ๆ อ่าวไทยไม่ใช่ขอบของแผ่นเปลือกโลกและไม่น่าจะเกิดอะไรทำนองนั้น

แต่ถ้าจะให้พิจารณาเขตมุดตัวของเปลือกโลกทั้งหมดที่มีอยู่ในอาเซียน ซึ่งถ้าเกิดแผ่นดินไหวและมีการเคลื่อนตัวของภูมิประเทศในแนวดิ่งก็มีโอกาสสร้างสึนามิเดินทางมาที่อ่าวไทยได้ พบว่ามีอยู่ 2 ตัว คือ ร่องลึกก้นสมุทรปาลาวัน (Palawan Trench) แต่จากการศึกษาของ Pailoplee และ Boonchaluay (2016) พบว่าเขตมุดตัวปาละวันเป็นเขตมุดตัวเก่าที่ไม่ค่อยจะมีกิจกรรมทางธรณีแปรสัณฐานมากนัก คือแถบไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวเลยในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา

และอีกตัวที่มองแล้วว่าพอมีโอกาสเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดสึนามิเข้าอ่าวไทยก็น่าจะเป็น ร่องลึกก้นสมุทรมะนิลา (Manila Trench) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศฟิลิปปินส์ โดยผลจากการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ Ruangrassamee และ Saelem (2009) พบว่าถ้าเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.5 ที่ร่องลึกก้นสมุทรมะนิลา สึนามิจะมาถึงอ่าวไทยด้วยความสูงประมาณ 20 เซนติเมตร แต่ถ้าเกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.0 สึนามิในอ่าวไทยจะสูงสุด 50 เซนติเมตร จึงสรุปว่าสึนามิอาจเกิดขึ้นได้ในเชิงสาเหตุของเขตมุดตัวหรือร่องลึกก้นสมุทรมะนิลา แต่ถามว่าถือเป็นภัยพิบัติไหม ก็คงไม่ใช่

แผนที่แสดงความสูงของสึนามิในอ่าวไทยถ้าเกิดแผ่นดินไหวที่ร่องลึกก้นสมุทรมะนิลา (ซ้าย) แผ่นดินไหวขนาด 8.5 (ขวา) แผ่นดินไหวขนาด 9.0 (Ruangrassamee และ Saelem, 2009)

ก็อย่างที่บอกล่ะครับว่าถ้าเกิดแผ่นดินไหวใหญ่แถวฝั่งอันดามันของไทยเมื่อไหร่ คนไทยก็จะนึกถึงสึนามิ และเมื่อนึกถึงสึนามิ อ่าวไทยก็จะถูกพูดถึงเป็นระยะๆ ซึ่งถ้าอ่าวไทยเสี่ยงสึนามิจริงๆ มันก็คุ้มที่จะไม่เอาความเสี่ยงของชีวิตไปแลกกับเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง แต่จากการยีประเด็นความเสี่ยงการเกิดสึนามิในอ่าวไทยของบทความนี้ ก็น่าจะเห็นแล้วว่าโอกาสน่ะมี แต่โอกาสที่มีน่ะโคตรน้อย อย่าพะวงไปเลยครับ เที่ยวอ่าวไทยกันให้สนุก ผมอุตส่าห์ยกหลักฐานมาเล่ามาอ้างขนาดนี้ ก็หวังแค่นี้ล่ะครับ

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: