เรียนรู้

ทรงตัวกันยังไง ถ้าแผ่นดินไหวมา

ในบรรดาภัยพิบัติทางธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว สึนามิหรือดินถล่ม ฯลฯ ดูเหมือนว่าแผ่นดินไหวจะเป็นภัยพิบัติที่เข้าประชิดตัวพวกเราได้รวดเร็วที่สุด ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างแผ่นดินไหว คนธรรมดาอย่างพวกเราจะออกอาการรนรานให้เห็น ยิ่งถ้ามีหลายคนรวมกัน ความรนรานก็อาจจะรวมตัวเป็นความโกลาหลครั้งใหญ่ เพราะอย่างนี้พวกเราจึงควรต้องมีการเตรียมพร้อมและทำข้อตกลงร่วมกันในวงคนหลายคนว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินอย่างแผ่นดินไหวขึ้นมาจริงๆ ใครจะไปทางไหน และใครมีหน้าที่ต้องทำอะไร

บทความนี้เป็นแนวทางการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดแผ่นดินไหว เพื่อที่จะลดความเสี่ยงในการถูกแผ่นดินไหวกระทำ ซึ่งเป็นแนวทางที่ประเทศญี่ปุ่นใช้เป็นหลักปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน อันที่จริงก็ไม่ได้มีอะไรที่สลับซับซ้อน และผมก็เชื่อว่าพวกเราแทบทุกคนก็คงรู้กันดีอยู่แล้ว ผมจึงแค่อยากสะกิดกันลืม เพื่อให้พวกเราสามารถตัดสินใจได้เฉียบคมและแม่นขึ้น ทันกับเวลาที่มีให้อย่างจำกัดก่อนที่แผ่นดินไหวจะมาถึง

อยู่ในบ้าน

  • เราควรออกห่างจากชั้นหรือตู้ที่ติดผนังตลอดจนโคมไฟบนเพดาน และออกห่างจากกระจกซึ่งอาจแตกและเป็นอันตรายได้
  • เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขณะอยู่ในห้องนอน ให้กลิ้งตัวมานอนข้างเตียงและใช้หมอนหรือผ้าห่มป้องหัวไว้ เพราะถ้าบ้านถล่ม การหลบอยู่ข้างๆ เตียง ตู้ จะเหลือช่องว่าง พอที่จะให้เรามีชีวิตอยู่ได้แบบที่ไม่ต้องแบนเป็นกล้วยทับ แนวคิดแบบนี้เรียกกันว่า “สามเหลี่ยมชีวิต (Triangle of Life)” ซึ่งยืนยันจากผู้มีประสบการณ์ตรงหลายรายว่าทำตามแล้ว…รอด
หลักการและประสบการณ์ การหลบภัยแผ่นดินไหวตามแนวคิดสามเหลี่ยมชีวิต (ที่มา : www.blogspot.com; www.discoverynews.org )
  • หรือถ้าเกิดแผ่นดินไหวตอนที่อยู่ในห้องน้ำ ให้ใช้กะละมังหรือวัสดุที่พอจะหาได้ป้องหัวเอาไว้ก่อน รอจนกว่าแผ่นดินไหวหยุดให้รีบออกจากห้องน้ำทันที แต่ให้ระวังลื่นหกล้มด้วย เพราะช่วงที่เกิดแผ่นดินไหว สบู่หรือยาสระผมอาจหกเรี่ยราดอยู่ตามพื้น
  • ถ้าอยู่ในห้องครัว ให้เราปิดแก๊สให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก ออกห่างหม้ออาหารที่ร้อนๆ ตู้เย็น และชั้นวางอุปกรณ์ครัวต่างๆ โดยเฉพาะของมีคมและเครื่องถ้วยชามจำพวกแก้ว
  • ไม่ควรวิ่งลงบันไดทันทีในช่วงที่เกิดแผ่นดินไหว เพราะอาจเสียหลักและตกบันไดได้ ซึ่งอ่านข้อนี้แล้วพวกเราบางคนอาจจะแอบขำ แต่ผมขอยืนยันว่าแรงสั่นมันทำได้

อยู่บนยานพาหนะ

  • ถ้าอยู่บนรถโดยสารสาธารณะ ให้ย่อตัวลงต่ำและยึดจับกับราวให้แน่น เพื่อหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บ จากอาการล้มระเนระนาด
  • ถ้าเกิดแผ่นดินไหวตอนขับรถส่วนตัว ไม่ควรหยุดรถกะทันหันเพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ควรยึดพวงมาลัยให้มั่นๆ ลดความเร็วลงอย่างช้าๆ และค่อยๆ หยุดรถ
  • ถ้าเป็นไปได้ การหยุดรถในสถานการณ์ที่กำลังชุลมุนหลังเกิดแผ่นดินไหวให้จอดรถชิดด้านซ้ายมือ เพื่อเปิดทางให้รถเจ้าหน้าที่กู้ภัยหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถใช้เส้นทางไปทำหน้าที่ได้อย่างสะดวก
  • ถ้าจำเป็นต้องอพยพออกจากพื้นที่ให้ทิ้งรถไว้ และอพยพด้วยการเดินเท้า เพราะถ้าใช้รถส่วนตัวไปต่อกันทุกคนการจราจรติดขัด อยากต่อการเข้าไปช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่

อยู่ในอาคารสาธารณะ

  • ให้หาอะไรป้องหัวเอาไว้ เช่น กระเป๋าถือ แฟ้มเอกสารในสำนักงาน หรือตะกร้าจ่ายตลาดในซุปเปอร์มาเกตก็ยังดี
  • ถ้าอยู่ในห้องเรียน ให้มุดใต้โต๊ะและยึดขาโต๊ะให้มั่น ป้องกันสิ่งของที่ร่วงลงมาฟาดหัว
  • ถ้ากำลังอยู่ในห้องทดลองด้านวิทยาศาสตร์หรือโรงงานที่มีวัตถุอันตราย ให้ระวังให้ดี เรื่องสารเคมีหรือไฟไหม้
  • อย่าพยายามใช้ลิฟต์หลังจากเกิดแผ่นดินไหว ถึงแม้ว่าลิฟต์จะยังใช้การได้ก็ตาม เพราะมีโอกาสสูงที่จะเกิดแผ่นดินไหวตามมาอีกระรอกในภายหลัง ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นเราอาจต้องถูกขังลืมอยู่ในลิฟต์แบบอุทธรณ์กับใครไม่ได้
  • ถ้าอยู่ชั้นใต้ดินและแสงไฟไม่ทำงาน ให้ค่อยๆ เดินออกมาอย่างสุขุม มีสติ โดยยึดผนังหรือราวบันไดเป็นเครื่องนำทาง

อยู่นอกอาคาร

  • กำแพงบ้านที่ทำจากอิฐมีโอกาสหล่นมาทับได้ ดังนั้นถ้าเกิดแผ่นดินไหวเราควรออกจากซอยแคบๆ หรือให้ไกลจากกำแพงได้ก็จะเป็นการดี
  • ถ้าอยู่ในตัวเมือง เราจะเห็นว่ามีป้ายโฆษณามากมายห้อยต่องแต่งอยู่บนอาคารอย่างระเกะระกะ ซึ่งถ้าเกิดแผ่นดินไหว ขอให้จงระวังการถล่มของป้ายโฆษณาเหล่านั้น
สภาพป้ายโฆษณา หลังจากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.2 ที่ประเทศญี่ปุ่น (ที่มา : ww.worldnomads.com)
  • ถ้าอยู่ในอาคารจอดรถ ใต้ทางด่วนหรือภายในบ้าน ห้ามหลบเข้าไปในรถเด็ดขาด เนื่องจากถ้าเกิดการถล่มของอาคาร เราอาจถูกอัดก๊อปปี้กับโครงสร้างได้ ทางที่ดีควรออกมาและหมอบคุดคู้อยู่ข้างรถ ตามคอนเซ็ปต์ “สามเหลี่ยมชีวิต”
  • หากอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลขณะเกิดแผ่นดินไหว ภัยพิบัติที่เป็นอันตรายที่สุดคือ สึนามิ ดังนั้นควรอพยพไปสู่ที่สูงทันที โดยไม่ต้องรอคำเตือนการอพยพ
  • นอกจากนี้หากอยู่ใกล้เชิงเขาในช่วงเกิดแผ่นดินไหว ควรออกจากพื้นที่ลาดชันโดยเร็ว เพราะเสี่ยงต่อการถูกดินถล่มทับ และให้สังเกตหินหล่นตลอดเวลาขณะอพยพ อย่าก้มหน้าก้มตาเผ่นอย่างเดียว เพราะหินอาจหล่นเฉี่ยวหัวได้
ดินถล่มหลังจากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.7 บนเกาะฮอกไกโด ประเทศญ่ี่ปุ่น (ที่มา : www.sciencemag.org)

ก็จะประมาณนี้ล่ะครับสำหรับแนวทางการอพยพหนีภัยจากภัยพิบัติแผ่นดินไหว คิดว่าบทความนี้ก็น่าจะมีประโยชน์กับพวกเราทุกคนบ้างอย่างน้อยก็คงช่วยเพิ่มโอกาสให้พวกเราปลอดภัยมากขึ้น แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งสำคัญที่สุดของการเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ผมว่าก็คือ สติของพวกเรานี่หล่ะครับ อย่าลืมนะครับ “สติมา ปัญญาเกิด” ขอให้ทุกคนปลอดภัยเมื่อแผ่นดินไหวมานะครับ

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: