สำรวจ

รำลึกมหาอุทกภัยปี 2554 – ถอดบทเรียนเพื่อป้องกันภัยตามแนวคิดทางธรณีสัณฐานวิทยา

ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ภาคกลางอาจเป็นเรื่องปกติสำหรับคนที่อยู่กับน้ำ ริมน้ำ ริมคลอง ที่คุ้นชินกับการท่วมเกือบทุกปี แต่สำหรับแหล่งชุมชนเมือง อุตสาหกรรม แหล่งท่องเที่ยว การท่วมจากแม่น้ำที่ไม่เป็นธรรมชาติ ย่อมทำให้เกิดความเสียหายมากมาย กรณีมหาอุทกภัยปี 2554 เป็นเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความผิดพลาดในการประเมินธรรมชาติ แสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดทางกายภาพหลายประการในการระบายน้ำ และความล้มเหลวในความพยายามที่จะควบคุมธรรมชาติ ในบทความนี้ผู้เขียนได้ลำดับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นช่วงกลางถึงปลายปี พ.ศ. 2554 รำลึกและวิเคราะห์สาเหตุ ผลกระทบที่เกิดจากข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ในมุมมองของนักธรณีสัณฐานวิทยา เพื่อให้เห็นว่าปัญหาทางกายภาพเป็นอย่างไร ทั้งนี้ผู้เขียนมุ่งหวังเพียงเพื่อนำเสนอข้อมูล แนวคิด และแนวทางที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ธรณีสัณฐานวิทยาที่ข้อมูลบางอย่างไม่เคยได้ถูกนำมาช่วยในการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาอุทกภัยมาก่อน ซึ่งผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์หากนำข้อมูลนี้มาใช้ประกอบการวางแผนป้องกันอุทกภัยในอนาคต

เหตุการณ์มหาอุทกภัยในปี พ.ศ. 2554 (2011 Thailand mega-flood ) จัดว่าเป็นพิบัติภัยครั้งใหญ่ในประเทศไทยครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จุดเริ่มต้นนั้นเกิดจากปัจจัยธรรมชาติในช่วงเดือนมิถุนายน 2554 จนกระทั่งมวลน้ำได้ไหลเข้ามาประชิดพื้นที่กรุงเทพมหานครในเดือนตุลาคม 2554 ซึ่งหากสรุปสาเหตุหลักของมหาอุทกภัยครั้งนี้ จัดได้ว่าเกิดจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยทางธรรมชาติ (พายุ และปริมาณน้ำฝน) และปัจจัยจากมนุษย์ (การบริหารจัดการน้ำ และโครงสร้างทางชลศาสตร์ที่มนุษย์สร้างขึ้น)

ปัจจัยทางธรรมชาติ

ปัจจัยทางธรรมชาติที่สำคัญ คือ พายุ และลมมรสุม ที่ทำให้เกิดปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติซึ่งเริ่มเข้ามาในช่วงฤดูฝนตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงตุลาคมของปี 2554 มีทั้งหมด 5 ลูก ได้แก่ พายุไหหม่า พายุนกเตน พายุไห่ถาง พายุเนสาด และพายุนาลแก ที่ส่งผลตามลำดับเวลาดังแสดงในตาราง 1

ตารางที่ 1 แสดงลำดับเวลาและผลกระทบของพายุที่พัดผ่านมายังประเทศไทยช่วงปี 2554

พายุ วันที่ ผลกระทบ
ไหหม่า 24-26 มิ.ย. เกิดน้ำท่วมฉับพลันที่ จังหวัดแพร่ น่าน ภาคเหนือ
นกเตน 31 ก.ค. เป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ พัดมายังภาคเหนือ
ไห่ถาง 27 ก.ย. เป็นดีเปรสชั่น พัดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ
เนสาด 30 ก.ย. เป็นโซนร้อน พัดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ
นาลแก 6-8 ต.ค. เป็นโซนร้อน ส่งผลต่อพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน

จากการที่มีพายุและลมมรสุมพาดผ่านประเทศไทยข้างต้นนั้น ทำให้มีปริมาณน้ำฝนสะสมเพิ่มขึ้นมากโดยพบว่าปี 2554 เป็นปีที่มีปริมาณน้ำฝนมากที่สุดในรอบ 20 ปี (รูป 1) ซึ่งปริมาณน้ำฝนในแต่ละเดือนก็ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของพายุ เช่น เป็นพายุโซนร้อน ดีเปรสชั่น หรือหย่อมความกดอากาศต่ำ

รูป 1 แสดงปริมาณน้ำฝนในประเทศไทย รอบ 20 ปี

ปัจจัยจากมนุษย์

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่ เขื่อน ฝายกั้นน้ำ คลองชลประทาน ซึ่งโครงสร้างทางชลศาสตร์เหล่านี้สร้างไว้เพื่อวัตถุประสงค์หลักคือ การบริหารจัดการน้ำ และการควบคุมน้ำให้เป็นไปตามปริมาณที่ต้องการที่ต้องยอมรับว่ามีประโยชน์อย่างแท้จริงเพื่อการเกษตรกรรม แต่ใน ปี 2554 โครงสร้างที่มนุษย์ทำขึ้นมานี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อระดับความเสียหาย และความรุนแรงของอุทกภัยเช่นกัน ในกรณีการเกิดอุทกภัยปี 2554 อาจถือได้ว่าเป็นบทเรียนสำคัญในเรื่องการบริหารจัดการน้ำในประเทศไทย โดยสามารถลำดับเหตุการณ์ได้ดังต่อไปนี้ (ตาราง 2 และ 3)

ตาราง 2 ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดกับโครงสร้างทางชลศาสตร์เดือนพฤษภาคม ถึงสิงหาคม 2554

วันที่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่โครงสร้างหลักทางชลศาสตร์ ปริมาณน้ำ (ลบ.ม.) พายุ/ลมมรสุม
5 พ.ค. 54 เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำอยู่ร้อยละ 45 ของความจุอ่าง เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำอยู่ร้อยละ 50 ของความจุอ่าง    
ปลายเดือน มิ.ย. 54 เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำอยู่ร้อยละ 55 ของความจุอ่าง เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำอยู่ร้อยละ 54 ของความจุอ่าง   ไหหม่า (เหนือ)
2 ก.ค. 54 เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำอยู่ร้อยละ 58 ของความจุอ่าง เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำอยู่ร้อยละ 64 ของความจุอ่าง   ไหหม่า (เหนือ)
29 ก.ค. 54 เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำอยู่ร้อยละ 63 ของความจุอ่าง เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำอยู่ร้อยละ 77 ของความจุอ่าง   นกเตน (เหนือ/กลาง)
8 ส.ค. 54 เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำอยู่ร้อยละ 69 ของความจุอ่าง เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำอยู่ร้อยละ 85 ของความจุอ่าง 10,436 ล้าน 8,920 ล้าน นกเตน (เหนือ/กลาง)
25 ส.ค. 54 เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำอยู่ร้อยละ 93 เริ่มระบายน้ำออกวันละ 7.35 ล้านคิว เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำอยู่ร้อยละ 75 ของความจุอ่าง    

ตาราง 3 ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดกับโครงสร้างทางชลศาสตร์เดือนกันยายน ถึงตุลาคม 2554

วันที่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่โครงสร้างหลักทางชลศาสตร์ ปริมาณน้ำ (ลบ.ม.) พายุ/ลมมรสุม
13 ก.ย. 54 เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำ วันละ 3,013 ลบ.ม./วินาที    
14 ก.ย. 54 ประตูระบายน้ำบางโฉมศรีแตก    
17 ก.ย. 54 เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำเกินกักเก็บร้อยละ 105 ของความจุอ่าง และเริ่มระบายน้ำออก    
30 ก.ย. 54 เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำอยู่ร้อยละ 98 ของความจุอ่าง ทำให้เริ่มมีการระบายน้ำออก เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำอยู่ร้อยละ 99 ของความจุอ่าง 12,481 ล้าน   9,404 ล้าน ไห่ถาง เนสาด(ตะวันออกเฉียงเหนือ)
3 ต.ค. 54 เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ มีปริมาณน้ำเกินกักเก็บร้อยละ 100 ทำให้น้ำล้นออกมาทางน้ำล้น 35  ลบ.ม./วินาที    
5 ต.ค. 54 หยุดระบายน้ำออกจากเขื่อนสิริกิติ์    
10 ต.ค. 54 คันดินกั้นแม่น้ำปิงในจังหวัดนครสวรรค์แตก   นาลแก (เหนือ/กลาง)
11 ต.ค. 54 ทำนบกั้นน้ำในจังหวัดปทุมธานีพังเสียหาย    
13 ต.ค. 54 คันกั้นน้ำคลองบ้านพร้าว จังหวัดปทุมธานีแตก    
14 ต.ค. 54 คันกั้นน้ำเขตเทศบาลเมืองบางบัวทองแตก    
18 ต.ค. 54 พนังดินสูง 1.8 เมตร กั้นคลองระพีพัฒน์แตก    
20 ต.ค. 54 คันกั้นคลองประปาแตก    
22 ต.ค. 54 คันกั้นน้ำย่านบางกระบือแตก    
27 ต.ค. 54 ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาล้นข้ามตลิ่ง    
28 ต.ค. 54 เกิดน้ำทะเลหนุนทำให้ระดับในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงเกินคันกั้นน้ำ    
30 ต.ค. 54 เปิดประตูระบายน้ำคลองสามวา    

เมื่อวิเคราะห์จากลำดับเหตุการณ์ในตารางพบว่าตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน 2554 ปริมาณน้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ที่เป็นโครงสร้างหลักสำหรับรับน้ำจากทางภาคเหนือของประเทศไทย แต่เนื่องด้วยอิทธิพลของพายะและมรสุมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงข้อจำกัดของการพยากรณ์สภาพอากาศล่วงหน้า ที่ทำนายได้ล่วงหน้าเพียงระยะเวลาอันสั้น ได้ส่งผลต่อความกังวลเกี่ยวกับการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางเกษตรในช่วงฤดูแล้ง จึงทำให้ไม่มีการระบายน้ำออกตั้งแต่ช่วงกลางเดือนสิงหาคมถึงปลายเดือนกันยายน จึงได้เริ่มทยอยระบายน้ำในเขื่อนออกตามลำดับ เนื่องจากในเขื่อนมีปริมาณเกินความจุของอ่างเก็บน้ำ ดังนั้น เมื่อมีการระบายน้ำออกในปริมาณที่มากและรวดเร็วก็ยิ่งเป็นการเพิ่มให้มีปริมาณน้ำรวมถึงการไหลที่เร็วมากขึ้นในแม่น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่น้ำปิง แม่น้ำน่าน และแม่น้ำเจ้าพระยา

หากพิจารณาจากตำแหน่งที่ตั้งของเขื่อนหลักแล้ว (รูป 2) จะเห็นว่าการระบายน้ำออกอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาสั้นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดอุทกภัยอย่างฉับพลันในพื้นที่จังหวัดที่อยู่บริเวณท้ายเขื่อน ซึ่งมวลน้ำปริมาณมากได้ไหลลงมาตามทางน้ำตามความลาดชันอย่างรวดเร็ว เรื่อยมาจนถึงพื้นที่ความลาดชันต่ำ ตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี จนถึงกรุงเทพมหานคร การระบายน้ำออกจากเขื่อนหลักพร้อมกัน ทำให้เกินความจุของแม่น้ำและคลอง น้ำเกิดล้นตลิ่งอย่างฉับพลัน โดยเฉพาะในตำแหน่งที่มีประตูระบายน้ำด้วยแล้ว มวลน้ำที่มีปริมาณและแรงดันมหาศาล สามารถทลายสิ่งกีดขวางได้ ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือประตูน้ำบางโฉมศรีที่แตก ก่อให้เกิดการท่วมของพื้นที่โดยรอบอย่างไม่ทันตั้งตัว จากตารางจะเห็นว่าตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนเรื่อยมา น้ำที่ระบายออกจากเขื่อนอย่างต่อเนื่องรวมถึงน้ำทุ่งที่สะสมตัวท้ายเขื่อนในขณะฝนตกอย่างหนักช่วงพายุและมรสุมเข้าอย่างต่อเนื่อง ทำให้โครงสร้างที่เป็นประตูระบายน้ำทยอยพัง ควบคุมไม่ได้ จนถึงช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ความพยายามในการควบคุมน้ำไม่เป็นผลอีกต่อไป จนน้ำเริ่มเข้าสู่พื้นที่ตอนเหนือของกรุงเทพมหานครช่วงวันที่ 18-20 ตุลาคม 2554

รูป 2 ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนเกิดอุทกภัยพื้นที่ตอนเหนือของกรุงเทพมหานครในเดือนตุลาคม 2554

สรุปปัญหาและข้อเสนอแนะ

จากการวิเคราะห์ภาพรวมเหตุการณ์อุทกภัยในปี 2554 พบว่า สาเหตุไม่ได้มาจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียวที่ส่งผลให้การบริหารจัดการน้ำไม่ประสบความสำเร็จ แต่สาเหตุหลักอีกประการคือ ความสับสนของข้อมูลจริง ณ ห้วงเวลานั้น (real-time) ทำให้การประเมินปริมาณน้ำเชิงตัวเลขและเชิงพื้นที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลให้การบริหารจัดการไม่สำเร็จตามไปด้วย ผู้เขียนได้สรุปปัญหาพร้อมข้อเสนอแนะในมุมมองนักธรณีสัณฐานวิทยา ดังมีรายละเอียดดังนี้

ปัญหาด้านกายภาพ

1.1. ฐานข้อมูลกายภาพของประเทศไม่ครบถ้วน

การขาดข้อมูลทางกายภาพที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลความสูงต่ำของพื้นที่ระดับรายละเอียด ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนในการการคำนวณและคาดการณ์ปริมาณน้ำและพื้นที่รับน้ำทั้งหมด ที่เป็นโจทย์แรกที่ต้องแก้ไขให้ได้ก่อน เช่น สำรวจสภาพภูมิประเทศปัจจุบันใหม่โดยเฉพาะความสูงต่ำของพื้นที่ อาจต้องลงทุนทำข้อมูลไลดาห์ (LIDAR) โดยกำหนดหน่วยงานเจ้าภาพที่รับผิดชอบข้อมูลนี้ให้ชัดเจนและไม่ซ้ำซ้อน

ในระยะยาว ต้องมีจัดทำข้อมูลพื้นฐานทางธรณีสัณฐานวิทยาระดับรายละเอียดโดยเฉพาะในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลาง ได้แก่ กำหนดขอบเขตของที่ราบน้ำท่วมถึงที่ประเมินจากปริมาณน้ำที่จะเข้าสู่ระบบทางน้ำ เนื่องจากขอบเขตน้ำท่วมในแต่ละปีไม่เท่ากัน ประเด็นนี้ต้องทำควบคู่ไปกับการสร้างบุคลากรที่มีความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการธรณีสัณฐานของแม่น้ำ ต้องถ่ายทอดความเข้าใจและข้อมูลเหล่านี้ให้แก่ชุมชน โดยแต่ละชุมชนควรเรียนรู้ลักษณะทางกายภาพทั้งเรื่องขอบเขตน้ำท่วมและตำแหน่งระดับสูงต่ำของพื้นที่ของตนเอง สามารถสำรวจและเก็บข้อมูลเชิงพื้นที่เพื่อทำเป็นแผนที่ในระดับท้องถิ่น (local map)

1.2. ขาดความเข้าใจในระบบธรรมชาติของแม่น้ำ

ทิศทางการไหลของลำน้ำสาขาในธรรมชาติเป็นสิ่งที่ไม่ยากในการทำความเข้าใจ แต่ทิศทางที่เปลี่ยนไปโดยสิ่งก่อสร้างหรือโครงสร้างทางชลศาสตร์ที่สร้างขึ้นนั้น เป็นสิ่งที่ยากในการทำความเข้าใจ ซึ่งหากการก่อสร้างไม่ครอบคลุมทุกบริบทด้านกายภาพ ย่อยส่งผลให้น้ำไหลไม่เป็นไปตามธรรมชาติที่ควรจะเป็น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสำรวจว่าระบบการไหลของน้ำในแม่น้ำมีความผิดเพี้ยนไปในบริเวณใด เช่น ปกติบริเวณโค้งนอกของแม่น้ำจะมีการไหลที่รุนแรงส่งผลทำให้เกิดการกัดเซาะตลิ่งจนลำน้ำขาดออกจากกัน (cut-off) ต้องมีการประเมินความเสี่ยงเชิงพื้นที่ในกรณีน้ำมาก น้ำน้อย อย่างเป็นระบบและครอบคลุมพื้นที่รับน้ำทั้งหมด แม้ว่าต้องใช้เวลาในการประเมิน แต่ในระยะยาวถือว่าคุ้มค่า อีกประเด็นที่ชัดเจน คือ อาคารบ้านเรือนที่ยื่นออกไปในทางน้ำไหลได้ส่งผลให้กระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางการไหลไม่เป็นไปตามธรรมชาติได้ รวมถึงการสำรวจแนวถนนที่สร้างขวางทางเดินน้ำ เช่น สำรวจถนนสายเอเชียหมายเลข 32 ตั้งแต่จังหวัดปทุมธานีถึงนครสวรรค์ ว่ามีจุดใดบ้างที่ขวางทางน้ำ หรือมีระดับที่ต่ำกว่าระดับน้ำท่วม บริเวณไหนมีวัชพืชที่ขวางการไหลของน้ำ เป็นต้น

1.3. ขาดการสำรวจพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

ควรมีการคำนวณพื้นที่เสี่ยงภัย ในทุกระดับมาตราส่วน ตั้งแต่ระดับลุ่มน้ำ (watershed) จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน โดยทำการแยกเขตกั้นของ sub-reservoir แต่ละแห่ง ให้เป็น block เพื่อคำนวณพื้นที่และปริมาณน้ำในแต่ละ block จำเป็นต้องสำรวจภาคสนามและคำนวณหาระดับความลึก ความสูงของถนนและทุ่งนาก่อน (relief) ทั้งนี้ การทำระดับความสูงควรที่จะมีการกำหนดจุดอ้างอิง (reference point) โดยใช้จุดตัดของถนนเป็นจุดอ้างอิงได้ กำหนดมีระยะห่างจากกันไม่มากนัก (รูป 3) เพื่อทำเป็นแผนที่ระดับน้ำท่วม ใช้ประโยชน์ในการวางแผนเส้นทางคมนาคม หากใช้แนวถนนเป็นแนวคันกั้นกักเก็บน้ำ (block reservoir) โดยเมื่อวัดระดับความสูงระหว่างถนนและทุ่งนาได้แล้วนั้นก็สามารถนำมาคำนวณปริมาณน้ำที่สามารถกักเก็บไว้ได้ ซึ่งให้แนวถนนเปรียบเสมือนเขื่อนกั้นขนาดย่อม (รูป 3)

รูป 3 แสดงแนวคิดวิธีการคำนวณ Block reservoir หรือพื้นที่แก้มลิงย่อยเพื่อรับน้ำ เพื่อกระจายมวลน้ำและชะลอการท่วมของน้ำ โดยการใช้ระดับความสูงของถนนเป็นแนวเขื่อน (Road dam) ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้ในบางพื้นที่หลังจากจัดลำดับความสำคัญในการเลือกรักษาพื้นที่แล้ว

H.1 = ระดับระหว่างที่ราบน้ำท่วมถึง (floodplain) ถึง ถนน (RL1)

H.2 = ระดับระหว่างที่ราบน้ำท่วมถึง (floodplain) ถึง ถนน (RL2)

H.3 = ระดับน้ำท่วมจากที่ราบน้ำท่วมถึง

ดังนั้น ปริมาตรน้ำที่ Block หนึ่งจะรับได้ = H.1 x area ทำให้ถนน RL1 ปลอดภัย

ความต่างระดับจากถนน RL2 กับ RL2 = H.2-H.1

 ปริมาณน้ำที่ไหลท่วมล้นถนน = H.3-H.2

นอกจากนี้ ควรคำนวณจำนวนประชากรและที่อยู่อาศัยในแต่ละ sub-block รวมถึงแยกประเภทที่อยู่อาศัยออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ บ้านชั้นเดียว และตึกอาคารหลายชั้น และควรมีการสำรวจตำแหน่งประตูน้ำรวมถึงประเมินประสิทธิภาพการใช้งานในปัจจุบันในทุกปี อีกทั้งควรมีการสำรวจความลึกร่องน้ำของแม่น้ำหลัก (channel profile) สำรวจปริมาณตะกอนท้องน้ำ (bedload) เพื่อใช้ในการตัดสินใจขุดลอกหากจำเป็นต้องเพิ่มพื้นที่ร่องน้ำในการรับน้ำช่วงน้ำท่วมและเพิ่มศักยภาพในการรักษาปริมาณน้ำในแม่น้ำลำคลองในช่วงแล้ง โดยต้องคำนึงถึงความสมดุลตลิ่งและเสถียรภาพของดินในทางธรรมชาติ รวมไปถึงหากขุดลอกควรเลือกบริเวณแม่น้ำโค้งตวัดหรือถูกกัดเซาะเกือบขาด (Meander neck) ต้องพิจารณาถึงอัตราการไหลและระยะเวลาการไหล กล่าวคือ หากต้องการชะลอน้ำเพื่อรักษาบริเวณโค้งน้ำไว้ไม่ให้ตัดขาด สามารถเบี่ยงการไหลเพื่อส่งน้ำออกทางส่วนที่แคบที่สุดของโค้งน้ำที่น่าจะตัดขาดโดยธรรมชาติ (neck cut-off) เช่นเดียวกับคลองลัดโพธิ์ที่รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานแนวคิดและออกแบบให้เป็นต้นแบบของการคืนธรรมชาติการไหลของน้ำให้ควรจะเป็นไปตามธรรมชาติไว้ให้แล้ว ส่วนปัญหาอื่นที่เกิดขึ้นจากภาวะแล้ง น้ำน้อย ทำให้ตลิ่งพัง และหากมีน้ำมากโดยไม่เป็นธรรมชาติ คือ ไม่ปล่อยให้น้ำเข้าสู่อนุภาคของดินและตะกอนตามธรรมชาติก็จะเกิดการ collapse ของตลิ่งได้

 นอกจากนี้ควรต้องประเมินสภาพภูมิประเทศในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปจากการใช้ที่ดิน ซึ่งในทางเทคนิคสารสนเทศภูมิศาสตร์สามารถวิเคราะห์ได้ไม่ยาก รวมถึงการทำข้อมูลระดับความสูงพื้นที่โดยละเอียด ก็สามารถใช้เทคโนโลยีจากข้อมูล LIDAR แม้ว่าค่าใช้จ่ายสูงแต่คุ้มค่ามาก สิ่งที่ขาดไม่ได้อีกประการ คือ การสำรวจสภาพพื้นที่จริงปัจจุบันอย่างต่อเนื่องทุกปี แยกพื้นที่ระดับเดิมออกมาจากระดับพื้นที่เกิดจากการถมที่ออกมาให้ได้ การเปลี่ยนแปลงระดับความสูงของพื้นที่มีความสำคัญในการคำนวณปริมาณน้ำ และคำนวณพื้นที่เสี่ยง เพื่อทำการจัดลำดับความสำคัญของพื้นที่ที่ควรได้รับการป้องกันให้ได้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่ เช่น เขื่อน อุโมงค์ ซึ่งการทำแผนที่ และการวัดระดับ ปัจจุบันสามารถใช้เครื่องมือที่มีความละเอียดสูงที่หาได้ไม่ยาก ได้แก่ Differential GPS หรือเทคนิคด้านวิศวกรรมสำรวจโดยภาพดาวเทียม

อีกปัญหาหนึ่งที่พบ คือ การไม่ปล่อยน้ำเข้าทุ่งที่เป็น floodplain ธรรมชาติเดิม หรือแก้มลิง โดยเหตุผลเพียงเพื่อกลัวความเสียหายด้านเกษตรกรรม ทำนา ต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ ยกตัวอย่างจากการทำการสำรวจโดยผู้วิจัยในพื้นที่ทุ่งบางบาล ทุ่งผักไห่ พบว่า มีการทำนานอกฤดู พบบ่อทรายมากมาย ที่สมมติได้ว่าอาจเป็นเงื่อนไขของการไม่ปล่อยน้ำเข้าทุ่งก็เป็นได้ ทำให้น้ำมาเอ่อล้นตามริมน้ำโดยเฉพาะเกือบทุกริมน้ำมีถนนสร้างเป็นแนวกั้นน้ำ (man-made natural levee) ทำให้บ้านเรือนประชาชนริมน้ำถูกน้ำท่วมขังตลอดโดยคาดการณ์ไม่ได้ว่า ระดับน้ำจะขึ้นหรือลง ด้วยอัตราเท่าใด ความเสียหายเกิดกับแหล่งที่อยู่อาศัยอย่างที่ไม่ควรจะเป็น

ปัญหาด้านการจัดการ

ปัญหาด้านการจัดการในกรณีนี้คือ ความรู้ความเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จากเหตุการณ์อุทกภัยเมื่อปี 2554 จะเห็นว่ามีทั้งสื่อมวลชน รัฐบาล นักวิชาการ ที่นำเสนอสถานการณ์ในเนื้อเรื่องที่แตกต่างกันออกไปโดยไม่ได้มีการกลั่นกรองหรือไตร่ตรองข้อมูลอย่างถูกต้องชัดเจน ดังนั้น ควรที่จะมีการปลูกฝังจิตสำนึกให้รู้จักยอมรับความจริงและซื่อสัตย์ต่อประชาชนประเทศชาติ รวมถึงให้ความร่วมมือซึ่งกันและกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม โดยต้องคำนึงถึงแนวคิด Protection hierarchy อันได้แก่

2.1. รักษาชีวิตของประชาชน

ควรจัดลำดับให้ ชีวิตและที่อยู่อาศัยของประชาชน เป็น first priority ในการปกป้องจากภาวะน้ำท่วม เมื่อใดก็ตามที่ปริมาณน้ำเริ่มมากและจำเป็นต้องปล่อยให้น้ำให้เข้าทุ่งนาที่เป็นที่ราบน้ำท่วมถึง หรือ floodplain เพื่อปล่อยให้เป็นไปตามระบบธรรมชาติก็ต้องทำ หลายครั้งบางหน่วยงานมักจะอ้างเรื่องการปกป้องพื้นที่เกษตรกรรมหรือพื้นที่นา แต่ข้อเท็จจริงคือ ในภาคกลาง การทำนารอบที่ 3 ก็เป็นการฝืนธรรมชาติ และไม่เป็นไปตามการรณรงค์ห้ามให้ทำนาอยู่แล้ว แนวความคิดในเรื่องการจัดลำดับความสำคัญของผลกระทบเรื่องชีวิตของประชาชนเข้ามาใช้ในการวางแผนป้องกันน้ำท่วมจึงควรกระทำอย่างจริงจัง เว้นแต่ในบางพื้นที่ที่ประชาชนยินยอมที่จะถูกน้ำท่วมโดยรักษาที่นาไว้ ก็ต้องมีการพูดคุยและตกลงกันในแต่ละท้องที่ให้ชัดเจน

2.2. รักษาระบบขนส่งหลัก

ในปี 2554 การรักษาเส้นเลือดใหญ่ในเรื่องระบบขนส่งหลักเกิดขึ้นหลังจากเกิดภาวะน้ำท่วมที่ยาวนานและน้ำท่วมขึ้นถึงระดับที่ไม่สามารถป้องกันระบบขนส่งหรือถนนสายหลักได้แล้ว จะเห็นได้ว่า การวางแผนเรื่องการรักษาระบบขนส่งหลักมีปัญหาและไม่ได้ให้ความสำคัญในการวางแผนล่วงหน้า

2.3. รักษาระบบการไหลของน้ำ

มหาอุทกภัยปี 2554 เห็นได้ว่าการไปฝืนธรรมชาติการไหลของน้ำเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเสียหายมหาศาล การไม่ปล่อยให้น้ำไหลไปตามธรรมชาติของความลาดชัน อาจด้วยเหตุผลเพื่อรักษาพื้นที่เศรษฐกิจ เช่น การไม่ปล่อยให้น้ำหรือหน่วงน้ำเพื่อผ่านพื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพมหานครเพื่อระบายน้ำลงทะเล ความพยายามในการเบี่ยงน้ำออกแนว floodway ซึ่งก็ไม่สามารถเป็น floodway ได้มานานแล้วเพราะการปล่อยปละละเลยในเรื่องผังเมืองโดยการให้สร้างเป็นเขตที่อยู่อาศัยขวางแนวการไหลของน้ำ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้การท่วมขังเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานในหลายพื้นที่ที่ไม่ควรจะท่วมขัง โดยเฉพาะจะเห็นว่าปริมาณน้ำที่ไม่สามารถไหลตามระบบได้เดินทางสู่ที่ต่ำโดยใช้ถนนเป็นเส้นทางแทนทางน้ำ เหตุการณ์เช่นนี้เป็นบทเรียนที่มีคุณค่ามากที่จะต้องมาทบทวนอย่างหนักสำหรับการฝืนธรรมชาติของระบบการไหลของน้ำ หากไม่แก้ไขหรือศึกษาให้ถ่องแท้ เหตุการณ์ดังเช่น ปี 2554 ก็อาจเกิดซ้ำได้โดยไม่จำเป็นต้องมีปริมาณน้ำมากมายเหมือนปี 54 ก็เป็นได้

2.4. เลือกผลกระทบ

เห็นได้ชัดว่ามหาอุทกภัยปี 2554 การมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมต่อการจัดการปัญหามีน้อยมากตั้งแต่เริ่มเกิดภาวะน้ำมาก การออกคำสั่งหรือแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องบริหารจัดการน้ำยังสับสนมาก ไม่รู้ว่าใครมีหน้าที่อะไร ทำให้ประชาชนที่ไม่ได้มีส่วนในการออกแบบป้องกันพื้นที่ตัวเองสูญเสีย รวมถึงภาคอุตสาหกรรมในเขตอุตสาหกรรมใหญ่ อาทิ เขตอุตสาหกรรมสหรัตนะนคร เขตอุตสาหกรรมโรจนะ ไฮเทค บางปะอิน บางกะดี ได้รับความเสียหายอย่างหนักโดยบางแห่งไม่สามารถวางแผนล่วงหน้าในการป้องกันได้เลย จึงสะท้อนให้เห็นว่า การเลือกผลกระทบและการจัดลำดับการรักษาพื้นที่สำคัญนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพราะนอกจากจะสร้างผลกระทบโดยตรงด้านชีวิตที่อยู่อาศัย ยังส่งผลแหล่งงานและภาวะเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างชัดเจน

จากการขาดแคลนฐานข้อมูลด้านกายภาพรวมไปถึงองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวกับลักษณะของที่ราบลุ่มภาคกลางอย่างแท้จริงแล้วนั้น ทำให้ไม่สามารถเข้าใจถึงคำว่า “ธรรมชาติของน้ำ” ส่งผลให้เกิดความรุนแรงของอุทกภัยได้สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประเทศเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ยังมีปัญหาด้านสังคมที่เกิดจากความไม่เข้าใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การถ่ายทอดข้อเท็จจริงที่มีความแตกต่างกันออกไป ไม่ร่วมมือกันในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากมีการสร้างฐานข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่อย่างถ่องแท้ สร้างความเข้าใจในธรรมชาติ และนำไปปฏิบัติด้วยสติและปัญญาอย่างแท้จริง ก็จะเกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการรับมือภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ผู้เขียนเห็นว่า ควรเริ่มกระบวนการคิดและปฏิบัติในเรื่องการจัดการ การวางแผนบรรเทาอุทกภัย ด้วยแนวคิดที่ว่า เริ่มคิดจากฐานขึ้นสู่ยอดปิรามิด เปรียบได้กับฐานข้อมูลต้องแน่นก่อนประเมินและวางแผน และต้องอยู่บนฐานความคิดที่ว่า “ต้องคืนธรรมชาติให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด” ควรรู้จักปรับตัวรู้จักธรรมชาติเพื่อที่จะอยู่อย่างสมดุลและปลอดภัย (ตาราง 4 และรูป 4)

ตาราง 4 ตัวอย่างงานวิจัยและข้อมูลกายภาพ (ด้านธรณีสัณฐานวิทยาและธรณีวิทยา) และสิ่งที่สังคมควรสร้างและทำความเข้าใจก่อนการวางแผนป้องกันบรรเทาอุทกภัย

ข้อมูลกายภาพ การเรียนรู้และความเข้าใจ
ทำแผนที่ธรณีสัณฐานทั้งระบบ โดยแยกลักษณะธรณีสัณฐานในพื้นที่ ได้แก่ Avulsion plain หรือ Meander belt โดยสำรวจลานตะพัก (terrace) ลำน้ำที่ถูกตัดขาด (cut-off) และร่องรอย (meandered scar) เช่น pond oxbow-lake 1. ศึกษาเรียนรู้แนวคิดการวางผังเมืองสมัยโบราณที่เคยถูกออกแบบให้เป็นเมืองคูคลอง เช่น เมืองอินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี เกาะเมืองอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา โดยนำมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ปัจจุบัน
แบ่งประเภทพื้นที่ธรณีสัณฐานที่เปลี่ยนไป โดยธรรมชาติ และมนุษย์ออกจากกัน เพื่อวิเคราะห์และออกแบบการป้องกัน 2. ศึกษาเรียนรู้ระบบคูคลองในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลอย่างเข้าใจ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ
  ให้ชุมชนร่วมมือกันศึกษาเรียนรู้ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ตนเอง และร่วมวางแผนป้องกันให้ที่ดีสุด
รูป 4 การปรับใช้แนวคิดพีรามิด เริ่มต้นคิดจากฐานสู่ยอด สำหรับการบริหารจัดการภัยพิบัติ

คำขอบคุณ

ข้อมูลบางส่วนนำมาจากรายงานวิจัยเรื่อง การประเมินความเสี่ยงต่อพิบัติภัยทางธรณีวิทยา ที่ผู้เขียนได้รับทุนสนับสนุนจากคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติและได้รับรองรายงานฉบับสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้วสามารถนำมาถ่ายทอดให้แก่ผู้อ่านทั่วไปได้ ขอบคุณภาพประกอบจากเวปไซต์ต่างๆ เพื่อเป็นการรำลึกเหตุการณ์มหาอุทกภัย 2554 ที่เป็นประวัติศาสตร์ของประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: