เวลาเกิด แผ่นดินไหว ขนาดใหญ่ๆ นอกจาก ภัยพิบัติแรงสั่นสะเทือน ภัยพิบัติสึนามิ รวมทั้ง ภัยพิบัติทรายพุและโคลนภูเขาไฟ ที่มักเกิดมาเป็นชุดๆในพื้นที่ใกล้จุดศูนย์กลางแล้ว แผ่นดินไหวยังสามารถเหนี่ยวนำ ทำให้เกิดภัยพิบัติยิบๆ ย่อยๆ อีกหลายภัย บทความนี้ไม่ได้ต้องการจะหาเศษหาเลย หรือจ้องจะปรักปรำแผ่นดินไหวจนเกินงาม แต่หลายครั้งก็เลี่ยงเสียไม่ได้ที่จะกล่าวหาอ้างว่า ภัยพิบัติเหล่านี้เป็นเพราะแผ่นดินไหวตัวเดียวแท้ๆ (ร้ายกาจนักน๊าาาาา) แล้วตกลงยังมีภัยอะไรอีกบ้าง ที่สามารถมาพร้อมแผ่นดินไหวได้ เราลองไปเก็บรายละเอียดกันครับ

ดินถล่ม (Landslide) X แผ่นดินไหว (Earthquake)

ปกติในแทบทุกที่โดยเฉพาะบริเวณเชิงเขาความชันสูง มักประกอบด้วยเศษหินผุหรือชั้นดินปกคลุมอยู่ ซึ่งก็จะยึดเกาะตัวกันอย่างสมดุลในสภาวะปกติ แต่เมื่อมีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้แรงยึดเหนี่ยวของมวลดินนั้นลดลง เช่น การอมน้ำฝนปริมาณมากจนสมดุลการยึดเกาะนั้นเสียไป ก็อาจทำให้เกิดดินถล่มได้

แรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดดินถล่มได้ง่ายและเร็วขึ้น ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.8 ที่มณฑลเสฉวน ประเทศจีน เมื่อวันที่ 12 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2551 แรงสั่นสะเทือนไม่ได้ทำให้อาคารถล่มเสียหายมากนัก แต่ตัวแรงสั่นสะเทือนเองกลับไปเหนี่ยวนำให้พื้นที่เชิงเขาเกิดดินถล่มอย่างรุนแรงในหลายๆ พื้นที่ ส่งผลให้หลายครัวเรือน รวมทั้งโรงเรียนอนุบาลประจำเมืองซึ่งถูกดินถล่มทับ มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากเหตุการณ์ดินถล่มในครั้งนั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียนอนุบาลดังกล่าว

รูปล่างคือภาพถ่ายดาวเทียม ก่อนเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.8 (19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551) และหลังเกิดแผ่นดินไหว (23 พฤษภาคม พ.ศ. 2551) บริเวณแม่น้ำมินเจียง ในมณฑลเสฉวน ประเทศจีน จากรูปจะเห็นว่ามีรอยด่างมากมายตามแนวร่องน้ำ (landslide scar) โดยในพื้นที่จริงก็แสดงให้เห็นดินถล่มขนาดใหญ่ อันเนื่องมาจากแผ่นดินไหวในครั้งนั้น ส่วนรูปชุดด้านล่างแสดงดินถล่มจากแผ่นดินไหวขนาด 7.6 ที่ประเทศปากีสถาน ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2548

(บน) ดินถล่มครั้งใหญ่บริเวณแม่น้ำมินเจียง ในมณฑลเสฉวน ประเทศจีน จากแผ่นดินไหวขนาด 7.8 เมื่อปี พ.ศ. 2551 ก่อน (19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551) หลัง (23 พฤษภาคม พ.ศ. 2551) และพื้นที่จริง (ล่าง) ดินถล่มจากแผ่นดินไหว ที่ประเทศปากีสถานขนาด 7.6 ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2548

นอกจากนี้ยังมีกรณีของแผ่นดินไหวขนาด 6.1 ในปี พ.ศ. 2562 บริเวณใกล้กับ ภูเขาไฟรินจานี (Rinjani) ทางตะวันออกของเกาะลมบก ใกล้ๆ เกาะบาหลีของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่สวยงาม อีกหนึ่งจุดหมายของคนไทยสายแอดเวนเจอร์ชอบไปปีนป่ายเล่น

ด้วยความที่รินจานีเป็น ภูเขาไฟสลับชั้น (composite volcano หรือstratovolcano) มีความชันสูงชันอันเนื่องมาจากเศษ กรวดภูเขาไฟ (pyroclastic) ที่ตกทับถมกัน ซึ่งแรงสั่นสะเทือนทำให้เศษกรวดร่วงหล่น กระเด็นกระดอนกลายเป็นภัยพิบัติที่เรียกว่า หินทลาย (rock avalanche) ในวันนั้นมีคนไทยจำนวนมากติดอยู่ระหว่างทางบนเขา ซึ่งก็วัดใจไกด์กันพอสมควร ที่จะนำพานักท่องเที่ยวลงมาอย่างปลอดภัย เพราะในระหว่างทางเศษหินก็พร้อมจะทลายอยู่ตลอดเวลา อันเนื่องมาจาก แผ่นดินไหวตาม (aftershock) ที่จัดมาเป็นระยะๆ เหตุการณ์ในวันนั้นจบลงด้วยทุกคนปลอดภัย (ปรบมือสิครับ !!! รออะไร :))

ภาพด้านล่างไม่ใช่ภาพเศษหินทลายที่ภูเขาไฟรินจานี แต่เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ภัยพิบัติดินถล่ม หลังจากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.7 เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2561 ที่เกาะฮอกไกโด ทางตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่น รูปนี้จึงเป็นเครื่องยืนยันว่าเกิดแผ่นดินไหวเมื่อไหร่ แล้วเรายังอยู่ใกล้ภูเขา เผ่นได้ให้รีบเผ่นครับ

ภาพมุมสูงแสดงภัยพิบัติดินถล่ม หลังจากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.7 เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2561ที่เกาะฮอกไกโด ทางตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่น (ที่มา : www.thesun.co.uk)

บางครั้ง (แต่ไม่บ่อยนัก) แผ่นดินไหวและแรงสั่นสะเทือนของเขาอาจส่งผลกระทบรุนแรงจนแทบไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะเมื่อพื้นที่มีสภาพทางธรณีวิทยาที่ลงตัวและได้รับแรงสั่นสะเทือนระดับรุนแรง กรณีนี้เคยเกิดขึ้นในช่วงเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 9.2 ที่รัฐอลาสก้า ประเทศสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 27 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2507 ผลจากแผ่นดินไหวในครั้งนั้นทำให้พื้นที่สูญเสียเสถียรภาพอย่างรุนแรงเป็นบริเวณกว้าง มีการปริแตกของแผ่นดินเป็นกระพี้ๆ และท้ายที่สุดแผ่นดินในบริเวณนั้นเกิดการเลื่อนไถล ถล่ม ระเนระนาด ไม่เป็นทิศเป็นทาง

มองต่างมุม หมู่บ้านเคราะห์ร้ายในรัฐอลาสก้า ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ยับเยินหลังจากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.2 เมื่อวันที่ 27 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2507 (ที่มา : www.wikipedia.org)

เพิ่มเติม : 6 รูปแบบภัยพิบัติจากการย้ายมวล กับความเข้าใจเรื่องดินถล่ม

หลุมยุบ (Sinkhole) X แผ่นดินไหว (Earthquake)

ปกติหลุมยุบมักพบในพื้นที่ซึ่งมีหินปูนหรือเกลือหินข้างใต้ เนื่องจากหินปูนหรือเกลือหินมีสมบัติละลายน้ำที่มีสภาพเป็นกรดอ่อนๆ ได้ โดยเฉพาะภูเขาหินปูนมักมีรอยแตกมาก ๆ และบริเวณที่รอยแตกของหินปูนตัดกันมักมีโอกาสพัฒนาเป็นโพรงหรือถ้ำได้ง่าย แม้จะอยู่ใต้พื้นดินก็ตาม ซึ่งหากเกิดแผ่นดินไหวขึ้น แรงสั่นสะเทือนจะเป็นตัวกระตุ้นให้โพรงหรือถ้ำใต้ดินยุบตัวได้ง่ายกว่าปกติ

กระบวนการกัดกร่อนของน้ำใต้ดิน การเกิดถ้ำและหลุมยุบ

ตัวอย่างเช่น หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เกาะสุมาตรา เมื่อปี พ.ศ. 2547 กรมทรัพยากรธรณีได้รับรายงานการเกิดหลุมยุบในภาคใต้มากว่า 34 ครั้ง ซึ่งถือว่าบ่อยเกินไปหน่อยกว่าที่เคยเป็นมาในภาวะปกติสู่ภาวะปกติ รูปด้านล่างไม่ได้มีเจตนาจะทำให้ผู้อ่านตกใจ แต่อยากให้เห็นว่าหลุมยุบถ้าใหญ่ๆ ก็สร้างภัยพิบัติให้กับเราได้เหมือนกัน

ภาพมุมสูงแสดงตัวอย่างการเกิดหลุมยุบในรัฐฟรอริดาร์ สหรัฐอเมริกา นำรูปมาโชว์เพื่อให้เห็นความน่ากลัว เพราะกรณีนี้ไม่ได้เกิดจากแผ่นดินไหวเป็นตัวกระตุ้น

เพิ่มเติม : ภัยพิบัติการทรุดตัวของพื้นดิน

แผ่นดินไหว vs ไฟไหม้ (Fire)

ไฟไหม้ถือเป็นของแถมปิดท้ายที่มักขาดไม่ได้เมื่อเกิดแผ่นดินไหว โดยเฉพาะแผ่นดินไหวใหญ่ที่เกิดใกล้เมือง เรื่องราวส่วนใหญ่เริ่มจากเกิดจากประกายไฟเมื่อโครงสร้างถล่ม บวกกับท่อแก๊สแตกทำให้แก๊สซึม และท่อประปาแตกทำให้น้ำไม่ไหล ซึ่งเมื่อครบ 3 ข้อ อัคคีภัยก็มาเยือน มิหนำซ้ำการถล่มของอาคารบ้านเรือนยังปิดกั้นการเข้าพื้นที่ของหน่วยงานส่วนกลางเพื่อไปดับไฟ สภาพโดยส่วนใหญ่จึงเป็นไปแบบไฟไหม้แบบหยุดไม่อยู่ ตัวอย่างเช่น แผ่นดินไหวขนาด 7.8 เมื่อปี พ.ศ. 2449 ทำให้เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เกิดไฟไหม้ 3 วัน 3 คืน เกือบทั้งเมืองถูกเผา ประชาชนมากกว่า 250,000 คน ไร้ที่อยู่อาศัย

สภาพความเสียหายจากไฟไหม้ติดต่อกัน 3 วัน หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อปี พ.ศ. 2449 ที่เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา (Shedlock และ Pakiser, 1997)

นอกจากนี้ก็ยังมีไฟไหม้หลังจากเกิดแผ่นดินไหวอีกหลายต่อหลายครั้ง เช่น แผ่นดินไหวขนาด 7.0 เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 17 มกราคม ค.ศ. 1995 (พ.ศ. 2538) ที่สภาพไฟไหม้ก็ไม่ต่างอะไรกับที่เกิดกับซานฟานซิสโก หรือแม้กระทั่งล่าสุดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.9 และสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 2011 ภาพการลุกไหม้ของอาคารที่ถูกกวาดมาพร้อมสึนามิก็ยังมีให้เห็นในภาพข่าว

แผ่นดินไหวขนาด 7.0 เมืองโกเบ ญี่ปุ่น 17 มกราคม ค.ศ. 1995 (พ.ศ. 2538)

เอาละครับ…หลังจากอธิบายขยายความเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาหรือร่วมกับการเกิดแผ่นดินไหว จากท่าทีที่แผ่นดินไหวเคยสำแดงให้เราดู บอกได้เลยว่าแผ่นดินไหวนั้นครบเครื่อง ฉะนั้นในฐานะแฟนคลับผู้ใกล้ชิด ติดตามผลงานแผ่นดินไหวมาได้ซักระยะ ผู้เขียนขอแนะนำว่า ถ้าท่าน “รักสันติ” ตีสนิทแผ่นดินไหวไว้บ้างก็ดี มีโอกาสก็ทำความรู้จักกันไว้เยอะๆ

เพราะเมื่อแผ่นดินไหวเขารุกมา เราจะได้รับทัน !!!

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: