เรียนรู้

เมทิโอสึนามิ : สึนามิที่เกิดจากกระบวนการทางอุตุนิยมวิทยา

เมทิโอสึนามิ (meteotsunami) คือ ?

meteo (เกี่ยวกับอุตุนิยมวิทยา) + tsunami ( สึนามิ ) ดังนั้นคำว่า เมทิโอสึนามิ (meteotsunami) จึงหมายถึง สึนามิที่เกิดจากสาเหตุทางอุตุนิยมวิทยา เช่น ลม พายุ ที่กระโชกโฮกฮาก อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงความกดอากาศเหนือน้ำอย่างทันทีทันใด ส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่ที่มีฝนฟ้าคะนองรุนแรง ลมกรรโชก เกิดแรงกดน้ำ

แบบจำลองอย่างง่ายแสดงการเกิด เมทิโอสึนามิ (meteotsunami)

พื้นที่ต้นตำหรับ

จากบันทึกการเกิดสึนามิ ที่มีสาเหตุไม่เข้าข่ายการเกิดสึนามิทั่วไป ส่วนใหญ่มักเกิดบ่อยในทะเลสาบรอยต่อระหว่างประเทศแคนาดาและสหรัฐอเมริกา ที่เรียกว่า ทะเลสาบเกรตเลกส์ (Great Lakes) ซึ่งจากข้อมูลทางธรณีวิทยาบ่งชี้ว่า ในพื้นที่โดยรอบทะเลสาบ ไม่มีทั้งกิจกรรมภูเขาไฟ ไม่มีแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวใต้น้ำ และภูมิประเทศใต้ทะเลสาบก็แบนราบจนโอกาสเกิดดินถล่มในทะเลสาบนั้นไม่มี นักธรณีวิทยาจึงเชื่อว่า สึนามิที่เกิดขึ้นนี้อาจจะเป็นผลมาจากปรากฏการณ์ทางอุตุนิยมวิทยา และเรียกชุดเหตุการณ์สึนามิเหล่านี้ว่า เมทิโอสึนามิ (meteotsunami)

ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงขนาดและพื้นที่ของทะเลสาบต่างๆ ในหมู่ ทะเลสาบเกรตเลกส์ (Great Lakes)

เกรตเลกส์ (Great Lakes) คือ ชื่อของทะเลสาบขนาดใหญ่ 5 แห่ง คือ สุพีเรีย มิชิแกน ฮูรอน อิรี และออนแทรีโอ

จากบันทึกสึนามิที่เคยเกิดขึ้นจำนวนมาก (รูปซ้าย) มากเพียงพอที่จะทำให้ Bechle และคณะ (2016) สามารถนำไปวิเคราะห์ในเชิงสถิติ ซึ่งจากความหลากหลายของระดับความสูงสึนามิที่เคยเกิดขึ้นโดยรอบทะเลสาบ Bechle และคณะ (2016) ได้นำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ออกเป็นสมการความสัมพันธ์ การกระจายตัวความถี่-ขนาดสึนาม (Frequency-Magnitude Distribution, FMD) (รูปขวา) ผลการวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่าในบรรดาทะเลสาบทั้ง 5 ทะเลสาบ 1) มิชิแกน มีพฤติกรรมหรืออัตราการเกิดสึนามิสูงที่สุด รองลงมาคือ 2) อิรี 3) ฮูรอน ตามลำดับ ส่วน 4) สุพีเรีย และ 5) ออนแทรีโอ มีอัตราการเกิดสึนามิเท่ากันและต่ำที่สุด

(ซ้าย) แผนที่ทะเลสาบเกรตเลกส์ แสดงตำแหน่งที่เคยเกิดซึนามิสูงมากกว่า 1 เมตร (วงกลมสีเหลือง) จุดสีอื่นๆ แสดงตำแหน่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากสึนามิ (ขวา) กราฟแสดงความสัมพันธ์ การกระจายตัวความถี่-ขนาดสึนาม (Frequency-Magnitude Distribution, FMD) ที่วิเคราะห์จากสถิติการเกิดสึนามิในแต่ละทะเลสาบ (สีแต่ละสี) ของทะเลสาบเกรตเลกส์

ตัวอย่างเช่นจากกราฟ FMD (รูปขวา) ทะเลสาบฮูรอน สุพีเรีย และออนแทรีโอ มีโอกาสเกิดเมทิโอสึนามิที่ความสูง 40-50 เซนติเมตร ในทุกๆ ปี ส่วนทะเลสาบมิชิแกนและทะเลสาบอิรี เกิดสึนามิสูงประมาณนี้ปีละประมาณกว่า 10 ครั้ง นอกจากนี้จากข้อมูลเวลาการเกิด Bechle และคณะ (2016) ยังสังเกตพบว่า เมทิโอสึนามิมักจะเกิดบ่อยช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิ-กลางฤดูร้อน แสดงว่าฤดูกาลที่สัมพันธ์กับลมหรือพายุก็น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องเช่นกัน

ต้นตอ สึนามิ (มั๊ง)

จริงๆ แล้ว สาเหตุของลมกรรโชกที่แรงพอที่จะทำให้เกิดสึนามิอยู่เป็นประจำนั้น นักวิทยาศาสตร์หรือนักธรณีวิทยายังไม่กล้าสรุปอย่างแน่ชัด แต่เมื่อมองการกระจายตัวของการเกิดเมทิโอสึนามิ พบว่านอกจากพื้นที่แถบทะเลสาบเกรตเลกส์ ข่าวการเกิดเมทิโอสึนามิก็มีให้เห็นอีกที่ เกาะมายอร์ก้า (Mallorca) ทางตะวันออกของประเทศสเปน ซึ่งเมื่อนำตำแหน่งของทั้ง 2 แห่งมาทาบลงกับแผนที่ลมทั่วโลก ก็พบความสัมพันธ์แบบลางๆ ว่าพื้นที่ทั้ง 2 นั้นอยู่ในแนวเดียวกัน ที่นักอุตุนิยมวิทยาจำแนกไว้ว่าเป็นแถบของ ลมกรด (Jet Stream) ที่วิ่งวนอยู่รอบโลก ซึ่งด้วยความเร็วลมที่สูงกว่าพื้นที่ข้างเคียงในระดับมากกว่า 50 เมตรต่อวินาที จึงมีโอกาสทำให้ลมกระโชกโฮกฮาก ทำให้ทะเลสาบหรือทะเลที่อยู่ในแนว ลมกรดส่วนใหญ่มีประวัติเกิดเมทิโอสึนามิทั้งนั้น เหมือนฝ่ามือยูไล (ในหนังกำลังภายในของจีน) ตบน้ำเบาๆ ทำให้มวลน้ำ “ทุกความลึก แต่พื้นที่กว้าง” กระเพื่อมเบาๆ ซึ่งก็เป็นการเดา หรือจะเรียกเท่ๆ แบบนักวิชาการว่าเป็นการอนุมานเอาไว้ของผู้เขียน ที่ต้องรอการพิสูจน์ทราบกันต่อไปในสักวัน

แผนที่โลกแสดงความเร็วลมในพื้นที่ต่างๆแถบสี เหลือง-ส้ม-แดงคือ แนวการไหลเวียนของ ลมกรด (jet stream) ในทางอุตุนิยมวิทยา ซึ่งจากแผนที่พบว่ามีความเร็วลมมากกว่า 50 เมตรต่อวินาที

ขมวด : เมทิโอสึนามิ เป็นภัยพิบัติ แต่ไม่ค่อยรุนแรงและสร้างความเสียหายในระดับท้องถิ่น ไม่กินพื้นที่กว้าง ถึงจะเกิดเบาแต่ก็บ่อยมาก จึงควรมีการเฝ้าระวังเหมือนกับ เกรตเลกส์ ที่มีการติดสถานีวัดน้ำ

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: