สำรวจ

ย้อนรอย แผ่นดินไหว 4.8 ปี 49 ประจวบฯ : หากนักธรณีวิทยาไม่ลงพื้นที่ไปในวันนั้น เรื่องอาจจะพัลวันไปมากกว่านี้

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2549 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.8 ในละแวกภาคใต้ตอนบนของประเทศไทยแถบจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเกิดประเด็นทางด้านวิชาการเล็กน้อยเกี่ยวกับตำแหน่งหรือจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวในครั้งนั้น เรื่องของเรื่องคือในวันนั้น เครือข่ายตรวจวัดแผ่นดินไหวระดับโลกอย่าง สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USGS) รายงานว่าแผ่นดินไหวขนาด 4.8 มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ทางตอนใต้ของประเทศพม่า (ติดกับจังหวัดชุมพร) ขณะที่เครือข่ายตรวจวัดแผ่นดินไหวของ สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยาของประเทศไทย รายงานว่าแผ่นดินไหวดังกล่าวเกิดบริเวณนอกชายฝั่งอ่าวไทย อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ทำไมต้องรื้อฟื้น

ถามว่าแผ่นดินไหวมันก็ผ่านไปแล้ว เสียหายก็ไม่เท่าไหร่ ปล่อยๆ ให้เรื่องมันเงียบๆ ไปไม่ได้เหรอ ? จริงๆ แล้วในหลายๆ เหตุการณ์แผ่นดินไหวมีการรายงานจุดศูนย์กลางที่คาดเคลื่อนกันไปบ้าง เราก็ไม่ถึงกับซีเรียสอะไร แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ค่อนข้างที่จะมีนัยสำคัญ ซึ่งไม่ใช่นัยเรื่องศักดิ์ศรีความน่าเชื่อถือของเครือข่ายตรวจวัด แต่เป็นนัยทางธรณีวิทยา ธรณีแปรสัณฐาน รวมทั้งนัยสำคัญถึงพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหว ของแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวแถบภาคใต้ของประเทศไทย

แล้วตกลงแผ่นดินไหวขนาด 4.8 เกิดตรงไหนกันแน่ เครือข่ายตรวจวัดระดับโลกบอกว่าเกิดฝั่งพม่าส่วนเครือข่ายเจ้าถิ่นของไทย ซึ่งก็มีสถานีตรวจวัดในบ้านเราหนาแน่นกว่ากลับบอกว่าแผ่นดินไหวเกิดที่อ่าวไทย เอาไงกันดีละทีนี้…

เพราะถ้าแผ่นดินไหวเกิดที่พม่าอย่างที่ USGS ว่า เรื่องมันก็คงจะจบในวันสองวัน สรุปได้ง่ายๆ ว่าแผ่นดินไหวดังกล่าวเกิดจากกลุ่มรอยเลื่อนมีพลังทางตอนใต้ของประเทศพม่าที่ทอดยาวมาจากด้านบน ซึ่งก็มีรายงานวิจัยเคยนำเสนอไว้แล้วและยืนยันว่าเป็นรอยเลื่อนมีพลัง

(ก) แผนที่ภาคใต้ของประเทศไทยแสดงแนวรอยเลื่อนแผ่นดินไหว (เส้นสีแดง) ที่มีอยู่ทั้งฝั่งไทยและพม่า (Pailoplee และคณะ, 2009) (ข) แผนที่แนวรอยเลื่อนหลักๆ ของประเทศไทย แสดงการกระจายตัวของแอ่งตะกอนยุคเทอร์เชียรี (พื้นที่สีแดง) (ค) ภาพตัดขวางในละแวกพื้นที่กรอบสี่เหลี่ยมของรูป ข แสดงชั้นหินและการวางตัวของรอยเลื่อนในแนวดิง ที่ทำให้เกิดกระบวนการชุดตัวและเปิดออกของแอ่งตะกอนดังกล่าว (ที่มา : Rattanasriampaipong , 2017)

แต่ถ้าเชื่อในผลการวิเคราะห์ของกรมอุตุนิยมวิทยาว่า แผ่นดินไหวนั้นเกิดนอกชายฝั่งอ่าวไทย แถวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก็คงต้องคุยกันหน่อย เพราะสาเหตุการเกิดแผ่นดินไหวสามารถปรักปรำได้ถึง 3 แบบ 3 จำเลย

จำเลยที่ 1 รอยเลื่อนระนอง (Ranong Fault) ซึ่งตอนนั้น (พ.ศ. 2549) ก็ยังมีแนวคิดยึกๆ ยักๆ กันอยู่ว่ารอยเลื่อนระนอง รวมถึง รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย (Klong Marui) ยังมีพลังหรือไม่ ตายไปแล้วหรือยัง เพราะถ้าแผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดที่อ่าวไทย และยืนยันได้ว่าเป็นเพราะรอยเลื่อนระนอง ก็จะทำให้ถูกสถาปนาขึ้นเป็น รอยเลื่อนมีพลังที่น่าจับตามอง !!! ขึ้นมาในทันที และแผ่นดินไหวครั้งนี้ ก็จะมีขนาดใหญ่ที่สุด เท่าที่น้องนองเคยลองมา

จำเลยที่ 2 รอยเลื่อนควบคุมแอ่งตะกอนในอ่าวไทย โดยงานวิจัยทางธรณีวิทยาในปัจจุบันรายงานว่า ในอ่าวไทยมี รอยเลื่อนปกติ (notmal fault) ที่วางตัวอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ คอยควบคุมการเปิดของแอ่งตะกอน (ดูรูปบน ค ประกอบ) อันเนื่องมาจากจากแรงดึงทางธรณีแปรสัณฐาน ทำให้พื้นทวีปถูกยืดออกจากกันและแตกเป็นท่อนๆ และมีการยุบตัวลงอย่างเป็นระบบ ซึ่งถ้าแผ่นดินไหวในครั้งนั้นเกิดจากรอยเลื่อนชุดนี้ ก็อาจจะต้องมีการประเมินเรื่องแผ่นดินไหวกันใหม่อีกครั้ง ทั้งกับพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ของประเทศไทย รวมถึงอะไรๆ ที่สร้างอยู่ในอ่าวไทย โดยปริยาย

กระบวนการเกิดภูเขารอยเลื่อน ที่เกิดจากแรงดึงทางธรณีแปรสัณฐานไปในแนวซ้าย-ขวา ซึ่งนักธรณีวิทยาเชื่อว่าระบบแบบนี้เกิดขึ้นในอ่าวไทย (ดูรูปบน ค ประกอบ)

จำเลยที่ 3 โพรงใต้ดินถล่มจากการสูบและผลิตปิโตรเลียม ซึ่งเป็นไปได้ แต่ก็ภาวนาว่าอย่าให้เป็น เพราะในช่วงห้วงเวลานั้นมีกระแสข่าวว่า การสูบปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ก็ทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้ โดยเหตุการณ์ที่เกิดก่อนหน้าและสรุปว่า ก็เพราะคนสูบน้ำมัน คือ แผ่นดินไหวขนาด 4.2 ที่อ่าวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ซึ่งถ้าแผ่นดินไหวขนาด 4.8 ที่เกิดขึ้นนี้ถูกยัดเหยียดให้เป็นเพราะแท่นขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทย ก็คงจะอยู่กันยากทั้งบริษัทไทยและเทศ ถ้าเป็นยุคนี้ #saveอ่าวไทย ก็คงขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์แน่ๆ

สถิติการเกิดแผ่นดินไหวในละแวกประจวบคีรีขันธ์และรอยเลื่อนระนอง

27-28 กันยายน พ.ศ. 2549 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.1-4.8 ในอ่าวไทย 6 ครั้ง นอกชายฝั่ง อำเภอสามร้อยยอด

8 ตุลาคม พ.ศ. 2549 แผ่นดินไหวขนาด 5.0 จำนวน 1 ครั้ง ประชาชนในหลายท้องที่รู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือน เช่น หัวหิน สามร้อยยอด กุยบุรี ปราณบุรี ฯลฯ

4 มิถุนายน พ.ศ. 2555 แผ่นดินไหวขนาด 4.0 อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ประชาชนในแถบนั้นรู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือน

การศึกษาแผ่นดินไหวในเชิงบริเวณกว้าง

เดือดร้อนไปถึงนักธรณีวิทยา ตามกรมกองต่างๆ ที่ต้องลงพื้นที่จริงเพื่อไปสำรวจ พิสูจน์ทราบและตีแผ่ความจริง โดยวิธีการศึกษาที่นักธรณีวิทยาเลือกใช้คือ การศึกษาแผ่นดินไหวในเชิงบริเวณกว้าง (macroseismic study) หรือการลงพื้นที่ไปสอบถามและสำรวจความเสียหายในแต่ละพื้นที่โดยรอบจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว จากนั้นจึงสรุปผลและสร้างเป็น แผนที่ความรุนแรงแผ่นดินไหวเท่า (isoseismal map) จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เป็นประเด็น

เพิ่มเติม : แผนที่ความรุนแรงแผ่นดินไหวเท่า : การสำรวจและประโยชน์ของแผนที่

นักธรณีวิทยาจากกรมชลประทาน ลงพื้นที่เพื่อสำรวจความเสียหายจากแผ่นดินไหวขนาด 4.8 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ที่มา : กรมชลประทาน, 2549)

ผลจากการสำรวจ ศึกษา และจัดทำแผนที่ความรุนแรงแผ่นดินไหวเท่า ทั้งจากทีมนักธรณีวิทยากรมชลประทาน และกรมทรัพยากรธรณี ต่างก็ออกมาในรูปแบบเดียวกันคือ ความรุนแรงแผ่นดินไหว (earthquake intensity) สูงที่สุดบริเวณริมชายฝั่งอ่าวไทยแถวเขาสามร้อยยอด และความรุนแรงดังกล่าวก็ลดหลั่นลงไปทางทิศตะวันตกสู่งฝั่งประเทศพม่า ตามลำดับ จึงยืนยันจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวในอ่าวไทย ที่ตรวจวัดได้จากกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยาของไทย น่าจะถูกต้อง

แผนที่ความรุนแรงแผ่นดินไหวเท่า (isoseismal map) ที่ได้จากการศึกษาแผ่นดินไหวในเชิงบริเวณกว้าง (macroseismic study) โดยทีมงานนักธรณีวิทยาจาก (ซ้าย) กรมชลประทาน (2549) (ขวา) กรมทรัพยากรธรณี (2549) วงกลมน้ำเงินและแดง คือ จุดศูนย์กลางที่รายงานโดย USGS ของสหรัฐอเมริกา และกรมอุตุนิยมวิทยา ของไทย ตามลำดับ

ประกอบกับในเวลาต่อมา สุมาลี ทิพโยภาส (Thipyopass, 2010) ได้วิเคราะห์กลไกการเกิดแผ่นดินไหว (focal mechanism) สรุปว่าแผ่นดินไหว 4.8 ดังกล่าวเกิดจาก การเลื่อนตัวในแนวราบ (strike slip) เป็นหลัก สอดคล้องกับธรรมชาติการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนระนอง มากกว่าที่จะเป็นการเลื่อนตัวในแนวดิ่งของรอยเลื่อนที่ควบคุมแอ่งตะกอนในอ่าวไทย และการถล่มของโพรงใต้ดินจากอุตสาหกรรมปิโตรเลียม

รอยเลื่อนระนอง (Ranong Fault) รวมทั้ง รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย (Klong Marui) จึงถูกสถาปนาเป็น รอยเลื่อนมีพลัง (active fault) อย่างสิ้นสงสัย และหลายๆ คนก็เพิ่งได้รู้ในวันนั้นเช่นกันว่า รอยเลื่อนระนองพาดยาวต่อลงไปในอ่าวไทยจริงๆ ซึ่งนับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ทีมนักธรณีวิทยาจำนวนมากทั้งจากกรมชลประทานและกรมทรัพยากรธรณี (กรมชลประทาน, 2548; กรมทรัพยากรธรณี, (2550; กรมชลประทาน, 2551; กรมชลประทาน, 2552) จึงมุ่งหน้าลงใต้ สำรวจธรณีวิทยาแผ่นดินไหวในรายละเอียดและผลที่ได้ก็อย่างที่สรุปให้เห็นในบทความ กลุ่มรอยเลื่อนระนอง-คลองมะรุ่ย เป็นหรือตาย ? จากนิยาม “รอยเลื่อนมีพลัง”

และนี่ก็คืออีกหนึ่งบทบาทสำคัญของวิชาชีพนักธรณีวิทยา และประโยชน์ของ การศึกษาแผ่นดินไหวในเชิงบริเวณกว้าง (macroseismic study) และการสร้าง แผนที่ความรุนแรงแผ่นดินไหวเท่า (isoseismal map)

อ้างอิง

  • กรมชลประทาน, 2548. งานศึกษาแก้ไขและพัฒนาสิ่งแวดล้อมโครงการท่าแซะ จังหวัดชุมพร ในส่วนการศึกษาค่าสำรวจคาบอุบัติซ้ำ (รอยเลื่อนระนอง). กรมชลประทาน, 113 หน้า.
  • กรมชลประทาน, 2551. โครงการอ่างเก็บน้ำคลองถ้ำ อำเภอเมือง จังหวัดพังงา. กรมชลประทาน, 156 หน้า.
  • กรมชลประทาน, 2552. โครงการศึกษาธรณีวิทยารอยเลื่อนมีพลัง เขื่อนคลองลำรูใหญ่ อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา. กรมชลประทาน, 206 หน้า.
  • กรมทรัพยากรธรณี, 2549. แผนที่รอยเลื่อนมีพลังประเทศไทย. กรมทรัพยากรธรณี.
  • กรมทรัพยากรธรณี, 2550. การศึกษาคาบอุบัติซ้ำในพื้นที่ที่แสดงร่องรอยการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง สุราษฎ์ธานี กระบี่ พังงา และภูเก็ต (รอยเลื่อนระนองและรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย). กรมทรัพยากรธรณี, 244 หน้า.
  • Thipyopass, S., 2010. Paleoearthquake investigation along the Ranong Fault Zone, Souhtern Thailand. B.Sc. Thesis, Department of Geology, Chulalongkorn University.
  • Rattanasriampaipong R., 2017. Potential Sources of Mercury in Southern Pattani Basin, the Gulf of Thailand. BEST Journal 9(2) : 13p. DOI: 10.13140/RG.2.2.33243.67369

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: