สำรวจ

13 เขตกำเนิดแผ่นดินไหว ที่ส่งผลต่อไทย

เขตกำเนิดแผ่นดินไหว (Seismic Source Zone) หมายถึง พื้นที่ที่มี พฤติกรรมหรือกิจกรรมทางธรณีแปรสัณฐาน (tectonic activity) เหมือนๆ กัน มีนิสัยการเกิดแผ่นดินไหวทั้งเรื่องขนาดและความถี่คล้ายๆ กัน

สำหรับประเทศไทย นักแผ่นดินไหววิทยาท่านแรกที่แบ่งเขตกำเนิดแผ่นดินไหวที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยเอาไว้ คือ อาจารย์ปริญญา นุตาลัย และคณะ (1985) โดยอาศัยข้อมูลโครงสร้างทางธรณีแปรสัณฐาน ข้อมูลธรณีวิทยาและข้อมูลสถิติการเกิดแผ่นดินไหวในอดีต อาจารย์ปริญญาแบ่งเขตกำเนิดแผ่นดินไหวออกเป็น 12 เขต หรือ โซน และตั้งชื่อให้ไว้อย่างสมเกียรติ แต่เนื่องจากข้อมูลที่จำกัดในเวลานั้น ภาคใต้ของไทยดูเหมือนจะสงบเงียบ อาจารย์ปริญญาจึงยังไม่จัดให้ภาคใต้เป็นเขตกำเนิดแผ่นดินไหว

ด้วยนิสัยแผ่นดินไหวที่เริ่มโผล่ให้เห็นมากขึ้น อาจารย์ปัญญา จารุศิริ และคณะ (2005) จึงปรับปรุงและนำเสนอเขตกำเนิดแผ่นดินไหวขึ้นใหม่ โดยเติมภาคใต้ของไทยให้เป็นหนึ่งในเขตกำเนิดแผ่นดินไหวที่น่าจับตา และแยกย่อยพื้นที่อื่นๆ จากอาจารย์ปริญญา ให้ละเอียดมากยิ่งขึ้น

เพิ่มเติม : กลุ่มรอยเลื่อนระนอง-คลองมะรุ่ย เป็นหรือตาย ? จากนิยาม “รอยเลื่อนมีพลัง”

ต่อมาเมื่อรวบรวมหลักฐานได้มากพอ Pailoplee และคณะ (2010) จึงกระชับพื้นที่เขตกำเนิดแผ่นดินไหวให้แน่นขึ้นและขยายพื้นที่ออกไปให้ครอบคลุมรัศมี 300 กิโลเมตรจากประเทศไทย เพราะปัจจุบันเราเชื่อกันว่า ระยะห่างขนาดนี้คือระยะไม่ปลอดภัย ถ้ามีแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวอยู่ ส่วนชื่อเสียงเรียงนามและรายละเอียดในแต่ละเขตกำเนิดแผ่นดินไหว ผมได้คัดลอกมาบางส่วนและสรุปไว้ในตาราง 1

เขตกำเนิดแผ่นดินไหวที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทย (ซ้าย) ปัญญา จารุศิริ และคณะ (2005) (ขวา) Pailoplee และคณะ (2010)

และจากข้อมูลแผ่นดินไหวที่ตรวจวัดได้ด้วยเครื่องมือวัด Pailoplee และ Choowong (2012) ได้นำมาคำนวณในเชิงสถิติตามวิธีที่ฝรั่งเขาใช้กันในพื้นที่ต่างๆ ของโลก ผลที่ได้พบว่าเมืองไทยไม่ได้ห่างไกลจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวมากนัก ตาราง 1 แสดงให้เห็นว่าในอีก 50 ปีข้างหน้า ถ้าจะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.2 ในแถบเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน (โซน A-B) ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะถ้านิสัยการเกิดของแผ่นดินไหวในบริเวณนี้ไม่เปลี่ยนแปลง โอกาสเกิดก็เป็นไปได้ เพียงแต่รอเวลาในการสะสมพลังงานก็เท่านั้น ส่วนภาคตะวันตกของไทย (โซน G) ก็มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ได้ ในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือจะเป็นภาคเหนือ (โซน J) ซึ่งผมจัดไว้ให้เป็นกลุ่มนิสัยเดียวกันกับกลุ่มรอยเลื่อนเดียนเบียนฟูในเวียดนาม ก็มีโอกาสจัด 6.3 เท่าๆ กันกับภาคตะวันตก

เขตเขตกำเนิดแผ่นดินไหว5 ปี10 ปี25 ปี50 ปี
Aขอบการชนกัน (Inter plate)7.688.79.2
Bส่วนการมุดตัว (Intra slab)7.37.98.69.2
Cรอยเลื่อนสะกาย (Sagiang)6.677.58
Dแอ่งตะกอนอันดามัน (Andaman basin)6.47.28.28.9
Eรอยเลื่อนสุมาตรา (Sumatra fault)6.677.68
Fแสนหวี-นานติง (Hsenwi-Nanting)6.16.57.17.5
Gภาคตะวันตกของไทย (Western Thailand)6.36.87.58
Hภาคใต้ของไทย (Southern Thailand)5.86.36.97.3
Iจิงหง-เม็งซิง (Jinghong-Mengxing)6.577.78.2
Jเดียนเบียนฟู (Dein Bein Fhu)6.36.77.27.6
Kแม่น้ำดา-แม่น้ำมา (Song Da-Song Ma)5.76.16.67
Lรอยเลื่อนเซียนฉุย (Xianshuihe fault)77.58.28.7
Mรอยเลื่อนแม่น้ำแดง (Red River fault)66.36.87.2
ขนาดแผ่นดินไหวสูงสุด ที่อาจเกิดได้ในแต่ละเขตกำเนิดแผ่นดินไหว แยกตามรายปีในการพิจารณาโดยคำนวณจากข้อมูลแผ่นดินไหวปี พ.ศ. 2507-2553 (Pailoplee และ Choowong, 2012)

ตารางแสดง ขนาดแผ่นดินไหวสูงสุด ที่อาจเกิดได้ในแต่ละเขตกำเนิดแผ่นดินไหว แยกตามรายปีในการพิจารณา โดยคำนวณจากข้อมูลแผ่นดินไหวปี พ.ศ. 2507-2553 (Pailoplee และ Choowong, 2012)

1) เขต A : ขอบการชนกัน

ในพื้นที่บ้านเรา ขอบการชนกัน (Inter plate) ที่เด่นชัดที่สุดและอาจจะส่งผลต่อประเทศไทย คือ เขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน (Sumatra-Andaman Subduction Zone) ซึ่งมีความยาวประมาณ 4,145 กิโลเมตร วางตัวในแนวเหนือ-ใต้พาดผ่านทางตะวันตกของประเทศพม่า หมู่เกาะนิโคบาร์ (Nicobar Islands) ในทะเลอันดามัน (Andaman Sea) ต่อเนื่องลงไปถึงตอนใต้ของเกาะสุมาตรา

ภาพดาวเทียมจาก google earth แสดงแนวการวางตัวของเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน (เส้นสีฟ้า)

ธรณีแปรสัณฐานของเขตมุดตัวสุมาตรา-อันดามัน เกิดจากแผ่นเปลือกโลกอินโด-ออสเตรเลีย เคลื่อนที่ด้วยความเร็วประมาณ 5.5-7.0 เซนติเมตร/ปี (Charusiri และ Pailoplee, 2005b) เข้าชนแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่จำนวนมากในช่วงเวลา 35 ปี ที่ผ่านมา (ค.ศ. 1980-2015) เช่น แผ่นดินไหวขนาด 9.1 เมื่อวันที่ 26 เดือนธันวาคม ค.ศ. 2004 รวมทั้งแผ่นดินไหวขนาด ≥ 7.0 จำนวน 9 เหตุการณ์ (Sukrungsri และ Pailoplee, 2015) ซึ่งจากตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ บ่งชี้ว่าหากเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่จากเขตมุดตัวนี้ และมีการเลื่อนตัวในแนวดิ่งของแผ่นเปลือกโลกใต้ทะเล อาจเกิดสึนามิและส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงประเทศไทย

เพิ่มเติม : 13 เขตมุดตัวของเปลือกโลกในอาเซียน ตัวการที่ทำให้เกิดสึนามิ

2) เขต B : ส่วนการมุดตัว

เขต B : ส่วนการมุดตัว (Intra slab) เพื่อที่จะประเมินรูปร่างและการวางตัวของเขตมุดตัวของเปลือกโลก Charusiri และ Pailoplee (2015a) ได้สร้างแบบจำลองการกระจายตัวของแผ่นดินไหวในรูปแบบของภาคตัดขวาง โดยพิจารณาตามแนวการวางตัว 6 แนว พาดผ่านเขตมุดตัวของเปลือกโลกต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งผลการศึกษาเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามันแสดงในภาคตัดขวางที่ 1-2

แผนที่ภูมิภาคอาเซียนแสดงการกระจายตัวของแผ่นดินไหว (จุดสีแดง) ที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1960-2015 ตรวจวัดและบันทึกโดยหน่วยงาน ISC (Charusiri และ Pailoplee, 2015a) เส้นตรงสีดำ คือ แนวการวิเคราะห์การกระจายตัวของแผ่นดินไหวตามภาคตัดขวางดังแสดงในรูปด้านล่าง
ภาคตัดขวางแสดงการกระจายตัวของแผ่นดินไหว (จุดสีเทา) ที่เกิดขึ้นตามเขตมุดตัวของเปลือกโลกต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน (Charusiri และ Pailoplee, 2015a) แนวการวางตัวของภาคตัดขวางแสดงในรูปด้านบน

ภาคตัดขวางที่ 1 ตัดขวางเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน บริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์ แสดงลักษณะการมุดตัวของเปลือกโลกไปทางตะวันออก โดยเริ่มมุดตัวในช่วงกิโลเมตรที่ 300 ของภาคตัดขวาง ทำมุมการมุดตัวประมาณ 45o และมุดลงไปถึงความลึก 180 กิโลเมตร ใต้พื้นโลกบริเวณกิโลเมตรที่ 500

ภาคตัดขวางที่ 2 ตัดขวางเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน บริเวณตอนเหนือของเกาะสุมาตรา โดยแสดงการมุดตัวไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงกิโลเมตรที่ 450 ของภาคตัดขวาง และมุดลงไปถึงความลึก 250 กิโลเมตร ใต้พื้นโลก โดยทำมุมการมุดตัวประมาณ 30o ซึ่งมีความชันของการมุดตัวต่ำกว่าเขตมุดตัวของเปลือกโลกในพื้นที่ข้างเคียง

จากภาคตัดขวาง แสดงให้เห็นการมีอยู่จริงของแผ่นเปลือกโลกส่วนที่มุดลงไป และเป็นแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว ซึ่งจากสถิติการเกิดแผ่นดินไหวที่ผ่านมาพบว่าแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่นี้ คือแผ่นดินไหวขนาด 6.7 ที่เกิดเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2537 (ค.ศ. 1994) ประกอบกับแผ่นดินไหวส่วนใหญ่เป็นแผ่นดินไหวระดับลึกจึงทำให้เขตกำเนิดแผ่นดินไหวนี้ ไม่สร้างภัยพิบัติมากนะกับประเทศไทย

3) เขต C : รอยเลื่อนสะกาย

ในบรรดารอยเลื่อนแผ่นดินไหวที่คนไทยรู้จักกัน รอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) ถือเป็นหนึ่งใน รอยเลื่อนมีพลัง (active fault) ที่สำคัญอันดับต้นๆ ในอาเซียนบ้านเรา ซึ่งจากการแปลความหมายภาพถ่ายดาวเทียม สันติ ภัยหลบลี้ และ สัณฑวัฒน์ สุขรังสี (2557) ประเมินว่ารอยเลื่อนสะกายมีความยาวประมาณ 1,200 กิโลเมตร วางตัวอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ ผ่ากลางอกประเทศพม่า และพาดผ่านแทบทุกเมืองที่สำคัญ เริ่มจากเมืองมิตจีนา (Myitkyina) มัณฑะเลย์ (Mandalay) ตองยี (Tounggyi) เนปิดอว์ (Naypyidaw) พะโค (Bago) ย่างกุ้ง (Yangon) และยังลากยาวต่อลงไปในทะเลอันดามัน

(ก) แผนที่ประเทศพม่าแสดงแนวรอยเลื่อนสะกาย (เส้นสีน้ำเงิน) จุดสีเทาคือแผ่นดินไหวที่ตรวจวัดได้จากเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหว ดาวสีแดงคือบางส่วนของเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งสำคัญ (ข-ค) ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงภูมิประเทศแบบผารอยเลื่อนและทางน้ำหักงอ ที่ตรวจพบทางตอนเหนือของเมืองมัณฑะเลย์และตอนใต้ของเมืองเนย์ปิดอว์ ตามลำดับ (สันติ ภัยหลบลี้ และ สัณฑวัฒน์ สุขรังสี, 2557)
ภาพมุมสูงของรอยเลื่อนสะกาย (ที่มา : https://twitter.com/wangyu_1979)

ก็เพราะรอยเลื่อนสะกายยังคงเลื่อนตัวอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ตลอดแนวรอยเลื่อนยังมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลแผ่นดินไหวที่ตรวจวัดได้จากเครื่องมือตรวจวัดในช่วงปี พ.ศ. 2507 – พ.ศ. 2555 (48 ปี) พบว่าเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 2.9-7.3 อย่างน้อย 280 ครั้ง และถ้าสืบย้อนกลับไปถึงบันทึกประวัติศาสตร์ ก็ยิ่งชัดเจนว่ารอยเลื่อนสะกายเคยเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในระดับที่สร้างความเสียหายหลายต่อหลายครั้ง โดยแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่นี้ และมีการตรวจวัดและบันทึกได้จากเครื่องมือตรวจวัด คือแผ่นดินไหวขนาด 7.3 ที่เกิดเมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2546 (ค.ศ. 2003) ดังนั้นรอยเลื่อนสะกาย จึงเป็นหนึ่งในแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว ที่ประเทศไทยควรจับตามองและเฝ้าระวัง

ปลียอดเดิมของเจดีย์ชเวมอดอร์ที่หักลงมาจากแผ่นดินไหวปี พ.ศ. 2473 (ที่มา : https://experitour.com)

เพิ่มเติม : รอยเลื่อนสะกาย – ยักษ์หลับกลางเมืองพม่า

4) เขต D : แอ่งตะกอนอันดามัน

เขต D : แอ่งตะกอนอันดามัน (Andaman basin) ในทางธรณีแปรสัณฐาน (tectonic) แอ่งตะกอนอันดามัน เกิดจากการเลื่อนตัวเหลื่อมกัน ด้วยอัตราการเลื่อนตัวที่ไม่เท่ากัน ของรอยเลื่อนสะกายทางตอนเหนือ และรอยเลื่อนสุมาตราทางตอนใต้ ทำให้บริเวณตรงกลางรอยต่อของรอยเลื่อนทั้งสองนี้ เกิดแรงดึงภายในแผ่นเปลือกโลก ทำให้พื้นที่แยกตัวออกจากกัน กลายเป็น แอ่งตะกอนอันดามัน

สภาพภูมิประเทศใต้น้ำ และข้อมูลความโน้มถ่วง (gravity) ในพื้นที่แอ่งตะกอนอันดามันในพื้นที่แอ่งตะกอนอันดามัน (ที่มา : Bandopadhyay และ Carter, 2017)

สภาพภูมิประเทศใต้น้ำเป็นแอ่งตะกอนที่เกิดคล้ายกับกระบวนการเกิด ภูเขารอยเลื่อน (fault-block mountain) ซึ่งเป็นภูเขาที่เกิดจากแรงดึงทางธรณีแปรสัณฐาน ทำให้พื้นทวีปถูกยืดออกจากกันและแตกเป็นท่อนๆ และมีการยุบตัวลงอย่างเป็นระบบ เกิดภูมิลักษณ์ทางธรณีวิทยาแบบ ร่องขนาบรอยเลื่อน (graben) และ เขาขนาบรอยเลื่อน (horst) หรือในทางภูมิศาสตร์นั้น กลายเป็นแอ่งราบและเทือกเขาสลับกันไป

กระบวนการเกิดภูเขารอยเลื่อน

เพิ่มเติม : 6 ลีลาโลก กับการสร้างภูเขา

ถึงแม้จะเป็นเขตกำเนิดแผ่นดินไหวที่มีลักษณะโดยภาพรวมเป็น รอยเลื่อนปกติ (normal fault) แต่ด้วยความที่ใกล้ขอบแผ่นเปลือกโลกและมี รอยเลื่อนในแนวระดับ (strike-slip fault) ร่วมด้วย ทำให้จากสถิติที่ผ่านมา แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่นี้ คือแผ่นดินไหวขนาด 7.4 ที่เกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2531 (ค.ศ. 1988) นั่นจึงทำให้เขตกำเนิดแผ่นดินไหวแอ่งตะกอนสุมาตรา เป็นหนึ่งในเขตกำเนิดแผ่นดินไหวที่น่าจับตาของไทย

5) เขต E : รอยเลื่อนสุมาตรา

เขต E : รอยเลื่อนสุมาตรา (Sumatra fault) ถือหนึ่งรอยเลื่อนที่สำคัญของภูมิภาค เพราะด้วยภูมิประเทศบ่งชี้รอยเลื่อนที่คมชัด และมีความยาวมาก ทำให้รอยเลื่อนสุมาตราเป็นรอยเลื่อนที่น่ากลัว ในทางธรณีแปรสัณฐาน รอยเลื่อนสุมาตรา วางตัวในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเชียงใต้ ผ่ากลางเกาะสุมาตรา พฤติกรรมการเรื่องตัวเป็นแบบ รอยเลื่อนในแนวระดับ (strike-slip fault) ที่มีภูมิประเทศคมชัดบ่งชี้เป็นนัยว่ามีอัตราการเลื่อนตัวสูง จึงเป็นแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวที่สำคัญของอินโดนีเซีย และอาจส่งผลด้านแรงสั่นสะเทือนมาถึงภาคใต้ของไทย หากแผ่นดินไหวใหญ่พอ ซึ่งสถิติที่ผ่านมาพบว่า แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่นี้ คือแผ่นดินไหวขนาด 7.6 ที่เกิดเมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2531 (ค.ศ. 1988)

รอยเลื่อนสุมาตรา บนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย (ที่มา : www.wikimedia.org)

เพิ่มเติม : เมื่อหนังหน้าโลกเหลื่อมกัน

6) เขต F : แสนหวี-นานติง

เขต F : แสนหวี-นานติง (Hsenwi-Nanting) เป็น รอยเลื่อนในแนวระดับ (strike-slip fault) ที่วางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ อยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศพม่า ถึงแม้ว่าจะอยู่ห่างไกลจากภาคเหนือของไทย แต่ด้วยความคมชัดของภูมิประเทศ และสถิติการเกิดแผ่นดินไหวที่ผ่านมา รอยเลื่อนแสนหวี-นานติง จึงควรนำมาพิจารณาเป็นเขตกำเนิดแผ่นดินไหว ที่อาจส่งผลกระทบต่อไทย โดย แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่นี้ คือแผ่นดินไหวขนาด 8.1 ที่เกิดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2531 (ค.ศ. 1988) ซึ่งถือว่าเป็นรอยเลื่อนที่สามารถสร้างแผ่นดินไหวได้ใหญ่น่ากลัวเลยทีเดียว

แผนที่ภูมิประเทศบริเวณภาคตะวันออกของพม่าแสดงตำแหน่งและการวางตัวของรอยเลื่อนแสนหวี-นานติง (Hsenwi-Nanting) และกลุ่มรอยเลื่อนที่สำคัญอื่นๆในพื้นที่ (ที่มา : Lacassin และคณะ, 1998)

7) เขต G : ภาคตะวันตกของไทย

เขต G : ภาคตะวันตกของไทย (Western Thailand) ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่เป็นเทือกเขาสูงสลับแอ่ง ทำให้บริเวณชายแดนภาคตะวันตกของประเทศไทย-พม่า จึงมีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่จำนวนมากในพื้นที่ แต่จากการแปลความหมายภาพถ่ายดาวเทียมรวมทั้งการสำรวจธรณีวิทยาแผ่นดินไหว บ่งชี้ว่ามีรอยเลื่อนมีพลังกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว เช่น รอยเลื่อนพานหลวง และรอยเลื่อนผาปูน ในประเทศพม่า รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน-ตาก รอยเลื่อนเมย-ตองยี รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ในประเทศไทย เป็นต้น

แผนที่ชายแดนภาคตะวันตกของประเทศไทย-พม่าแสดง (ก) กลุ่มรอยเลื่อนตามแนวราบ (strike-slip fault) ซึ่งนำเสนอโดย Nutalaya และคณะ (1985) และ Pailoplee และคณะ (2009a) สี่เหลี่ยมสีดำ คือ เขื่อนและโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก (ข) แผ่นดินไหวที่ตรวจวัดได้จากเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวในช่วงปี ค.ศ. 1983-2009 (วงกลมสีน้ำเงิน) ดาวสีแดง คือ เหตุการณ์แผ่นดินไหวสำคัญที่เคยสร้างภัยพิบัติในพื้นที่
หมายเหตุ: (1) โครงการก่อสร้างเขื่อนฮัทจี (2) เขื่อนภูมิพล (3) เขื่อนทับเสลา (4) เขื่อนวชิราลงกรณ (5) เขื่อนกระเสียว (6) เขื่อนศรีนครินทร์ (7) เขื่อนท่าทุ่งนา (8) เขื่อนแม่กลอง และ (9) โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก

แผ่นดินไหวครั้งสำคัญที่เคยเกิดในเขตนี้ ได้แก่ แผ่นดินไหวขนาด 5.9 เมื่อวันที่ 17 เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1975 (Prachaub, 1990) จากรอยเลื่อนเมย-ตองยี บริเวณใกล้เขื่อนภูมิพล และเมื่อวันที่ 22 เดือนเมษายน ค.ศ. 1983 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.6 (Prachaub, 1990) บริเวณใกล้เขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งเกิดจากรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ โดยเหตุการณ์แผ่นดินไหวดังกล่าวสร้างความรุนแรงแผ่นดินไหว แผ่กระจายไปทั่วภาคตะวันตกและภาคกลางของประเทศไทย

เพิ่มเติม : กลุ่มรอยเลื่อนในภาคตะวันตกของไทย : แผ่นดินไหวในอดีตและนิสัยที่คาดเผื่อไว้ในอนาคต

8) เขต H : ภาคใต้ของไทย

เขต H : ภาคใต้ของไทย (Southern Thailand) จากผลการสำรวจและศึกษาด้านธรณีวิทยาแผ่นดินไหวที่ผ่านมา กลุ่มรอยเลื่อนระนอง-คลองมะรุ่ย วางตัวในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ พาดผ่านหลายจังหวัดในภาคใต้ของประเทศไทย อย่างไรก็ตามนักวิชาการหลายกลุ่มก็ยังไม่ปักใจเชื่อว่า เป็นรอยเลื่อนมีพลังที่สามารถสร้างแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้ ทั้งนี้เนื่องจาก ข้อมูลแผ่นดินไหวที่ตรวจวัดได้ พบเพียงแผ่นดินไหวขนาดเล็ก-ปานกลาง (2.0-4.0) และเกิดไม่บ่อยนักในกลุ่มรอยเลื่อนนี้ มีเพียงเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดในอ่าวไทย นอกชายฝั่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 8 เดือนตุลาคม ค.ศ. 2006 ที่มีขนาด 4.9 (Thipyopass และคณะ, 2012) ซึ่งถือว่าเป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดของรอยเลื่อนระนองที่ตรวจวัดได้ โดยผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวดังกล่าวทำให้พื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดชุมพรได้รับความรุนแรงแผ่นดินไหวระดับ II-IV ตามมาตราเมอร์คัลลี่แปลง

แผนที่ภาคใต้ของประเทศไทย แสดง กลุ่มรอยเลื่อนระนอง-คลองมะรุ่ย (ที่มา : www.geothai.net)

เพิ่มเติม : กลุ่มรอยเลื่อนระนอง-คลองมะรุ่ย เป็นหรือตาย ? จากนิยาม “รอยเลื่อนมีพลัง”

9) เขต I : จิงหง-เม็งซิง

เขต I : จิงหง-เม็งซิง (Jinghong-Mengxing) เป็น รอยเลื่อนในแนวระดับ (strike-slip fault) ที่วางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ อยู่ทางตอนใต้ของ เขต F : แสนหวี-นานติง (Hsenwi-Nanting) ซึ่งรอยเลื่อนในกลุ่มนี้สามารถสร้างแผ่นดินไหวในระดับที่เป็นภัยพิบัติได้ จะเห็นได้จากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่นี้ คือแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ที่เกิดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 (ค.ศ. 2010) และนอกจากนี้ยังเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่อีกหลายครั้ง ดังแสดงในภาพ ซึ่งด้วยปัจจัยทางภูมิศาสตร์ ที่อยู่ใกล้ภาคเหนือของไทย เขตกำเนิดแผ่นดินไหวนี้จึงน่ากลัว โดยเฉพาะพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศไทย

แผนที่ภูมิประเทศบริเวณภาคตะวันออกของพม่า แสดงตำแหน่งและการวางตัวของรอยเลื่อนจิงหง-เม็งซิง (Jinghong-Mengxing) และกลุ่มรอยเลื่อนที่สำคัญอื่นๆในพื้นที่ (ที่มา Shi และคณะ, 2018)

เพิ่มเติม : ภูมิประเทศบ่งชี้ “รอยเลื่อน”

10) เขต J : เดียนเบียนฟู

เขต J : เดียนเบียนฟู (Dein Bein Fhu) ถือเป็นรอยเลื่อนหรือเขตกำเนิดแผ่นดินไหวที่สำคัญในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเหนือของทั้งประเทศไทยและลาว การวางตัวของรอยเลื่อนเรียนเบียนฟูวางตัวอยู่ในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ พาดผ่านเวียดนามตอนเหนือ ลาวตอนเหนือ และเข้ามาในประเทศไทยในแถบจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งในประเทศไทยเรียกว่า รอยเลือดน้ำปาด หรือ รอยเลือดอุตรดิตถ์ โดยมีพฤติกรรมการเลื่อนตัวเป็นแบบเลื่อนในแนวราบ (strike-slip fault) และมักก่อให้เกิดแผ่นดินไหวในระดับตื้น อีกความสำคัญของรอยเลื่อนนี้คือเป็นรอยเลื่อนที่พาดผ่านเขื่อนขนาดใหญ่จำนวนมากที่กั้นในแม่น้ำโขงในแถบประเทศลาว ดังนั้นในการประเมินภัยพิบัติแผ่นดินไหวกับเขื่อนสำคัญๆ รอยเลื่อนตัวนี้จึงมีความเกี่ยวข้องอยู่เป็นประจำ โดยจากการรวบรวมสถิติข้อมูลแผ่นดินไหวพบว่า แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่นี้ คือแผ่นดินไหวขนาด 6.6 ที่เกิดเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992)

แผนที่ชายแดนภาคเหนือของประเทศไทย-ลาว-พม่าแสดงการกระจายตัวของกลุ่มรอยเลื่อน (เส้นสีดำ; Pailoplee และคณะ, 2009a) วงกลมสีเทา คือ ข้อมูลแผ่นดินไหวที่ตรวจวัดได้จากเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวในช่วงปี ค.ศ. 1984-2010 ดาวสีแดง คือ เหตุการณ์แผ่นดินไหวสำคัญที่เคยสร้างภัยพิบัติในพื้นที่ สี่เหลี่ยมสีดำ คือ เขื่อนขนาดใหญ่ตามแม่น้ำโขง (สี่เหลี่ยมสีดำ) (Pailoplee และคณะ, 2013a)

เพิ่มเติม : กลุ่มรอยเลื่อนในภาคเหนือของไทย : แผ่นดินไหวในอดีตและนิสัยที่คาดเผื่อไว้ในอนาคต

11) เขต K : แม่น้ำดา-แม่น้ำมา

เขต K : แม่น้ำดา-แม่น้ำมา (Song Da-Song Ma) เป็นกลุ่มรอยเลื่อนทางตอนเหนือของเวียดนาม ติดกับชายแดนประเทศลาว มีแนวการวางตัวในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในทางธรณีแปรสัณฐาน เป็นรอยเลื่อนที่เลื่อนตัวในแนวราบ และด้วยที่ตั้งที่อยู่ในพื้นที่ราบเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้รอยเลื่อนนี้เป็นรอยเลื่อนที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนชาวเวียดนาม อย่างไรก็ตามหากพิจารณาในรัศมี 300 กิโลเมตร จากประเทศไทย พบว่ารอยเลื่อนแม่น้ำดาและแม่น้ำมาอยู่ในรัศมีทำการ ที่อาจส่งแรงสั่นสะเทือนตอนประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางตอนเหนือของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย โดยเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่นี้ คือแผ่นดินไหวขนาด 7.4 ที่เกิดเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 (ค.ศ. 1981)

แผนที่ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนามแสดงการกระจายตัวของกลุ่มรอยเลื่อนมีพลังในพื้นที่ ได้แก่ รอยเลื่อนแม่น้ำแดง รอยเลื่อนแม่น้ำดา และรอยเลือดแม่น้ำมา เป็นต้น (ที่มา : Trinh และคณะ, 2013)

ซง (song) เป็นภาษาเวียดนาม แปลว่า แม่น้ำ

รอยเลื่อนแม่น้ำดา-แม่น้ำมา เป็นรอยเลื่อนที่ควบคุมเส้นทางการไหลของแม่น้ำดาและแม่น้ำดา ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของประเทศเวียดนาม

12) เขต L : รอยเลื่อนเซียนฉุย

เขต L : รอยเลื่อนเซียนฉุย (Xianshuihe fault)

เป็นหนึ่งในรอยเลื่อนมีพลังที่เกิด

ผลจากการชนกันของแผ่นเปลือกโลกอินเดียกับแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียทำให้เกิดที่ราบสูงทิเบตและเกิดการบดขยี้ของพื้นที่ทำให้เกิดแนวรอยเลื่อนมากมาย โดยเฉพาะปลายทางตะวันออกของที่ราบสูงทิเบต ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ รอยเลื่อนเซียนฉุย ที่ทอดตัวลงมาทางตอนใต้อยู่ในรัศมี 300 กิโลเมตรจากประเทศไทย จึงกำหนดให้เป็นหนึ่งในเขตแผ่นดินไหวที่อาจส่งผลต่อประเทศ จากสถิติที่ผ่านมาพบว่า แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่นี้ คือแผ่นดินไหวขนาด 7.5 ที่เกิดเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539 (ค.ศ. 1996) ด้วยขนาดแผ่นดินไหวที่ใหญ่พอสมควร จึงประเมินว่ามีโอกาสสร้างแรงสั่นสะเทือนมาถึงประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเหนือ

แผนที่ที่ราบสูงทิเบต แสดงการวางตัวของรอยเลื่อนขนาดใหญ่ต่างๆ ในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางตะวันออกของที่ราบสูงทิเบต (ที่มา : Taponnier และคณะ, 2001)

13) เขต M : รอยเลื่อนแม่น้ำแดง

เขต M : รอยเลื่อนแม่น้ำแดง (Red River fault)

ถือเป็นรอยเลื่อนที่มีขนาดยาวที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเสียงใต้ และเป็นรอยเลื่อนที่มีภูมิประเทศบ่งชี้รอยเลื่อนคมชัดที่สุดในอันดับต้นๆ ในแถบนี้ ในทางภูมิศาสตร์ รอยเลื่อนแม่น้ำแดงวางตัวในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ พาดผ่านจากจีนตอนใต้ลงสู่ประเทศเวียดนาม โดยมีพฤติกรรมการเลื่อนตัวเป็นแบบ เลื่อนในแนวราบ (strike-slip fault) ถึงแม้จะมีความยาวจนน่ากลัว แต่ด้วยความที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นเปลือกโลก ทำให้รอยเลื่อนแม่น้ำแดง มักไม่ค่อยก่อให้เกิดแผ่นดินไหวบ่อยนัก แต่จากสถิติที่บันทึกไว้พบว่า แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่นี้ คือแผ่นดินไหวขนาด 7.4 ที่เกิดเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970) จึงประเมินว่ารอยเลื่อนแม่น้ำแดง เป็นรอยเลื่อนที่เกิดแผ่นดินไหวไม่บ่อย แต่สามารถเกิดแผ่นดินไหวในระดับรุนแรงและเป็นภัยพิบัติต่อพื้นที่โดยรอบได้เช่นกัน

แผนที่ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนามแสดงการกระจายตัวของกลุ่มรอยเลื่อนมีพลังในพื้นที่ ได้แก่ รอยเลื่อนแม่น้ำแดง รอยเลื่อนแม่น้ำดา และรอยเลือดแม่น้ำมา เป็นต้น (ที่มา : Trinh และคณะ, 2013)

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: