วิจัย

รอยเลื่อนสะกาย กลางพม่า เสี่ยงเกิดแผ่นดินไหวใหญ่

ในบรรดารอยเลื่อนมีพลังที่พวกเรารู้จักกันในภูมิภาคอาเซียน ผมพยายามสื่อสารสู่สาธารณะหลายครั้งว่า รอยเลื่อนสกาย (Sagaing Fault) ที่ผ่าอกกลางประเทศพม่า เป็นรอยเลื่อนที่ไม่ธรรมดา เพราะจากสถิติการเกิดแผ่นดินไหวในอดีต รอยเลื่อนนี้เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ถึง 8.0 เมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว (วันที่ 23 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2455) จึงถือว่าเกินคาดเกินราคา กับการเป็นรอยเลื่อนหรือรอยแตกภายในแผ่นเปลือกโลก (intra-plate earthquake source) โดยรายละเอียดพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวของรอยเลื่อนสกาย สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ บทความ รอยเลื่อนสะกาย – ยักษ์หลับกลางเมืองพม่า

ซึ่งด้วยความระแวงในความเงียบของสะกายมานานพอสมควร Pailoplee (2013) ได้วิเคราะห์การกระจายตัวเชิงพื้นที่ของ ค่า b ตามแนวรอยเลื่อนสะกาย ตอนกลางของประเทศพม่า เพื่อที่จะวิเคราะห์แรงเค้นทางธรณีแปรสัณฐานในแต่ละพื้นที่ตามแนวรอยเลื่อนสะกาย โดยงานวิจัยนี้ได้นำข้อมูลแผ่นดินไหวที่สังเคราะห์ให้สื่อถึงนิสัยของรอยเลื่อนสะกายเรียบร้อยแล้ว และแบ่งออกเป็น 3 ชุดข้อมูล เพื่อทดสอบประสิทธิภาพในการประเมินพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอนาคต ผลการศึกษาบ่งชี้ว่าในกรณีของข้อมูลแผ่นดินไหวในช่วงปี ค.ศ. 1980-2000 (รูป ก) พบพื้นที่แสดงค่า b ต่ำ 2 พื้นที่ คือ 1) ทางตอนใต้ของเมืองมิตจีนา และ 2) รอยเลื่อนสะกายช่วงเมืองเนย์ปิดอว์ถึงทะเลอันดามัน ซึ่งหลังจากนั้นในช่วงปี ค.ศ. 2000-2005 เกิดแผ่นดินไหวขนาด ≥ 6.0 Mw จำนวน 3 เหตุการณ์ ในช่วงตอนใต้ของเมืองมิตจีนาและ 2 เหตุการณ์ ในบริเวณใกล้เมืองเนย์ปิดอว์ซึ่งเป็นพื้นที่แสดงค่า b ต่ำ (รูป ก)

แผนที่รอยเลื่อนสะกาย ตอนกลางของประเทศพม่าแสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของค่า b วิเคราะห์จากข้อมูลแผ่นดินไหวในช่วงปี (ก) ค.ศ. 1980-2000 (ข) ค.ศ. 1980-2005 และ (ค) ค.ศ. 1980-2010 (Pailoplee, 2013) ดาวสีแดง คือ แผ่นดินไหวขนาด ≥ 6.0 Mw ที่เกิดขึ้นภายใน 5 ปี หลังจากช่วงเวลาของฐานข้อมูลแผ่นดินไหวที่ใช้ในการวิเคราะห์

นอกจากนี้ในกรณีของข้อมูลแผ่นดินไหวในช่วงปี ค.ศ. 1980-2005 (รูป ข) พบการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของค่า b ใกล้เคียงกับผลการวิเคราะห์จากข้อมูลแผ่นดินไหวในช่วงปี ค.ศ. 1980-2000 (รูป ก) และสามารถจำแนกพื้นที่แสดงค่า b ต่ำ ตามแนวรอยเลื่อนสะกายออกเป็น 3 รอยเลื่อนย่อย คือ รอยเลื่อนย่อยในช่วง 1) ตอนใต้ของเมืองมิตจีนา 2) เมืองมัณฑะเลย์-เนย์ปิดอว์ และ 3) นอกชายฝั่งทะเลอันดามัน ทางตอนใต้ของประเทศพม่า และจากรูป ข บ่งชี้ว่าจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวขนาด ≥ 6.0 Mw ที่เกิดในช่วงปี ค.ศ. 2005-2010 สอดคล้องกับพื้นที่ซึ่งวิเคราะห์ว่ามีค่า b ต่ำกว่าพื้นที่ข้างเคียง โดยเฉพาะทางตอนใต้ของเมืองมิตจีนา พบแผ่นดินไหวขนาด ≥ 6.0 Mw 7 เหตุการณ์ เกิดขึ้นในพื้นที่แสดงค่า b ต่ำ ดังกล่าว (รูป ข)

จากรูป ก-ข บ่งชี้ว่าสมมุติฐานของ Nuannin และคณะ (2005) มีประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ ค่า b ซึ่งมีนัยสำคัญถึงพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว ขนาด ≥ 6.0 Mw ตามแนวรอยเลื่อนสะกาย ดังนั้น Pailoplee (2013) จึงประยุกต์ใช้สมมุติฐานดังกล่าว เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลแผ่นดินไหวในช่วงปี ค.ศ. 1980-2010 (รูป ค) และพบว่าตลอดแนวรอยเลื่อนสะกายมี 2 พื้นที่แสดงค่า b ต่ำกว่าพื้นที่ข้างเคียงอย่างชัดเจน ซึ่งอาจเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอนาคต คือ รอยเลื่อนสะกายที่พาดผ่าน 1) เมืองเนย์ปิดอว์-เมืองมัณฑะเลย์ และ 2) พื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองมิตจีนา ทางตอนเหนือของรอยเลื่อนสะกาย (รูป ค)

นอกจากนี้ เพื่อที่จะประเมิน พื้นที่ยึดติดของระนาบรอยเลื่อน (asperity) ซึ่งเป็นแหล่งสะสมความเค้นทางธรณีแปรสัณฐาน และมีโอกาสปริแตกและเลื่อนตัวได้หากเกิดแผ่นดินไหว Pailoplee (2013) จึงวิเคราะห์การกระจายตัวเชิงพื้นที่ของค่า b ต่ำ ตามแนวภาคตัดขวางของรอยเลื่อนสะกาย

โดยหากอนุมานให้พื้นที่ยึดติดมีค่า b < 0.60 Pailoplee (2013) ประเมินว่ามี 2 พื้นที่ยึดติดของระนาบรอยเลื่อน โดยรอบเมืองมิตจีนา ซึ่งมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.6-8.0 Mw (ดูรูป ก และตาราง ประกอบ) อย่าไรก็ตามหากพิจารณาที่ค่า b < 0.65 Pailoplee (2013) ประเมินว่าทั้ง 2 พื้นที่ดังกล่าวถือว่าเป็นพื้นที่ยึดติดของระนาบรอยเลื่อนเดียวกัน และหากประเมินขนาดแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากการปริแตกของพื้นที่ดังกล่าว พบว่ามีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.6 Mw (ดูรูป ข และตาราง ประกอบ)

ภาคตัดขวางตามแนวรอยเลื่อนสะกายแสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของค่า b และพื้นที่ยึดติดของระนาบรอยเลื่อนจากการอนุมานค่า (ก) b < 0.60 และ (ข) b < 0.65 (Pailoplee, 2013)
  พื้นที่ 1   พื้นที่ 2
  พื้นที่ยึดติด (กิโลเมตร2) ขนาดแผ่นดินไหว (Mw)   พื้นที่ยึดติด (กิโลเมตร2) ขนาดแผ่นดินไหว (Mw)
b < 6.0 7,850 8.0   3,820 7.6
b < 6.5 32,430 8.6  
พื้นที่ยึดติดของระนาบรอยเลื่อนจากการอนุมานค่า b < 0.60 และ b < 0.65 และการประเมินขนาดแผ่นดินไหวตามสมการความสัมพันธ์ของ Wells และ Coppersmith (1994)

ดังนั้นจากการวิเคราะห์ค่า b  ซึ่งอย่างที่บอกว่าสื่อถึงแรงเค้นทางธรณีแปรสัณฐาน พื้นที่ใดที่มีค่า b ต่ำกว่าพื้นที่ข้างเคียง (สีน้ำเงินและฟ้า) แสดงว่าพื้นที่นั้นมีโอกาสพอสมควรที่จะเกิดแผ่นดินไหวในอนาคต ซึ่งจากการทดลองแบบจำลองกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด ≥ 6.0 Mw ในอดีตของรอยเลื่อนสะกาย ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า รอยเลื่อนสะกายมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาด  ≥ 6.0 Mw ในอนาคต ในบริเวณ 1) ตอนใต้ของเมืองมิตจีนา 2) เมืองมัณฑะเลย์-เนย์ปิดอว์ และ 3) นอกชายฝั่งทะเลอันดามัน ทางตอนใต้ของประเทศพม่า หรืออาจจะใหญ่ได้ใหญ่ถึง 8.6  ถ้าประเมินจากพื้นที่ยึดติดของระนาบรอยเลื่อน (asperity) ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง พื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบในระดับภัยพิบัติพอสมควร และรู้สึกได้ถึงภาคกลางของไทย รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: