วิจัย

นิสัยการเกิดแผ่นดินไหวของรอยเลื่อนสะกาย ประเทศพม่า

ในบรรดารอยเลื่อนแผ่นดินไหวที่คนไทยรู้จักกัน รอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) ถือเป็นหนึ่งใน รอยเลื่อนมีพลัง (active fault) ที่สำคัญอันดับต้นๆ ในอาเซียนบ้านเรา ด้วยความยาวประมาณ 1,200 กิโลเมตร ทอดตัวในแนวเหนือ-ใต้ ผ่ากลางอกประเทศพม่า และพาดผ่านแทบทุกเมืองที่สำคัญ ทำให้รอยเลื่อนสะกายถือว่าเป็นรอยเลื่อนยักษ์ที่อยู่ใกล้คนมากเกินไปและไม่น่าไว้ใจในอนาคต

คำว่า Sagaing Fault เมื่อก่อนคนไทยเคยอ่าน รอยเลื่อนสะเกียง ฝรั่งต่างชาติอ่าน รอยเลื่อนสะแกง ต่อมาคนพม่าบอกว่าบ้านเขาเรียก รอยเลื่อนสะกาย ทุกวันนี้สรุปเรียกให้ตรงกันว่า รอยเลื่อนสะกาย ตามคนพม่าเจ้าของพื้นที่

(ก) แผนที่ประเทศพม่าแสดงแนวรอยเลื่อนสะกาย (เส้นสีน้ำเงิน) จุดสีเทาคือแผ่นดินไหวที่ตรวจวัดได้จากเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหว ดาวสีแดงคือบางส่วนของเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งสำคัญ (ข-ค) ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงภูมิประเทศแบบผารอยเลื่อนและทางน้ำหักงอ ที่ตรวจพบทางตอนเหนือของเมืองมัณฑะเลย์และตอนใต้ของเมืองเนย์ปิดอว์ ตามลำดับ (สันติ ภัยหลบลี้ และ สัณฑวัฒน์ สุขรังสี, 2557)

ในทางธรณีแปรสัณฐาน (tectonic setting) นักธรณีวิทยา (Curray, 2005) เชื่อว่ารอยเลื่อนสะกายเป็นขอบหรือรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกย่อยโบราณ 2 แผ่น คือ แผ่นซุนดา (Sunda Plate) และ แผ่นพม่า (Burma Plate) ซึ่งปัจจุบันถือเป็นส่วนหนึ่งของ แผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย (Eurasian Plate) ซึ่งจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เคยมีการบันทึกไว้ในอดีต (Milne, 1911; Chhibber, 1934; Thawbita, 1976; Htwe Zaw, 2006; Swe, 2006; Kundu และ Gahalaut, 2012) ยืนยันว่ารอยเลื่อนนี้เคยปล่อยแผ่นดินไหวขนาด 7.0 ขึ้นไป ประมาณ 70 ครั้ง ในช่วง 562 ปี ที่ผ่านมา (พ.ศ. 1972-2534) โดยแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดที่สะกายเคยฝากเอาไว้มีขนาดใหญ่ถึง 8.0 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2455 ที่เมืองมัณฑะเลย์ ทางตอนเหนือของรอยเลื่อนสะกาย (Kundu และ Gahalaut, 2012) แถมจากการวิเคราะห์ข้อมูลแผ่นดินไหวในเชิงสถิติ Pailoplee (2013) ประเมินว่ารอยเลื่อนสะกายนั้นมีศักยภาพพอที่จะเป็นแหล่งกำเนิดขนาดใหญ่ได้สูงถึง 8.6 โดยเฉพาะบริเวณเมืองมิตจีนา (Myitkyina) ทางตอนเหนือของรอยเลื่อนสะกาย

และจากการรวบรวมผลกระทบด้านแรงสั่นสะเทือนที่เกิดจากรอยเลื่อนสะกายบ่งชี้ว่าหากเกิดแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนสะกาย ประเทศไทยมีโอกาสได้รับแรงสั่นสะเทือนในระดับ IV-V ตาม มาตราเมอร์คัลลี่แปลง แถบภาคเหนือ ลามไปถึงกรุงเทพฯ ที่เคยได้รับแรงสั่นสะเทือนจากรอยเลื่อนสะกายนี้ในระดับ III (จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.0 เมื่อ23 พฤษภาคม พ.ศ. 2455 และ 7.0 เมื่อ 3-4 ธันวาคม พ.ศ. 2473) ดังนั้นจึงไม่ใช่เฉพาะประเทศพม่าเท่านั้นที่ควรจะใส่ใจรอยเลื่อนสะกาย แต่คนไทยอย่างพวกเราก็ควรที่จะจับตาและเฝ้าระวังรอยเลื่อนสะกายอย่างไม่ให้คลาดสายตาเช่นกัน เพราะในอนาคต เราอาจจะได้สัมผัสประสบการณ์ประมาณนี้ก็เป็นได้

 นิสัยโดยภาพรวม

ผลจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนสะกาย ทำให้เกิดแผ่นดินไหวตามแนวรอยเลื่อนอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ซึ่งจากการสืบค้นเฉพาะฐานข้อมูลแผ่นดินไหวที่ตรวจวัดได้จากเครื่องมือตรวจวัด (instrumental record) สันติ ภัยหลบลี้ และ สัณฑวัฒน์ สุขรังษี (2557) ระบุว่าในช่วงปี พ.ศ. 2507-2555 (48 ปี) เคยเกิดแผ่นดินไหวบริเวณรอบๆ รัศมี 100 กิโลเมตรจากรอยเลื่อนสะกาย 276 เหตุการณ์ โดยมีขนาดแผ่นดินไหวระหว่าง 2.9-7.3 ซึ่งจากการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างความถี่ของการเกิดแผ่นดินไหวในแต่ละขนาดตามหลัก สมการความสัมพันธ์กูเต็นเบิร์ก-ริกเตอร์ (Gutenberg และ Richter, 1944) พบว่าแผ่นดินไหวบริเวณรอยเลื่อนสะกายนั้นมีความสัมพันธ์ดังสมการ Log (N) = 4.70.931(M) ซึ่งโดยภาพรวมในปัจจุบัน ผลการศึกษาวิจัยพบว่ารอยเลื่อนสะกายมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.0 ในทุกๆ 8 ปี ในขณะที่แผ่นดินไหวขนาด 7.0 และ 8.0 มีคาบอุบัติซ้ำโดยประมาณ 60 และ 500 ปี ตามลำดับ

 กราฟแสดงความสัมพันธ์ของการเกิดแผ่นดินไหวในบริเวณรอยเลื่อนสะกาย วิเคราะห์จากข้อมูลแผ่นดินไหวในอดีตที่เคยเกิดขึ้นและตรวจวัดได้จากเครื่องมือตรวจวัด (ก) ความสัมพันธ์ของการเกิดแผ่นดินไหว (ข) คาบอุบัติซ้ำในแต่ละขนาดแผ่นดินไหว

แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุด

สืบเนื่องจากในกรณีของรอยเลื่อนที่มีขนาดยาวพอสมควรอย่างเช่นรอยเลื่อนสะกาย พฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวโดยภาพรวมอาจจะมีความคล้ายคลึงกัน แต่ก็คงไม่เหมือนกันเลยซะทีเดียวตลอดแนวรอยเลื่อน ดังนั้น Pailoplee (2013) จึงทำการวิเคราะห์นิสัยหรือพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวของรอยเลื่อนสะกายในรายละเอียดของแต่ละช่วงรอยเลื่อน โดยการวิเคราะห์แผ่นดินไหววิทยาเชิงสถิติกับฐานข้อมูลแผ่นดินไหวที่ตรวจวัดได้จากเครื่องมือตรวจวัด

โดยในการประเมิน แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุด (maximum magnitude) ที่สามารถเกิดขึ้นได้ ตามแนวรอยเลื่อนสะกาย Pailoplee (2013) วิเคราะห์การกระจายตัวเชิงพื้นที่ของค่า a และค่า b และประเมินแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดที่สามารถเกิดขึ้นได้ในอีก 5-50 ปี ซึ่งผลการประเมินสามารถแบ่งรอยเลื่อนสะกายตามพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวออกเป็น 3 รอยเลื่อนย่อย ได้แก่

  • รอยเลื่อนย่อยในช่วงเมืองมิตจีนา-ตอนเหนือของเมืองมัณฑะเลย์ (Myitkyina-Northern Mandalay Segment) ประเมินว่ามีพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวสูงที่สุด โดยมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุด 6.0-7.0 Mw ในอีก 5-50 ปี (รูป ก-ค)
  • รอยเลื่อนย่อยในช่วงเมืองมัณฑะเลย์-เมืองพะโค (Mandalay-Bago Segment) มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุด 4.8-5.2 Mw และ 5.6-6.0 Mw ในอีก 10-50 ปี (รูป ข-ค) และ
  • รอยเลื่อนย่อยในบริเวณนอกชายฝั่งทะเลอันดามัน (Offcoast of Andaman Sea Segment) มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุด 6.0 Mw ในอีก 50 ปี (รูป ค) (Pailoplee, 2013)
แผนที่รอยเลื่อนสะกาย ตอนกลางของประเทศพม่าแสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุด (หน่วย Mw) ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลา (ก) 5 ปี (ข) 10 ปี และ (ค) 50 ปี (Pailoplee, 2013)

คาบอบุติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหว

นอกจากนี้ Pailoplee (2013) ยังได้ประเมิน คาบอบุติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหว (return period) ขนาด 5.0-7.0 Mw ตามแนวรอยเลื่อนสะกาย ตอนกลางของประเทศพม่า พบว่าคาบอุบัติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.0 Mw มีคาบอุบัติซ้ำสั้นกว่า 20 ปี ตลอดแนวรอยเลื่อน ในขณะที่คาบอุบัติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.0 Mw และ 7.0 Mw มีความแตกต่างกัน โดย Pailoplee (2013) แบ่งรอยเลื่อนสะกาย ออกเป็น 3 รอยเลื่อนย่อย สอดคล้องกับการประเมินแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุด ดังที่อธิบายในข้างต้น

แผนที่รอยเลื่อนสะกาย ตอนกลางของประเทศพม่าแสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของคาบอุบัติซ้ำ (หน่วย ปี) การเกิดแผ่นดินไหวขนาด (ก) 5.0 Mw (ข) 6.0 Mw และ (ค) 7.0 Mw (Pailoplee, 2013)

ซึ่งแผ่นดินไหวขนาด 7.0 Mw มีคาบอุบัติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 20-60 ปี บริเวณรอยเลื่อนย่อยในช่วงเมืองมิตจีนา-ตอนเหนือของเมืองมัณฑะเลย์ และประเมินว่ารอยเลื่อนส่วนดังกล่าวมีพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวสูงที่สุด ในขณะที่รอยเลื่อนย่อยในช่วงเมืองมัณฑะเลย์-เมืองพะโคแสดงคาบอุบัติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.0 Mw และ 7.0 Mw ประมาณ 30-50 ปี และ 150-300 ปี (รูป ค-ง) ส่วนในกรณีของรอยเลื่อนย่อยในบริเวณนอกชายฝั่งทะเลอันดามัน ผลการประเมินคาบอุบัติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.0 Mw มีค่า 60-100 ปี ซึ่งถือว่าเป็นรอยเลื่อนย่อยที่มีภัยพิบัติต่ำที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับรอยเลื่อนย่อยส่วนอื่นๆ

โอกาสเกิดแผ่นดินไหว

และสุดท้าย Pailoplee (2013) ประเมิน โอกาสเกิดแผ่นดินไหว (probability of occurrence) ขนาด 5.0-7.0 Mw ในอีก 50 ปี บ่งชี้ว่ารอยเลื่อนสะกายมีโอกาสถึง 90-100% ที่แผ่นดินไหวขนาด 5.0 Mw จะเกิดขึ้น ส่วนในกรณีของโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.0-7.0 Mw Pailoplee (2013) แบ่งรอยเลื่อนสะกายออกเป็น 3 รอยเลื่อนย่อย โดยรอยเลื่อนย่อยที่มีพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวสูงที่สุดอยู่ในช่วงเมืองมิตจีนาถึงตอนเหนือของเมืองมัณฑะเลย์ มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.0 Mw ประมาณ 60-70% ในขณะที่รอยเลื่อนย่อยส่วนอื่นๆ มีโอกาสต่ำกว่า 50% ที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.0 Mw ในอีก 50 ปี

แผนที่รอยเลื่อนสะกาย ตอนกลางของประเทศพม่าแสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของโอกาส (หน่วย %) เกิดแผ่นดินไหวขนาด (ก) 5.0 Mw (ข) 6.0 Mw และ (ค) 7.0 Mw ในอีก 50 ปี (Pailoplee, 2013)

นอกจากนี้ผลการประเมินโอกาสในรายละเอียดของเมืองสำคัญ 6 เมือง ที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้กับรอยเลื่อนสะกาย (เมืองมิตจีนา มัณฑะเลย์ ตองยี เนย์ปิดอว์ พะโคและเมืองย่างกุ้ง) บ่งชี้ว่าเมืองมิตจีนาและเมืองเนย์ปิดอว์เป็นเมืองที่มีโอกาสได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวมากที่สุด โดยมีโอกาส 40-60% ที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.0 Mw ในอีก 50-100 ปี ในขณะที่เมืองมัณฑะเลย์และย่างกุ้ง ซึ่งประเมินว่าเป็นเมืองที่มีพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวต่ำที่สุด มีโอกาสต่ำกว่า 10% ที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.0 Mw ในอีก100 ปี (Pailoplee, 2013)

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: