สำรวจ

ความเฟี้ยวของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ณ เขื่อนลำตะคอง

เขื่อน – ในบรรดาเขื่อนต่างๆ กว่า 39 เขื่อน ที่มีอยู่ในประเทศไทย เขื่อนส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นในพื้นที่ที่เป็น หุบเขาร่องลึก (valley) ตามภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ของไทย ทั้งนี้ก็เพราะความเหมาะในการเก็บน้ำแบบลึกๆ แต่กินพื้นที่แคบๆ ซึ่งในทางธรณีวิทยาหุบเขาร่องลึกจะเกิดขึ้นได้ ส่วนใหญ่จะมี รอยเลื่อน (fault) เป็นตัวควบคุม และใช้ลีลาในการเลื่อนตัวเพื่อพัฒนาหุบเขาร่องลึก ซึ่งเท่าที่เห็นก็มีอยู่ 2 แบบ ได้แก่

แผนที่ประเทศไทยแสดงการกระจายตัวของเขื่อนที่อยู่ในความดูแลของ กรมชลประทาน (สีเขียว) และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สีส้ม) โดยเขื่อนลำตะคอง อยู่ที่หมายเลข 18
  • ภูเขารอยเลื่อน (fault-block mountain) เกิดจากแรงดึงทางธรณีแปรสัณฐาน ทำให้พื้นทวีปถูกยืดออกจากกันและแตกเป็นท่อนๆ และมีการยุบตัวลงอย่างเป็นระบบ เกิดภูมิลักษณ์ทางธรณีวิทยาแบบ ร่องขนาบรอยเลื่อน (graben) และ เขาขนาบรอยเลื่อน (horst)
  • ภูเขาสันกลางบีบอัด (pressure-ridge mountain) เกิดจากการเคลื่อนที่ผ่านกันของแผ่นเปลือกโลกหรือรอยเลื่อน ซึ่งหากมีการเลื่อนตัวในแนวระนาบของกลุ่มรอยเลื่อนที่อยู่เหลื่อมเกยกัน จะทำให้พื้นที่ระหว่างรอยเลื่อนนั้นมีโอกาสได้รับทั้ง 1) แรงเค้นดึง และเกิดเป็น หนองน้ำยุบตัว (sag pond) หรือ 2) แรงเค้นบีบอัด และเกิดเป็น สันกลางบีบอัด (pressure ridge)
กระบวนการเกิดภูเขารอยเลื่อน
แบบจำลองการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนที่วางตัวเหลื่อมกันแสดงการเกิด (ซ้าย) สันกลางบีบอัด (ขวา) หนองน้ำยุบตัว รอยเลื่อนซานแอนเดรียส ทางตอนใต้ของเมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา (ที่มา : www.nasa.gov)

เพิ่มเติม : 6 ลีลาโลก กับการสร้างภูเขา

อย่างไรก็ตาม ด้วยมิติของความต้องการพลังงานไฟฟ้า และพื้นที่ที่พอจะสร้างเขื่อนได้ เขื่อนลำตะคอง (หมายเลข 18) จึงถูกสร้างขึ้นในพื้นที่ลุ่มต่ำ ใต้และติดขอบที่ราบสูงโคราช ทำให้ด้วยปริมาณน้ำที่สามารถกักเก็บได้เท่าๆ กัน เราจะเห็นเขื่อนลำตะคองมีพื้นที่กว้างกว่าเขื่อนอื่นๆ ทั้งนี้ก็เพราะพื้นที่กักเก็บน้ำไม่ใช่หุบเขาร่องลึก ซึ่งถ้าใครมีโอกาสขับรถผ่านถนนมิตรภาพในช่วงหน้าแล้งจะพบว่าถึงแม้น้ำในเขื่อนจะลดระดับลงในแนวดิ่งเพียงเล็กน้อย แต่พื้นที่บกเพิ่มขึ้นเยอะมาก ถึงขนาดเป็นลานกว้าง เอื้อให้เอาวัวเอาควายมาปล่อยอาบน้ำกินหญ้าอย่างเป็นล่ำเป็นสันกันเลยทีเดียว

ภาพสามมิติแสดงภูมิประเทศโดยรวม บริเวณขอบที่ราบสูงโคราช เขื่อนลำตะคอง และเขายายเที่ยง

และก็ด้วยความที่น้ำกว้างและตื้น ทำให้ในกรณีของเขื่อนลำตะคองเกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า ไฟเหลือกลางวันแต่ขาดกลางคืน นั่นหมายความว่าหากเขื่อนลำตะคองผลิตกระแสไฟฟ้าเต็มกำลังความสามารถ ในเวลากลางวันที่มีการใช้ไฟฟ้าน้อย ไฟฟ้าที่ผลิตได้จะเหลือเกินความต้องการ ในขณะที่ช่วงเวลากลางคืน ที่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้ามากขึ้น เขื่อนลำตะคองกลับไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียงพอต่อความต้องการ

ด้วยเหตุนี้ทาง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงจัดมุขเด็ด หลอกน้ำล่อไฟ ให้ประชาชนมีใช้ให้พอทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน ถ้าเราวิ่งรถบนถนนมิตรภาพจากกรุงเทพฯ เพื่อไปภาคอีสาน เมื่อผ่านลำตะคองทางด้านซ้าย จะมีเขาสูงด้านขวามือนั่นคือ เขายายเที่ยง และบนเขายายเที่ยงแห่งนี้นี่เอง กฟผ. ได้ไปขุดอ่างเก็บน้ำเอาไว้และร้อยท่อ (อุโมงค์) ลอดใต้ถนนมิตรภาพเป็นช่องทางให้น้ำสามารถไหลลงสู่ลำตะคอง โดยมีตัวปั่นไฟติดเอาไว้ในท่อ

ภาพตัวละครจากซ้ายไปขวา 1) เขื่อนลำตะคลอง 2) ถนนมิตรภาพ 3) มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช ที่กำลังก่อสร้าง และ 4) เชิงเขายายเที่ยง
ภาพมุมสูงอ่างเก็บน้ำที่อยู่บนเขายายเที่ยง (ที่มา : www.mgronline.com)

กลไกการผลิตไฟฟ้าของเขื่อนลำตะคองจึงค่อนข้างจะพลิกแพลง และมีความเฟี้ยวฟ้าวมากกว่าเขื่อนอื่นๆ อยู่ซักนิด นั่นก็คือ ในช่วงเวลากลางวันเมื่อผลิตฝ่ายกระแสไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการแล้ว กระแสไฟฟ้าส่วนที่เหลือจะถูกนำมาปั๊มน้ำจากเขื่อนลำตะคองขึ้นไปเก็บไว้บนอ่างเก็บน้ำเขายายเที่ยง รอจนกระทั่งในช่วงเวลากลางคืน เครื่องปั่นไฟหลักของเขื่อนลำตะคองก็จะผลิตกระแสไฟฟ้าไปตามปกติ ซึ่งสุดท้ายก็ไม่พอต่อความต้องการยามค่ำคืน แต่จะมีน้ำที่ปล่อยลงมาจากเขาใหญ่เที่ยง เพื่อช่วยปั่นไฟเพิ่มเติม เสริมเข้าไปในระบบช่วยอีกแรง มุขนี้จึงช่วยแก้ปัญหาการใช้ไฟในพื้นที่รับผิดชอบของเขื่อนลำตะคองได้เป็นอย่างดี

และนี่ก็คือลีลาการปั่นไฟของเขื่อนลำตะคอง ที่ไม่เป็นสองรองใคร ?

ข้อมูลพื้นฐาน : เขื่อน ลำตะคอง

เป็นเขื่อนที่สร้างกั้นแม่น้ำลำตะคอง ตั้งอยู่ริมถนนมิตรภาพ ช่วงกิโลเมตรที่ 192 ระหว่างอำเภอปากช่องและอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2517 โดยกรมชลประทาน มีวัตถุประสงค์หลักตั้งต้นเพื่อการชลประทานและการประปาเป็นหลัก แต่หลังจากปี พ.ศ. 2545 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้จัดสร้าง โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำแบบสูบกลับ โดยมีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้า 1,000 เมกะวัตต์

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth


Share: