เรียนรู้

เขาใช้อะไรแบ่งโลกเป็นชั้นๆ (เปลือกโลก . เนื้อโลก . แก่นโลก)

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์เปิดเผยว่าโลกนั้นแบ่งออกเป็นชั้นๆ ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมด แต่องค์ความรู้นี้ไม่ได้เกิดจากการใช้เครื่องมือลงไปสำรวจ เนื่องจากเทคโนโลยีในปัจจุบันไม่สามารถทำได้ เช่น การทำเหมืองใต้ดินสามารถขุดลึกลงไปได้ 3-4 กิโลเมตร ในขณะที่การขุดเจาะน้ำมันมีความลึกสูงสุด 6-7 กิโลเมตร นอกจากนี้จากการศึกษา หินแปลกปลอม (xenolith) ที่ติดมากับแมกมาและแข็งตัวกลายเป็นหินพบว่าหินดังกล่าวอยู่ที่ระดับความลึก 50-300 กิโลเมตร หรือแม้กระทั่งกระบวนการเกิด หินคิมเบอร์ไลต์ (kimberlite) ก็พบว่ามีความลึก 400 กิโลเมตร โดยประมาณ

(ซ้าย) แร่เพอริโดไทต์สีเขียวมะกอก ซึ่งเป็นหินแปลกปลอมที่ติดมากับแมกมาในระหว่างที่ภูเขาไฟปะทุกลายเป็นหินบะซอลต์สีดำ (ขวา) เหมืองเมียร์ (Mir Mine) เหมืองหินคิมเบอร์ไลต์ (kimberite) ที่มีเพชรติดอยู่ในหิน ทางตะวันออกของไซบีเรีย ประเทศรัสเซีย

แต่เนื่องจากโลกมีรัศมี 6,371 กิโลเมตร ดังนั้นการศึกษาโดยตรงดังที่กล่าวไปข้างต้น จึงทำได้เพียงส่วนพื้นผิวของโลกเท่านั้น อย่างไรก็ตามจากการสังเกต คลื่นไหวสะเทือน (seismic wave) ที่ตรวจวัดได้จากการเกิดแผ่นดินไหว นักวิทยาศาสตร์พบว่าคลื่นสามารถเดินทางทะลุผ่านตลอดเนื้อของโลกได้ จึงพยายามศึกษาและทำความเข้าใจองค์ประกอบภายในโลกโดยอาศัยคุณสมบัติพื้นฐานของคลื่น ได้แก่

1) การหักเห (refraction) เกิดจากการที่คลื่นไหวสะเทือนเปลี่ยนความเร็ว เมื่อวิ่งผ่านตัวกลางที่มีความหนาแน่นแตกต่างกัน โดยคลื่นจะมีความเร็วเพิ่มขึ้นหรือลดลงเมื่อวิ่งผ่านตัวกลางความหนาแน่นสูงหรือความหนาแน่นต่ำ ซึ่งหากคลื่นเปลี่ยนแปลงจากช้าไปเร็ว คลื่นจะเปลี่ยนทิศทางแบบเชิดหัวขึ้น แต่ถ้าเปลี่ยนแปลงจากเร็วไปช้าคลื่นจะกดหัวลง

2) การสะท้อน (reflection) เกิดจากคลื่นสะท้อนนั้นเชิดหัวขึ้นกลับไปอยู่ในตัวกลางเดิม โดยจะให้มุมที่คลื่นตกกระทบเท่ากับมุมสะท้อน

การหักเหและการสะท้อนของคลื่น

ในอดีตที่ยังไม่มีความรู้เรื่องโครงสร้างภายในโลก นักวิทยาศาสตร์คาดว่าถ้าโลกมีเนื้อเดียวกันทั้งก้อน คลื่นไหวสะเทือนควรจะวิ่งออกจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวเป็นเส้นตรง แต่จากข้อมูลที่ตรวจวัดได้พบว่า คลื่นไหวสะเทือนมีการหักเหทิศทางและเปลี่ยนแปลงความเร็วหลายครั้งในระหว่างที่วิ่งเข้าไปในโลก นักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อว่าโลกไม่น่าจะเป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมด แต่อาจจะมีการแยกเป็นชั้นของวัสดุที่มีความหนาแน่นที่แตกต่างกัน

แบบจำลองการเดินทางของคลื่นไหวสะเทือน เมื่อโลกมีเนื้อเดียวกัน เมื่อโลกแบ่งเป็นชั้น

ชั้นของโลก (แยกตามสมบัติทางกายภาพ)

ดังที่กล่าวไปในข้างต้น การเดินทางของคลื่นไหวสะเทือนซึ่งสัมพันธ์กับคุณสมบัติทางกายภาพ (ความหนาแน่น) ของโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดระยะทางของการเดินทางของคลื่น ดังนั้นเพื่อที่จะแบ่งชั้นต่างๆ ของโลกตามคุณสมบัติทางกายภาพ นักวิทยาศาสตร์จึงศึกษาคุณสมบัติพื้นฐานของการเดินทางของคลื่นไหวสะเทือน (การหักเหและสะท้อน) และสามารถแบ่งโลกออกเป็นชั้นได้ 5 ชั้น ดังนี้

1) ชั้นธรณีภาค (lithosphere) เป็นชั้นนอกสุดของโลก ประกอบด้วย 1) เปลือกโลก (crust) และ 2) ส่วนบนสุดของเนื้อโลก (uppermost mantle) ซึ่งมีคุณสมบัติเย็นและมีสถานะเป็นของแข็ง (rigid) มีความหนารวม 100-300 กิโลเมตร โดยในส่วนของเปลือกโลกนั้นแบ่งย่อยเป็น 2 ประเภท คือ

  • เปลือกทวีป (continental crust) ส่วนใหญ่มีองค์ประกอบโดยรวมเป็นหินแกรนิต มีความหนาเฉลี่ย 33-35 กิโลเมตร และมีความหนาแน่น 2.7 กรัม/ลูกบาศก์เซนติเมตร
  • เปลือกสมุทร (oceanic crust) มีองค์ประกอบโดยรวมเป็นหินบะซอลต์ มีความหนาเฉลี่ย 5-8 กิโลเมตร และมีความหนาแน่น 3 กรัม/ลูกบาศก์เซนติเมตร
การแบ่งชั้นต่างๆ ของโลกตามคุณสมบัติทางกายภาพ (คลื่นไหวสะเทือน)

2) ชั้นฐานธรณีภาค (asthenosphere) รองรับอยู่ใต้ชั้นธรณีภาค มีคุณสมบัติเป็นพลาสติก (plastic) ประกอบด้วยส่วนที่เป็นส่วนล่างของ เนื้อโลกตอนบน (upper mantle) มีความหนาเฉลี่ย 350-500 กิโลเมตร มีคุณสมบัติร้อน (อุณหภูมิประมาณ 600-1,000OC) หนืดและนิ่ม มีความหนาแน่นประมาณ 3.3 กรัม/เซนติเมตร มีการเคลื่อนที่แบบหมุนเวียนด้วยกลไก การพาความร้อน (convection)

3) ชั้นมีโซสเฟียร์ (mesosphere) มีคุณสมบัติเป็นของแข็ง (rigid) มีความหนา 500-2,900 กิโลเมตร ประกอบด้วยส่วนที่เป็น เนื้อโลกตอนล่าง (lower mantle) มีความหนาแน่นประมาณ 5.5 กรัม/เซนติเมตร และมีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 1,000-3,500 OC

4) แก่นโลกชั้นนอก (outer core) มีความหนา 2,900-5,150 กิโลเมตร มีคุณสมบัติเป็นของเหลว (liquid) มีอุณหภูมิสูง 1,000 – 3,500 OC มีความหนาแน่น 10 กรัม/ลูกบาศก์เซนติเมตร ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าน่าจะมีองค์ประกอบเป็นเหล็กที่หลอมละลาย เนื่องจากหลักฐานที่คลื่นทุติยภูมิ (S-wave) ไม่สามารถวิ่งผ่านชั้นนี้ได้ การหมุนเวียนของมวลเหล็กหลอมเหลวในชั้นนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิด สนามแม่เหล็กโลก (earth’s magnetic field)

5) แก่นโลกชั้นใน (inner core) มีองค์ประกอบเป็นเหล็กและนิเกิลในสถานะของแข็ง (rigid) ซึ่งมีอุณหภูมิสูงถึง 5,000 OC มีความหนาแน่น 12 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร อยู่ระหว่างความลึก 5,150-6,370 กิโลเมตร

จุดศูนย์กลางโลกลึก 6,370 กิโลเมตร

โดยปกติหากพิจารณาเพียงอุณหภูมิเป็นหลัก แก่นโลกชั้นในควรมีสถานะเป็นของเหลวเช่นเดียวกับแก่นโลกชั้นนอก แต่เนื่องจากการเดินทางผ่านได้ของคลื่นทุติยภูมิ ทำให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าน่าจะมีสถานะเป็นของแข็ง ซึ่งอธิบายได้ว่า ถึงแม้ว่าแก่นโลกชั้นในจะมีอุณหภูมิสูงกว่าแก่นโลกชั้นนอก แต่หากพิจารณาร่วมกับความดันกดทับที่สูงขึ้นมากเช่นเดียวกันในแก่นโลกชั้นใน จึงทำให้มีสถานะเป็นของแข็ง

สรุปการเปลี่ยนแปลงความเร็วของคลื่นไหวสะเทือนทั้งคลื่นปฐมภูมิและคลื่นทุติยภูมิในแต่ละระดับความลึกลงไปในโลก สังเกตบริเวณแก่นโลกชั้นใน พบว่าเกิดคลื่นทุติยภูมิขึ้นมาอีกครั้งทั้งๆ ที่ไม่ใช่คลื่นที่ผ่านมาจากแก่นโลกชั้นนอก (คลื่นทุติยภูมิผ่านเข้ามาไม่ได้)

ความไม่ต่อเนื่องภายในโลก

การแบ่งชั้นต่างๆ ของโลกตามคุณสมบัติทางกายภาพ สามารถอธิบายได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงทิศทางและการเดินทางของคลื่นไหวสะเทือน ซึ่งผลจากการศึกษาคลื่นไหวสะเทือน เมื่อเกิดแผ่นดินไหวในแต่ละครั้งนักวิทยาศาสตร์ตรวจพบความไม่ต่อเนื่องของความเร็วของคลื่นไหวสะเทือนอย่างน้อย 3 รอยต่อ ซึ่งความไม่ต่อเนื่องเหล่านี้บางส่วนสัมพันธ์กับขอบเขตของชั้นต่างๆ ภายในโลกดังที่อธิบายในข้างต้น

1) ความไม่ต่อเนื่องโมโฮโรวิซิค

ความไม่ต่อเนื่องโมโฮโรวิซิค (Mohorovičić Discontinuity) ค้นพบโดย แอนดริจา โมโฮโรวิคซิค (Mohorovičić A) นักวิทยาศาสตร์ชาวโครเอเชีย ในปี ค.ศ. 1909 โดยโมโฮโรวิคซิคค้นพบและตรวจวัดคลื่นไหวสะเทือนทั้งคลื่นปฐมภูมิและคลื่นทุติยภูมิได้อย่างละ 2 ชุดจากแผ่นดินไหวเพียงเหตุการณ์เดียว โดยแต่ละชุดวิ่งมาถึงสถานีตรวจวัด ในเวลาที่แตกต่างกัน โมโฮโรวิคซิคจึงตั้งสมมุติฐานว่าคลื่นไหวสะเทือนปกติน่าจะมีการหักเหกับตัวกลางอะไรบางอย่างใต้โลกแล้วเกิดเป็นคลื่นภายในโลก 2 ชุดวิ่งด้วยความเร็วที่แตกต่างกันเข้ามาหาสถานี

นักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบความไม่ต่อเนื่องของคลื่นไหวสะเทือนที่วิ่งผ่านโลก

จากการคำนวณทางคณิตศาสตร์พบว่า คลื่นปฐมภูมิวิ่งด้วยความเร็วปกติ 6-7 กิโลเมตร/วินาที ในขณะที่คลื่นปฐมภูมิอีกชุดวิ่งด้วยความเร็ว 8 กิโลเมตร/วินาที ด้วยความที่ความเร็วเปลี่ยนไปเขาจึงเรียกชั้นที่ทำให้คลื่นไหวสะเทือนเปลี่ยนความเร็วนี้ว่า ชั้นไม่ต่อเนื่องโมโฮโรวิคซิค หรือ ชั้นโมโฮ (Mohorovičić Discontinuity หรือ Moho) และกำหนดให้เป็นฐานของชั้นเปลือกโลกตามคุณสมบัติทางกายภาพ

ผลจากการศึกษาคลื่นไหวสะเทือนทั่วโลกพบว่าบริเวณต่างๆ ของโลกมีความหนาของชั้นเปลือกโลกที่แตกต่างกันระหว่าง 5-70 กิโลเมตร โดยพื้นมหาสมุทรส่วนใหญ่มีความหนาอยู่ในช่วง 5-15 กิโลเมตร ในขณะพื้นทวีปของโลกมีความหนาประมาณ 30-40 กิโลเมตร โดยบริเวณที่มีความหนามาก ได้แก่ เทือกเขาร๊อกกี้ ทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกา (หนาประมาณ 45-50 กิโลเมตร) เทือกเขาแอนดีส ทางตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ (หนาประมาณ 60-70 กิโลเมตร) และเทือกเขาหิมาลัยทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย (หนาประมาณ 60-70 กิโลเมตร)

แผนที่โลกแสดงการกระจายตัวของความหนาเปลือกโลก (ที่มา : www.ucsd.edu)

ชั้นโมโฮ คือ ขอบเขตระหว่างเปลือกโลก-แมนเทิล

2) ความไม่ต่อเนื่องกูเต็นเบิร์ก

ความไม่ต่อเนื่องกูเต็นเบิร์ก (Gutenberg Discontinuity) ค้นพบโดยโน่ กิวเตนเบอร์ก (Gutenberg B) ในปี ค.ศ. 1914 โดยกิวเตนเบอร์กพบว่า เมื่อเกิดแผ่นดินไหว สถานีตรวจวัดในบางพื้นที่ไม่สามารถตรวจวัดคลื่นไหวสะเทือนได้ ทั้งที่เป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ซึ่งเมื่อสังเกตและศึกษาในรายละเอียดจะพบว่าพื้นที่อับคลื่นนั้นสัมพันธ์กับจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว เช่น กำหนดให้เกิดแผ่นดินไหวที่บริเวณขั้วโลกเหนือ สถานีที่ตั้งห่างออกไปจากศูนย์กลาง 103o-180o จะไม่สามารถตรวจวัดคลื่นทุติยภูมิได้ เรียกว่า โซนอับคลื่นทุติยภูมิ (S-wave shadow zone) ส่วนกรณีของคลื่นปฐมภูมิไม่พบคลื่นเช่นกันในช่วง 103o-143o จึงเรียกว่าช่วงอับคลื่นปฐมภูมิ (P wave shadow zone)

แสดงลักษณะช่วงอับสัญญาณ (Shadow zone) ก) คลื่นปฐมภูมิ ข) คลื่นทุติยภูมิ

ซึ่งจากการค้นพบช่วงอับคลื่นดังกล่าว ปรากฏการณ์ของ กิวเตนเบอร์ก จึงนำเสนอว่าน่าจะมีความไม่ต่อเนื่องอยู่อีกที่ระดับ 2,900 กิโลเมตร จึงกำหนดให้เป็น ชั้นไม่ต่อเนื่องกิวเตนเบอร์ก (Gutenberg Discontinuity)

ความไม่ต่อเนื่องกูเต็นเบิร์ก คือ ขอบเขตระหว่างแก่นโลก-แมนเทิล

3) ความไม่ต่อเนื่องเลห์มัน

ความไม่ต่อเนื่องเลห์มัน (Lehman Discontinuity) นำเสนอโดยอิงจ์ เลห์มัน (Lehman I) นักวิทยาศาสตร์วิทยาหญิงชาวเดนมาร์ก ในปี ค.ศ. 1936 โดยพบว่าคลื่นปฐมภูมิที่วิ่งผ่านไปตามแก่นโลกชั้นในแสดงการเพิ่มขึ้นของความเร็วคลื่น บ่งชี้ว่าแก่นโลกชั้นในนั้นเป็นของแข็ง ในขณะที่ไม่มีคลื่นทุติยภูมิผ่านเข้ามาในชั้นแก่นโลก จึงเชื่อได้ว่าแก่นโลกชั้นนอกนั้นน่าจะมีสถานะเป็นของเหลว ต่อจากนั้นความกว้างและความเร็วคลื่นปฐมภูมิจึงค่อยๆ เพิ่มขึ้น แต่คลื่นทุติยภูมิยังคงจับไม่ได้ในช่วงสถานีตั้งแต่ 143o-180o จับคลื่นปฐมภูมิได้ดังเดิม แต่ยังไม่มีคลื่นทุติยภูมิ ในช่วงจับคลื่นปรากฏว่าจับคลื่นบางคลื่นได้ จึงสรุปว่าน่าจะมีแก่นโลกชั้นในด้วย ซึ่งมีคุณสมบัติยืดหยุ่นต่างกัน (ทำให้คลื่นปฐมภูมิกลับเร็วขึ้นมาอีกในระดับความลึกประมาณ 5,000 กิโลเมตร) และคาดว่าแก่นโลกชั้นในน่าจะมีสถานะเป็นของแข็ง และเรียกรอยต่อระหว่างแก่นโลกชั้นในและแก่นโลกชั้นนอกว่า ความไม่ต่อเนื่องเลแมน (Lehman Discontinuity)

ความไม่ต่อเนื่องเลห์มัน คือ ขอบเขตระหว่างแก่นโลกชั้นใน-แก่นโลกชั้นนอก

4) ชั้นเปลี่ยนโซน

ชั้นเปลี่ยนโซน (Transitional Zone) หากเกิดแผ่นดินไหวระดับตื้นที่เส้นศูนย์สูตร ซึ่งทั้งคลื่นปฐมภูมิและทุติยภูมิวิ่งไปทุกทิศทาง โดยทิศทางการวิ่งของคลื่นจะเบี่ยงเบนจากการหักเหของคลื่นเมื่อวิ่งลึกลงไปในตัวโลก นักวิทยาศาสตร์พบว่า ที่สถานีวัดที่อยู่ห่างจากจุดกำเนิดแผ่นดินไหวคิดเป็นมุม 15o-22o ทั้งเหนือและใต้เส้นศูนย์สูตร (มุมนี้เป็นมุมที่วัดตรงใจกลางโลกระหว่างจุดที่เกิดแผ่นดินไหวกับสถานีวัด) คลื่นไหวสะเทือนจะเร็วขึ้น โดยมีความเร็วคลื่นปฐมภูมิเพิ่มเป็น 9.1 กิโลเมตร/วินาที และคลื่นทุติยภูมิเป็น 5.3 กิโลเมตร/วินาที ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงคาดว่าน่าจะมีชั้นไม่ต่อเนื่องแทรกอยู่ระหว่างเนื้อโลกตอนบนกับเนื้อโลกตอนล่าง และเรียกชั้นไม่ต่อเนื่องนี้ว่า ชั้นเปลี่ยนโซน (Transitional Zone) ซึ่งอยู่ลึกลงไปในตัวโลก 400-700 กิโลเมตร

ชั้นเปลี่ยนโซน คือ รอยต่อระหว่างเนื้อโลกตอนบนกับเนื้อโลกตอนล่าง

ชั้นเปลี่ยนโซน (transitional zone) คือ ชั้นไม่ต่อเนื่องที่แทรกอยู่ระหว่าง เนื้อโลกตอนบนกับเนื้อโลกตอนล่าง ซึ่งอยู่ลึกลงไปในตัวโลก 400-700 กิโลเมตร

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share:
Slot Toto Slot Gacor Maxwin slot thailand slot toto slot resmi slot thailand slot qris slot gacor maxwin slot gacor maxwin Slot Gacor Maxwin Slot Gacor Maxwin 2024 Situs Slot Gacor 777 Situs Slot Gacor Toto Slot Gacor 2024 Maxwin Slot Gacor Terbaik Slot Gacor 4D Slot Gacor Terpopuler slot gacor maxwin slot toto gacor scatter hitam slot thailand slot777 slot maxwin slot thailand slot toto gacor slot gacor 777 Slot Gacor Thailand slot88 maxwin slot thailand 2024