เรียนรู้

ปรากฏการณ์ขั้วโลกพเนจร กับการศึกษาภูมิศาสตร์บรรพกาล

จากการศึกษาวิทยาศาสตร์โลกในปัจจุบัน ถึงแม้จะมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่ก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าโลกของเรามี สนามแม่เหล็ก (magnetic field) ครอบคลุมอยู่ โดยในปัจจุบัน เส้นแรงแม่เหล็กโลกพุ่งออกจาก ขั้วแม่เหล็กโลกใต้ (south magnetic pole) แล้ววิ่งโค้งข้ามหัวพวกเราไปมุดตัวอีกทีที่ ขั้วแม่เหล็กโลกเหนือ (north magnetic pole)

และจากหลักฐานทางธรณีวิทยาต่างๆ นักธรณีวิทยาเชื่อว่าสนามแม่เหล็กโลกเกิดขึ้นได้เพราะการหมุนวนของวัสดุภายในโลกที่มีแร่เหล็กจำนวนมากและอยู่ในสถานะของเหลว ตรงบริเวณแก่นโลกชั้นนอก (Jacobson, 1975)  ซึ่งจากการหมุนวนอย่างช้าๆ ไปในทิศทางที่เรียกได้ว่าสุ่ม ทำให้ตลอดช่วงอายุ 4600 ล้านปี ที่โลกเกิดขึ้นมา เส้นแรงแม่เหล็กโลกมีการสลับขั้ว วิ่งจากใต้ไปเหนือ หรือที่เรียกว่า ขั้วแม่เหล็กปกติ (normal polarity) และกลับทิศวิ่งจาก เหนือไปใต้ หรือ ขั้วแม่เหล็กย้อนกลับ (reverse polarity) อยู่ตลอดเวลา

แบบจำลองสนามแม่เหล็กของโลกในช่วงเวลาปัจจุบัน

นอกจากนี้นักธรณีวิทยายังพบว่าหินต่างๆ ที่อยู่บนพื้นโลกสามารถเก็บบันทึกหรือสต๊าฟ สัญญาณของสนามแม่เหล็กโลกในขณะที่หินนั้นเกิดขึ้นได้ (แมกมาเย็นตัวกลายเป็นหิน) ซึ่งนอกจากหินจะบันทึกสภาวะความเป็น ขั้วแม่เหล็กปกติ หรือ ขั้วแม่เหล็กย้อนกลับ ที่มีประโยชน์อย่างมากในการศึกษาด้านธรณีแปรสัณฐาน และการกำหนดอายุสมบูรณ์ทางวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้หินต่างๆ ยังบันทึกในรูปแบบของ 1) แนวเส้นแรงแม่เหล็กโลกที่เอียงเททำมุมกับพื้นผิวโลก ในพื้นที่ต่างๆ ในช่วงเวลานั้นด้วย หรือที่เรียกว่า  มุมเอียง (inclination) และ 2) มุมเบี่ยง (declination) ซึ่งหมายถึง มุมที่แนวเส้นแรงแม่เหล็กนั้นเบี่ยงเบนไปจากทิศเหนือ

การเหนี่ยวนำแร่เหล็กในลาวาที่กำลังไหลหลาก และการสต๊าฟแช่แข็งสัญญาณแนวเส้นแรงแม่เหล็กเอาไว้ในช่วงที่ลาวาเย็นตัวกลายเป็นหิน
ค่อยๆ พินิจพิเคราะห์รูปนี้ เดี๋ยวจะเข้าใจ มุมเอียง (inclination) และ มุมเบี่ยง (declination) (ที่มา : https://digilander.libero.it)

ซึ่งในกรณีของ มุมเอียง (inclination) ตัวอย่างเช่น 1) หินที่อยู่ในบริเวณขั้วโลกใต้ เส้นแรงแม่เหล็กจะชี้ขึ้นฟ้าตั้งฉาก 90 องศา กับพื้นผิวโลกหรือกับชั้นหินในบริเวณนั้น หรือ 2) หินที่อยู่ในบริเวณซีกโลกเหนือ เส้นแรงแม่เหล็กที่ถูกสต๊าฟไว้จะพุ่งปักลงพื้นผิวโลกหรือตั้งฉาก 90 องศา กับชั้นหินตรงนั้น หรือ 3) หินที่อยู่ในบริเวณเส้นศูนย์สูตร เส้นแรงแม่เหล็กจะวางตัวขนานกับพื้นผิวโลกหรือขนานไปกับตัวเรา โดยหากเราซึ่งเป็นผู้สังเกตหันหน้าไปทางทิศใต้ ในกรณีนี้ เส้นแรงแม่เหล็กจะพุ่งเข้าหาเราด้านหน้าในแนวขนาน ส่วนถ้าเราหันหน้าไม่ทางทิศเหนือ เส้นแรงแม่เหล็กจะเสียบเข้าตรงๆ ทางด้านหลัง (ทะลุถึงหัวใจ) หรือจะให้ยกตัวอย่างอีกที หากเราหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เส้นแรงแม่เหล็กก็จะพุ่งเสียบชายโครงด้านขวา หากเราหันหน้าไปทางทิศตะวันตก เส้นแรงแม่เหล็กก็จะเสียบชายโครงด้านซ้าย ตามลำดับ หรือในกรณีที่ 4) หินที่อยู่ในบริเวณซีกโลกใต้ เส้นแรงแม่เหล็กจะพุ่งเฉียงขึ้นฟ้า และกรณีที่ 5) หินที่อยู่ในบริเวณซีกโลกเหนือ เส้นแรงแม่เหล็กก็จะกดหัวลง ประมาณนี้

(ก) แนวคิดตำแหน่งของหินตามมุมเอียงเทของเส้นแรงแม่เหล็ก (ข) แบบจำลองขั้วโลกเคลื่อนที่ (ค) แบบจำลองแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่ (Pan, 1968)

จากการศึกษาชุดหินทั้งในทวีปอเมริกาเหนือและทวีปเอเชีย (แผ่นยูเรซีย) นักวิทยาศาสตร์พบว่าหินในแต่ละชุด ตำแหน่งของหินที่วิเคราะห์มีระยะขจัดและทิศทางที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุเมื่อเปรียบเทียบกับขั้วแม่เหล็กโลกในอดีต (รูปกลาง) ซึ่งจากการแปลความแบบแฟร์ๆ เป็นเหตุเป็นผลแบบวิทยาศาสตร์ก็สามารถแปลความได้ว่า 1) หินนั้นอยู่ตำแหน่งเดิม คงที่มาตั้งแต่เกิดหินนั้นขึ้น แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาขั้วโลกมีการเปลี่ยนตำแหน่งอยู่ตลอดเวลา หรือ 2) หินหรือพื้นแผ่นดินแถบนั้นอาจมีการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา ในขณะขั้วโลกนั้นคงที่เช่นเดิม ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าว เรียกว่า ปรากฏการณ์ขั้วโลกเลื่อนตำแหน่ง หรือ ขั้วโลกพเนจร หรือ ขั้วโลกหลงทาง (polar wandering)

อย่างไรก็ตามข้อมูลสนามแม่เหล็กบรรพกาลที่ได้จากชุดหินในแต่ละอายุในทวีปอเมริกาเหนือและทวีปเอเชียแสดงตำแหน่งของขั้วโลกคนละตำแหน่งกัน ถึงแม้ว่าหินจะมีอายุเดียวกัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ในเวลาเดียวกัน (หินอายุเดียวกัน) จะมีขั้วโลก (เหนือหรือใต้) 2 ขั้วในเวลาเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์จึงสรุปว่าขั้วโลกนั้นคงที่ เพียงแต่แผ่นเปลือกโลกมีการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา (Steinberger และ Torsvik, 2008) จึงทำให้หินในแต่ละพื้นที่นั้นแสดงสัญญาณหรือเส้นแรงสนามแม่เหล็กโลกแตกต่างกัน และไม่ตรงตามตำแหน่งที่หินนั้นอยู่ในปัจจุบัน

ซึ่งในเวลาต่อมา ผลจากการศึกษา 1) อายุ 2) มุมเอียง (inclination) และ 3) มุมเบี่ยง (declination) ของหินในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก นักธรณีวิทยาสามารถสร้างแบบจำลองตำแหน่งของทวีปต่างๆ ในแต่ละช่วงเวลา หรือที่เรียกว่า ภูมิศาสตร์บรรพกาล (paleogeography) (Pan, 1968) ได้ดังรูปด้านล่าง และจากการค้นพบ ปรากฏการณ์ขั้วโลกหลงทาง (polar wandering) จึงเป็นหลักฐานยืนยันว่า

ตลอดจน ทฤษฎีธรณีแปรสัณฐาน (tectonic) นั้นเป็นจริง

แบบจำลองแสดงสภาพ ภูมิศาสตร์บรรพกาล (paleogeography) ในแต่ละช่วงเวลาของโลก ซึ่งศึกษาและแปลความโดยใช้ ปรากฏการณ์ขั้วโลกหลงทาง (polar wandering) เป็นแนวทางหลักในการศึกษา

หลักฐานการศึกษามุมเอียงและมุมเบี่ยง บ่งชี้ว่า ประเทศไทยเคยอยู่ติดกับทวีปออสเตรเลียทางซีกโลกใต้ โดยด้ามขวานเคยอยู่ติดฝั่งตะวันตก ในขณะที่ใบขวานติดฝั่งตะวันออกของออสเตรเลีย และตลอดทางที่ทั้งด้ามขวานและใบขวานเดินทางมาพบกันที่เส้นศูนย์สูตรในปัจจุบัน ทั้งใบและด้ามขวานมีการหมุนวนทั้งแบบทวนเข็มและตามเข็มนาฬิกามาแล้วหลายครั้ง จนสุดท้ายมาเชื่อมติดกันในปัจจุบัน (ปัญญา จารุศิริ และคณะ, 2545)

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: