หากเรามองแผ่นเปลือกโลกเป็นเหมือนจิ๊กซอว์ที่อยู่ชิดติดกัน แผ่นดินญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของทวีปเอเชีย ทอดตัวยาวคร่อมอยู่บนจิ๊กซอว์ชื่อแปลกๆ 3 แผ่น คือ 1) แผ่นเปลือกโลกโอค็อตสค์ (Okhotsk Plate) ทางตอนเหนือ 2) แผ่นเปลือกโลกทะเลฟิลิปปินส์ (Philippine Sea Plate) ทางตอนใต้ และ 3) แผ่นเปลือกโลกอามูเรีย (Amurian Plate) ทางทิศตะวันตก ซึ่งในปัจจุบัน ผลจากการที่แผ่นเปลือกโลกที่ใหญ่ที่สุดและวิ่งเร็วที่สุดในโลกอย่าง แผ่นเปลือกโลกแปซิฟิก (Pacific Plate) เคลื่อนที่เข้ามาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ด้วยความเร็ว 8-9 เซนติเมตรต่อปี พุ่งชนกลุ่มจิ๊กซอว์ทั้ง 3 แบบประสานงา จึงไม่ใช่เรื่องโอเว่อร์เกินจริงที่จะเคลมว่า ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของโลก ในด้าน แผ่นดินไหว (earthquake) สึนามิ (tsunami) รวมทั้ง ภูเขาไฟ (volcano)
ในทางทฤษฎี นักแผ่นดินไหววิทยาแบ่งสภาพแวดล้อมทาง ธรณีแปรสัณฐาน (tectonic) ที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวออกเป็น 3 รูปแบบ ตามระดับความดุร้าย ได้แก่ 1) ขอบแท้ๆ ของแผ่นเปลือกโลก (interplate) ซึ่งดุสุดๆ เปิด 8.0 ได้ง่ายๆ ไม่ใช่เรื่องเกินเบอร์ 2) แผ่นเปลือกโลกส่วนที่มุดลงไปใต้โลก (intraslab) ซึ่งก็ดุแต่เกิดลึก แรงสั่นจากแผ่นดินไหวจึงไม่ค่อยมีภัย และ 3) รอยแตกภายในแผ่นเปลือกโลก (intraplate) ที่เกิดจากการถ่ายเทแรงของการชนกันเข้ามาภายในแผ่น หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า รอยเลื่อน (fault) ประเด็นคือ ทั้ง 3 แบบที่ว่า ญี่ปุ่นมีครบ !!! จบในที่เดียว แถมแต่ละแบบแต่ละทีมก็มีตัวผู้เล่นให้เลือกใช้กันได้อย่างเหลือเฟือ โรเตชั่นสลับกันเกิดแผ่นดินไหวได้ตลอดเวลา
จากสถิติการเกิดแผ่นดินไหวในรอบกว่า 120 ปี (พ.ศ. 2445-ปัจจุบัน) เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.0 ขึ้นไปกว่า 8,110 ครั้ง โดยในจำนวนนี้มีแผ่นดินไหวขนาด 7.0 ขึ้นไป 150 ครั้ง และในจำนวนนั้นเป็นแผ่นดินไหวขนาด 8.0 ขึ้นไปกว่า 15 ครั้ง ซึ่ง 1ใน 15 เหตุการณ์ นั้น ก็คือ แผ่นดินไหวโทโฮกุขนาด 9.1 ที่เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2554 ที่คิดว่าหลายท่านคงยังไม่ลืม
จากสถิติที่มีบันทึกไว้ข้างต้น หากลองดีลูกคิดกดเครื่องคิดเลขกันเล่นๆ จะพบว่าในแต่ละปี ญี่ปุ่นจะได้สัมผัสกับแผ่นดินไหวขนาด 5.0 คร่าวๆ 60-70 ครั้ง หรือราวๆ 5-6 ไฟต์ต่อเดือน โดยจะมีแคมเปญใหญ่ระดับ 7.0 ให้เห็นอย่างน้อยปีละหน ส่วนแผ่นดินไหวขนาด 8.0 จะวางหมายนัดไว้ทุกๆ 8 ปี ซึ่งฟอร์มการเกิดแผ่นดินไหวขนาดนี้ ถือว่าเวิล์ดคลาส
15 อันดับ แผ่นดินไหวใหญ่ที่สุด ที่เคยเกิดขึ้นบนแผ่นดินญี่ปุ่นในรอบ 120 ปี
ลองจิจูด | ละติจูด | วัน | เดือน | ปี ค.ศ. | ขนาดแผ่นดินไหว | ลึก (กม.) |
142.373 | 38.297 | 11 | 3 | 2011 | 9.1 | 29 |
149.483 | 44.872 | 13 | 10 | 1963 | 8.5 | 35 |
144.59 | 39.209 | 2 | 3 | 1933 | 8.4 | 15 |
135.895 | 33.116 | 20 | 12 | 1946 | 8.3 | 15 |
147.321 | 43.773 | 4 | 10 | 1994 | 8.3 | 14 |
148.485 | 44.479 | 6 | 11 | 1958 | 8.3 | 35 |
143.435 | 40.86 | 16 | 5 | 1968 | 8.2 | 29.9 |
147.859 | 43.424 | 11 | 8 | 1969 | 8.2 | 30 |
143.91 | 41.815 | 25 | 9 | 2003 | 8.2 | 27 |
136.204 | 33.682 | 7 | 12 | 1944 | 8.1 | 15 |
139.298 | 35.413 | 1 | 9 | 1923 | 8.1 | 15 |
143.899 | 42.084 | 4 | 3 | 1952 | 8.1 | 45 |
150.653 | 46.737 | 7 | 9 | 1918 | 8.1 | 15 |
143.228 | 39.869 | 20 | 3 | 1960 | 8.0 | 15 |
ถามว่าแผ่นดินไหว 7.3 ที่เกิดขึ้นเมื่อ 16 มีนาคม ที่ผ่านมา เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 9.1 เมื่อปี พ.ศ. 2554 หรือไม่ แผ่นดินไหว 7.3 นี้ ส่งผลกับประเทศไทยอย่างไร ผู้วิจัยขอเคลียร์ให้สิ้นสงสัยว่า ถึงแม้จะเกิดในตำแหน่งใกล้เคียงกัน แต่ 7.3 ไม่เกี่ยวอะไรกับ 9.1 และ ทั้ง 7.3 และ 9.1 รวมทั้งทุกๆ แผ่นดินไหวสัญชาติญี่ปุ่น ไม่ส่งผลต่อไทย ด้วยเหตุผลมางภูมิศาสตร์ที่แสนจะห่างไกลกัน ส่วนในอนาคต ญี่ปุ่นจะเกิดแผ่นดินไหวใหญ่กว่านี้ได้อีกไหม ผู้วิจัยฟันธงว่า เกิดใหญ่กว่านี้ได้แน่นอน เพราะศักยภาพมี เขาทำได้ และเขาก็เคยทำ
สิ่งที่เราควรเรียนรู้และเดินตามมากที่สุดในเรื่องแผ่นดินไหวญี่ปุ่นคือ ทำไมแม้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ ญี่ปุ่นยังยืนอยู่ได้ ไม่โดนน๊อค 6.5 5.6 7.3 8.1 ฯลฯ หากเป็นประเทศอื่น คงต้องใช้เวลากู้ชีพฟื้นไข้กันเป็นเดือนๆ แต่สำหรับคนญี่ปุ่นกับแผ่นดินไหวขนาดนี้ ย่อต่ำแค่ 5-10 นาที รอแผ่นดินไหวผ่านไป ก็กอดคอเดินไปกินราเมงกันต่อได้อย่างปกติสุข ซึ่งความสามารถในการยืนหยัดต่อภัยแบบนี้ ในทางแผ่นดินไหววิทยา เราเรียกกันว่า ความรุนแรงแผ่นดินไหว (earthquake intensity)
รายละเอียด : http://www.mitrearth.org/4-169-measurement-of-earthquake/
ก่อนจะแยกย้ายกันไปทำมาหากิน ประเด็นสุดท้ายที่ผู้วิจัยอยากจะดับให้กับผู้อ่านทุกๆ ท่าน คือชุดความคิดที่ว่าแทบทุกครั้งเมื่อเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ ประชาชนทั่วไปมักจะสงสัยกันว่า หรือโลกกำลังเปลี่ยนไป ในทางที่ภัยพิบัติบ่อยขึ้นดุขึ้น ประเด็นนี้พิสูจน์กันได้ไม่ยาก ด้วยคณิตศาสตร์ระดับประถม (http://www.mitrearth.org/4-110-stable-earthquake/) ซึ่งผลพิสูจน์ก็ชัดเจนแล้วว่าจะ ทุกๆ ปี ทุกๆ ราศี แผ่นดินไหวยังเกิดเท่าเดิม เกิดพอๆ กันในทุกๆ เดือน ไม่เว้นแม้กระทั่งทุกๆ วันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือน แผ่นดินไหวก็ยังเป็นเหมือนที่เคย
โลก (แผ่นดินไหว) ยังคงเดิม และยังดำเนินต่อไป ไม่เปลี่ยนแปลง
. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth