ผาแดง – นางไอ่ คือ ชื่อของหนึ่งในวรรณกรรมพื้นบ้าน ที่เล่าขานกันมานมนานในแถบภาคอีสาน (ตอนบน) พล๊อตเรื่องคร่าวๆ ก็จะประมาณว่า มีพญานาคหนุ่มรูปงามนาม ท้าวภังคี หลงรักสาวหน้าตาดีที่ชื่อ นางไอ่ ลูกสาวหัวแก้วหัวแหวนของ พญาขอม เจ้าผู้ครองนคร เมืองหนองหาน ซึ่งนางไอ่ก็มีคู่หมั้นคู่หมายอยู่แล้วชื่อ ท้าวผาแดง
เมื่อหัวใจมันเรียกร้อง วันหนึ่ง ท้าวภังคีอยากไปหานางไอ่ จึงแปลงกายเป็น กระรอกเผือก รูปงาม แล้วห้อย กระดิ่งทองคำ เอาไว้ที่คอ เพื่อให้เสียงกระดิ่งดึงความสนใจ เรียกให้นางไอ่ชายตามามอง เมื่อได้พบหน้านางไอ่ กระรอกเผือกกระโดดโลดเต้นบนกิ่งไม้ หวังให้นางไอ่อันเป็นที่รัก ได้เห็นและเอ็นดู
แต่แล้วคดีกลับพลิก !!! นางไอ่อยากได้กระรอก จึงบอกให้พราหมณ์คนข้างๆ ช่วยเอาปืนยิงกระรอกให้ที สุดท้าย กระรอกเผือกภังคี ก็ถูกสอยร่วง ตกลงมาตายคาที่บนพื้นดิน พอพญานาคผู้พ่อรู้ข่าว ก็โกรธจัด เกณฑ์ไพร่พลเหล่าพญานาค บุกขึ้นมาทำร้ายผู้คน ทำลายเมืองหนองหานจนยุบลง ทรุดตัวกลายเป็นหนอง อย่างที่เห็นในปัจจุบัน แต่นางไอ่ก็หนีได้ทัน เพราะท้าวผาแดงกวักมือเรียกนางไอ่มาซ้อนท้ายม้า แล้วพาชิ่งหนีไป เป็นอันว่าจบบริบูรณ์
ผู้เฒ่าผู้แก่บางคนเรียกนิทาน ผาแดง – นางไอ่ ว่าตำนาน ขอคำกระฮอกด่อน
ขอคำ = กระดิ่งทอง, กระฮอก = กระรอก, ด่อน = ขาว เผือก
ขอคำกระฮอกด่อน = กระรอกเผือกห้อยกระดิ่งทอง
จะว่าไป นิทานโบราณหลายๆ เรื่อง ก็แต่งมาเพื่อเอามันส์ เอาสนุกสนาน แต่ก็มีอยู่บ้างบางเรื่อง ที่คล้ายกับว่าจะมีเค้ามีลางมาจากวัฒนธรรมพื้นบ้าน หรือเหตุการณ์สำคัญที่เคยเกิดขึ้นในอดีต อย่างในกรณี ผาแดง – นางไอ่ ความน่าสนใจมันอยู่ตรงที่ ฉากของเรื่องมีอยู่จริง มีหนองหานจริง ที่จังหวัดสกลนคร และมีเมืองเก่า ที่แสดงหลักฐานว่าเมืองบางส่วนทรุดตัวจมลงไปจริง
เพื่อที่จะพิสูจน์ทราบความน่าจะจริง ว่าจะเป็นจริง จริงๆ หรือไม่ บทความนี้จึงอยากจะลองไขข้อสงสัย ด้วยการใช้องค์ความรู้ทางธรณีวิทยามาช่วยอธิบาย จะจริงไม่จริงไม่รู้ แต่ถ้าสมมุติว่าจริง สภาพการณ์ที่น่าจะเคยเกิดขึ้นที่หนองหานในวันนั้น มันจะเป็นยังไง และอะไรหรือคือต้นเหตุสำคัญ
เพิ่มเติม : กระรอกเผือก vs ปลาไหลเผือก
1) ภูมิประเทศอีสาน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ภาคอีสาน ของไทย มีสภาพภูมิประเทศเป็น ที่ราบสูง (plateau) หรือที่เรียกกันติดปากว่า ที่ราบสูงโคราช (Korat Plateau) อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 150-250 เมตร ด้วยกระบวนการทางธรณีแปรสัณฐาน (tectonic) ในอดีต ทำให้แผ่นดินอีสานเกิดการคดโค้งโก่งงอของหิน ภูมิประเทศภาพรวมของที่ราบสูงโคราช จึงมีสภาพคล้ายกับ แอ่งกระทะ
ต่อมาเกิดการยกตัวของชั้นหินเป็นแนว เทือกเขาภูพาน ทอดยาวขวางอีสานในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ กลายเป็นโครงสร้างหลักของภูมิภาค ที่แบ่งที่ราบสูงโคราชออกเป็น 2 แอ่งตะกอน ในทางธรณีวิทยา ได้แก่ 1) แอ่งตะกอนสกลนคร (Sakon Nakhon Basin) ทางตะวันออกเฉียงเหนือ และ 2) แอ่งตะกอนโคราช (Korat Basin) ครอบคลุมอีสานกลางและอีสานใต้
ในมิติอุทกศาสตร์ ที่ราบสูงโคราชถูกแบ่งออกเป็น 3 ลุ่มน้ำหลัก ได้แก่ 1) ลุ่มน้ำมูล 2) ลุ่มน้ำชี และ 3) ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ลุ่มแม่น้ำสงคราม มีแม่น้ำมูล แม่น้ำชี และแม่น้ำสงคราม เป็นแม่น้ำสายหลักหล่อเลี้ยงอีสาน
2) ธรณีวิทยาอีสาน
ในมิติธรณีวิทยา หินส่วนใหญ่ของภาคอีสานเกิดขึ้นในช่วง มหายุคมีโซโซอิก (Mesozoic Era) โดยมีการสะสมตัวของตะกอนบกและกลายเป็นชุดของ หินตะกอน (sedimentary rock) ที่เรียกกันในทางธรณีวิทยาว่า กลุ่มหินโคราช (Khorat Group) ซึ่งถ้าแบ่งย่อยกลุ่มหินโคราชอย่างเต็มรูปแบบ จะประกอบไปด้วย 9 หมวดหิน (formation) ไล่จากแก่ไปอ่อน ได้แก่ หมวดหิน 1) ห้วยหินลาด 2) น้ำพอง 3) ภูกระดึง 4) พระวิหาร 5) เสาขัว 6) ภูพาน 7) โคกกรวด 8) มหาสารคาม และ 9) ภูทอก ตามลำดับ ซึ่งแทบทุกหมวดหิน ส่วนใหญ่จะเป็น หินทราย (sandstone) หินทรายแป้ง (siltstone) และ หินดินดาน (shale) ยกเว้น 8) หมวดหินมหาสารคาม (Maha Sarakham Formation) ที่ประกอบไปด้วย หินดินดาน และ ชั้นเกลือหิน (rock salt) ซึ่งถูกปิดทับอยู่ด้านบนด้วย 9) หมวดหินภูทอก (Phu Thok Formation) และ-หรือ ตะกอนทางน้ำ (fluvial sediment) ที่สะสมตัวอยู่ตามแม่น้ำสายหลักต่างๆ
เพิ่มเติม : กลุ่มหินโคราช (Khorat Group)
3) กำเนิด เนิน-โนน-โพน-โคก
ด้วยความที่อีสานมี แม่น้ำโค้งตวัด (meandering stream) ที่เด่นชัด (มูล-ชี-สงคราม) หลายพื้นที่จึงเป็น ที่ราบน้ำท่วมถึง (floodplain) แต่หากสังเกตดูดีๆ จะพบว่า ที่ราบมักจะถูกแทรกแซง ถูกแทงขึ้นมาด้วย เนินดิน (mound) หรือที่เรียกกันในภาษาถิ่นว่า เนิน โนน โพน โคก ฯลฯ ซึ่งมักจะถูกเลือกให้เป็นที่ตั้งชุมชนมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยปัจจุบันมีการสำรวจและรายงานเนินดินในภาคอีสานที่สัมพันธ์กับชุมชนโบราณมากกว่า 297 เนิน หรือ ชุมชน (Reilly และ Scott, 2015)
เพิ่มเติม : เนินดินอีสาน กับการตั้งถิ่นฐานในอดีต
เนื่องด้วยชั้นหินส่วนใหญ่ในภาคอีสานที่เป็น หินทราย (sandstone) หินทรายแป้ง (siltstone) และ หินดินดาน (shale) มี หมวดหินมหาสารคาม (Maha Sarakham Formation) เพียงหมวดเดียวที่เป็น หินเกลือ (rock salt) ผนวกกับชุดความรู้ทางธรณีวิทยา สรุปว่า เหตุผลเดียวที่จะทำให้เกิดเนินดินในภาคอีสานได้คือ การผุดขึ้นมาของมวลเกลือจนกลายเป็นโดม หรือที่เรียกกันในทางธรณีวิทยาว่า โดมเกลือ (salt dome)
โดยธรรมชาติ มวลเกลือสามารถเปลี่ยนรูปได้ จากน้ำหนักกดทับของหินด้านบนที่มีไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่ จุดหรือตำแหน่งที่มีแรงกดทับสูง จะกดมวลเกลือลงไปข้างใต้ แรงดันทำให้มวลเกลือเปลี่ยนรูป และผุดผุยขึ้นมาตามจุดหรือตำแหน่งที่มีแรงกดทับต่ำ ทำให้เกิด 1) โดมเกลือ (salt dome) ในทางธรณีวิทยา หรือ 2) เนินดิน (mound) ในทางภูมิศาสตร์ หรือ 3) เนิน โนน โพน โคก ในทางภูมินาม (รูป ก-ข) โดยลีลาการผุดขึ้นมาของมวลเกลือ นักธรณีวิทยาสรุปได้ 6 ประเภท (รูป ค) ลูกศรสีดำแสดงแรงหรือน้ำหนักกดทับชั้นเกลือ ลูกศรสีขาวแสดงการตอบสนองของมวลเกลือต่อแรงกดทับ ที่จะทำให้มวลเกลือแสดงอาการผุดผุย หรือแทรกดันขึ้นมาบนพื้นดิน
เพิ่มเติม : เกลือ 7 แบบ : หลากสี หลายรส
4) ธรณีวิทยา ผาแดง – นางไอ่
เมื่อมวลเกลือถูกดันขึ้นมาใกล้พื้นโลก มวลเกลือจะมีโอกาสสูง ที่จะถูกชะล้างและละลายไปกับกลไกการไหลเวียนของน้ำใต้ดิน ซึ่งในเวลาต่อมาเมื่อระดับน้ำใต้ดินลดต่ำลง พื้นที่ใต้ดินแถบนั้น จะกลายเป็นโพรงหรือถ้ำใต้ดิน เช่นเดียวกับกระบวนการเกิดถ้ำหรือโพรงใต้ดินในแถบเทือกเขาหินปูน อันเนื่องมาจากน้ำใต้ดินชะล้างและละลายหินปูนออกไป ซึ่งในเวลาต่อมา เมื่อระดับน้ำใต้ดินลดต่ำลง พื้นที่แถบนั้นก็จะเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิด หลุมยุบ (sinkhole) อันเนื่องมาจากการถล่มของโพรงใต้ดิน และในกรณีโดมเกลือก็เช่นเดียวกัน
เพิ่มเติม : ถ้ำ และ ภูมิประเทศแบบคาสต์
หากสังเกตอย่างถี่ถ้วนทั่วพื้นที่ภาคอีสาน ผ่านภาพถ่ายดาวเทียม (Google Earth) จะพบว่ามีบึงหรือหนองน้ำธรรมชาติจำนวนมาก กระจายตัวอยู่ทั่วพื้นที่ รวมถึงหนองหาน จังหวัดสกลนคร ตัวละครหลักของเรื่องนี้ ซึ่งหากแปลความในมุมมองทางธรณี หนองน้ำเหล่านี้ก็คือ หลุมยุบ (sinkhole) ที่เกิดจากการถล่มและทรุดตัวของโพรงใต้โดมเกลือในอดีต
สรุป ความสัมพันธ์ทางธรณีวิทยา กับตำนาน ผาแดง-นางไอ่ ได้ว่า เหล่าสมุนพญานาค ทีมงานของพ่อเท้าภังคี ก็เปรียบได้กับ โพรงหรือถ้ำใต้ดิน ที่เกิดจากการละลายของโดมเกลือ ส่วนตัวละคร กระฮอกด่อน หรือ กระรอกเผือก ก็น่าจะเป็นตัวแทน สีขาวของเกลือ อันเป็นปฐมเหตุของตำนานเรื่องนี้ และในวันที่เมืองหนองหานถูกพญานาคถล่มยับ ก็คงจะเป็นวันที่เกิด ภัยพิบัติหลุมยุบ (sinkhole hazard) ในทางธรณีวิทยา ส่วน ท้าวผาแดง และ นางไอ่ ก็ไม่รู้จะให้เป็นอะไรในวงนี้ เพราะได้ข่าวว่า ควบม้าชิ่งหนีไปไกลแล้ว
เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้
เพิ่มเติม : “คำชะโนด” ในมุมวิทยาศาสตร์
. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth