สำรวจ

เกลือ : เส้นทางสายปลาแดก

ในบรรดา ทรัพยากรธรณี ที่มีการนำมาใช้สอยกันมากมาย เกลือ คือหนึ่งในทรัพยากรที่จำเป็นในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ด้วยคุณสมบัติสั้นๆ อันแสนวิเศษ ที่ช่วยเพิ่มรสชาติ และถนอมอาหารให้เก็บไว้ได้นานขึ้น เกลือจึงกลายเป็นของสำคัญที่มนุษย์ขาดไม่ได้

ในสมัยโบราณ ว่ากันว่าบ้านไหนเมืองไหนมีเกลือ ถือว่าเนื้อหอม ใครก็อยากรุมตอม บางที่บางทีถึงกับยกย่องการเป็นเจ้าของหรือได้ครอบครองแหล่งเกลือ ก็เปรียบเสมือนกับมี ทองคำขาว อยู่กับตัว อยู่ในบ้าน จึงไม่น่าแปลกใจที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เรื่องราวของมนุษย์แทบทั่วทุกมุมโลก จึงถูกขีดเขียน เคียงคู่ไปกับประวัติศาสตร์ของเกลือ

ประเทศไทย นอกเหนือจาก เกลือสมุทร ที่ยังเห็นทำๆ กันอยู่ตามริมทะเล โดยเฉพาะแถบจังหวัดเพชรบุรี สมุทรสงครามและสมุทรสาคร อีกแหล่งทรัพยากรเกลือที่สำคัญของบ้านเราคือ แร่เกลือหิน (rock salt) หรือ เกลือสินเธาว์ ที่พบและมีอย่างอุดม บนที่ราบสูงอีสาน เกลือศาสตร์ หรือศาสตร์แห่งการทำเกลือ ได้ถูกถ่ายทอด ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นบนดินแดนแห่งนี้ มีเรื่องราวให้กล่าวถึงมากมายอยู่ทุกยุคทุกสมัย ทั้ง แหล่งผลิต วิธีการผลิต การใช้สอย ตลอดจน การค้าขายแลกเปลี่ยนเกลือ ซึ่งเพื่อที่จะขมวดภาพรวมมุมกว้างของ เกลืออีสาน บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์หลัก ที่จะรวมและประมวลข้อมูลแหล่งเกลือ ทั้งในมิติ ธรรมชาติทางธรณีวิทยา หลักฐานทางโบราณคดี และ เค้าลางทางภูมินามวิทยา รวมทั้งประมวล โครงข่ายการยักย้ายถ่ายเทเกลือ ผ่านภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศ (GIS) หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานวิจัยนี้จะเป็นประโยชน์ เป็นแนวทางในการต่อยอด การศึกษารากเหง้าของเรากับเกลือให้ลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไป ในอนาคต

เพิ่มเติม : การทำนาเกลือ (เบื้องต้น)

1) ภูมิประเทศ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ภาคอีสาน ของไทยมีสภาพภูมิประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับภาคอื่นๆ ก็เรียกว่าเป็น ที่ราบสูง (plateau) หรือเรียกกันติดปากว่า ที่ราบสูงโคราช (Korat Plateau) ซึ่งปัจจุบันอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 150-250 เมตร ด้วยกิจกรรมทาง ธรณีแปรสัณฐาน (tectonic) ในอดีต ทำให้พื้นที่เกิดการคดโค้งโก่งงอ สร้างภูมิประเทศภาพรวมของที่ราบสูงโคราช ให้มีสภาพคล้ายกับ แอ่งกระทะ

นอกจากนี้ ยังมีการยกตัวของชั้นหินภายในที่ราบสูงโคราช เป็นแนว เทือกเขาภูพาน ทอดยาวขวางอีสานในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ กลายเป็นโครงสร้างหลักของภูมิภาค ที่แบ่งที่ราบสูงโคราชออกเป็น 2 แอ่งตะกอนในทางธรณีวิทยา ได้แก่ 1) แอ่งตะกอนสกลนคร (Sakon Nakhon Basin) ทางตะวันออกเฉียงเหนือ และ 2) แอ่งตะกอนโคราช (Korat Basin) ครอบคลุมอีสานกลางและอีสานใต้ โดยในมิติอุทกศาสตร์ ที่ราบสูงโคราชถูกแบ่งออกเป็น 3 ลุ่มน้ำหลัก ได้แก่ 1) ลุ่มน้ำมูล 2) ลุ่มน้ำชี และ 3) ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ลุ่มน้ำสงคราม มีแม่น้ำมูล แม่น้ำชี และแม่น้ำสงคราม เป็นแม่น้ำสายหลักหล่อเลี้ยงอีสาน

แผนที่ภาคอีสาน แสดงลักษณะภูมิประเทศคล้ายแอ่งกระทะ โดยมีเทือกเขาภูพาน วางตัวกั้นระหว่างแอ่งสกลนครทางตอนเหนือ และแอ่งโคราชทางตอนใต้ แนวเส้นสีฟ้า คือ แม่น้ำสายหลักในภาคอีสาน ประกอบไปด้วย 1) ลุ่มน้ำสงคราม ทางตอนเหนือ 2) ลุ่มน้ำชี ทางตอนกลาง และ 3) ลุ่มน้ำมูล ทางตอนใต้

2) ธรณีวิทยา

ในมิติธรณีวิทยา หินส่วนใหญ่ของภาคอีสานเกิดขึ้นในช่วง มหายุคมีโซโซอิก (Mesozoic Era) โดยเป็นการสะสมตัวของตะกอนบกและกลายเป็นชุดของ หินตะกอน (sedimentary rock) ที่เรียกกันในทางธรณีวิทยาว่า กลุ่มหินโคราช (Khorat Group) ซึ่งถ้าแบ่งย่อยกลุ่มหินโคราชอย่างเต็มรูปแบบ จะประกอบไปด้วย 9 หมวดหิน (Formation) ไล่จากแก่ไปอ่อน ได้แก่ หมวดหิน 1) ห้วยหินลาด 2) น้ำพอง 3) ภูกระดึง 4) พระวิหาร 5) เสาขัว 6) ภูพาน 7) โคกกรวด 8) มหาสารคาม และ 9) ภูทอก ตามลำดับ ซึ่งแทบทุกหมวดหิน ส่วนใหญ่จะเป็น หินทราย (sandstone) หินทรายแป้ง (siltstone) และ หินดินดาน (shale) ยกเว้น 8) หมวดหินมหาสารคาม (Maha Sarakham Formaion) ที่ประกอบไปด้วย หินดินดาน และชั้น เกลือหิน (rock salt) ซึ่งถูกปิดทับอยู่ด้านบนด้วยหินทรายแป้งสีแดงอมม่วงของ 9) หมวดหินภูทอก (Phu Thok Formation) และ-หรือ ตะกอนทางน้ำ (fluvial sediment) ที่สะสมตัวอยู่ตามแม่น้ำสายหลักต่างๆ

เพิ่มเติม : กลุ่มหินโคราช (Khorat Group)

แผนที่ภูมิประเทศภาคอีสานของไทย แสดงการกระจายตัวของ หมวดหินมหาสารคาม (Maha Sarakham Formaion) ที่ประกอบไปด้วย หินดินดาน และ เกลือหิน (rock salt)

เพิ่มเติม : เกลือ 7 แบบ : หลากสี หลายรส

3) เนินดิน x ชุมชนโบราณ

ด้วยความที่อีสานมี แม่น้ำโค้งตวัด (meandering stream) ที่เด่นชัด (มูล-ชี-สงคราม) หลายพื้นที่จึงเป็น ที่ราบน้ำท่วมถึง (floodplain) แต่หากสังเกตดูดีๆ จะพบว่า ที่ราบมักจะถูกแทรกแซง ถูกแทงสวนขึ้นมาด้วย เนินดิน (mound) หรือที่เรียกกันในภาษาถิ่นว่า เนิน โนน โพน โคก ฯลฯ ซึ่งมักจะถูกเลือกให้เป็นที่ตั้งชุมชนมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยปัจจุบันมีการสำรวจและรายงานเนินดินในภาคอีสานซึ่งเป็นที่ตั้งชุมชนโบราณ กว่า 297 เนิน (Reilly และ Scott, 2015)

(ก) ตัวอย่างลักษณะของ เนินดิน (mound) และ คูเมือง (moat) ที่ตรวจพบจากภาพถ่ายดาวเทียม (ข) ภาคตัดขวางภูมิประเทศ แสดงการมีอยู่จริง ของเนินดินกลางที่ราบในภาคอีสาน
แผนที่ภูมิประเทศภาคอีสานของไทย แสดงตำแหน่งเมืองหรือชุมชนโบราณในภาคอีสาน (จุดสีแดง) ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนเนินดิน ที่แปลความว่าเกิดจากการผุดขึ้นมาของโดมเกลือ (ที่มา : O’Reilly และ Scott, 2015) จุดสีเหลือง และ จุดสีเขียว คือ ตำแหน่งหมู่บ้านที่มีชื่อหมู่บ้านสัมพันธ์กับคำว่า เกลือ และ โป่ง ตามลำดับ

เพิ่มเติม : เนินดินอีสาน กับการตั้งถิ่นฐานในอดีต

สืบเนื่องจากภาคอีสานมี หมวดหินมหาสารคาม (Maha Sarakham Formaion) ที่เป็น หินเกลือ (rock salt) ดังที่กล่าวไปในข้างต้น และโดยธรรมชาติทางธรณีวิทยา มวลเกลือสามารถ เปลี่ยนรูป (deform) ได้ ซึ่งจากน้ำหนักกดทับของหินด้านบนที่มีไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่ จุดหรือตำแหน่งที่มีแรงกดทับสูง จะกดมวลเกลือลงไปข้างใต้ แรงดันทำให้มวลเกลือเปลี่ยนรูป และผุดผุยขึ้นมาตามจุดหรือตำแหน่งที่มีแรงกดทับต่ำ ทำให้เกิด 1) โดมเกลือ (salt dome) ในทางธรณีวิทยา หรือ 2) เนินดิน (mound) ในทางโบราณคดี หรือ 3) เนิน โนน โพน โคก ในทางภูมิศาสตร์ ดังนั้นจึงอนุมานได้ว่า เหตุผลที่จะทำให้เกิดเนินดินกว่า 297 เนินในภาคอีสานได้คือ การผุดขึ้นมาของมวลเกลือจนกลายเป็นโดม แปลความได้ว่า มีโอกาสสูงที่ชุมชนโบราณต่างๆ จะเป็นแหล่งเกลือ ที่คนโบราณสามารถผลิตมาใช้ในการอุปโภค-บริโภคได้ หรือแลกเปลี่ยนค้าขายกันได้

เพิ่มเติม : เกลือ 7 แบบ : หลากสี หลายรส

(ก) ภาพข้อมูลจริงจากการสำรวจชั้นหินใต้ดิน ด้วยวิธีธรณีฟิสิกส์แบบคลื่นไหวสะเทือน (seismic exploration) แสดงการมีอยู่จริงของโดมเกลือใต้พื้นที่ (ข) การ์ตูนอย่างง่าย แสดงการผุดผุยขึ้นมาของมวลเกลือ กลายเป็นโดมเกลือใกล้พื้นผิวโลก (ค) แบบจำลองกระบวนการทางธรณีวิทยารูปแบบต่างๆ ที่สามารถทำให้มวลเกลือที่อยู่ด้านใต้ ผุดขึ้นมาสู่พื้นผิวด้านบนได้

4) ภูมินามวิทยา

นอกจากนี้ ด้วยศาสตร์ที่เรียกว่า ภูมินามวิทยา (Toponymy) หรือ ศาสตร์การศึกษาชื่อของสถานที่ เกี่ยวกับที่มาและความหมาย เพื่อที่จะสืบหาร่องรอยหรือกิจกรรมของ เกลือ ในพื้นที่ภาคอีสาน ผู้วิจัยได้สืบค้นและคัดกรองหมู่บ้าน ที่มีชื่อหรือภูมินามที่สื่อถึง เกลือ ในพื้นที่ ซึ่งได้แก่

  • เกลือ 45 หมู่บ้าน ตัวอย่างเช่น บ้านห้วยหุงเกลือ ต. ทัพรั้ง อ. พระทองคำ จังหวัดนครราชสีมา, บ้านกกเกลือ ต. ปากปวน อ. วังสะพุง จังหวัดเลย, บ้านดงเกลือ ต. คูเมือง อ. เมืองสรวง จังหวัดร้อยเอ็ด, บ้านโนนขี้เกลือ ต. บ้านยาง อ. พุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์, บ้านดอนเกลือ ต. บึงงาม อ. ทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด, บ้านบึงเกลือ ต. บึงเกลือ อ. เสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นต้น
  • โป่ง 108 หมู่บ้าน ตัวอย่างเช่น บ้านโป่งกูด ต. นาแห้ว อ. นาแห้ว จังหวัดเลย, บ้านโป่งกวาง ต. ปลาบ่า อ. ภูเรือ จังหวัดเลย, บ้านโป่งชี ต. โป่ง อ. ด่านซ้าย จังหวัดเลย, บ้านโป่งนคร ต. โป่งนก อ. เทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ, บ้านโป่งกะสัง ต. หนองน้ำแดง อ. ปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา, บ้านโป่งนก ต. โป่งนก อ. เทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ, บ้านวังโป่ง ต. บ้านเก่า อ. ด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา, บ้านโป่งหมาจอก ต. โคกล่าม อ. ลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์, บ้านหนองโป่ง ต. ขุย อ. ลำทะเมนชัย จังหวัดนครราชสีมา, บ้านโป่งแค ต. ห้วยโจด อ. กระนวน จังหวัดขอนแก่น, บ้านโป่งสวรรค์ ต. นาสะอาด อ. สร้างคอม จังหวัดอุดรธานี, บ้านวังโป่ง ต. ตาดทอง อ. ศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี เป็นต้น

จากข้อมูลภูมิบ้านนามเมือง หรือภูมินามที่สืบค้นได้ พบว่าโดยส่วนใหญ่หมู่บ้านที่มีคำว่า เกลือ หรือ โป่ง มักจะสอดคล้องกับตำแหน่งชุมชนโบราณ ที่มีการรายงานเอาไว้แล้วโดย O’Reilly และ Scott (2015) สนับสนุนแนวคิดที่ว่า เนินดินในภาคอีสาน เกิดจากการผุดขึ้นมาเป็นโดมเกลือของ หมวดหินมหาสารคาม (Maha Sarakham Formaion) และมีศักยภาพในการนำเกลือขึ้นมาใช้ได้

นอกจากนี้ ยังมีหมู่บ้านบางส่วนที่ตำแหน่งไม่สัมพันธ์กับเนินดินโบราณ (O’Reilly และ Scott, 2015) แต่มีภูมินามที่สื่อถึงเกลือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหมู่บ้านที่กระจายตัวอยู่แถบเทือกเขาหรือเชิงเขา สื่อเป็นนัยทางธรณีวิทยาได้ว่า อาจเป็นโซนหินโผล่ที่เกิดจากการยกตัวของหิน และทำให้หมวดหินมหาสารคาม โผล่บนพื้นผิวหรืออยู่ใต้ดินในระดับตื้น

แผนที่ภูมิประเทศภาคอีสานของไทย แสดงตำแหน่งเมืองหรือชุมชนโบราณในภาคอีสาน (จุดสีแดง) ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนเนินดิน ที่แปลความว่าเกิดจากการผุดขึ้นมาของโดมเกลือ (ที่มา : O’Reilly และ Scott, 2015) จุดสีเหลือง และ จุดสีเขียว คือ ตำแหน่งหมู่บ้านที่มีชื่อหมู่บ้านสัมพันธ์กับคำว่า เกลือ และ โป่ง ตามลำดับ

5) โบราณคดีแหล่งผลิตเกลือ

จากการสืบค้นเอกสารและงานวิจัยที่เคยมีการทำไว้ในอดีต พบว่าพื้นที่ภาคอีสาน มีรายงานแหล่งผลิตเกลือโบราณกระจายตัวอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแถบลุ่มแม่น้ำสงคราม ทางตะวันออกเฉียงเหนือของภาคอีสาน โดยแบ่งตามยุคตามสมัยได้ 2 กลุ่ม คือ 1) แหล่งผลิตเกลือยุคก่อนประวัติศาสร์ พบ 50 แหล่ง (วงกลมเหลือง) และ 2) แหล่งผลิตเกลือยุคประวัติศาสร์อีก 17 แหล่ง (วงกลมเขียว) รวมทั้งแหล่งผลิตเกลือโบราณที่มีรายงานตำแหน่งที่ตั้ง แต่ไม่ระบุห้วงเวลาที่ชัดเจนอีก 27 แหล่ง (วงกลมฟ้า) ได้แก่ บ่อพันขัน, ทุ่งผีโพน, โนนทองหลาง, โนนพญามวย, บ่อกระถิน, บ่อหัวแฮต, บ้านส้มโฮง, โพนกอก, โพนจุลณี, โพนตุ่น, โพนแต้, วัดโพธิ์เครือ, วัดโพนสวรรค์, สำนักสงฆ์โนนหัวแข้, ทุ่งสัมฤทธิ์, อำเภอโนนไทย และอำเภอบ้านดุง เป็นต้น นอกจากนี้ รายงานวิจัยของ Hendrickson (2011) ที่ศึกษาเกี่ยวกับการไปมาหาสู่กันระหว่างชุมชนต่างๆ สมัยอาณาจักรเขมรโบราณ ยังมีรายงานแหล่งผลิตเกลือในสมัยนั้น ว่ากระจายตัวอยู่ในบริเวณต้นน้ำและปลายน้ำของลุ่มน้ำมูล

(ก) ดินเอียด หรือ ดินขี้กะทา (salt crast) ดินที่ติดคราบเกลือ ซึ่งสามารถพบได้ในหลายที่ในภาคอีสานของไทย (ข) บ่อน้ำซับที่มีน้ำเค็มอยู่ (ค) อุปกรณ์การต้มเกลือ (ที่มา : www.silpa-mag.com)

ซึ่งเมื่อนำมาวางตำแหน่งในเชิงพื้นที่ พบว่าแหล่งผลิตเกลือโบราณในภาคอีสาน กระจุกตัวอยู่เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1) กลุ่มลุ่มแม่น้ำสงคราม ทางตะวันออกเฉียงเหนือของภาคอีสาน พบทั้งแหล่งผลิตเกือยุคก่อนประวัติศาสตร์และยุคประวัติศาสซ้อนทับอยู่ ในพื้นที่เดียวกัน 2) กลุ่มผลิตเกลือแถบต้นน้ำของแม่น้ำมูล ในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีรายงานว่ามีการติดต่อค้าขายกับอาณาจักรเขมรโบราณ ในประเทศกัมพูชาปัจจุบัน และ 3) กลุ่มผลิตเกลือในพื้นที่บรรจบกันของลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชี แถบจังหวัดศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร และอำนาจเจริญ ซึ่งก็เป็นแหล่งผลิตเกลือ เพื่อป้อนให้กับชุมชนเขมรโบราณเช่นกัน นี่จึงเป็นอีกหนึ่งหลักฐานยืนยันว่า ภาคอีสานของไทยเป็นแหล่งทรัพยากร แหล่งยุทธปัจจัย ที่เรียกว่า เกลือ ให้กับชุมชนในพื้นที่และโดยรอบมาอย่างยาวนาน

แผนที่ภูมิประเทศภาคอีสานของไทย แสดงตำแหน่งของ
ของเหมืองเกลือในสมัยโบราณ

6) โครงข่ายการค้าขายเกลือ

จากข้อมูลตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ ที่มีเค้าลางของกิจกรรมเกลือๆ ไม่ว่าจะเป็น 1) เนินดินในทางโบราณคดี 2) ตำแหน่งหมู่บ้านที่มีชื่อบ้านนามเมือง (toponyms) สัมพันธ์กับเกลือและโปร่ง รวมทั้ง 3) ตำแหน่งของแหล่งผลิตเกลือโบราณ ที่มีรายงานอยู่ในเอกสารงานวิจัย จะเห็นได้ว่าแหล่งเกลือส่วนใหญ่อยู่ในลุ่มแม่น้ำสงคราม ทางตะวันออกเฉียงเหนือ และลัดเลาะล้อไปกลับลำน้ำมูลทางตอนใต้ของภาคอีสาน ซึ่งหากตั้งสมมุติฐานว่าเกลือหรือชุมชนโบราณต่างๆ เหล่านี้ มีการติดต่อค้าขาย ไปมาหาสู่กัน หากลองนำมาผนวกกับ ข้อมูลภูมิประเทศ 3 มิติ ((Digital Elevation Model, DEM) และวิเคราะห์ด้วยเทคนิค ภูมิสารสนเทศ (Geographic Information System, GIS) เพื่อคัดเลือกเส้นทางที่เหมาะสม สะดวกสบายในการเดินทางระหว่างเมืองสู่เมือง เกลือสู่เมือง เมืองสู่เกลือ และเกลือสู่เกลือ ผลที่ได้คือ โครงข่ายการค้าขายและการโยกย้ายเกลือในภาคอีสาน ดังรูป

แผนที่ภูมิประเทศภาคอีสานของไทย แสดงโครงข่ายเส้นทางการค้าขายเกลือ ซึ่งวิเคราะห์ด้วยเทคนิคภูมิสารสนเทศ (GIS)

และเมื่อประเมินความหนาแน่นของเส้นทางที่วิเคราะห์ได้ พบว่าความหนาแน่นของโครงข่ายการเดินทาง กระจุกตัวหนาแน่นอย่างเห็นได้ชัดใน 2 พื้นที่ คือ 1) ลุ่มแม่น้ำสงคราม และ 2) ลุ่มแม่น้ำมูล ของภาคอีสาน ร้อยเรียงไปด้วยโครงข่ายเบาๆ ตามลุ่มแม่น้ำชี สรุปได้ว่า ทั้งลุ่มแม่น้ำสงครามและลุ่มแม่น้ำมูล เป็นแหล่งชุมชนโบราณที่สำคัญ และเป็นแนวอารยธรรมการผลิตเกลือที่สำคัญในพื้นที่ อีสาน

แผนที่ภูมิประเทศภาคอีสานของไทย แสดงความหนาแน่นของโครงข่ายเส้นทางการค้า ที่สัมพันธ์กับเกลือ ซึ่งวิเคราะห์ด้วยเทคนิคภูมิสารสนเทศ (GIS)

7) เกร็ดความรู้ การต้มเกลือ (สินเธาว์)

ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จสิ้น ตามท้องนาในภาคอีสานจะมี ดินเอียด หรือ ดินขี้กะทา (salt crast) เป็นคราบขึ้นมาบนผิวดิน ให้เห็นเป็นสีเทาหรือสีขาว ชาวบ้านจะขูดดิน เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการต้มเกลือ ก่อนต้มเกลือจะนำดินเอียดมาผสมกับเศษแกลบข้าวหรือเศษฟางใส่ใน รางเกรอะน้ำเกลือ น้ำเอียดที่ผ่านการกรองแบบธรรมชาติ จะไหลออกจากรูตามราง ลงในภาชนะที่รองไว้ จากนั้นนำมาเคี่ยวหุง โดยใช้กระทะที่ทำจากแผ่นสังกะสี สุมไฟไปเรื่อยๆ จนน้ำระเหยกลายเป็นผลึกสีขาวขุ่นซึ่งก็คือ เกลือ

(ซ้าย) การละลายดินเอียดโดยใช้ฟางและแกลบเป็นตัวกรอง (ขวา) การเคี่ยวหุง คือการให้ความร้อนกับน้ำเอียดเพื่อให้เกลือตกผลึก

ภูมิปัญญาชาวบ้าน การวัดความเค็มของน้ำเอียดทำโดยนำไข่เป็ดที่ยังไม่สุกมาลอยบนน้ำ ถ้าไข้เป็ดลอยแสดงว่าน้ำเค็มเพียงพอที่จะนำไปต้มเกลือได้

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: