วิจัย

โลก (แผ่นดินไหว) ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

แทบทุกครั้ง หลังจากเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหวขนาด 9.1 ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี พ.ศ. 2547 ที่ทำให้เกิดสึนามิที่บ้านเรา  แผ่นดินไหวขนาด 8.9 นอกชายฝั่งเมืองโทโฮคุ ประเทศญี่ปุ่น พ.ศ. 2554 ที่ทำให้เกิดสึนามิซัดญี่ปุ่น แผ่นดินไหวขนาด 8.2 ประเทศฟิจิ พ.ศ. 2561 ฯลฯ ข่าวลือเรื่องโลกกำลังจะวิบัติก็จะถูกกระพือออกมาเป็นระลอกๆ

บั้นท้ายเรือ จากต่างกรรมต่างวาระ 1) เรือฝรั่ง อลาสก้า พ.ศ. 2507 2) เรือไทย พังงา พ.ศ. 2547 (ที่มา : www.flickr.com) 3) เรือชิลี พ.ศ. 2553 4) เรือญี่ปุ่น พ.ศ. 2554 (ที่มา : www.guardian.co.uk)

ยิ่งไปกว่านั้น แทบทุกๆ กลางปี (เดือนกรกฏาคม-กันยายน) ในประเทศไทย จะเริ่มมีท่านผู้นั้น องค์ผู้นี้ หรือผู้มีญาณวิเศษในหลากหลายแขนง เริ่มเห็นนิมิตและประโคมข่าวให้ชาวไทยหลอนกันเล่นๆ ว่า โลกเปลี่ยนไป โลกใกล้จะแตก และจะเกิดภัยพิบัติ โดยเฉพาะแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ในอีกไม่ช้า บางสำนักหาญกล้า เคาะกันซึ่งๆ หน้าเลยว่า ไม่เกินเดือนธันวาคมปีนี้ พวกเราโดนแน่ !!! ติดตามข่าวพวกนี้มาได้สักพัก ดูเหมือนกับว่าไม่ได้มีทีท่าจะอ่อนกำลังลง แล้วนับวันก็ยิ่งจะมีผู้ติดตามหรือผู้เลื่อมใสศรัทธามากยิ่งขึ้น อย่ากระนั้นเลยครับก่อนที่ความเชื่อจะขยายวงกว้างไปกันใหญ่ อยากให้ทุกๆ ท่านลองดูแนวคิดง่ายๆ ทางวิทยาศาสตร์ และผลการศึกษาจากแนวคิดดังกล่าว ว่าปัจจุบันโลกใบนี้เปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน โดยเฉพาะเรื่องแผ่นดินไหว

สึนามิจากแผ่นดินไหวโทโฮคุ พ.ศ.2554 (ที่มา : www.bbc.co.uk) และสึนามิบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันของไทย พ.ศ. 2547

จริงๆ แล้ว การที่จะดูว่าโลกของเรานั้นดุขึ้นหรือไม่โดยเฉพาะเรื่องแผ่นดินไหว เราสามารถตรวจเช็คได้ไม่ยาก โดยใช้แนวคิดคล้ายๆ กับแนวคิดที่พ่อแม่เคยสอนเราตอนเด็กๆ เรื่องการออมเงิน หรือแนวคิดที่เราสอนลูกๆ ให้รู้จักหยอดกระปุกออมสิน ตัวอย่างเช่น สมมุติว่าเราให้ตังค์ลูกไปหยอดกระปุกออมสินวันละ 1 บาท ผ่านไป 10 วัน ลูกเราจะมีตังค์อยู่เท่าไหร่ ? ใช่ครับ !!! ก็ 10 บาทไง เรื่องของแผ่นดินไหวก็เหมือนกัน สมมุติว่าเกิดแผ่นดินไหวทุกๆ วัน วันละ 1 ครั้ง พอครบ 100 วัน แล้วเป็นยังไง ? (ซดกะเพาะปลาเสร็จ ก็ขึ้นเผาเลย)

จำนวนแผ่นดินไหวสะสม ถ้าสร้างกราฟจำนวนแผ่นดินไหวสะสมจะได้กราฟเป็น เส้นตรง

หยอกๆๆ ครับ พอครบ 100 วัน จำนวนแผ่นดินไหวสะสม (cumulative number) ที่บันทึกไว้ได้ก็จะมีทั้งหมด 100 เหตุการณ์ โดยในแต่ละวันจะมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยอัตราการเพิ่มขึ้นคงที่ คือ เพิ่มขึ้นวันละ 1 เหตุการณ์ ซึ่งถ้าเราลองสร้างกราฟจำนวนแผ่นดินไหวสะสมขึ้น กราฟที่ได้ก็จะเป็น เส้นตรง โดยที่ความชันของกราฟนั้นก็คืออัตราการเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ขึ้นอยู่กับว่าแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวตรงไหนดุดัน ตรงไหนหน่อมแน้ม

ทีนี้เราลองมาดูว่าแผ่นดินไหวที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีตมีพฤติกรรมอย่างไรบ้าง ผู้เขียนได้พยายามสืบค้นข้อมูลและคัดลอกข้อมูลเหตุการณ์แผ่นดินไหวในอดีตที่มีบันทึกไว้จากฐานข้อมูลของหน่วยงาน International Seismological Centre (ISC) ผลที่ได้คือพบบันทึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่มีขนาด 5.0 ขึ้นไป จำนวน 86,560 เหตุการณ์ เกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1900-2020 (120 ปี) กระจายตัวอยู่ตามที่ต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณขอบของแผ่นเปลือกโลกอย่างที่เรารู้กัน จริงๆ แล้วอยากและตั้งใจจะเอาบันทึกแผ่นดินไหวทุกขนาดมากางให้ดู แต่ติดตรงที่มันเยอะมากจนเครื่องคอมพิวเตอร์รับไม่ไหว งั้นเราก็ดูกันเฉพาะแผ่นดินไหวนาด 5.0 ขึ้นไป ที่พอจะสร้างภัยพิบัติให้กับเราก็พอเนาะ

แผนที่โลกแสดงเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 5.0 ขึ้นไป ที่เคยเกิดขึ้นและบันทึกไว้ได้ในช่วงปี ค.ศ. 1900-2020 (120 ปี) จากฐานข้อมูลของหน่วยงาน International Seismological Centre (ISC) หมายเหตุ : วงกลมขาว คือ แผ่นดินไหวขนาด 5.0-5.9 วงกลมฟ้า คือ แผ่นดินไหวขนาด 7.0-7.9 วงกลมส้ม คือ แผ่นดินไหวขนาด 8.0-8.9 วงกลมแดง คือ แผ่นดินไหวขนาด 9.0 ขึ้นไป

จากสถิติการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.0 ขึ้นไป ทั่วโลก ในรอบ 120 ปีที่ผ่านมา พบว่าแผ่นดินไหวที่ใหญ่ที่สุดคือเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 9.5  ที่เกิดขึ้นนอกชายฝั่งประเทศชิลีในปี ค.ศ. 1960 โดยในจำนวน 86,560 เหตุการณ์ ที่บันทึกได้ มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่มีขนาดใหญ่กว่า 8.0 ทั้งหมด 90 เหตุการณ์ และขนาด 9.0 ขึ้นไปอีก 5 เหตุการณ์ รวมทั้งแผ่นดินไหวขนาด 9.5 ที่ชิลีด้วย โดยจะสังเกตเห็นว่าในแต่ละขนาดแผ่นดินไหว แผ่นดินไหวขนาดเล็กจะมีอัตราส่วนของการเกิดมากกว่าแผ่นดินไหวขนาดใหญ่เป็นสัดส่วนซึ่งกันและกัน (รูป ก)

ความลึกของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นได้บนโลกใบนี้อยู่ในช่วง 0 ถึง 700 กิโลเมตร ซึ่งก็เป็นไปตามทฤษฎีการเกิดแผ่นดินไหว ที่แผ่นดินไหวสามารถเกิดได้ลึกถึงขนาดนั้นไม่ได้ผิดแผกหรือแปลกอะไร (รูป ข) หรือถ้าลองดูในแต่ละชั่วโมงของวัน จะพบว่าแผ่นดินไหวก็เกิดพอกันไม่ว่าจะกลางวันหรือกลางคืน (รูป ง) แต่ถ้าลองดูจำนวนแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน (รูป ค) ดูเหมือนว่า แผ่นดินไหวนั้นเกิดขึ้นด้วยอัตราการเกิดที่แตกต่างกันโดยในช่วงก่อนปี ค.ศ.  1950 เหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดน้อยกว่าในช่วงปี ค.ศ.  1950-1970 และเกิดขึ้นด้วยอัตราการเกิดสูงสุดหลังปี ค.ศ. 1970 ขึ้นไป

สถิติแง่มุมต่างๆ ของบันทึกแผ่นดินไหวที่ตรวจวัดและบันทึกไว้จากหน่วยงาน ISC (ก) จำนวน-ขนาดแผ่นดินไหวต่างๆ (ข) จำนวน-ความลึกของแผ่นดินไหว (ค) จำนวนการเกิดแผ่นดินไหวในแต่ละวัน และ (ง) จำนวนการเกิดแผ่นดินไหวในแต่ละชั่วโมง

ซึ่งถ้าจะแปลความกันตรงๆ จากข้อมูลดิบๆ ก้อนนี้ เราอาจจะบอกว่าโลกดุขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปี ค.ศ.  1950 และปี ค.ศ.  1970 ตามลำดับ แต่เปล่าเลย !!! จากการศึกษาข้อมูลแผ่นดินไหวในเชิงสถิติของนักแผ่นดินไหว พบว่าการเปลี่ยนแปลงของอัตราการเกิดแผ่นดินไหวเหล่านี้ เกิดมาจาก 2 ปัจจัยหลักๆ คือ 1) การที่เรามีสถานีตรวจวัดมากขึ้น ทำให้เราสามารถฟังข่าวสารจากโลกหรือตรวจวัดแผ่นดินไหวได้ต่อเนื่องยิ่งขึ้น และ 2) การเพิ่มขึ้นของอัตราการเกิดแผ่นดินไหวนี้เป็นส่วนของ แผ่นดินไหวนำ (foreshock) และ แผ่นดินไหวตาม (aftershock) ที่มักเกิดร่วมกับ แผ่นดินไหวหลัก (mainshock)

จะว่าไป ในทาง แผ่นดินไหววิทยา (seismology) และทาง ธรณีแปรสัณฐาน (tectonic) รู้จักและสรุปตรงกันแล้วว่า แผ่นดินไหวหลัก (mainshock) นั้นเกิดจากกระบวนการทางธรณีแปรสัณฐานโดยตรง ในขณะที่แผ่นดินไหวนำและแผ่นดินไหวตามนั้น เกิดจากผลของการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนอันเนื่องมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวหลักในแต่ละเหตุการณ์ไป

ดังนั้นถ้าลองเอาแบบจำลองทางสถิติมาคัดกรองและตัดเหตุการณ์แผ่นดินไหวนำและแผ่นดินไหวตามออกไปจะพบว่า มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวหลักอยู่เพียง  36,469 เหตุการณ์ (รูป ก) และถ้าลองนำเหตุการณ์แผ่นดินไหวเฉพาะที่บันทึกไว้หลังจากปี ค.ศ. 1970 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการติดตั้งระบบตรวจวัดทั่วโลกครั้งใหญ่ ก็จะพบว่ามีเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่บันทึกได้ในปี ค.ศ. 1970 ทั้งสิ้น  22,140 เหตุการณ์

(ก) ) ผลการจัดกลุ่มแผ่นดินไหว ตามแบบจำลองของ Gardner และ Knopoff (1974) จากข้อมูลแผ่นดินไหวที่มีขนาดมากกว่าหรือเท่ากับ 5.0 ที่เคยเกิดขึ้นทั่วโลก (ข) กราฟจำนวนแผ่นดินไหวสะสม (cumulative number) หลังจากปรับปรุงคุณภาพของฐานข้อมูล โดยการตัดแผ่นดินไหวนำและแผ่นดินไหวตาม และตัดผลกระทบจากการติดตั้งสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวเพิ่มขึ้น

ซึ่งถ้านำข้อมูลแผ่นดินไหวที่ผ่านการตัดแผ่นดินไหวนำและแผ่นดินไหวตาม และตัดผลกระทบจากการติดตั้งสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวเพิ่มขึ้น มาสร้างกราฟจำนวนแผ่นดินไหวสะสม จะพบว่าแผ่นดินไหวสะสมมีอัตราการสะสมตัวที่คงที่หรือเป็นเส้นตรงราบเรียบ (รูป ข) ประดุจดั่งคำขวัญของสายการบินหนึ่งที่ว่า “smooth as silk” นั่นหมายความว่าอัตราการเกิดแผ่นดินไหวทั่วโลกยังคงที่ ไม่เปลี่ยนแปลง และโลกก็ไม่ได้ดุหรือโหดร้ายยิ่งขึ้นในแง่มุมของการเกิดแผ่นดินไหว

นอกจากนี้เพื่อให้แน่ใจว่าอัตราการเกิดแผ่นดินไหวหรือจำนวนแผ่นดินไหวสะสมทั่วโลกนั้นคงที่ ผู้เขียนได้จำแนกแยกแยะปัจจัยต่างๆ ที่ประชาชนทั่วไปอาจคิดว่าส่งผลต่อการเกิดแผ่นดินไหว และลองนำมาสร้างกราฟจำนวนแผ่นดินไหวสะสมให้ดูกัน ผลการวิเคราะห์พบว่า ไม่ว่าจะเดือนกุมภาพันธ์ สิงหาคมหรือแม้กระทั่งเดือนธันวาคม ของทุกๆ ปี เหตุการณ์แผ่นดินไหวก็ยังคงเกิดด้วยอัตราคงที่  หรือจะเป็นรายวัน ไม่ว่าจะวันปีใหม่ วันคริสต์มาส วันรัฐธรรมนูญ วันแรงงาน หรือแม้กระทั่งวันหวยออกของทุกๆ เดือน อัตราการเกิดแผ่นดินไหวก็ยังคงที่

กราฟจำนวนแผ่นดินไหวสะสมของเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เคยเกิดขึ้นในแต่ละเดือนของทุกปี
กราฟจำนวนแผ่นดินไหวสะสมของเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เคยเกิดขึ้นในแต่ละวันสำคัญของทุกปี

หรือถ้าจะวิเคราะห์ในเชิงพื้นที่ ต่อให้เอาข้อมูลแผ่นดินไหวเฉพาะซีกโลกเหนือ ซีกโลกใต้ ซีกโลกตะวันออกหรือซีกโลกตะวันตก มาวิเคราะห์กราฟจำนวนแผ่นดินไหวสะสม ก็จะพบว่าอัตราการเกิดแผ่นดินไหวยังคงที่ คงที่แม้กระทั่งลองหยิบเหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่อยู่ในรัศมี 1,000 2,000 3,000 และ 4,000 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ

กราฟจำนวนแผ่นดินไหวสะสมของเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ที่ลองเอามาพิจารณา
แต่ละเดือนของทุกปี

นั่นก็หมายความว่า ไม่ว่าจะเอาข้อมูลแผ่นดินไหว (ที่สังเคราะห์ให้สมบูรณ์แล้ว) ในช่วงเวลาไหนๆ หรือ พื้นที่ใดๆ มาวิเคราะห์สร้างกราฟจำนวนแผ่นดินไหวสะสม กราฟก็จะเป็นเส้นตรงเสมอ และโลกก็ยังเหมือนเดิมเสมอมาเช่นกัน

เพราะโลกของแผ่นดินไหว ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

*อาฮ้า อาฮ้า อาฮา ฮา ฮ๊า อะ ฮา ฮ่า ฮะ (* คลอเสียงสูงไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหนำใจ)

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: