สำรวจ

วิกฤติน้ำโขงแห้งขอด กับกลิ่นการล่าแม่มดแบบอ่อนๆ

เดือนกรกฎาคม ปีพุทธศักราช 2562 บันทึกกันเอาไว้ได้เลยว่า แม่น้ำโขงเหือดแห้งที่สุด เท่าที่ชายวัยกลางคนคนหนึ่งเคยเห็นมา บางข่าวบอกว่าแห้งที่สุดในรอบ 10 ปี บ้างก็ว่า 40 ปี หรือในบางพื้นที่เคลมกันขนาดว่าในรอบ 100 ปี เพิ่งจะเคยได้เห็น ซึ่งก็จากปรากฏการณ์แม่โขงแห้งในครั้งนี้ ทำให้สังคมไทยเริ่มหันไปมองค้อนประเทศจีน

ข่าวชาวบ้านในช่วงนี้ก็จะมีบรรยากาศการลงไปจับปลากลางลำน้ำโขงแบบง่ายๆ ในขณะที่เพจสายอนุรักษ์นิยมก็จะฟีดเรื่องราวการสร้างเขื่อนของจีน รวมทั้งกระแสข่าวการกั๊กน้ำเพื่อทดสอบการปั่นไฟของเขื่อนไซยะบุรี และอาจจะตบท้ายด้วย ก็เพราะอย่างนี้…น้ำโขงที่เคยไหลหลากถึงได้เหือดแห้งลงอย่างไม่เคยคุ้นตามาก่อน ปรากฎการณ์ล่าประเทศแม่มดแบบย่อมๆ กำลังเกิดขึ้น และทำให้ผมสงสัยว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือ

สภาพความแห้งแล้งของแม่น้ำโขงในช่วงเดือนกรกฏาคม พ.ศ. 2562 (ที่มา : https://workpointnews.com)

ข้อมูลเบื้องต้นของลำน้ำสายนี้คือ แม่น้ำโขง (Mekong River) มีความยาวทั้งสิ้น 4,880 กิโลเมตร จากต้นน้ำบริเวณชายขอบเทือกเขาหิมาลัย ไหลผ่านจีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา ไปจนสุดเวียดนาม โดยถ้าแบ่งตามลุ่มน้ำใหญ่ๆ เราจะแบ่งแม่น้ำโขงออกเป็น 2 ท่อน 2 ชื่อ ท่อนบนคนทิเบต พม่าและจีนเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า หลานชางเจียง (Lancang Jiang) ส่วนท่อนล่างไล่ตั้งแต่ประเทศลาว ไทย กัมพูชาและเวียดนาม ก็เรียก น้ำโขง บ้าง น้ำของ บ้าง ตามแต่สำเนียง

ประเด็นเรื่องการสร้างเขื่อนขวางลำโขงของประเทศจีนและลาวมีการถกกันมาพักใหญ่แล้ว และผมก็เห็นพ้องอย่างยิ่งว่าการสร้างเขื่อนขวางโขงนั้นส่งผลในแทบทุกมิติตลอดทั้งพื้นที่ท้ายน้ำ ทั้งทางสังคม วัฒนธรรม ระบบนิเวศ กุ้ง หอย ปู ปลา ฯลฯ ซึ่งผมไม่ขอก้าวล่วงเพราะไม่ใช่ทางถนัด แต่ผมก็เชื่อเหมือนที่หลายๆ คนเชื่อว่าเขื่อนขวางโขงทำให้เกิดการเปลี่ยน และหลายอย่างจะไม่กลับมาเหมือนเดิม

แม่น้ำโขงเส้นสีฟ้า และตำแหน่งเขื่อนทั้งที่สร้างเสร็จ กำลังสร้างและมีแผนว่าจะสร้าง (Pailoplee, 2014) 1-เขื่อนกองกัวเคียว (Gongguoqiao) 2-เขื่อนเสี่ยววาน (Xiaowan) 3-เขื่อนม่านวาน (Manwan) 4-เขื่อนต้าเฉาซาน (Dachaochan) 5-เขื่อนนัวซาดู (Nuozhadu) 6-เขื่อนจิงหง (Jinghong) 7-เขื่อนกันลันบา (Ganlanba) 8-เขื่อนเมืองสอง (Mengsong) 9-เขื่อนปากเบง (Pak Beng) 10-เขื่อนหลวงพระบาง (Luang Phabang) 11-เขื่อนไซยบุรี (Xayabouri) 12-เขื่อนปากลาย (Pak Lay) 13-เขื่อนสานะคาม (Sanakham) 14-เขื่อนปากชม (Pak Chom) 15-เขื่อนบ้านกุ่ม (Ban Koum) 16-เขื่อนลาดสัว (Lat Sua) 17-เขื่อนดอนสะโฮง (Don Sahong) 18-เขื่อนสตรึงเตรง (Stung Treng) 19-เขื่อนสมโบร์ (Sambor)

แต่ถ้าจะเข้าประเด็นเรื่องน้ำโขงแห้ง พ.ศ. 2562 ผมมองว่าเทือกเขาหิมาลัยไม่ใช่ก๊อกน้ำยักษ์ ที่ต้องคอยเป็นต้นกำเนิดน้ำหลักให้กับโขง แต่ที่น้ำโขงเลี้ยงระดับอยู่ได้มาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งใหญ่ๆ น่าจะมาจากแม่น้ำสายรองที่คอยเติมน้ำหล่อเลี้ยงลำโขงตลอดทาง เพราะถ้าดูข้อมูลพื้นที่ลุ่มน้ำและศักยภาพของการให้น้ำเติมโขง (MRC, 2005) จะเห็นว่าเอาเข้าจริงๆ ทุกตัวเลขของจีนไม่ได้สูงโดดกว่าประเทศอื่นๆ ที่มีเอี่ยวกับแม่น้ำโขงเลย

  จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม รวม
พื้นที่รับน้ำ (ตร.กม.) 165,000 24,000 202,000 184,000 155,000 65,000 795,000
พื้นที่รับน้ำ (%) 21 3 25 23 20 8 100
การไหลของน้ำ (%) 16 2 35 18 18 11 100

ในจำนวนพื้นที่รับน้ำทั้งหมดของแม่น้ำโขง 795,000 ตารางกิโลเมตร ธรรมชาติได้มอบหมายให้ลาว 202,000 ตารางกิโลเมตร (หรือ 25%) เป็นผู้ดูแลคอยจ่ายน้ำลงโขง ส่วนไทย จีนและกัมพูชา ก็ต้องทำหน้าที่ 23% 21% และ 20% ลดหลั่นกันไปตามลำดับไหล่ จะมีก็แต่เวียดนาม ประเทศปลายน้ำที่ให้น้ำกับโขงน้อยที่สุด 8%

แล้วถ้ามาดูข้อมูลปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปีและข้อมูลน้ำท่าเฉลี่ยรายปีที่รายงานไว้ใน MRC (2010) ดูแบบง่ายๆ สีน้ำเงินคือฟ้าประธานน้ำมามาก ส่วนสีที่ออกไปทางร้อนแรงอย่างส้ม เหลือง คือ ฟ้าให้น้ำมาน้อย ถึงแม้ว่าข้อมูลจะเก่าไปซักหน่อย แต่ทั้ง 2 แผนที่นี้ก็ทำให้เห็นชัดว่า ประเทศไหนได้รับน้ำจากฟ้ามากกว่ากัน

แผนที่ภูมิภาคอาเซียนแผ่นดินใหญ่แสดง (ซ้าย) ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปี (ขวา) ข้อมูลน้ำท่าเฉลี่ยรายปี (ที่มา : http://mekongriver.info)

จากรูปที่เห็น ผมแปลความว่าตำแหน่งที่ธรรมชาติมอบหมายให้เป็นคนเลี้ยงระดับน้ำโขง พี่ใหญ่จริงๆ ไม่ใช่จีน แต่กลับเป็นลาวเกือบทั้งประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลาวทางตอนเหนือที่ติดกับจังหวัดเลย หนองคาย นครพนม แถบๆ นั้น ในขณะที่ภาคอีสานของไทย พื้นที่ส่วนใหญ่หนักไปทางมีสีส้มและเหลือง หมายความว่า ฟ้าก็ไม่ได้ประธานให้เป็นผู้นำ (น้ำ) สู่โขงเช่นกัน

และถ้าดูในแผนที่ด้านล่าง ซึ่งแสดงตำแหน่งของเขื่อนต่างๆ ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการเติมน้ำให้โขง จะเห็นว่าวงกลมสีส้มคือแค่บางส่วนของตำแหน่งเขื่อนขนาดใหญ่ที่ขวาง ลำน้ำโขงสายหลัก (Mekong Mainstream) แต่ถ้าลองสังเกตดูดีๆ จุดสีเหลืองคือจุดที่มีการสร้างเขื่อนตามลำน้ำสายรองที่จะไหลลงสู่แม่น้ำโขงเช่นกัน

แผนที่ภูมิภาคอาเซียนแผ่นดินใหญ่แสดงการแบ่งแม่น้ำโขงออกเป็น 2 ท่อน (สีที่ต่างกัน) และตำแหน่งเขื่อนกั๊กน้ำที่มีเอี่ยวกับลำโขง (ที่มา : http://www.eastbysoutheast.com)

แน่นอนว่าตอนนี้เราอาจจะมีต้นทุนความคิดออกไปในทาง “จีนสร้างเขื่อนขวางโขง” และเรากำลังจดๆ จ้องๆ จะรุมสกรัมเขื่อนจีน แต่ถ้าได้เห็นข้อมูลมาถึงตรงนี้ ผมว่าทุกคนก็คงพอจะนึกภาพออกว่าอะไรเป็นอะไร ใครแพะ ใครแกะ

เขื่อนจิงหง (Jinghong) ในประเทศจีนกำลังปล่อยน้ำเพื่อเลี้ยงลำโขงท้ายน้ำ (ที่มา : Yang Zheng/China Daily )

ยังยืนยันอีกทีนะครับว่า การที่จีนสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงนั้นทำให้วิถีชีวิตของพวกเราถูกเปลี่ยน ก็ถ้าจะนัดรวมผลกระทบจากการสร้างเขื่อนขวางโขงของจีน ส่วนตัวก็พอจะมีประเด็นเข้าไปร่วมจองกฐินด้วย แต่แล้งนี้ ในปี พ.ศ. 2562 ถ้าจะให้จับแกะกันแบบดีๆ ผมว่าน่าจะเป็นเพราะ แบตเตอรี่แห่งอาเซี่ยน

? ? ?

อ้างอิง

  • Mekong River Commission (MRC), 2005. Overview of the Hydrology of the Mekong Basin.
  • Mekong River Commission (MRC), 2010. State of the Basin Report 2010.
  • Pailoplee, S. 2014. Earthquake Hazard of Dams along the Mekong Mainstream. Natural Hazards, 74(3): 1813-1827.

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: