สำรวจ

10 การปะทุของภูเขาไฟ ที่สร้างความสูญเสียมากที่สุดในโลก

เรียบเรียงโดย : ธนภูมิ โฆษิตานนท์ และ สันติ ภัยหลบลี้

 ภูเขาไฟปะทุ (volcanic eruption) ถือได้ว่าเป็น 1 ใน 5 ภัยพิบัติทางธรณีวิทยา ที่สร้างผลกระทบในวงกว้างต่อชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์ ซึ่งด้วย รูปแบบของการประทุภูเขาไฟที่แตกต่างกันทำให้ระดับความรุนแรงของภูเขาไฟนั้นต่างกันไปด้วย โดยในบรรดาภูเขาไฟที่เคยปะทุและมีการบันทึกไว้ในอดีต มนุษย์ก็หลบได้บ้างไม่ได้บ้าง และมีบางเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหาให้กับมนุษย์ได้อย่างเจ็บปวด ลองไปดูกันครับว่ามีเหตุการณ์ไหนที่ติดชาร์ท ท๊อปเท็นการปะทุของภูเขาไฟที่สร้างความสูญเสียมากที่สุดในโลก กันบ้าง

1) ภูเขาไฟตัมโบรา (Tambora) ประเทศอินโดนีเซีย ค.ศ. 1815 (VEI 7)

 วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2358 (ค.ศ. 1815) ภูเขาไฟตัมโบรา ทางตอนกลาง ของหมู่เกาะในประเทศอินโดนีเซีย เกิดการปะทุและอัดฉีดปล่อยเถ้าถ่านภูเขาไฟไปบนท้องฟ้าสูงถึง 40 กิโลเมตร ซึ่งการปะทุในครั้งนี้ถือว่าเป็นการปะทุของภูเขาไฟที่ทรงพลังมากที่สุดในรอบ 500 ปี (VEI ระดับ 7) ความรุนแรงของตะกอนภูเขาไฟที่ไหลหลากลงไปในมหาสมุทรทำให้เกิดสึนามิในท้องถิ่น ประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ภูเขาไฟปะทุในครั้งนี้ถึง 120,000 ราย นอกจากนี้ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จำนวนมหาศาลฟุ้งขึ้นไปอยู่ในบรรยากาศของโลก ทำให้อุณหภูมิทั่วโลกลดลง เกิดการเสียชีวิตจากการขาดแคลนอาหารในประเทศจีนหลายพันคน ในขณะที่เกิดการระบาดของไข้ในยุโรป และ 2 ปีหลังจากการปะทุ ราคาพืชผลในสวิตเซอร์แลนด์สูงขึ้นมากกว่าเดิมถึง 4 เท่า

(ซ้าย) ภาพถ่ายดาวเทียม (ขวา) ภาพมุมสูงของภูเขาไฟตัมโบรา แสดงให้เห็นปากปล่องภูเขาไฟ (volcanic crater) เส้นผ่าศูนย์กลาง 6 กิโลเมตร และมีความลึก 1100 เมตร (ที่มา: NASA)

2) ภูเขาไฟกรากะตัว (Krakatoa) ประเทศอินโดนีเซีย ค.ศ. 1883 (VEI 6)

เช้าวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2426 (ค.ศ. 1883) ภูเขาไฟกรากะตัว (Krakatoa) ที่อยู่ระหว่างเกาะสุมาตราและเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย เกิดการปะทุด้วยระดับความรุนแรง VEI 6 ซึ่งถือเป็นการปะทุที่ใหญ่เป็น 4 ที่มนุษย์เคยเห็น ความรุนแรงทำให้ผนังของตัวภูเขาไฟถล่ม เกิดดินถล่มลงมหาสมุทรและทำให้เกิดสึนามิครั้งใหญ่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 36,000 ราย ทำลายบ้านเรือนและความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึง 1,500 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ

(ซ้าย) ภาพถ่ายดาวเทียมของภูเขาไฟ (ขวา) ภาพวาดเหตุการณ์การปะทุของภูเขาไฟกรากะตัว เมื่อปี พ. ศ. 2431 (ที่มา: Parker และ Coward, Britain)

3) ภูเขาไฟลาไค (Laki) ประเทศไอซ์แลนด์ ค.ศ. 1783 (VEI 6)

ในช่วงปี พ.ศ. 2326 (ค.ศ. 1783) เกิดการปะทุของภูเขาไฟลาไค (Laki) ในประเทศไอซ์แลนด์ ซึ่งส่งผลกระทบด้านภัยพิบัติไปทั่วโลกเป็นเวลาหลายปี การปะทุครั้งล่าสุดใช้เวลาถึง 8 เดือน ทำให้เกิดลาวาไหลหลาก ซึ่งประเมินว่าลาวามีปริมาตรถึง 14.7 ลูกบาศก์กิโลเมตร เกิดก๊าซพิษฟุ้งกระจายและได้ทำลาย การปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกมาจากการปะทุของภูเขาไฟทำให้เกิดฝนกรด และอุณหภูมิทั่วโลกลดลง พืชพันธุ์ต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารให้กับสัตว์และมนุษย์ล้มตายเกิดภาวะความอดอยาก สัตว์ที่อยู่บนเกาะไอซ์แลนด์ร้อยละ 60 เสียชีวิตเนื่องจากขาดอาหาร และคร่าชีวิตประชาชนชาวไอซ์แลนด์ถึง 10,000 ราย หรือ 1 ใน 4 ของประชากรบนเกาะในเวลานั้น นอกจากนี้ก๊าซพิษดังกล่าว ยังแผ่ขยายไปทางตอนใต้ ทำให้ชาวอังกฤษเสียชีวิตถึง 23,000 ราย และยังเป็นผลให้เกิดความอดอยากในประเทศอียิปต์ นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าเกิดความอดอยากไปทั่วยุโรปและเป็นผลให้เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส

(ซ้าย) ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงแนวภูเขาไฟลาไค (ขวา) ภาพมุมสูงแสดงรอยแยกของเปลือกโลกและแนวของกลุ่มภูเขาไฟลาไค ประเทศไอซ์แลนด์ (ที่มา: Chmee2 / Valtameri / Wikimedia)

4) ภูเขาไฟเปอเล (Pelée) ทะเลแคริบเบียน ค.ศ. 1902 (VEI 4)

ภูเขาไฟเปอเล (Pelée) ในทะเลแคริบเบียน เป็นภูเขาไฟมีพลัง ที่ตั้งอยู่ในส่วนปลายด้านทิศเหนือของหมู่เกาะเวสต์อินดี ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2445 (ค.ศ. 1902) เกิดการปะทุของภูเขาไฟเปอเลขึ้นด้วยระดับความรุนแรงประมาณ VEI 4 เป็นการปะทุที่รุนแรงที่สุดในศตวรรษที่ 20 ผลจากการปะทุทำให้เกิดก๊าซร้อนและเศษโคลนจากภูเขาไฟถล่ม ทำลายเมือง St Pierre เกือบทั้งเมือง มีผู้รอดชีวิตเพียง 2 คน จากจำนวนประชากร 28,000 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 50 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ

(ซ้าย) ภาพถ่ายดาวเทียมของภูเขาไฟเปอเล (ขวา) กลุ่มเถ้าภูเขาไฟจากการปะทุในปี ค.ศ. 1902 (ที่มา: Angelo Heilprin, US Geology 1853-1907)

5) ภูเขาไฟอิลโลปังโก (Ilopango) ประเทศเอลซัลวาดอร์ 450 ปีก่อนคริสตกาล (VEI 6+)

การปะทุของภูเขาไฟอิลโลปังโก (Ilopango) ประเทศเอลซัลวาดอร์ เมื่อประมาณ 450 ปีก่อนคริสตกาล เป็นการปะทุของภูเขาไฟที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ในรอบ 200,000 ปี (VEI น่าจะสูงกว่า 6) การปะทุของภูเขาไฟครั้งนี้ได้ทำลายหลายเมืองของอาณาจักรมายัน นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าทั่วท้องฟ้าเต็มไปด้วยฝุ่นควันและขี้เถ้าภูเขาไฟเป็นเวลานานกว่า 1 ปี และคาดว่าการปะทุครั้งนี้ได้คร่าชีวิตผู้คนถึง 100,000 ราย และมีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยสูงถึง 400,000 คน นอกจากนี้ยังเป็นผลให้อุณหภูมิโลกเย็นลงในช่วง 535-536 ปีก่อนคริสตกาล ทำให้เกิดการล้มตายของพืชพันธุ์ตั้งแต่กรุงโรม กระจายตัวไปถึงประเทศจีน

(ซ้าย) ภาพถ่ายดาวเทียมของภูเขาไฟอิลโลปังโก (ขวา) ภาพวาดแสดงการปะทุของภูเขาไฟอิลโลปังโก ในปี พ.ศ. 2434 (ที่มา: Appleton & Company, New York, 1892)

6) ภูเขาไฟอันเซ็น (Unzen) ประเทศญี่ปุ่น ค.ศ. 1792 (VEI 2)

การปะทุของภูเขาไฟอันเซ็น (Unzen) ประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2335 (ค.ศ. 1792) ซึ่งถึงแม้ว่าความรุนแรงทางกายภาพของภูเขาไฟนั้นประเมินว่าแค่ระดับ VEI 2 เท่านั้น แต่การปะทุของภูเขาไฟอันเซ็นก็ถือเป็นเหตุการณ์การปะทุของภูเขาไฟที่คร่าชีวิตชาวญี่ปุ่นมากที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศญี่ปุ่น การปะทุครั้งนี้ทำให้เกิดการถล่มของยอดภูเขาไฟ กลายเป็นดินถล่มเข้ากลบทับเมือง Shimabara และไหลลงสู่มหาสมุทร แล้วทำให้เกิดสึนามิ ที่มีความสูงถึง 57 เมตร จากภัยพิบัตินี้ได้คร่าชีวิตผู้คนไปถึง 15,000 ราย เกิดความเสียหายต่อการเกษตร และประมงในแถบนั้น ประเมินว่าความสูญเสียน่าจะประมาณ 17.4 พันล้านเยน หรือ ประมาณ 150 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ

(ซ้าย) ภาพถ่ายดาวเทียมของภูเขาไฟอันเซ็น (ขวา) ภาพมุมสูงของภูเขาไฟอันเซ็น จังหวัดนะงะซะกิประเทศญี่ปุ่น (ที่มา: กรมอุทกศาสตร์และมหาสมุทร, หน่วยยามฝั่งญี่ปุ่น )

7) ภูเขาไฟเนวาโด เดล รุส (Nevado Del Ruiz) ประเทศโคลอมเบีย ค.ศ. 1985 (VEI 3)

การปะทุของภูเขาไฟเนวาโด เดล รุส (Nevado Del Ruiz) ในประเทศโคลอมเบีย เมื่อปี พ.ศ. 2528 (ค.ศ. 1985) ด้วยระดับความรุนแรง VEI 3 แต่ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากในพื้นที่โดยรอบภูเขาไฟ โดยทำให้เกิดโคลนถล่มเข้าฝังเมือง Armero ที่มีผู้คนอาศัยอยู่ถึง 20,000 ชีวิต คิดมูลค่าความเสียหายถึง 1 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ

(ซ้าย) ภาพถ่ายดาวเทียมของภูเขาไฟเนวาโด เดล รุส (ขวา) ไอน้ำที่พุ่งขึ้นจากภูเขาไฟเนวาโด เดล รุส ในเดือนกันยายนปี ค.ศ. 1985 ก่อนการปะทุครั้งใหญ่ในเดือนพฤศจิกายนปี ค.ศ. 1985 (ที่มา: การสำรวจทางธรณีวิทยาสหรัฐฯ)

8) ภูเขาไฟปินาตูโบ (Pinatubo) ประเทศฟิลิปปินส์ ค.ศ. 1991 (VEI 6)

การะปะทุของภูเขาไฟปินาตูโบ (Pinatubo) ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2534 (ค.ศ. 1991) ถือเป็นการปะทุของภูเขาไฟที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในศตวรรรษที่ 20 (VEI 6) ผลจากการปะทุทำให้เกิดเมฆจากเถ้าภูเขาไฟสูง 35 กิโลเมตร ทำให้เกิดการถล่มของมวลตะกอนภูเขาไฟ และปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกือบถึง 20 ล้านตัน สู่ชั้นบรรยากาศ เป็นผลให้อุณหภูมิทั่วโลกลดลง ถึงแม้จะคร่าชีวิตผู้คนเพียง 722 ราย แต่ทำให้ผู้คนไร้บ้านมากกว่า 200,000 คน มีมูลค่าความเสียหายมากถึง 200 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ

(ซ้าย) ภาพถ่ายดาวเทียมของภูเขาไฟปินาตูโบ (ขวา) ปล่องภูเขาไฟปินาตูโบ ประเทศฟิลิปปินส์ (ที่มา: Thedandyman / Wikimedia)

9) ภูเขาไฟวิซุเวียส (Vesuvius) ประเทศอิตาลี 79 ปีก่อนคริสตกาล (VEI 5)

จากบันทึกเกี่ยวกับประวัติการปะทุของภูเขาไฟพบว่า ภูเขาไฟวิซุเวียส (Vesuvius) ประเทศอิตาลี มีการปะทุอยู่หลายครั้งในประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตามการปะทุที่เลวร้ายที่สุดของภูเขาไฟลูกนี้ได้เกิดขึ้นในช่วง 79 ปีก่อนคริสตกาล (พ.ศ. 464) โดยในวันที่ 24 สิงหาคม ภูเขาไฟวิซุเวียสได้ปะทุขึ้นและพ่นเถ้าถ่าน โคลน และก๊าซพิษฝังกลบเมืองปอมเปอี (Pompeii) และเมืองเฮอคูลาเนียม (Herculaneum) ลงไปทั้งเมือง และคร่าชีวิตผู้คนมากถึง 16,000 ราย ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีการขุดพบเมืองนี้ในปี ค.ศ. 1595 และถ้าพยายามเปรียบเทียบมูลค่าความเสียหายในปัจจุบัน มีมูลค่าอยู่ในหลักพันล้านดอลล่าร์สหรัฐ

(ซ้าย) ภาพถ่ายดาวเทียมของภูเขาไฟวิซุเวียส (ขวา) ภาพวาดการปะทุของภูเขาไฟวิซุเวียส (ที่มา: หอศิลป์ฮันทิงตันส์ ห้องสมุดพาซาดีน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา)

10) ภูเขาไฟซานตามาเรีย (Santa Maria) ประเทศกัวเตมาลา ค.ศ. 1902 (VEI 6)

เป็นเวลาหลายร้อยปี หรืออาจถึงพันปี ที่ภูเขาไฟซานตามาเรีย (Santa Maria) ประเทศกัวเตมาลา ไม่เกิดการปะทุ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2445 (ค.ศ. 1902) ได้เกิดแผ่นดินไหวอย่างต่อเนื่องแถบตอนกลางของอเมริกา และในระหว่างนั้นก็เกิดการปะทุของภูเขาไฟซานตามาเรียขึ้น โดยผลการปะทุของภูเขาไฟนี้ได้สร้างเถ้าภูเขาไฟขึ้นไปสูงถึง 28 กิโลเมตร และเกิดตะกอนภูเขาไฟไหลมากกว่า 19 วัน เถ้าถ่านภูเขาไฟได้ปกคลุมทำให้ท้องฟ้าของกัวเตมาลามืดครึ้มอยู่หลายวัน และแผ่ไปยังเมืองซานฟรานซิสโก ของสหรัฐอเมริกา ประเมินว่ามูลค่าความเสียหายมากกว่า 1 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ โดยมีรายงานว่าการปะทุของภูเขาไฟครั้งนี้ได้คร่าชีวิตประชาชนในแถบภูเขาไฟไปอย่างน้อย 5,000 ราย แต่เชื่อว่าน้อยกว่าความเป็นจริง

(ซ้าย) ภาพถ่ายดาวเทียมของภูเขาไฟ (ขวา) ภูเขาไฟซานตามาเรียถ่ายภาพจากเมืองกัวเตมาลาในปี พ.ศ. 2549 (ที่มา: JoePhoto / Flickr )

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: