ในบรรดารอยเลื่อนแผ่นดินไหวที่คนไทยรู้จักกัน รอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) ถือเป็นหนึ่งใน รอยเลื่อนมีพลัง (active fault) ที่สำคัญอันดับต้นๆ ในอาเซียนบ้านเรา ซึ่งจากการแปลความหมายภาพถ่ายดาวเทียม สันติ ภัยหลบลี้ และ สัณฑวัฒน์ สุขรังสี (2557) ประเมินว่ารอยเลื่อนสะกายมีความยาวประมาณ 1,200 กิโลเมตร วางตัวอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ ผ่ากลางอกประเทศพม่า และพาดผ่านแทบทุกเมืองที่สำคัญ เริ่มจากเมืองมิตจีนา (Myitkyina) มัณฑะเลย์ (Mandalay) ตองยี (Tounggyi) เนปิดอว์ (Naypyidaw) พะโค (Bago) ย่างกุ้ง (Yangon) และยังลากยาวต่อลงไปในทะเลอันดามัน
ตลอดแนวรอยเลื่อนสะกาย พบภูมิประเทศที่แสดงถึงการปริแตกของเปลือกโลกอยู่หลายแบบ เช่น ผารอยเลื่อน (fault scarp) เนินเขาขวาง (shutter ridge) หนองน้ำยุบตัว (sag pond) ทางน้ำหัวขาด (beheaded stream) และทางน้ำหักงอ (offset stream) ซึ่งภูมิประเทศเหล่านี้ช่วยยืนยันว่ารอยเลื่อนสะกายมีการเลื่อนตัวแบบ เหลื่อมข้างชนิดขวาเข้า (dextral strike-slip fault)
คำว่า Sagaing Fault เมื่อก่อนคนไทยเคยอ่าน รอยเลื่อนสะเกียง ฝรั่งต่างชาติอ่าน รอยเลื่อนสะแกง ต่อมาคนพม่าบอกว่าบ้านเขาเรียก รอยเลื่อนสะกาย ทุกวันนี้สรุปเรียกให้ตรงกันว่า รอยเลื่อนสะกาย ตามคนพม่าเจ้าของพื้นที่
ธรณีแปรสัณฐานของสะกาย
ในทางธรณีแปรสัณฐาน (tectonic setting) นักธรณีวิทยา (Curray, 2005) เชื่อว่ารอยเลื่อนสะกายเป็นขอบหรือรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกย่อยโบราณ 2 แผ่น คือ แผ่นซุนดา (Sunda Plate) และ แผ่นพม่า (Burma Plate) ซึ่งปัจจุบันถือเป็นส่วนหนึ่งของ แผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย (Eurasian Plate)
อย่างไรก็ตาม ผลจากการเคลื่อนที่ในปัจจุบันของแผ่นเปลือกโลกอินเดีย (Indian Plate) เข้าชนยูเรเซียในแนวตะวันออกเฉียงเหนือค่อนไปทางเหนือ ทำให้รอยเลื่อนสะกายซึ่งเป็นรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกเก่าที่ยังไม่เชื่อมกันสนิทดี ขยับตามไปด้วย โดยจากการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ตัวอย่างหินแปรบริเวณเมืองโมกก (Mogok metamorphic belt) ที่เกิดจากการเบียดบี้กันของแผ่นซุนดาและแผ่นพม่า สรุปว่ารอยเลื่อนสะกายเริ่มขยับตัวแบบเป็นจริงเป็นจรังเมื่อประมาณ 16–22 ล้านปี ที่ผ่านมา (Searle และคณะ, 2007)
นอกจากนี้ จากการเก็บข้อมูลเพื่อระบุตำแหน่งพื้นโลกจากเครื่องจีพีเอสความละเอียดสูง ที่ติดตั้งกระจายทั่วประเทศพม่า นักธรณีวิทยา (Nielsen และคณะ, 2004; Socquet และคณะ, 2006 ) พบว่าปัจจุบันแผ่นเปลือกโลกอินเดียวิ่งชนยูเรเซียด้วยอัตราเร็ว 35 มิลลิเมตร/ปี และมีการถ่ายเทแรงเค้นทางธรณีแปรสัณฐาน (tectonic stress) เข้ามาภายในแผ่นยูเรเซีย ทำให้รอยเลื่อนสะกายมีอัตราการเคลื่อนตัวหย่อนๆ ลงมาที่ 18 มิลลิเมตร/ปี แต่ก็ยังถือว่าเร็วและดุพอสมควรถ้าเทียบกับรอยเลื่อนส่วนใหญ่ของไทย
สะกายเคยทำอะไรมาบ้าง
ก็เพราะรอยเลื่อนสะกายยังคงเลื่อนตัวอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ตลอดแนวรอยเลื่อนยังมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลแผ่นดินไหวที่ตรวจวัดได้จากเครื่องมือตรวจวัดในช่วงปี พ.ศ. 2507 – พ.ศ. 2555 (48 ปี) พบว่าเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 2.9-7.3 อย่างน้อย 280 ครั้ง และถ้าสืบย้อนกลับไปถึงบันทึกประวัติศาสตร์ ก็ยิ่งชัดเจนว่ารอยเลื่อนสะกายเคยเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในระดับที่สร้างความเสียหายหลายต่อหลายครั้ง
เจดีย์ชเวมอดอร์ (Shwemawdaw Pagoda) ที่เมืองหงสาวดี หรือที่คนไทยเรียก พระธาตุมุเตา เคยพังทลายจากแผ่นดินไหวใหญ่ถึง 4 ครั้ง ซึ่งเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.3 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2473 ทางตะวันตกของเมืองย่างกุ้ง ทำให้ปลียอดของเจดีย์ชเวมอดอร์หักพังลงมา (Chhibber, 1934) หรือเจดีย์ที่ได้ชื่อว่าเป็นเจดีย์อิฐแดงที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนอย่าง เจดีย์มินกุน (Mingun Pagoda) ก็เสียหายอย่า่งหนักจากแผ่นดินไหวใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2460 เช่นกัน
นอกจากนี้ในระหว่างการสำรวจธรณีวิทยาแผ่นดินไหวในพื้นที่รอยเลื่อนสะกาย Wang และคณะ (2011) ก็พบหลักฐานการเลื่อนตัวของชั้นตะกอนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่อย่างน้อย 2 ครั้ง และผลการหาอายุตัวอย่างถ่านในชั้นตะกอนด้วยวิธีคาร์บอน-14 ก็เปิดเผยว่าเหตุการณ์แรกน่าจะเป็นแผ่นดินไหวใหญ่ที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 1530 – พ.ศ. 1700 ซึ่งไม่เคยมีในบันทึกแผ่นดินไหวมาก่อน ส่วนการเลื่อนตัวของตะกอนครั้งที่สองเกิดจากแผ่นดินไหวใหญ่ในปี พ.ศ. 2473 สอดคล้องกับบันทึกประวัติศาสตร์ที่เคยมีการรายงานไว้
ผลกระทบจากสะกาย
เวลาเกิด | จุดศูนย์กลาง | ขนาด | อ้างอิง |
23 พฤษภาคม พ.ศ. 2455 | มัณฑะเลย์ | 8.0 | Brown (1914) |
23 พฤษภาคม พ.ศ. 2455 | ตองยี | 8.0 | Khin และ Win (1968) |
5 กรกฏาคม พ.ศ. 2473 | ย่างกุ้ง | 7.3 | Brown และ Leicester (1933) |
3 ธันวาคม พ.ศ. 2473 | พะโค | 7.3 | Brown และ Leicester (1933) |
ตารางด้านบนแสดงตัวอย่างบางเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ของรอยเลื่อนสะกาย ที่เคยมีการศึกษาและรายงานว่าส่งผลกระทบด้านแรงสั่นสะเทือนเข้ามาถึงประเทศไทย เช่น แผ่นดินไหวขนาด 8.0 วันที่ 23 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2455 ที่เมืองมัณฑะเลย์ (Brown, 1914) ทำให้ประเทศพม่า ได้รับความรุนแรงแผ่นดินไหวสูงในระดับ VII-IX ตาม มาตราเมอร์คัลลีแปลง (Modified Mercalli Intensity, MMI) และส่งผลกระทบถึงภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครของไทยในระดับ III (คนอยู่ในบ้านรู้สึกได้ เหมือนรถบรรทุกวิ่งผ่าน)
หรือในกรณีของแผ่นดินไหวขนาด 7.3 เมื่อวันที่ 3 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2473 ซึ่งจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่เมืองพะโค ทำให้ประเทศพม่าได้รับความรุนแรงแผ่นดินไหวระดับ IX และบางพื้นที่ในภาคเหนือของไทยได้รับความรุนแรงแผ่นดินไหวระดับ V (คนที่อยู่ในบ้านจะรู้สึกชัดเจน ข้าวของในบ้าน หน้าต่าง ประตูสั่นไหว คนที่หลับอยู่อาจตกในตื่น)
ดังนั้นรอยเลื่อนสะกายจึงถือว่าเป็นแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวสำคัญ สามารถเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้ และมีโอกาสสร้างภัยพิบัติทั้งต่อประเทศพม่าโดยตรงรวมถึงประเทศไทย
อ้างอิง
- สันติ ภัยหลบลี้ และ สัณฑวัฒน์ สุขรังษี 2557. รอยเลื่อนสะกาย: พฤติกรรมและภัยพิบัติต่อประเทศไทย. วารสารอุตุนิยมวิทยา, 13(3): 1-9.
- Brown, J.C. 1914. The Burma Earthquake of May 1912. Memoirs of the Geological Survey of India, 13: 1-147.
- Brown, J.C. and Leicester, P. 1933. The Pyu Earthquake of 3rd and 4th December, 1930 and Subsequent Burma Earthquakes up to January 1932. Memoirs of the Geological Survey of India, 42(1): 1-140.
- Chhibber, H.L. 1934. The Geology of Burma. Technical Report, McMillan and Co. Ltd, London, England.
- Curray, J.R. 2005. Tectonics and History of the Andaman Sea Region. Journal of Asian Earth Science, 25: 187-232.
- Nielsen, C., Chamot, R.N., Rangin, C. and the Andaman Cruise Team 2004. From Partial to Full Strain Partitioning along the Indo-Burmese Hyper-oblique Subduction. Marine Geology, 209: 303-327.
- Searle, M.P., Noble, S.R., Cottle, J.M., Waters, D.J., Mitchell, A.H.G. and Hliaing, T. 2007. Tectonic Evolution of the Mogok Metamorphic belt, Burma (Myanmar) Constrained by U-Th-Pb Dating of Metamorphic and Magmatic Rocks. Tectonics, 26: TC3014.
- Socquet, A., Vigny, C., Chamot-Rooke, N., Simons, W., Rangin, C. and Ambrosius, B. 2006. India and Sunda Plates Motion and Deformation along their Boundary in Myanmar Determined by GPS. Journal of geophysical Research, 111: B05406.
- Wang, Y., Sieh, K., Aung, T., Min, S., Khaing, S.N. and Tun, S.T. 2011. Earthquakes and Slip Rate of the Southern Sagaing fault: Insights from an Offset Ancient Fort Wall, Lower Burma (Myanmar). Geophysical Journal International, 185(1): 49-64.
. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth